31 ม.ค. เวลา 14:00 • กีฬา

ทีมที่สร้างด้วยทฤษฎีของ "ไอน์สไตน์" : ทาจิกิสถานกับเอเชี่ยนคัพ ครั้งแรกแต่ทะลุรอบ 8 ทีม|Main Stand

แค่ชื่อก็คงพอเดาออกว่า ทาจิกิสถาน เป็นประเทศที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียต ซึ่งพรมเเดนของพวกเขาเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในภูมิภาคเอเชียกลาง มีอาณาเขตติดต่อกับอัฟกานิสถาน จีน คีร์กีซสถาน และอุซเบกิสถาน ดังนั้นจึงเป็นอีกหนึ่งชาติที่มีคนหลายเชื้อสายรวมตัวกัน และยังมีชนกลุ่มน้อยมากมายหลายกลุ่ม
การมีพื้นฐานประชากรหลายเชื้อชาติทำให้พวกเขามีปัญหาเรื่องการปกครองและการเมือง จนทำให้ที่สุดเเล้ว ทาจิกิสถาน คือประเทศที่ยากจนที่สุดของอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชียกลางอีกด้วย ขณะที่สื่อบางเจ้าเรียกพวกเขาว่า "เกาหลีเหนือแห่งเอเชียกลาง" เพราะ ทาจิกิสถาน ขาดเสถียรภาพเนื่องจากเกิดความขัดแย้งภายในอย่างรุนแรง เกิดความรู้สึกต่อต้านคอมมิวนิสต์และเกิดขบวนการชาตินิยมใน ทาจิกิสถานเช่นเดียวกับในรัฐอื่นๆ ของสหภาพโซเวียต
นี่คือเรื่องการเมืองเบื้องต้นที่พอจะทำให้คุณเดาภาพออกว่าขนาดที่ว่าคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศยังไม่ดี มันจึงเป็นเรื่องยากสุด ๆ ที่ฟุตบอลจะพัฒนะ เพราะทั้งหมดคือเรื่องของงบประมาณที่จะไปลงที่เรื่องของการเมืองและการปกครองมากกว่า
แต่ความจนและการขาดคุณภาพในเกมลีกฟุตบอลก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมในกีฬาฟุตบอลของชาวทาจิกลดลง พวกเขามีฟุตบอลในหัวใจ เหตุผลง่าย ๆ เพราะได้อิทธิพลมาจากการเป็นอดีตโซเวียต ที่เป็นชาติที่เก่งกาจและมีนักเตะระดับแถวหน้าในช่วงก่อนยุค 90s มากมาย ดังนั้นฟุตบอลของพวกเขาจึงไปต่อได้ด้วยแพชชั่นเป็นหลัก
1
ซึ่งแน่นอนว่าแพชชั่น ไม่ได้ทำท้องอิ่ม แม้จะรักแค่ไหนแต่ถ้าไม่มีงบพัฒนาในยุคทุนนิยมแบบนี้ก็จบอย่างเดียว ดังนั้นต้องย้อนกลับไปข้อแรกนั่นคือ ในเมื่อบ้านเมืองถูกปกครองแบบกึ่งเผด็จการ ถ้าอยากจะพัฒนาในสิ่งที่นอกจากเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์จะต้องทำอย่างไร ? ... วิธีแก้ในเชิงทฤษฎีอาจจะมีมากมาย แต่ตามหลักปฏิบัติแล้วมี 1 ข้อที่ทำได้ และใช้เวลาเพียงพริบตาเดียวนั่นคือการ "เข้าถึงผู้มีอำนาจโดยตรง" นั่นเอง
ขยับจากหัว
ประธานาธิบดี คือคนที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในประเทศทาจิกิสถาน เขาไม่ได้ชอบฟุตบอล แต่ลูกชายคนโตของเขานั้นแตกต่างออกไป เพราะเขาไม่ใช่แค่ชอบ แต่ตกหลุมรักฟุตบอลสุดหัวใจเลยทีเดียว
ประธานสมาพันธ์ฟุตบอล ทาจิกิสถาน คือ รุสตาม เอโมมาลี่ ลูกชายคนโตของประธานธิบดีของประเทศ การที่ รุสตาม ได้ตำแหน่งประมุขฟุตบอลเป็นแนวคิดที่เฉียบเเหลมอย่างที่สุด ทำให้เรื่องของการจัดการและการขอแรงสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นเรื่องที่ไม่ต้องยุ่งยากจนมากเกินไป
รุสตาม ในวัย 24 ปีเมื่อรับตำแหน่ง เป็นคนหนุ่มที่รู้จริงเรื่องฟุตบอล ก่อนหน้านี้เคยเป็นเจ้าของสโมสรในลีกสูงสุดของประเทศอย่าง Istiqlol มาก่อน ซึ่งหลังจากรับตำแหน่งในสมาคมแล้วเขาก็ประกาศยกเลิกบทบาทในระดับสโมรสรทันที
รุสตาม ยืนยันมาตลอดว่าเขาต้องการจะทำให้ฟุตบอลของ ทาจิกิสถาน มีความเป็นอาชีพซึ่งทำให้หลังจากเขารับตำแหน่งมีหลายทีมลงทะเบียนตามมาตรฐานของ AFC และผลักดันให้นักเตะแต่ละคนมีสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
สิ่งที่ตามมายังไม่หมดแค่นั้นเขาสร้างอคาเดมี่ฟุตบอลเพิ่มอีกหลายเเห่งเพื่อพัฒนาเยาวชนในประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจาก สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย จนกระทั่งทีมชุดเยาวชนของทาจิกิสถานได้ไปเล่นฟุตบอลโลก ยู17 ปี2019
เมื่อเดือน เมษายน ที่ผ่านมา Shaikh Salman ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย ได้ชื่นชมการทำงานของ รุสตาม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลของ ทาจิกิสถาน ให้เเข็งแกร่งขึ้นด้วยรากฐานในระยะเวลาอันสั้น
"ทาง AFC ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นพัฒนาการของวงการฟุตบอล ทาจิกิสาน ทั้งหมดนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของ รุสตาม เอมาโมลี่" ซัลมาน เปิดใจให้สัมภาษณ์หลังเดินทางมาประเทศทาจิกิสถาน
"เราได้เปลี่ยนแปลงเพื่อแยกเรื่องการเเบ่งโซนมาเป็น เอเชียกลาง จากก่อนหน้านี้เราให้พวกเขาไปรวมกับโซนเอเชียใต้ วึ่งก็หวังว่าจะทำให้ ทาจิกิสถาน ได้ประโยชน์จากจุดนี้"
AFC เข้ามามีบทบาทสำคัญกับการพัฒนาฟุตบอลทาจิกิสถาน ด้วยการสร้างสนามฟุตบอลหญ้าทีมขนาดมาตรฐานในปี 2017 โดยออกทุนให้ถึง 75% จากทุนสร้างทั้งหมด 205,000 เหรียญสหรัฐ
"หนึ่งในภารกิจที่สำคัญที่สุดของผมคือการพัฒนาวงการฟุตบอลของทาจิกิสถานเราจึงขอขอบคุณ AFC และ ท่านซัลมานเป็นอย่างยิ่งที่ช่วยชี้นำโปรเจ็คนี้" รุสตาน เอมาโมลี่ กล่าวหลังจากรับมอบสนามจาก AFC
"ผมเป็นเกียรติที่ ทาจิกิสถาน ได้รับโปรเจ็ค mini pitch ซึ่งเป็นโปรเจ็คสำคัญที่จะส่งให้เราประสบความสำเร็จ เรายังต้องการสนามฟุตบอลอีกเยอะ ซึ่งตอนนี้เราได้รับมาเเล้ว"
การทำงานของคนหนุ่มไฟแรงและมีคอนเน็คชั่นที่แข็งแกร่งทำให้ ทาจิกิสถาน พัฒนาเยาวชนขึ้นมาได้มากมาย ดังนั้นคุณจงอย่าแปลกใจที่พวกเขาเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลยู 16 ชิงแชมป์เอเชีย พร้อมคว้าตั๋วไป ฟุตบอลโลกยู 17 ปี 2019 ถึงแม้ตกรอบแบ่งกลุ่ม แต่พวกเขาก็คว้าได้ 3 แต้ม จากการร่วมสายแกร่งอย่าง สเปน, อาร์เจนติน่า และ เเคเมอรูน
อธิบายมาถึงจุดนี้คุณจะได้ทราบคร่าว ๆ แล้วว่าฟุตบอลของ ทาจิกิสถาน แข็งแกร่งขึ้นมาในเร็ววันจากการแก้ที่ฐาน ทั้งเรื่องฟุตบอลเยาวชนและฟุตบอลลีกในประเทศ
2 สิ่งนี้ทำให้พวกเขามีผลผลิตหรือนักเตะที่มีคุณภาพสูงขึ้น มีความเข้าใจฟุตบอลสูงมากขึ้น และแน่นอนว่าถ้าจะต่อยอดให้ได้ไกลในระดับนานาชาติคือการได้โค้ชที่ตรงกับสเป็คต์ที่นักเตะที่พวกเขามี จนกระทั่งพวกเขาได้เจอกับ เปตาร์ เชเกิร์ต กุนซือชาวโครเอเชีย เข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนให้พวกเขาในปี 2022
ไอน์สไตน์
ตัดภาพกลับมาในเอเชี่ยน คัพ หนนี้เชื่อว่าหากใครทีได้ดูวิธีการเล่นของ ทาจิกิสถาน คุณจะพบว่ามันมีความคล้ายคลึงกับทีมชาติไทยชุดปัจจุบัน พวกเขาคือทีมที่อัตราการครองบอลต่ำมาก แต่กลับมีโอกาสยิงเข้ากรอบอย่างต่ำ 4 ครั้งแต่ 1 เกม นั่นคือสถิติที่สวนทางกัน ซึ่งการที่มันจะเป็นแบบนี้ได้ มันหมายความว่าพวกเขามีแท็คติกที่ดี โดยเฉพาะหัวใจสำคัญของโมเดิร์นฟุตบอลนั่นคือการ "เปลี่ยนจากรับเป็นรุกในพริบตา" และ ข้อต่อมาคือ "มีโอกาสต้องจบให้คม"
นี่คือตำรับของทีมที่เป็นบอลรองหากหวังจะชนะทีมทีดีกว่า และทาจิกิสถานทำได้ดีมาก ๆ เรื่องนี้นักเตะของพวกเขายกเครดิตให้กับกุนซือย่าง เปตาร์ เชเกิร์ต...เฮ้ดโค้ชชาวโครเอเชียในวัย 57 ปี ที่ถูกสื่อตั้งฉายาว่า "ไอน์สไตน์" ในการแข่งขัน เอเชี่ยน คัพ ครั้งนี้
เชเกิร์ต เคยทำงานคุมทีมชาติอื่น ๆ ในเอเชียมาก่อน เช่นอัฟกานิสถาน และ มัลดีฟส์ โดยตอนที่อยู่ อัฟกานิสถาน เขาได้ฉายาว่า "บุรุษแห่งความหวัง" ขณะที่ตอนอยู่มัลดีฟส์ ทุกเรียกเขาว่า "ราชาไร้มงกุฎ" เรียกได้ว่าไม่ว่าไปที่ไหน เขาดูเหมือนจะได้รับการยอมรับพอสมควร ก่อนที่เขาจะมาอยู่กับ ทาจิกิสถาน ในปี 2022
เชเกิร์ต ให้สัมภาษณ์ว่าฟุตบอลคือชีวิต และชีวิตคือการเดินทาง ขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันหลายคนอยากเป็นนักฟุตบอลหรือโค้ชในลีกบุนเดสลีกา แต่เขานั้นแตกต่าง เขาอยากใช้ชีวิตโค้ชไปพร้อม ๆ กับการผจญภัยในประเทศที่ไม่คุ้นเคย ตอนที่เขาคุมมัลดีฟส์ เขาได้รับอีเมลปริศนา จากสมาคมฟุตบอลทาจิกิสถาน พร้อมกับการส่งตั๋วเครื่องบินมาให้กับเขา ... วิธีการแบบนี้เป็นสิ่งที่เขาถูกใจ เขาเรียกร้องงบประมาณเพิ่ม เพื่อดึงตัวผู้ช่วยของเขามาด้วย ก่อนจะได้ในสิ่งที่ต้องการ และ เชเกิร์ต ก็ตอบตกลง
หลังจากที่เขามาถึง ทาจิกิสถาน เขาเห็นพรสวรรค์ ... แต่เป็นพรสวรรค์ที่นอกจากจะไม่ได้ถูกขัดเกลาแล้ว ยังเป็นพรสวรรค์ที่ถูกมองข้ามอีกด้วย
"ผมมาเห็นนักเตะที่ ทาจิกิสถาน และผมรู้สึกเจ็บใจแทนพวกเขา พวกเขาหลายคนมีพรสวรรค์สูง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนที่มากพอ ผมได้ยินว่าพวกเขาพัฒนาลีกให้เป็นมืออาชีพแล้ว เเต่มันยังมีเรื่องอื่น ๆ นอกจากเรื่องการเซ็นสัญญาแบบมืออาชีพ แต่สภาพแวดล้อมขั้นพื้นฐานมันต้องดีทั้งประเทศ"
"สนามหญ้าที่นี่เป็นหญ้าผสมดินและทราย บางสนามดัดแปลงมากจากพื้นที่เพาะปลูก โค้ชหลายคนมาทำงานที่นี่ต้องยอมแพ้ เพราะเงินทุนไม่มากพอ ... แต่ในเรื่องแย่ยังมีเรื่องดีที่รัฐบาลที่นี่ให้ความสำคัญกับฟุตบอล พวกเขาพยายามสร้างสนามฝึกซ้อม และสนามกีฬาแห่งใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเยี่ยมมาก เพราะพรสวรรค์ของนักเตะหลายคน รอสภาพแวดล้อมที่ดีขัดเกลาให้ดีขึ้น"
ย้อนกลับไปในช่วงปลายปี 2022 เชเกิร์ต ให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายของเขาว่า ... เอเชี่ยน คัพ 2023(ครั้งนี้) จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของฟุตบอลทาจิกิสถาน เขานำสิ่งที่นักฟุตบอลในประเทศนี้ไม่เคยมีใครสอน นั่นคือการเล่นฟุตบอลให้เป็น ไม่ใช่แค่เล่นให้ได้ เขาเป็นเหมือนคนที่มาชี้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สำคัญให้นัก ทาจิกิสถาน ทำให้พวกเขาเข้าใจเกมมากขึ้น
เพราะต่อให้ไม่เก่งมาก แต่เเม่นยำเรื่องแท็คติก มีความเข้าใจเกม และทัศนคติที่ดี มันก็มีโอกาสที่จะสร้างผลงานที่ใครไม่คาดคิดได้ในฟุตบอลแบบวัดผลนัดต่อนัดอย่าง เอเชี่ยน คัพ
"ผมเป็นโค้ชยุโรปคนแรกในรอบเกือบ 10 ปีของที่นี่ ผมรู้ทำไมถึงเป็นแบบนั้น พวกเขาอยากให้ผมเอาแนวคิดของฟุตบอลยุโรปมาใส่ให้กับนักเตะ มาผสมกับธรรมชาติของนักเตะท้องถิ่น"
"นักเตะประเทศนี้ใจสู้ทุกคน เพราะประชากรทาจิกิสถานกว่า 27% มีชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน พวกเขามีฟุตบอลนำทาง ดังนั้นไม่มีนักเตะคนไหนในทีมของผมที่ขาดแรงจูงใจ นักเตะในลีกสูงสุดของ ทาจิกิสถาน ได้ค่าเหนื่อยประมาณนักเตะระดับลีกา 3 เยอรมัน (ราว 2,000 ยูโร หรือ 80,000 บาทต่อเดือน นั่นมากพอที่พวกเขาจะรับประกันชีวิตที่สุขสบายให้กับครอบครัวพวกเขา ... ด้วยโจทย์แค่นี้พวกเขาก็วิ่งกันลืมตายแล้ว"
เชเกิร์ต พยายามบอกว่าเขาเอาสิ่งที่โดดเด่นของนักเตะ ทาจิกิสถาน มาใช้เป็นหลักนั่นคือความกระหายและพละกำลัง ... หากนักเตะมีพลังหรือความฟิตที่มากพอ เขาจะสามารถสอนอะไร ใส่อะไรลงไปในแท็คติกได้มากมาย ซึ่งคุณก็น่าจะได้เห็นจากความเฉียบคม และความแน่นอนใน เอเชี่ยน คัพ หนนี้ที่พวกเขาใช้การ "รับแน่น ๆ แล้วโป้งเดียวจอด" เป็นอาวุธสำคัญพาทีมเข้ามาถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายอย่างเหลือเชื่อ
นอกจากแนวคิดที่ดี ความเข้าใจธรรมชาติของคนในชาติ คือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ สำหรับ การทำทีมชาติเล็ก ๆ แบบนี้ ตัวของ เชเกิร์ต เล่าว่า ตัวของเขานั้นไม่เคยวางตัวเหนือกว่านักเตะและทีมงานทุกคน การให้ความสนิทสนม และมิตรไมตรี มีค่ามากที่จะทำให้คนเชื่อใจ และมันจะง่ายต่อการทำงานของพขามากกว่า
"ผมปฏิบัติต่อทุกคนอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมให้ความเคารพ และมอบรอยยิ้มให้กับทุกคน ไม่สำคัญว่าคนๆนั้นจะเป็นคนทำความสะอาด เป็นแม่บ้านสำนักงาน เป็นคนซักเสื้อ หรือผู้รักษาประตูมือ 3 ของทีม ... ผมปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม นี่คือสิ่งที่หลายคนอาจมองข้าม การมีอัตตามากเงินไปจะนำปัญหามาสู่งานของเฮ้ดโค้ช"
"ตัวของผมอาจจะเป็นคนยุคเก่า และมีความเป็นผู้นำในตัวสูง แต่ผมเองก็เห็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ในการมองภาพรวมใหญ่เป็นหลัก เมื่อคุณทำให้ทุกคนรักและเชื่อใจ พวกเขาจะให้ในสิ่งที่คุณไม่ได้ร้องขอเลยด้วยซ้ำ" เชเกิร์ต เล่าถึงหลักการบริหารคนของเขา
ถ้าคุณจะถามว่า เชเกิร์ต ที่สร้างทีม ทาจิกิสถาน ยุคนี้เป็นโค้ชแบบไหน คำตอบคือเขาเป็นโค้ชแบบโอลด์ สคูล ไม่ใช้ไอแพด ไม่ได้อิงสถิติจากนักวิเคราะห์ข้อมูลตามเทรนด์ฟุตบอลสมัยใหม่ ซึ่งเขาก็ไม่ปฏิเสธว่าการใช้ดาต้าก็สำคัญ แต่สำหรับฟุตบอลที่ไม่ได้อยู่ในระดับโลก บางครั้งการสอนกันด้วยประสบการณ์ และการยึดติดกับพื้่นฐานเป็นอะไรที่สำคัญมากกว่า ในสภาวะที่คุณเวลาจำกัดในการทำงาน
“ผมไม่ได้สัมผัสประสบการณ์ฟุตบอลของจริงผ่านการวิเคราะห์วิดีโอ แต่ผมชอบไปที่บนท้องถนนหรือในสนามจริงมากกว่า” เขาสรุปเรื่องนี้โดยรวบรัด
ท้ายที่สุดเขาคือคนที่พาทั้งนักเตะและผู้บริหารตั้งความหวังกับ เอเชี่ยน คัพ ครั้งนี้เพราะเขารู้ว่ามันจะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ได้มากกว่า ฟุตบอลเยาวชนครั้งที่ผ่านมา ๆ มา การไปได้ไกลของ ทาจิกิสถาน จะทำให้นักเตะของพวกเขากล้ามองเป้าหมายที่แต่ก่อนไม่เคยคิดว่าจะทำได้ เช่นเดียวกับผู้บริหารที่พร้อมตั้งเป้าและกล้าลงทุนเพื่ออนาตมากกว่าที่เป็น
"เอเชี่ยน คัพ หนนี้จะเปลี่ยนฟุตบอลในประเทศนี้ออกไป ...ผมเป็นแค่โค้ชยุคเก่า หลายคนอาจจะเรียกผมว่าไอน์สไตน์ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่ามันเพราะอะไร แต่เป็นเรื่องน่าประทับใจ ตราบใดที่ผมทำงานกับทาจิกิสถาน ผมจะทำให้ทุกคนเห็นว่าผมพยายามเปลี่ยนฟุตบอลประเทศนี้มากขนาดไหน" เชเกิร์ต กล่าวส่งท้าย และหลังจากนั้น พวกเขาก็เดินหน้าเข้าสู่เวทีชิงแชมป์เอเชีย และเป็นชาติที่ทำผลงานได้เซอร์ไพรส์ที่สุดในเวลานี้
บทความโดย : ชยันธร ใจมูล
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา