จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา MayBank และ Touch ’n Go สถาบันการเงินรายใหญ่อีกสองแห่งของมาเลเซียเริ่มเข้ามาร่วมให้บริการ ส่งผลให้มีผู้ให้บริการจากฝั่งมาเลเซียรวม 5 ราย ได้แก่ CIMB, Hong Leong Bank, MayBank, Public Bank และ Touch ’n Go ทำให้จำนวนผู้เข้าถึงบริการและการทำธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีถึง 46,561 รายการ ในเดือนกันยายน 2566 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่า จากเดือนมกราคม 2566
จากการลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ประกอบการและร้านค้าในอำเภอหาดใหญ่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและติดตามผลการใช้งานจริง ทำให้เห็นว่าผู้ประกอบการที่รับทราบข้อมูลต่างก็ให้ความสนใจและนำมาใช้งานทันที อย่างผู้ประกอบการตลาดกรีนเวย์ ซึ่งเป็น night market ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากชาวมาเลเซีย ได้ปรับระบบชำระเงินภายในศูนย์อาหารเพื่อให้รองรับการสแกน QR code โดยทางตลาดก็ได้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ทางร้านค้าติดต่อขอใช้บริการ QR code จากสถาบันการเงินที่เข้าร่วม
และให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และเสียงตามสายเป็น 4 ภาษา ทั้งไทย อังกฤษ จีน และมลายู เพื่อประชาสัมพันธ์ด้วย ผลที่ตามมาก็คือทำให้ร้านค้ามียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะลูกค้ายังสามารถจับจ่ายใช้สอยได้แม้ว่าเงินสดที่เตรียมมาจะไม่เพียงพอ อีกทั้งร้านค้าเองก็สังเกตพบว่า มีชาวมาเลเซียมาสอบถามเกี่ยวกับการแลกเงินสดลดลง แถมยังมีลูกค้าทำรีวิวเกี่ยวกับความสะดวกของการสแกนจ่ายลงบนโซเชียลมีเดีย และ Google Business ซึ่งถือเป็นการบอกต่อปากต่อปากด้วย
อีกเคสจากร้านข้าวมันไก่เบตงชื่อดังในหาดใหญ่เล่าให้ฟังว่า มีลูกค้าชาวมาเลเซียที่ได้ยินข่าวประชาสัมพันธ์จากประเทศเขา มาขอทดลองสแกนจ่ายที่ร้านด้วย ทั้งยังมีชาวมาเลเซียใช้จ่ายผ่าน digital wallet มากขึ้น โดยลูกค้าที่ได้ทดลองใช้ต่างก็ชื่นชอบ เพราะใช้งานง่ายและสะดวกแถมยังตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีและไม่อยากยุ่งยากกับการแลกเงินสด