13 ก.พ. เวลา 03:55 • ข่าวรอบโลก

“เยาวชนกับการส่งเสริม soft power ไทย”

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๖ กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้สูญเสียบุคคลสำคัญท่านหนึ่งไปคือ นายณัฐภาณุ นพคุณ หรือท่านรองนิ้ง อดีตรองอธิบดีกรมสารนิเทศ
โดยท่านรองนิ้งเข้ารับราชการเมื่อปี ๒๕๓๘ ได้เคยปฏิบัติหน้าที่ที่กรมยุโรป สำนักงานปลัดกระทรวง สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน กรมอาเซียน กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ สำนักงานรัฐมนตรี กรมสารนิเทศ คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา กรมองค์การระหว่างประเทศ และได้เคยดำรงตำแหน่งรองโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – ๑๙ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ระหว่างปี ๒๕๖๓-๒๕๖๕
ทีมงาน Blockdit จึงขอแสดงความระลึกถึงอดีตรองอธิบดีที่เป็นที่รักและคิดถึงของพวกเราทุกคนด้วยบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับมุมมองเรื่อง Soft Power ของท่านรองค่ะ
หนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมสารนิเทศคือการส่งเสริม soft power ของไทยสู่สายตาของกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศ วันนี้ เราจึงมาสัมภาษณ์ท่านรองอธิบดีการสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ (นายณัฐภาณุ นพคุณ) เกี่ยวกับมุมมองของท่านต่อ soft power ไทย และการมีส่วนร่วมของเยาวชนในหัวข้อ ‘เยาวชนกับการส่งเสริม soft power ไทย’ กันค่ะ
ก่อนจะเข้าสู่การสนทนาเรื่อง soft power ดิฉันขอให้ท่านรองฯ เล่าเกี่ยวกับแรงบันดาลใจในการก้าวสู่อาชีพนักการทูตและเรื่องราวที่น่าสนใจในประสบการณ์ทำงานของท่านสักเล็กน้อยค่ะ
นางสาวภควรรณ ชัยชนะศิริวิทยา (บีม) และ รองอธิบดีณัฐภาณุ นพคุณ
จากนักสะสมแสตมป์ในวัยเยาว์สู่นักการทูต
“อยากทำงานเป็นบุรุษไปรษณีย์ ตอนนั้นครับ” ท่านรองฯ กล่าวอย่างอารมณ์ดี เมื่อถามถึงอาชีพในฝันของท่านในวัยเด็กเนื่องจากเห็นว่าบุรุษไปรษณีย์มีความรู้เรื่องเส้นทางต่าง ๆ อย่างดี สอดคล้องกับความชอบของท่านในการสืบเสาะหาที่ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยไป ควบคู่ไปกับความสนใจในดวงตราไปรษณียากร หรือแสตมป์บนจดหมายของแต่ละประเทศ ที่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันไป ซึ่งความชื่นชอบนี้นำไปสู่ความสนใจในการเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศต่าง ๆ และความสนใจด้านการต่างประเทศในที่สุด
นอกจากนี้ การที่คุณพ่อของท่านรองฯ รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศเช่นกัน ทำให้มีโอกาสเดินทางไปหลายประเทศและใช้ชีวิตในต่างประเทศตั้งแต่เด็ก และหลายครั้งก็พบว่าตนเป็นนักเรียนไทยเพียงคนเดียวในห้อง พลอยทำให้ท่านต้องรับหน้าที่เสมือนเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปโดยปริยาย ไม่ต่างจากการเป็นนักการทูตไทยในต่างแดนนั่นเอง
คำชื่นชมจากใจ...ไทยคือมหามิตร
เมื่อถามถึงประสบการณ์ที่ประทับใจที่สุดในประสบการณ์ทำงานที่กระทรวงการต่างประเทศของท่านรองฯ ท่านได้เล่าถึงสมัยที่ไปประจำการที่กรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นการออกประจำการครั้งแรกของท่านด้วย ท่านรู้สึกประทับใจผู้คนและทัศนคติเชิงบวกของคนกัมพูชาต่อคนไทย คนกัมพูชาล้วนชื่นชมประเทศไทยในฐานะมิตรประเทศที่ดีและเพื่อนบ้านที่ดี และเมื่อครั้งที่ท่านไปประจำการที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก็ได้พบว่าคนอเมริกันมองไทยเป็นมหามิตรเช่นกัน
โดยที่ไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นมากกว่า ๑๙๐ ปี กล่าวคือ หนึ่งในสิ่งที่น่าประทับใจที่สุดในการปฏิบัติหน้าที่นักการทูตของท่านรองฯ คือการที่ได้เห็นชาวต่างชาติมองว่าไทยเป็นมิตรที่ดี ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่ดีสำหรับประเทศไทยในการเข้าไปสานความสัมพันธ์ ทั้งยังเป็นสัญญาณที่ดีว่าไทยยังมีศักยภาพที่จะสานสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นได้อีก
Soft Power ที่ไม่ได้จำกัดแค่ 5F
ในฐานะรองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ท่านรองฯ กล่าวว่า การส่งเสริม soft power ของไทยเพื่อสร้างความประทับใจและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในสายตาชาวต่างชาติ อยู่ในขอบเขตงานของกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศอยู่แล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นเคยกับการส่งเสริม 5F ประกอบด้วย Food (อาหาร) Film (ภาพยนตร์และวีดิทัศน์) Fashion (การออกแบบแฟชั่นไทย) Fighting (ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย) และ Festival (เทศกาลประเพณีไทย)
ทั้งนี้ ท่านรองฯ เห็นว่า soft power ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงมิติด้านวัฒนธรรมอย่าง 5F เท่านั้น แต่มิติอื่น ๆ ของไทย เช่น การเป็นประเทศที่มีความน่าเชื่อถือสำหรับนักลงทุน หรือบทบาทของไทยในการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ล้วนเป็น soft power ของไทยที่สามารถส่งเสริมได้เช่นเดียวกัน ซึ่งกรมสารนิเทศก็ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการส่งเสริม soft power เสมอ และขณะนี้ ไทยยังมีก้าวสำคัญคือการริเริ่มตั้งคณะกรรมการระดับชาติด้าน soft power ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีว่าไทยอาจส่งเสริม soft power ได้อีกหลากหลายแนวทางในอนาคต
Soft Power ไทยไปได้ไกลกว่านี้?
ในส่วนของความสำเร็จในการส่งออก soft power ของไทย ท่านรองฯ เห็นว่าไทยประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ยังสามารถพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้
แม้แต่สื่อฮ่องกงยังเคยเขียนบทความที่มีการตั้งคำถามที่น่าสนใจว่า “T-Pop จะสามารถมาแทนที่ K-pop ได้หรือไม่?” ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่เชื่อว่า T-Pop จะสามารถผงาดขึ้นมาแทนที่ K-pop ได้ แต่ท่านรองฯ มองว่า การที่ชาวต่างชาติตั้งคำถามเช่นนี้ ก็สื่อว่าอุตสาหกรรมดนตรีของไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะเป็นที่พูดถึง
ในสื่อต่างประเทศ หากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนมีการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ก็จะยิ่งส่งเสริมศักยภาพของ soft power ไทยได้มากยิ่งขึ้น
ท่านรองฯ ยกตัวอย่างมิติ “Fashion” ซึ่งใน 5F จะพูดถึงการออกแบบแฟชั่นไทย แต่แท้จริงแล้ว ยังมีการออกแบบและศิลปะไทยอีกหลายรูปแบบที่สามารถส่งเสริมให้เป็น soft power ได้เช่นกัน เช่่น การออกแบบกราฟฟิก นอกจากนี้ ในส่วนของ “Film” เอง นอกจากการโปรโมทหนังไทยแล้ว การสนับสนุนเงินทุนให้แก่
ผู้ผลิตภาพยนตร์ให้เพิ่มมากขึ้นอาจช่วยส่งเสริมคุณภาพหนังไทยไปอีกขั้น และวันหนึ่ง คนไทยอาจได้เห็นวงการหนังไทยยิ่งใหญ่อย่างเช่น Hollywood หรือ Bollywood ก็เป็นได้
“ไทยเองมีศักยภาพ แต่ขาดเรื่องงบประมาณ”
ความท้าทายในการพัฒนาศักยภาพ Soft Power ไทย
การขาดเงินทุนที่เพียงพอในการสนับสนุนงานศิลปะที่เป็นหนึ่งใน soft power ที่สำคัญของไทยนั้นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะ ‘สมองไหล’ โดยจะเห็นได้ว่านักออกแบบไทยที่มีความสามารถโดดเด่นจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะไปสร้างผลงานในต่างประเทศมากกว่าในประเทศไทย ซึ่งท่านรองฯ รู้สึกยินดีที่คนไทยมีความสามารถในระดับโลก แต่ก็มีความรู้สึกเสียดายเช่นกันที่เราไม่อาจนับว่าผลงานเหล่านั้นเป็นผลงานของไทยจริง ๆ
เพื่อสร้างแรงจูงใจไทยมีนักออกแบบเพิ่มมากขึ้นและสร้างผลงานด้านการออกแบบให้แก่ไทย ท่านรองฯ นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า เราอาจเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ เช่น การปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็ก โดยการปรับสื่อการศึกษาให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น เช่น การปรับกราฟฟิกดีไซน์ในหนังสือแบบเรียนให้ดูทันสมัย เพราะหนังสือเรียนของไทยส่วนใหญ่มักมีรูปแบบเดียวกัน ยังมีลูกเล่นไม่เยอะนัก
ถึงเวลาส่งไม้ต่อภารกิจส่งเสริม soft power ไทยให้เยาวชน
สังคมไทยกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ generation ใหม่ เช่นเดียวกับสังคมอื่น ๆ ท่านรองฯ เห็นว่า การส่งเสริม soft power ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเช่นกัน
ในยุค 80-90 ก็ยังไม่เกิดแนวคิด soft power อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่มุ่งเน้นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมให้เป็นที่รู้จัก
แต่ในปัจจุบัน จะมีเรื่องของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอ soft power ให้สอดคล้องกับรสนิยมของตลาดโลก เช่น การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น หรือการแสดงโขนของไทย ซึ่งเป็นศิลปะอันงดงามที่ควรนำเสนอ หากต้องการนำออกไปสู่ตลาดโลก อย่างเช่นการนำโขนไปแสดงที่บรอดเวย์ ก็อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเช่นกัน ซึ่งไทยมีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องการปรับเปลี่ยนให้ทันสมัยและก้าวทันเทคโนโลยีมากขึ้น
สำหรับเยาวชน ท่านรองฯ ฝากถึงเยาวชนว่า ทุกคนก็สามารถมีบทบาทในการส่งเสริม soft power ของไทยได้ โดยการฝึกฝนพัฒนาศักยภาพของตนเองในด้านที่ตนถนัดอย่างเต็มที่และตั้งใจที่สุด เพื่อสร้างความเป็นเลิศในสิ่งที่ตัวเองทำ อย่ามองว่าการเป็นเยาวชนนั้นจะไม่สามารถสร้างประโยชน์ได้
การสร้างสิ่งที่เป็น soft power ของไทย ก็สามารถเริ่มต้นได้จากจุดเล็ก ๆ และหากพัฒนาให้ดี ที่สุดก็จะสามารถขยายผลไปได้กว้างขึ้น สู่ตลาดที่กว้างขึ้นในไทยและต่างประเทศได้
การเป็นส่วนหนึ่งของ soft power ไม่จำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ใหญ่ หรืออุตสาหกรรมร้านอาหารผ่านการรับรองมาตรฐานสากล เช่น มิชลิน เราอาจเริ่มต้นได้จากการทำอาหารไทยด้วยสูตรพิเศษของตัวเอง หรือพัฒนาอะไรที่มีอยู่แล้ว เช่น หากเราอยู่ในต่างประเทศ เราก็สามารถทำแกงเขียวหวานที่เข้ากับรสนิยมอาหารของคนในประเทศนั้น ๆ เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นการโปรโมท soft power ของไทยอย่างหนึ่งแล้ว
Be the best that you can be
จุดเล็ก ๆ ของบทบาทเยาวชน อาจสร้างแรงกระเพื่อมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยได้ต่อไป ท่านรองฯ เชื่อว่า ทุกอย่างในโลกนี้มีความเชื่อมโยงกันหมด สิ่งที่เราลงมือทำในท้องถิ่นอาจไม่ได้จบลงที่ท้องถิ่น แต่อาจมีผลกระทบเชิงบวกไปได้ไกลกว่าชุมชนของเรา ซึ่งปัจจุบัน social media ก็เป็นเครื่องมือที่จะช่วยเผยแพร่เอกลักษณ์ไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นได้
โดยที่สังคมไทยค่อนข้างเปิดกว้างต่อการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ ท่านรองฯ อยากฝากให้เยาวชนไทยมุ่งฝึกฝนทักษะด้านภาษาให้มาก และมีความกล้าที่จะออกนอก comfort zone ของตนเอง ซึ่งจะเอื้อให้เยาวชนสามารถปลดล็อคศักยภาพได้อีกมาก แต่จะต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญ คือ การมีความรับผิดชอบต่อสังคม และการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีของเยาวชนไทยอยู่แล้ว และหวังว่าเยาวชนไทยจะเป็นกำลังสำคัญในการส่งออก soft power ไทยสู่สายตาชาวโลกในอนาคตค่ะ
นางสาวภควรรณ ชัยชนะศิริวิทยา (บีม)
นักศึกษาฝึกงาน
กรมสารนิเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ
โฆษณา