4 ก.พ. 2024 เวลา 03:00 • การตลาด

อธิบายคำว่า Neuromarketing เมื่อการตลาด ไปเกี่ยวกับ สารสื่อประสาทในสมอง

คุณ Philip Kotler บิดาแห่งการตลาดสมัยใหม่ ได้ให้นิยามคำว่า “การตลาด” เอาไว้ว่า
“การตลาด คือ การค้นหาความต้องการ (Wants) และความจำเป็น (Needs) ที่แท้จริงของลูกค้า
แล้วธุรกิจก็ตอบสนองสิ่งเหล่านั้นให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและมีความสุข”
ด้วยเหตุนี้ การตลาดจึงพยายามหาวิธีเข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากที่สุด
2
อย่างไรก็ตาม การตลาดที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การทำการตลาดรูปแบบหนึ่งในอดีตอาจประสบความสำเร็จ
แต่ไม่ได้การันตีว่า การทำการตลาดรูปแบบเดิมอีกครั้ง จะประสบความสำเร็จเหมือนเช่นที่ทำในอดีต
1
หรือบางครั้งข้อมูลจากการทำวิจัยทางการตลาด (Market Research) ก็อาจมีอคติเจือปนได้เช่นกัน
ซึ่งทำให้ข้อมูลเชิงลึกที่ได้ มีความคลาดเคลื่อนไปจากความจริง
1
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการพยายามศึกษาวิธีการหาความต้องการของลูกค้าด้วยวิธีการใหม่ ๆ
และยังให้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าได้อย่างถูกต้องแม่นยำ
ซึ่ง “Neuromarketing” คือแขนงวิชาหนึ่ง ที่พยายามจะหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้
แล้ว Neuromarketing คืออะไร ?
Neuromarketing มาจากคำว่า “Neuroscience” ที่หมายถึง ประสาทวิทยา
บวกกับคำว่า “Marketing” หรือการตลาด
Neuromarketing จึงหมายถึง สาขาวิชาที่นำเรื่องราวของระบบประสาทและการตลาด มาศึกษาบูรณาการร่วมกัน
ในฐานะที่ระบบประสาทและการทำงานของสมอง เป็นสิ่งที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์
1
แล้ว Neuromarketing กับการตลาดทั่วไป แตกต่างกันอย่างไร ?
การตลาดทั่วไป มักจะเน้นศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค ในเชิงมิติทางสังคมมากกว่า
โดยศึกษาร่วมกับทฤษฎีทางจิตวิทยา, ทฤษฎีทางสังคมวิทยา และมานุษยวิทยา
แต่ Neuromarketing จะศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในมิติทางชีววิทยา
ว่าการทำงานของระบบประสาท มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างไรบ้าง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น เช่น
ถ้าธุรกิจอยากให้ลูกค้าซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ก็จะใช้กลยุทธ์ช่วยส่งเสริมการขาย
อย่างเช่น การลดราคา, การให้ของแถมเพิ่มเติม หรือการให้สิทธิพิเศษอื่น ๆ
ซึ่งการตลาดทั่วไปอาจจะมองแค่ว่า กิจกรรมส่งเสริมการขาย คือตัวกระตุ้นความรู้สึกสนใจของลูกค้า และทำให้เกิดพฤติกรรมการซื้อสินค้า
แต่ไม่สามารถอธิบายต่อไปได้ว่า ความรู้สึกชอบและสนใจ จริง ๆ แล้วเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่..
1
ขณะที่ Neuromarketing จะศึกษาลงลึกถึงขั้นที่ว่า ทำไมลูกค้าถึงชอบกิจกรรมส่งเสริมการขาย ?
โดยหาสาเหตุ กระบวนการ ปัจจัยที่มากระตุ้น
รวมถึงพฤติกรรมการตอบสนอง ผ่านการศึกษาระบบประสาทในร่างกายของมนุษย์
ก่อนที่เราจะไปดูว่าระบบประสาท ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างไร
เรามาทำความเข้าใจ องค์ประกอบของสมองมนุษย์ แบบง่าย ๆ กันก่อน
คุณ Paul Donald MacLean แพทย์และนักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาทฤษฎีสมอง 3 ส่วน
เพื่อใช้อธิบายวิวัฒนาการของสมองและพฤติกรรมในสัตว์มีกระดูกสันหลัง
โดยทฤษฎีนี้บอกว่า สมองของมนุษย์แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. Reptilian Brain
เป็นสมองที่พบได้ในสัตว์หลายประเภท นับตั้งแต่สัตว์เลื้อยคลาน (Reptile) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม
รวมถึงมนุษย์ มีอิทธิพลเกี่ยวกับพฤติกรรมประเภท “สัญชาตญาณ” เป็นหลัก
รวมถึงลักษณะนิสัย ความเคยชิน การเอาตัวรอด พฤติกรรมที่อยู่ในจิตใต้สำนึก
และพฤติกรรมอัตโนมัติที่เราบังคับเองไม่ได้ เช่น การหายใจ, การเต้นของหัวใจ, การหลั่งฮอร์โมน
สมองส่วนนี้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ยังเป็นเด็กทารก เพื่อตอบสนองความต้องการเรื่อง “ความปลอดภัย”
6
โดยถ้าสมองส่วนนี้ได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ จะเกิดความรู้สึก “สงบ”
แต่ถ้าไม่ได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐาน จะเกิดความรู้สึก “กลัว” ขึ้นมา
2
2. Limbic System
เป็นสมองส่วนที่พัฒนามากในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ทำหน้าที่เกี่ยวกับความรู้สึกและอารมณ์เป็นหลัก
และเป็นสมองส่วนที่กระตุ้นให้สิ่งมีชีวิตทำบางอย่าง เพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ
ดังนั้น สิ่งมีชีวิตที่มีสมองส่วนนี้พัฒนามาก จะสามารถฝึกให้เชื่องได้ ผ่านการให้รางวัล เช่น สุนัข, โลมา, วาฬ
ในมนุษย์ สมองส่วนนี้จะเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ 15 ปี
ทำให้เรามักจะเห็นเด็กตัดสินใจด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล
เพราะสมองส่วนอารมณ์พัฒนารวดเร็วกว่า แต่สมองส่วนเหตุผลยังเติบโตไม่เต็มที่นั่นเอง
สมองส่วน Limbic System เมื่อได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานอย่างเพียงพอ จะเกิดความรู้สึก “พึงพอใจ”
แต่ถ้าไม่ได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐาน จะเกิดความรู้สึก “ไม่พอใจ”
3. Neocortex
เป็นสมองส่วนที่พัฒนามากในมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไม่กี่ชนิด
สมองส่วนนี้จะเติบโตเต็มที่ เมื่ออายุประมาณ 25 ปี
ทำหน้าที่เกี่ยวกับภาษา ตรรกะ การให้เหตุผลที่ซับซ้อนมากขึ้น สิ่งที่เป็นนามธรรม และจินตนาการ
2
แล้วสมองทั้ง 3 ส่วน ทำงานได้อย่างไร ?
การทำงานของสมองทั้ง 3 ส่วน จะเริ่มจากการส่งกระแสประสาทไปที่ Reptilian Brain ก่อนเป็นที่แรก
ถ้าเป็นเรื่องที่ใช้สัญชาตญาณหรือจิตใต้สำนึกในการตอบสนอง ร่างกายก็จะตอบสนองทันที โดยไม่ผ่านสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์หรือเหตุผล
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการตัดสินใจ
กระแสประสาทจะถูกส่งต่อไปที่ Limbic System ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก
และ Neocortex หรือสมองส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผล ตามลำดับต่อไป
ดังนั้น การทำการตลาดรูปแบบที่มีประสิทธิภาพ คือ การกระตุ้นสมองส่วน Reptilian Brain ให้ตื่นตัว
3
เช่น การใช้ Pain Point มาอธิบายให้ลูกค้ารู้สึกกลัวและตื่นตัวในการแก้ไขปัญหา
ย่อมดีกว่าการสาธยายข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด แต่สุดท้ายลูกค้ากลับจำอะไรไม่ได้เลย
2
และถ้ามองให้ลึกลงไปอีกขั้น กลไกการทำงานของสมองและระบบประสาทนั้น
จริง ๆ แล้ว เกิดจากการรับส่งกระแสประสาทระหว่างเซลล์ประสาท
จากเซลล์ประสาทหนึ่งไปยังเซลล์ประสาทถัดไปเรื่อย ๆ เป็นอย่างนี้จนครบวงจรระบบประสาท
2
ซึ่งกระแสประสาทจะถูกส่งต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการถูกกระตุ้นจากสารเคมีที่เรียกว่า “สารสื่อประสาท” หรือ Neurotransmitter
และสารสื่อประสาทนี่เอง ที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความรู้สึกของเรา
1
ไม่ว่าจะเป็น
ความรู้สึกตื่นเต้นในงานเปิดตัวสินค้าใหม่, ความรู้สึกสนใจสินค้าออกใหม่, ความพึงพอใจที่ได้ซื้อสินค้า หรือการตัดสินใจซื้อหรือไม่ซื้อสินค้า
โดยสารสื่อประสาทมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน ตัวอย่างสารสื่อประสาทที่เด่น ๆ ก็เช่น
- เซโรโทนิน (Serotonin)
เกี่ยวข้องกับการควบคุมอารมณ์ และความรู้สึก เช่น ความสุข, ความโกรธ, ความก้าวร้าว, ความวิตกกังวล
คนที่มีระดับสารเซโรโทนินผิดปกติ จะมีอาการทางจิตเภทได้ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคซึมเศร้า
- โดพามีน (Dopamine)
เกี่ยวข้องกับความรู้สึกบางอย่าง เช่น ความพึงพอใจและความรัก
โดยจะหลั่งออกมามากเป็นพิเศษ เมื่อทำอะไรสักอย่างสำเร็จ หรือพึงพอใจบางสิ่งบางอย่างมาก ๆ
นอกจากนี้โดพามีนยังเกี่ยวข้องกับความรู้สึกตื่นเต้นและกระฉับกระเฉงอีกด้วย
คนที่มีระดับโดพามีนที่สูงกว่าปกติ จึงมีอาการตื่นตัวตลอดเวลา และไวต่อการถูกกระตุ้น
แต่ถ้ามีระดับโดพามีนต่ำกว่าปกติ จะทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว และเกิดโรคทางจิตเภทได้ เช่น โรคซึมเศร้า, โรคไบโพลาร์
2
นอกจากเซโรโทนินและโดพามีน ก็ยังมีสารสื่อประสาทอื่น ๆ ที่คอยควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกของคนอีก
เช่น อะดรีนาลิน, นอร์อะดรีนาลิน, เอนดอร์ฟิน และกาบา
1
การทำงานของระบบประสาททั้งหมดนี้เอง ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของคน
ไม่ใช่เพียงการขยับกล้ามเนื้อแขน-ขาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการคิด, การตัดสินใจ, อารมณ์, ความรู้สึก
และพฤติกรรมอื่น ๆ ที่เราเองอาจไม่ทันได้สังเกตเห็น
เช่น
การแสดงออกทางสีหน้า แววตา ผ่านกล้ามเนื้อบนใบหน้า, การเคลื่อนไหวและโฟกัสของดวงตา,
อัตราการหายใจ หรือแม้แต่อัตราการเต้นของหัวใจ
1
จากที่เล่ามาจะเห็นว่า ระบบประสาท มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างมาก
การเข้าใจแก่นแท้ของระบบประสาท จึงทำให้เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ชัดเจนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การศึกษาการเกิดกลไกชีวเคมีในระดับเซลล์เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก
เพื่อความง่ายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ การศึกษาเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงการตลาด
จึงมักศึกษาผ่านปฏิกิริยาตอบสนองของมนุษย์ที่แสดงออกมามากกว่า
ตัวอย่างการศึกษาการตอบสนองของมนุษย์ เช่น
1. fMRI
เป็นเทคนิคตรวจการทำงานของสมอง โดยอาศัยการเปลี่ยนแปลงของอัตราการไหลของเลือด
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ การทำงานของเซลล์ประสาทในสมองกับการไหลเวียนของเลือดในสมองนั้นเกิดควบคู่กัน
เมื่อบริเวณไหนของสมองทำงานอยู่ บริเวณนั้นจะมีเลือดไหลเวียนมากขึ้น และมีออกซิเจนเพิ่มขึ้นด้วย
เมื่อออกซิเจนในสมองแต่ละบริเวณไม่เท่ากัน จะทำให้ภาพสแกนสมอง fMRI มีสีที่แตกต่างกัน
ซึ่งจะทำให้แพทย์หรือนักวิจัยสามารถตรวจการทำงานของสมองได้
ตัวอย่างการนำเทคนิคนี้ไปใช้ในการตลาด เช่น
ใช้ศึกษาว่าสมองบริเวณใดของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เมื่อมีสิ่งเร้าทางการตลาดมากระตุ้น
จากนั้นก็นำข้อมูลที่ได้ไปทำแผนที่สมอง ว่าสมองบริเวณใดถูกกระตุ้นบ้าง บริเวณไหนถูกกระตุ้นมากที่สุด
ซึ่งจะช่วยให้นักการตลาดรู้จักสิ่งเร้าใหม่ ๆ ที่สามารถกระตุ้นสมองของผู้บริโภคได้เช่นกัน
2. EEG
คือ เทคนิคการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง เป็นการตรวจการทำงานของเซลล์สมองที่ส่งออกมาในลักษณะคลื่นไฟฟ้าที่มีความถี่สูงและต่ำ โดยจะปรากฏออกมาเป็นกราฟบนจอภาพ
สามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจผู้บริโภคได้ว่า ผู้บริโภคมีปฏิกิริยาอะไรบ้าง
เมื่อได้เห็นโฆษณา ได้ดูคอนเทนต์ ก่อนซื้อและขณะซื้อของ หรือเมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานขาย
3. Eye Tracking
คือ การตรวจจับกิจกรรมของดวงตา เช่น การโฟกัสและการเคลื่อนไหวของดวงตา, การขยายของม่านตา
การตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ ก็เพื่อค้นหาว่าผู้บริโภคสนใจหรือไม่สนใจอะไร
เทคโนโลยีนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งได้นำไปใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์และการทำการตลาด
ตัวอย่างเช่น Google ได้นำเทคโนโลยีนี้ ไปใช้ปรับปรุงหน้าการค้นหาของ Google Search
อย่างไรก็ตาม การศึกษา “Neuromarketing” ก็มีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่าง เช่น
- ใช้งบในการศึกษาวิจัยสูงมาก เพราะเครื่องมือมีราคาแพง ทำให้บริษัทที่ทำวิจัยด้านนี้ได้ ต้องเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีงบประมาณสูง
- ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจหลากหลายสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นการตลาด, ชีววิทยาการแพทย์, จิตวิทยา, ประสาทวิทยา
- เกิดคำถามทางด้านจริยธรรมว่าเหมาะสมหรือไม่ในการศึกษาวิจัย
ด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ การศึกษาวิจัยด้าน Neuromarketing จึงอยู่ในวงจำกัด
และไม่แพร่หลายดังเช่นการตลาดรูปแบบอื่น ๆ
จากที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การทำงานของระบบประสาทมีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง
กับพฤติกรรมของผู้บริโภค
ด้วยเหตุนี้ ในบางครั้งการทำการตลาด จึงต้องอาศัยความเข้าใจกระบวนการทำงานของสมองมนุษย์ด้วย
เพื่อให้ธุรกิจเข้าใจความต้องการของผู้บริโภค และตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างแท้จริง..
โฆษณา