2 ก.พ. 2024 เวลา 09:55 • สุขภาพ

โรคสมาธิสั้น คืออะไร

โรคสมาธิสั้น หรือ ภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) เป็นภาวะที่เกิดจากสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมมีการทำงานลดลง โดยเป็นภาวะที่มีการค้นพบมานานแล้วแต่อาจเพิ่งเป็นที่รู้จักในสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้
สาเหตุของโรคสมาธิสั้น
สำหรับสาเหตุของโรคสมาธิสั้นนั้น เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันโดยมีปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม พบว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดภายในครอบครัวได้ถึงร้อยละ 75 ปัจจัยทางด้านระบบประสาท พบว่ามีการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ผิดปกติ
โดยเฉพาะบริเวณที่ทำงานเกี่ยวกับการคิด การวางแผน การจัดลำดับสิ่งต่างๆ และการควบคุมตนเอง รวมถึงมีสารในสมองที่สำคัญบางตัวน้อยกว่าคนปกติทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่าการที่แม่สูบบุหรี่ ดื่มสุราระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เด็กมีโอกาสเป็นสมาธิสั้นด้วย
โรคสมาธิสั้น ประกอบด้วยกลุ่มอาการหลัก 3 ด้าน ได้แก่
1. พฤติกรรมขาดสมาธิ ว่อกแว่กง่าย เหม่อลอย จดจ่ออะไรนานๆ ไม่ได้ ขี้ลืม เบื่อง่าย ไม่ค่อยรอบคอบ ทำงานไม่เสร็จตามเวลา ไม่ชอบทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิ หรือความพยายาม
2. พฤติกรรมซุกซนไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ยุกยิก ต้องหาอะไรทำ เหมือนเด็กที่ติดเครื่องตลอดเวลา พูดมาก พูดเก่ง ชอบเล่นหรือทำเสียงดังๆ เล่นกับเพื่อนแรงๆ เด็กกลุ่มนี้จะรู้จักกันในชื่อว่า “เด็กไฮเปอร์”
3. พฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจตนเอง ใจร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น ขาดความระมัดระวังในการทำสิ่งต่างๆ พูดโพล่ง พูดแทรก รอคอยอะไรไม่ค่อยได้
เด็กบางคนอาจมีอาการเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีทั้ง 3 กลุ่มอาการร่วมกันก็ได้
โฆษณา