1 ก.พ. 2024 เวลา 03:00 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

'หนังดีแต่ต้นฉบับไม่ชอบ' ทำไมสตีเฟน คิงถึงไม่ชอบ The Shining (1980)

หนังเรื่องนี้เหมือนรถคาดิลแลคที่สวยงาม แต่ไม่มีเครื่องยนตร์
สตีเฟน คิง (Stephen King)
หลังจากดูภาพยนตร์ The Shining (1980) สมองผมได้กระตุ้นความสงสัยใคร่รู้ ในการหาข้อเท็จจริง เกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ทว่า ผมได้เจอบทความเกี่ยวกับนักเขียนที่ไม่ปลื้มนวนิยายตัวเองในเวอร์ชั่นภาพยนตร์ ทันใดนั้น ชื่อนักเขียนสยองขวัญอย่าง สตีเฟน คิง (Stephen King) ผู้ให้กำเนิดโรงแรมนรกแห่งนี้ ก็เป็นหนึ่งในนักเขียนที่ไม่ชอบนิยายในเวอร์ชั่นภาพยนตร์เช่นกัน
นั้นจึงเป็นเชื้อเพลิงสำคัญที่ตัวผมต้องตามหาหนังสือนวนิยายเรื่องนี้ และค้นหาเหตุผลว่า ทำไมสตีเฟน คิงถึงไม่ชอบ The Shining (1980)
ภาพยนตร์ The Shining ในปี 1980 ที่มีผู้กำกับฝีมือดีอย่าง สแตนรีย์ ครูบริก (Stanley Kubrick) มักถูกยกย่องจากฉากที่ตราตรึงผู้ชมมากมาย ทั้งบรรยากาศและเสียงประกอบแอมเบียนท์ที่ชวนขนหัวลุก ฝีมือการแสดงของแจ็ค นิโคลสัน (Jack Nicholson) ที่เข้าถึงบทบาทได้ดี รวมถึงฉากน่าจดจำอย่างลิฟท์แดง ฉากวิญญาณสาวในห้อง 237 แฝดเกรดี้ การพูดคุยกับบาร์เทนเดอร์ วลี All work and no play makes jack a dull boy, ฉากสับประตู ฉากไล่ล่าในเขาวงกตและอีกมากมายที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกอึดอัดได้
แต่ผู้ชมที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วรู้สึกอึดอัดยิ่งกว่าผู้ชมคนอื่นๆ ก็คงหนีไม่พ้นต้นฉบับอย่างสตีเฟน คิง ต่อว่า สแตนรีย์ ครูบริก ที่ไม่เข้าใจความโหดร้ายของโรงแรมโอเวอร์ลุกอย่างลึกซึ้ง แทนที่จะเน้นเล่าเรื่องเกี่ยวกับโรงแรมนรกที่ชวนผวา แต่กลับเล่าเรื่องไปในแบบของเขา จึงดูไม่เหมือนว่า มันไม่ได้ดัดแปลงจากนิยายตรงไหนเลย
และคิงก็ไม่พอใจการแคสนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้อีกด้วย เริ่มจากตัวเอกแจ็ค ทอร์แรนซ์ (Jack Torrance) นำแสดงโดยแจ็ค นิโคลสัน คิงได้เล่าคาแรกเตอร์ของแจ๊ค ทอร์แรนซ์ที่เขาเขียนว่า จริงๆ แล้ว แจ็ค ทอร์แรนซ์ ยังมีความดีอยู่ แต่ด้วยพลังการเล่าเรื่องของครูบริกกลับทำให้แจ็ค ทอร์แรนซ์นั้นดูเป็นคนโรคจิตและแบนเกินไป
คิงได้กล่าวว่า “ตอนเห็นฉากแรก ที่แจ็ค นิโคลสันนั่งอยู่ในห้องทำงานของผู้จัดการโรงแรมอย่างสจวต อัลแมน (Stuart Ullman) ผมรู้สึกได้เลยว่า แจ็คต้องเป็นคนบ้าแน่ๆ ทั้งที่จริงๆ แจ็คในนิยาย เป็นผู้ชายที่ดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาสุขภาพจิต จนท้ายเรื่องก็ได้เกิดความสูญเสียจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมในตอนท้าย และในภาพยนตร์ไม่ได้ให้ความรู้สึกเป็นโศกนาฏกรรมเลย”
รวมถึงตัวละครเวนดี้ ทอร์แรนซ์ (Wendy Torrance) นำแสดงโดย เชลลีย์ ดูวัลล์ (Shelley Duvall) ก็โดนพลังการเล่าเรื่องของครูบริก ให้กลายเป็นหญิงสาวผู้อ่อนแอ และคิงก็มองออกว่า นักแสดงหญิงคนนี้ ถูกกดดันในกองถ่าย แท้จริงแล้ว ตัวละครเวนดี้ในนิยายนั้น เป็นหญิงแกร่งและเป็นกลางในเรื่องนี้
คิงได้กล่าวว่า “จากที่ผมดูมา เธอเหมือนอยู่ที่นั่นเพื่อเอาแต่กรีดร้องและทำตัวงี่เง่า นั้นไม่ใช่คาแรกเตอร์ที่ผมเขียนลงไปในนิยายเลย”
และทั้งหมดนี้ จึงเป็นนิยามที่สตีเวนคิงมอบให้กับภาพยนตร์ครูบริกว่า “เหมือนกับรถคาดิลแลคงามคันใหญ่ แต่ไม่มีเครื่องยนต์อยู่ข้างใน”
หากสรุปง่ายๆ ก็คือ คิงมองว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ ตัดเนื้อหานวนิยายและเติมความเป็นครูบริกเยอะจนเกินไป จนทำให้ 17 ปีต่อมา คิงได้เก็บความขมขืนใจมาสร้าง The Shining ในแบบละครโทรทัศน์ จำนวนสามตอน ในปี 1997 แม้มันจะตรงใจกับสิ่งที่คิงอยากแก้ไข แต่ยังไงซะ ในมุมมอง ศิลปะภาพยนตร์ ก็ไม่ได้น่าจดจำเทียบเท่ากับที่ครูบริกสร้างและไม่ค่อยได้ถูกพูดถึงมากซะเท่าไร
แม้ปัจจุบันจะมีการแบ่งแยกความชอบระหว่างตัวนิยายกับตัวภาพยนตร์ แต่ผมมองว่า ทั้งสองนี้เป็นผลงานสมบูรณ์ในตัวของมัน ผมรู้สึกว่านิยาย เล่าเรื่องรายละเอียดต่างๆ ได้ดีและการก่อเหตุของแจ็คก็ดูสมเหตุสมผล ส่วนภาพยนตร์ ฉากต่างๆ ก็ทำให้ผมรู้สึกไม่ปลอดภัยและน่าจดจำได้มากมาย บวกกับการแสดงของแจ็ค นิโคลสัน ที่ยังคงถูกพูดถึงมาจนทุกวันนี้
ฉะนั้นแล้ว เราควรมองสิ่งนี้เป็นแค่ความคิดเห็นจะดีกว่า ส่วนความชอบนั้น ก็แล้วแต่การตัดสินใจของคุณ และคุณสามารถเลือกได้ว่า จะชอบแบบไหน
“ผมชอบภาพยนตร์เรื่องนี้นะ และผมก็ชื่นชมคูบริกในฐานะผู้กำกับด้วย บางทีผมก็หลงไปกับผู้คนที่ชื่นชอบมัน จนผมต้องจี้หาจุดบกพร่องของภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมชอบคูบริกในฐานะคนสร้างหนัง แต่ผมแค่รู้สึกว่าเขาไม่มีความสามารถที่จะกำกับเรื่องนี้ได้ดีพอ”
สตีเฟน คิง, New York Time (2020)
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา