Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
aomMONEY
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
5 ก.พ. เวลา 13:00 • ไลฟ์สไตล์
ใช้เงินเพื่อชีวิตปัจจุบัน = ไม่ผิด ใช้เงินแบบไม่คิด = ทำลายชีวิตอนาคต
สรุป 12 ความเชื่อทางการเงินแบบผิดๆ พร้อมแนวทางแก้ไข “หา - เก็บ - ใช้” โดยคุณก้อย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFP®
“เงิน” เป็นสิ่งที่อยู่กับเรามาทั้งชีวิต เปรียบเสมือน “คู่หู” คนสำคัญที่ขาดกันไปสักวันคงอยู่ไม่ได้
และแน่นอนว่าคนที่อยู่ด้วยกันทุกวันก็อาจมีเรื่องที่เข้าใจผิดกันไปบ้าง ทำร้ายจิตใจกันไปบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งทางออกก็หนีไม่พ้นการปรับความเข้าใจกันเสียใหม่ เพื่อให้คู่หูคนนี้อยู่กับเราอย่างมีความสุขตลอดไป
ดังนั้น วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่ามีความเชื่อทางการเงินอะไรที่อาจเป็นความเข้าใจผิด หรือคลาดเคลื่อนไปบ้าง เพื่อลองมาปรับความเข้าใจกันใหม่ โดยคุณก้อย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFP® นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทยคนแรก ที่ได้ร่วมพูดคุยในงาน Thairath Money Talk: “Money ที่รัก” ที่จัดโดย Thairath Money ร่วมกับ aomMONEY
ทั้งนี้ ในบทความจะขอแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ด้าน คือ “หาเงิน - เก็บเงิน - ใช้เงิน” เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจทีละด้านได้ดียิ่งขึ้น
[ มุมมองด้านการ #ใช้เงิน ]
❎รักเงิน = งกเงิน
✅รักเงิน = รู้คุณค่าของเงิน
เมื่อพูดถึงนิยามการ “รักเงิน” จริงๆ แล้วไม่ใช่การงกเงิน เห็นแก่เงิน เห็นเงินเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง หรือตัดสินทุกอย่างด้วยราคาเพียงอย่างเดียว แต่ส่วนตัวมองว่าการรักเงิน คือ การใช้เงินอย่างรู้คุณค่า เป็นการรักที่ต้องหวง ต้องห่วง ต้องคอยทะนุถนอมเงินให้ดี และรู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงที่สุด โดยเริ่มจากรักเงินแบบง่ายๆ เช่น รู้จักประมาณตนเอง รู้จักความพอดี และฝึกให้เป็นนิสัยติดตัว
❎ใช้เงินเพื่อวันนี้
✅ใช้เงินเพื่อวันนี้ + เพื่ออนาคต
“เราควรใช้เงินซื้อความสุขไปเลย เพราะเกิดมาครั้งเดียว” เป็นแนวคิดของกลุ่มที่เรียกว่า “You only live once” หรือ YOLO คือ กลุ่มคนที่คิดว่าชีวิตนี้มีแค่ครั้งเดียว อยากทำอะไรก็ทำเลย หาเงินได้ก็ต้องใช้เลยทันที ส่วนตัวมองว่าการมีทัศนคติต่อการใช้ชีวิตและใช้เงินแบบนี้ อาจเข้าข่ายการไม่รักตัวเองในวันข้างหน้า เพราะเน้นโฟกัสแต่ปัจจุบัน โดยไม่คำนึงถึงชีวิตในอนาคตเลย ลองคิดสักนิดว่า ในวันที่เราไม่มีศักยภาพในการหาเงินได้แล้ว แต่ทุกอย่างล้วนต้องใช้เงิน ชีวิตของเราตอนนั้นจะเป็นอย่างไร
และไม่ควรกังวลว่าการเก็บเงินเพื่ออนาคตของเราจะสูญเปล่า เพราะจริงอยู่ที่ว่า “น่าเสียดายนะ ที่ตายแล้วแต่ใช้เงินไม่หมด แต่จะน่าสลด ถ้าเงินหมดแต่ยังไม่ตาย”
❎ใช้จ่ายตามฐานะคนอื่น
✅ใช้จ่ายตามฐานะตัวเอง
การอยากได้ อยากมี เป็นเรื่องธรรมดาของชีวิตมนุษย์ แต่จะไม่ธรรมดาก็ต่อเมื่อเราอยากได้อยากมี เพราะอยากเหมือนคนอื่น อยากโชว์ อยากอวด หรือมีรสนิยมที่สูงกว่ารายได้ ซึ่งถ้าเราต้องการเป็นคนที่รักเงินให้มากขึ้น เราต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ต้องใช้เงินให้เหมาะสมกับฐานะตัวเอง รู้จักความพอดี โฟกัสที่ตัวเราเองให้มากขึ้น
❎ไม่มีเงิน = จึงใช้บัตรเครดิต
✅มีเงิน = จึงใช้บัตรเครดิต
สำหรับ “บัตรเครดิต” หลายคนมักคิดว่าเป็นตัวช่วยทางการเงิน ที่มีไว้สำหรับเวลาที่เราไม่มีเงิน แต่อยากซื้อสินค้าหรือบริการมาเป็นของตัวเอง แล้วค่อยไปผ่อนเอาทีหลัง ต้องบอกว่า ส่วนตัวไม่ได้ปฎิเสธการใช้บัตรเครดิต เพราะตัวเองก็มีบัตรเครดิตมากถึง 20 ใบ แต่วัตถุประสงค์การใช้ไม่ได้ต้องการผ่อนอะไร แต่ใช้เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์จากบัตรต่างๆ อีกทั้ง การใช้บัตรเครดิตรูดสักครั้ง ก็ต้องมั่นใจว่าจะมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายคืนได้ทั้งหมดโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ
1
[ มุมมองด้านการ #หาเงิน ]
❎ใช้เงินเก่ง เดี๋ยวก็หาใหม่
✅ใช้เงินเก่ง ต้องหาเงินให้เก่งกว่า
ส่วนตัวเป็นคนใช้เงินเก่ง และใช้เงินเยอะตั้งแต่เด็ก จนคุณพ่อต้องสอนว่า “ลูกใช้เงินเก่ง ลูกต้องหาเงินให้เก่งกว่าที่ลูกใช้” ซึ่งเป็นคำสอนที่จำและใช้มาตลอด ถือเป็นความโชคดีที่ได้เรียนรู้เรื่องเงินตั้งแต่วัยเด็กจากครอบครัว เพราะในเรื่องนี้ ถ้าเราใช้เงินเยอะ แต่หาเงินได้น้อย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือการ “เป็นหนี้”
❎เงินซื้อทุกอย่างได้
✅เงินซื้อทุกอย่างไม่ได้ แต่มันทำให้ทุกอย่างสะดวกขึ้น
โลกสมัยทุนนิยมแบบนี้ เป็นไปได้ยากที่จะไม่ยึดเงินเป็นที่ตั้ง เพราะเงินคือสื่อกลางในการเแลกเปลี่ยน ยังไงก็ต้องใช้เงิน ถามว่า ไม่มีเงินทำอะไรได้ไหมในยุคนี้ ความจริงก็อาจจะมี แต่มันน้อยมากจริงๆ ดังนั้น มีเงินไว้ก่อนดีที่สุด ถึงแม้เงินจะซื้อทุกอย่างไม่ได้ แต่เงินทำให้เราสะดวกและสบายขึ้นแน่นอน
❎ทำงานหนักสร้างรายได้
✅ทำงานสร้างรายได้ + ดูแลสุขภาพ
เชื่อว่า “การสร้างรายได้” เป็นเป้าหมายใหญ่ในการทำงานของทุกๆ คน ยิ่งหาได้เยอะก็ยิ่งใช้จ่ายได้เยอะ ยิ่งหาได้เยอะก็ยิ่งออมได้เยอะ ยิ่งหาได้เยอะก็ยิ่งนำไปลงทุนเพื่อเงินก้อนโตได้เยอะ ซึ่งความคิดที่อยากมีเงิน 10, 20, 30 ล้านไม่ใช่เรื่องผิด สามารถตั้งเป้าหมายได้ แต่ต้องบริหารจัดการให้ดี และที่สำคัญแนะนำว่าอย่าหักโหมมากจนเกินไป ควรเดินตามทางสายกลาง และต้องดูแลสุขภาพร่วมด้วย
❎เงินไม่พอใช้ = ใช้ให้น้อยลง
✅เงินไม่พอใช้ = ใช้ให้น้อยลง + หาเงินเพิ่ม
ปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ เป็นความกังวลด้านการเงินที่หลายคนมี เพราะบางคนอาจต้องพบเจอกับภาระในการดูสิ่งต่างๆ ในครอบครัวค่อนข้างเยอะ ทางออกคงไม่ใช่การตัดภาระทิ้งทั้งหมด แต่อาจต้องใช้การพูดคุยเพื่อลดภาระบางอย่างที่อาจไม่จำเป็นลง ร่วมกับการหารายได้เพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากการทำงานก็ดี หรือรายได้ที่มากจากการลงทุนก็ด้วย
1
[ มุมมองด้านการ #เก็บเงิน ]
❎รายได้ - รายจ่าย = เงินออม
✅รายได้ - เงินออม = รายจ่าย
เชื่อว่าวิธีการเก็บออมเงินของแต่ละคนคงแตกต่างกันไป บางคนอาจคิดว่าการใช้เงินให้น้อยๆ แล้วสิ้นเดือนเงินเหลือก็ค่อยนำเงินไปออม แต่ในความเป็นจริงวิธีนี้กลับทำให้หลายคนไม่มีเงินเก็บเลย เพราะทุกคนก็จะใช้เงินจนหมดโดยไม่รู้ตัว ทางแก้ไข คือ เปลี่ยนสมการการออมใหม่ ต้องบังคับออมก่อนทันทีเมื่อมีรายได้ แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือไปใช้จ่าย ข้อดี คือ ทำให้เรากำหนดสัดส่วนการออมได้ และป้องกันไม่ให้ใช้จ่ายเกินงบที่ตั้งไว้ด้วย
❎เก็บเงินยังไงก็ได้
✅เก็บเงินต้องมีเทคนิค
บางคนเก็บเงินได้แล้ว มีเงินเป็นก้อนประมาณหนึ่งแล้ว แต่ก็พบว่าตัวเองมักจะไปหยิบออกมาใช้บ่อยๆ วิธีป้องกัน คือ ต้องเก็บให้ถูกที่ด้วยหลักการ “เอาเข้าง่าย แต่เอาออกยาก” เช่น การฝากเงินในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษ หรือ เงินฝากประจำปลอดภาษี เพราะนอกจากจะนำเงินออกยากกว่าการฝากเงินธรรมดาแล้ว ยังได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า อีกทั้ง ยังได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย
❎เงินน้อย = ปัญหา
✅เงินน้อย/เงินมาก = ปัญหา
หลายคนมักมองว่าปัญหาทางการเงินเกิดจากการมี “เงินน้อย” เท่านั้น เพราะทำให้เราขาดอิสรภาพหรือมีข้อจำกัดในการทำสิ่งต่างๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะมีเงินน้อย หรือ “เงินมาก” ล้วนสร้างปัญหาได้ทั้งสิ้น เช่น มีทรัพย์สินมากก็อาจมีปัญหาเรื่องมรดก หรือ ต้องหาวิธีจัดการกับภาษีให้ดี นี่ก็เป็นปัญหา เพียงแต่ว่าปัญหาของ “การมีเงินน้อย” มักสร้างความทุกข์ได้มากกว่า ซึ่งก็ต้องบริหารรายได้-รายจ่ายให้ดี
❎เงินสำรองฉุกเฉิน = มีเยอะๆ ไว้ดีกว่า
✅เงินสำรองฉุกเฉิน = มีเยอะไปก็ไม่ดี
พื้นฐานของการวางแผนการเงินสิ่งแรกที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญคือ “เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน” มีไว้เพื่อเป็นทุนเอาไว้ใช้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ซึ่งควรเก็บอย่างน้อย 3 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสม ไม่ควรน้อยกว่านี้ เพราะเสี่ยงที่เงินจะไม่พอใช้ และไม่ควรมากกว่านี้ เพราะจะเสียโอกาสในการลงทุน แนะนำว่าอย่ากลัวความเสี่ยงในการลงทุนจนเกินควร เพราะเราควรให้เงินบางส่วนได้มีโอกาสได้แสวงหาผลตอบแทนบ้าง
สุดท้ายนี้ ต้องบอกว่า “สูตรสำเร็จไม่มีในโลก” เพราะปัจจัยต่างๆ ในชีวิตของแต่ละคนมีไม่เท่ากัน แนวคิดหรือวิธีคิดสามารถดูเพื่อเป็นแนวทางได้ แต่ต้องค่อยๆ ปรับให้เข้ากับชีวิตของเราเอง อีกทั้ง สิ่งที่สำคัญอย่างมากทั้งใน “โลกการเงิน” และโลกอื่นๆ คือ “การวางแผน” กล่าวคือ ต้องมีเป้าหมายและการวางแผนที่ดี เพราะการวางแผนที่ดีจะช่วยให้ไม่เกิดปัญหา แต่ถึงแม้จะมีปัญหาเกิดขึ้นกลางทาง เราก็จะการกับปัญหาได้ง่ายกว่า
เรียบเรียงโดย: วัฒนา มะสันเทียะ
#aomMONEY #ThairathMoney #MONEYที่รัก
#ก้อยวิวรรณ #วิวรรณธาราหิรัญโชติ #CFP
#บริหารเงิน #รักเงิน #รายได้รายจ่าย #การออม
11 บันทึก
12
16
11
12
16
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย