2 ก.พ. เวลา 08:11 • หุ้น & เศรษฐกิจ

มองเศรษฐกิจรอบโลก โอกาสลงทุนอยู่ตรงไหนในปี 2567

โดย ดร. ฐนิตพงศ์ ชื่นภิบาล
ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุน บลจ.กรุงศรี จำกัด
ตลาดการลงทุนในปีนี้เริ่มต้นด้วยความผันผวนตั้งแต่เดือนแรก โดยในช่วงต้นเดือนมกราคมตลาดการลงทุนดูสดใส เนื่องจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจเริ่มประกาศลดดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม และอาจลดดอกเบี้ยมากถึง 6 ครั้งในปีนี้ อย่างไรก็ดี หลังจากเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านระบุว่า
คณะกรรมการเฟดยังไม่มีการพิจารณาว่าจะเริ่มประกาศลดดอกเบี้ยเมื่อใด เนื่องจากเฟดต้องการรอดูให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐลดลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ 2% อย่างมีเสถียรภาพ และเฟดยังไม่ปิดโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติมหากเงินเฟ้อกลับมาเร่งตัวขึ้น รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงออกมาแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ยของเฟด
ดังนั้น สิ่งที่ควรติดตามอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอคือ พัฒนาการทางเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงทิศทางการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลก รวมถึงบ่งชี้ถึงแนวโน้มของผลประกอบการของบริษัทต่างๆ และจะส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนในระยะต่อไป
เนื่องจากเดือนนี้เป็นเดือนแรกของปี ข้อมูลเศรษฐกิจส่วนใหญ่ที่รายงานจึงยังคงเป็นตัวเลขของเดือนธันวาคม 2566 อย่างไรก็ดี มีตัวเลขเศรษฐกิจตัวแรกที่สะท้อนถึงทิศทางเศรษฐกิจในช่วงต้นปี และเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งถึงแม้ยังเป็นตัวเลขในเบื้องต้น แต่ก็สามารถบอกถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะถัดไปได้ดี
ทั้งนี้ PMI ภาคการผลิตของ สหรัฐ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ในเบื้องต้นต่างปรับตัวดีขึ้น โดย PMI ภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 และบ่งชี้ว่าภาคการผลิตขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากผู้ผลิตต่างคาดการณ์ว่าจะมีคำสั่งซื้อใหม่มากขึ้น ในขณะที่ผลผลิตลดลงเนื่องจากผลกระทบจากพายุและการขนส่งที่ล่าช้า ทางด้าน PMI ภาคการผลิตของยูโรโซน
ถึงแม้ปรับตัวดีขึ้น แต่ก็ยังคงบ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคการผลิต อย่างไรก็ดี อาจเป็นสัญญาณว่าภาคการผลิตของยูโรโซนได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยผลผลิต คำสั่งซื้อใหม่ และยอดสั่งซื้อคงค้าง ลดลงในอัตราที่ชะลอลง ส่วน PMI ภาคการผลิตของญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงบ่งชี้ถึงการหดตัวของภาคการผลิตเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอลง และความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังคงอยู่ในเชิงบวก
สำหรับตลาดที่นักลงทุนจำนวนมากจับตาดู และคาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างโดดเด่น ได้แก่ อินเดีย ซึ่งตัวเลข PMI ในเบื้องต้นยังคงสนับสนุนมุมมองดังกล่าว โดย PMI ภาคการผลิตปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.9 ในเดือนมกราคม จาก 54.9 ในเดือนธันวาคม และ PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 61.2 จาก 59.0 ในเดือนก่อนหน้า บ่งชี้ว่าภาคการผลิตและภาคบริการของอินเดียเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น (ดัชนีสูงกว่า 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัว ในขณะที่ดัชนีต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงการหดตัว)
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ตัวเลขเบื้องต้นระบุว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ผ่านมาเติบโตราว 1.8% ซึ่งต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ โดยมีสาเหตุหลักจากการส่งออกลดลง และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยน้อยกว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ ถึงแม้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยดูอ่อนแอ แต่ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่ง โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 จีดีพีของไทยที่ประเมินจากด้านการใช้จ่าย
(จีดีพี = การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน + การลงทุนรวม + การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาครัฐ + การส่งออกสินค้าและบริการ – การนำเข้าสินค้าและบริการ) เติบโตสูงกว่า 5% นำโดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน
เนื่องจากผู้บริโภคมีรายได้มากขึ้นหลังการกลับมาเปิดประเทศ และการส่งออกบริการ (ส่วนใหญ่มาจากรายได้ของภาคการท่องเที่ยว) เติบในอัตราสูง อย่างไรก็ดี ตัวเลขจีดีพีของไทยที่รายงาน ถูกประเมินมาจากด้านการผลิต (จีดีพี = ภาคเกษตรกรรม + ภาคอุตสาหกรรม + ภาคบริการ) ขยายตัวเพียง 1.9% ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 โดยมีสาเหตุหลักจากการหดตัวของภาคการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับการหดตัวของภาคการส่งออก โดยเป็นผลจากอุปสงค์จากต่างประเทศอ่อนแอ
จากข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้ พอจะประเมินได้ว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่น่าเป็นห่วง ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง เศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเศรษฐกิจอินเดียเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยที่อาจช่วยกระตุ้นการลงทุนในปีนี้ ได้แก่ การเลือกตั้งทั่วไปของอินเดียซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 5 พฤศจิกายน
กีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่กรุงปารีสระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนของรัฐบาลไทย
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ความวุ่นวายในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจขยายเป็นวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการขนส่งในยุโรป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนซึ่งอาจน้อยกว่าที่ตลาดคาด รวมถึงนโยบายหาเสียงของผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งอาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในหลายประเทศ
กองทุนกรุงศรีแนะนำ ได้แก่ KF-INDIA | KFNDQ-A | KFUS-A | KF-SINCOME
ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.กรุงศรี โทร. 02-657-5757
ข้อมูล กองทุน คลิก:
KF-INDIA:
โฆษณา