3 ก.พ. 2024 เวลา 03:10 • ปรัชญา

การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) ตามแนวคิดของ สแตนลีย์ คูเปอร์สมิธ (Stanley Coopersmith)

การเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นหนึ่งในแปรทางจิตวิทยาที่ได้รับความนิยมเสมอมา ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าการเห็นคุณค่าในตัวเองเป็นตัวแปรเชิงบวกที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิต อีกทั้งการเห็นคุณค่าในตนเองยังมีความสัมพันธ์กับตัวแปรมากมาย และมีบทบาทในการพัฒนาตัวบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศชาติอย่างคาดไม่ถึง
1
มีนักจิตวิทยาและนักวิชาการมากมายที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อนำมาใช้ในหลายบริบท หนึ่งในนักจิตวิทยาชื่อดังที่ศึกษาการเห็นคุณค่าในตนเองก็คือ สแตนลีย์ คูเปอร์สมิธ (Stanley Coopersmith)
นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านบุคลิกภาพของผู้ใหญ่ และเด็ก เขาเคยดำรงตำแหน่งในสถาบันการพัฒนาเด็กแห่งชาติ สถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนาเด็กของรัฐบาลกลาง
คูเปอร์สมิธเป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่พูดถึงการเห็นคุณค่าในตนเอง โดยเขานิยามว่าการเห็นคุณค่าในตนเองหมายถึง การประเมินตนเองตามความรู้สึกและทัศนคติที่มีต่อตนเอง เป็นการยอมรับหรือไม่ยอมรับตนเอง โดยประเมินจากประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ ความล้มเหลว ตลอดจนการตัดสินของผู้อื่นที่ตนเองให้ความสำคัญ
1
หรืออาจกล่าวได้ว่าการเห็นคุณค่าในตนเองก็คือการประเมินตนเอง โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ในอดีต และมุมองของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง ดังนั้นการเห็นคุณค่าในตนเองจึงได้รับอิทธิพลทั้งจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก เช่นเดียวกับนักจิตวิทยาหรือนักวิจัยท่านอื่น ๆ ทั้งในอดีตและปัจจัยก็นิยามการเห็นคุณค่าของตนเองเอาไว้ใกล้เคียงกับคูเปอร์สมิธ
เพราะการเห็นคุณค่าในตนเองจะเกิดขึ้นเมื่อเราประเมินตนเอง โดยอิงจากปัจจัยภายนอกและภายใน แต่ทฤษฎีการเห็นคุณค่าในตนเองของนักจิตวิทยาหรือนักวิชาการแต่ละคนจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับเกณฑ์หรือองค์ประกอบในการพิจารณา ซึ่งจากการศึกษาของคูเปอร์สมิธ เขาพบการจะเห็นคุณค่าหรีอไม่เห็นคุณค่าจะขึ้นอยู่กับการประเมินตนเอง โดยมีเกณฑ์การประเมิน 4 ประการดังนี้
1) การมีความสำคัญ (Significance) คือการที่เราได้รับการยอมรับ ความสนใจ ความห่วงใย การดูแล การแสดงออกถึงความรักจากผู้อื่น หรือการเป็นที่ชื่นชอบ ยกย่องจากผู้อื่นตามสภาพที่ตนเป็นอยู่ ตลอดจนได้รับการสนับสนุนและการกระตุ้นเตือนในยามที่ต้องการ ซึ่งการกระตุ้นเตือนไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นเชิงบวกเสมอไป การกระตุ้นเตือนเชิงลบก็เป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์ต้องการเมื่อรู้สึกว่าตนเองขาดความสำคัญ
2) การมีอำนาจ (Power) คืออิทธิพลต่อการควบคุมการกระทำของตนเองและผู้อื่น ซึ่งในบางสถานการณ์ของการมีอำนาจนั้นอาจแสดงให้เห็นโดยการที่เราได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลอื่น และการมีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น โดยที่เราสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้ตามที่ใจต้องการ แม้ว่าความคิดเห็นนั้นจะกระทบจิตใจผู้อื่นแค่ไหนก็ตาม
3) การมีความสามารถ (Competence) เป็นการพิจารณาความสามารถในการกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวัง ซึ่งจะแตกต่างกันไปแต่ละคน ขึ้นอยู่กับวัย กิจกรรมที่ทำ ความสามารถ ค่านิยม และความปรารถนาของบุคคลนั้น ยิ่งความสามารถที่แสดงออกมาสอดคล้องกับค่านิยมของสังคมมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นคุณค่าในตนเองมากเท่านั้น
4) การมีศีลธรรม (Virtue) เป็นการยึดมั่นในหลักของศีลธรรมจริยธรรมและศาสนาซึ่งบ่งชี้ถึงการปฏิบัติที่ไม่พึงกระทำ หรือควรกระทำตามหน้าที่ ซึ่งสอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรมตลอดจนค่านิยมของสังคม โดยคาดว่าผู้ที่ยึดมั่นหรือปฏิบัติตามจะได้รับการยอมรับ การมีศีลธรรมจะอ้างอิงจากค่านิยมในสังคมที่เราอยู่ กล่าวคือ แต่ละสังคมจะมีศีลธรรมที่แตกต่างกันออกไป
ผู้อ่านจะเห็นว่าเกณฑ์การพิจารณาทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการทั้งสิ้น แม้แต่การมีศีลธรรมซึ่งเป็นการยึดโยงกับค่านิยมของสังคม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของศาสนาหรือการทำดีเสมอไป
แต่เป็นค่านิยมที่สังคมรอบตัวเรายอมรับ ยกตัวอย่างเช่น แม้เราจะอยู่ในสังคมที่ไม่นับถือศาสนา แต่หากสังคมนั้นมีค่านิยมการเคารพผู้อวุโส เราก็จะรู้สึกเห็นคุณค่าของตนเองเมื่อเราแสดงออกถึงการเคารพผู้อวุโสและได้รับการชื่นชม
การที่เราจะเห็นคุณค่าของตนเองในเชิงบวก เราจะต้องรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญ อำนาจ ความสามารถ หรือศีลธรรมตามบริบทของสังคมนั้น ๆ เราจึงพบเห็นเด็กจำนวนมากที่เรียนไม่เก่ง จึงพยายามด้านกีฬา หรือดนตรีแทน หรือแม้แต่เด็กที่รู้สึกว่าตนเองไร้ความสามารถตามค่านิยมที่สังคมยอมรับ ก็จะแสวงหาความสำคัญผ่านการเล่นเกมออนไลน์ที่มีชุมชน
กล่าวคือเมื่อเด็กไม่ได้รับการยอมรับในสังคม เขาก็จะแสวงหาการยอมรับในรูปแบบอื่น ๆ เพราะกระบวนการนี้คือสัญชาตญาณของมนุษย์ทุกคน เราจึงพบเห็นเด็กจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจทำสิ่งที่เลวร้ายต่อผู้อื่น เช่น การรังแก การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการก่ออาชญากรรมรุนแรง เพียงเพื่อจะรู้สึกมีอำนาจได้ควบคุมผู้อื่น ได้มีความสำคัญแม้จะเป็นเชิงลบก็ตาม
ดังนั้นการสร้างสังคมที่มีคุณภาพเราจำเป็นจะต้องทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญ มีอำนาจ มีความสามารถ และมีศีลธรรม ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับทักษะอื่น ๆ ที่ลึกซึ้งไปกว่าทักษะตามจารีตค่านิยม อาจจะเป็นวิธีรับมือกับปัญหา วิธีคิด การมองโลก ไปจนถึงการมีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการเรียน กีฬา หรือดนตรี
อย่างไรก็ตามตัวบุคคลก็ต้องเรียนรู้ด้วยว่าเราไม่จำเป็นจะต้องมีความสำคัญ อำนาจ ความสามารถ หรือศีลธรรมมากมายขนาดนั้นเพื่อที่ตนจะได้มีการเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะอย่าลืมว่าเราจะเห็นคุณค่าในตนเองมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการประเมินของตัวเราเองทั้งสิ้น
หากเรามองสิ่งเล็กน้อยที่เราทำว่ามันมีความสำคัญ ก็จะกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่าได้ เช่น การที่เราเห็นอกเห็นใจคนอื่น ก็เป็นสามารถศีลธรรมที่สูงได้เช่นเดียวกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า เราจะมีคุณค่ามากหรือน้อยเราสามารถกำหนดเองได้ เราไม่จำเป็นจะต้องกระเสือกกระสนเพื่อที่จะได้รับการชื่นชมและการยอมรับจากผู้อื่น เราสามารถมอบสิ่งนั้นให้กับตัวเองได้ผ่านวิธีคิดอันเป็นเหตุเป็นผล
เมื่อเราสามารถปลูกฝังกระบวนการคิดดังกล่าวให้กับผู้อื่นได้ ก็เปรียบเหมือนการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งคุณค่าให้กับสังคมได้
อ้างอิง
คาลอส บุญสุภา, มฤษฎ์ แก้วจินดา และวรางคณา โสมะนันทน์. (2564). การเห็นคุณค่าในตนเองของนิสิตในมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ. KASEM BUNDIT JOURNAL, 22(2), 43–53. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jkbu/article/view/253313
โฆษณา