6 ก.พ. เวลา 13:15 • การตลาด
บะหว้า

UBI มรภ.สกลนคร นำเชฟแปรรูปเห็ดสวรรค์ ขยายกำลังผลิตเห็ดเสริมพลังโมเดลแก้จน

ที่รุมช่วยกันเยอะแบบนี้ ไม่ได้เตรียมอาหารไปทำบุญโรงทานนะ ช่วงนี้งานบุญทางภาคอีสานเยอะม่วนคัก กลัวเข้าใจผิด...แซวเล่นครับ แท้จริงแล้วกำลังฝึกอบรมกับเชฟแบรนด์ดังแปรรูป “เห็ดสวรรค์” โดยศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ม.ราชภัฏสกลนคร (UBI. SNRU) เมื่อวันที่ 14ม.ค.2567 ผมเห็นแล้วน่าอร่อยรสชาติคงจะหอมหวานมากเลย
ก่อนอื่นทำความรู้จักกับชาวบ้านบะหว้า ต.บะหว้า อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เป็นยังไงถึงได้มาแปรรูปเห็ดน่ารับประทานปานนี้ คุณแม่ตุ้ม วิเชียร วะบังลับ หัวหน้ากลุ่มบอกว่า เกษตรอำเภออากาศอำนวย มาชวนเข้าร่วมปฏิบัติการโมเดลแก้จน “ชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ” จากนักวิจัย ม.ราชภัฏสกลนคร สนใจจึงรวมสมาชิกกลุ่ม 35 ครัวเรือน ได้รับสนับสนุนการเพาะเห็ดนางฟ้า 10,000 ก้อน แต่ทางกลุ่มเราต้องไปฝึกทักษะการผลิตและบรรจุก้อนเห็ดเอง กับพี่เลี้ยงอยู่ที่วิสาหกิจชุมชน
แม่ตุ้ม กล่าวต่อว่า เริ่มเปิดดอกเห็ดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว พี่เลี้ยงวางแผนการผลิตให้จึงมีเห็ดเกิดดอกได้ขายสม่ำเสมอ เคยเก็บได้มากสุดวันหนึ่ง 33 กิโลกรัม รู้สึกตื่นเต้นมากขายในชุมชนดีมากหมดทุกวันไม่เพียงพอ นักวิจัยได้แจ้งว่ามีการอบรมแปรรูป สนใจอยากเพิ่มมูลค่าของเห็ดจึงเสนอความต้องการไป
ด้าน อ.สายฝน ปุนหาวงศ์ นักวิจัย หัวหน้าโครงการวิจัยทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จน เปิดเผยว่า โมเดลชุมชนเห็ดเศรษฐกิจ คือการส่งเสริมกลุ่มเตรียมเป็นอุตสาหกรรมผลิตโดยชุมชนเป็นเจ้าของกิจการ เริ่มจากเป็น “ผู้เปิดดอกเห็ด” เรียนรู้จริงจากพี่เลี้ยงและนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมใช้ในการผลิต พร้อมกับพัฒนาทักษะตนเองให้ดำเนินกิจกรรมเองได้ และอนาคตขยายกิจกรรมไปห่วงโซ่อุปทานใหม่ (New Supply Chain) ที่เลือกเพาะเห็ดเนื่องจากเป็นอาชีพระยะสั้น ได้เงินเร็วหนึ่งเดือนมีรายได้และมีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงให้
ส่วน อ.สุพิชญา นิลจินดา นักวิจัยทีมปฏิบัติการโมเดลแก้จนด้านตลาด โดยศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ UBI ให้ข้อมูลว่า ทางกลุ่มเสนอความต้องการอยากแปรรูปเห็ดที่ยืดอายุได้ประมาณ 1 เดือน และได้รับโจทย์ให้แปรรูปโดยใช้หลักการตลาดนำสินค้า จึงเสนอแปรรูป “เห็ดสวรรค์” สินค้าขายดีทานได้ทุกวัย มีขั้นตอนการผลิตง่ายเหมาะสำหรับคนที่เริ่มต้นอาชีพใหม่ และแปรรูป “แหนมเห็ด” เป็นอีกทางเลือกสำหรับวัตถุดิบมีน้อย
อ.สุพิชญา กล่าวต่อว่า วันนี้ได้เชิญคุณมงคล การินทร์ ผู้จัดการร้านใยบุญ ผลิตภัณฑ์แปรรูปเห็ดจากใยบุญฟาร์มเห็ด จ.ยโสธร มาเป็นวิทยากรฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และเป็นภาคีเครือข่ายด้านตลาดในอนาคต
จัดเต็มแบบจุกๆ ให้ชาวบ้านได้มั่นใจกันอีกแล้ว งานนี้จัดหนักนำเซฟเจ้าของแบรนด์ “ใยบุญ” กับสินค้ายอดฮิต “เห็ดกรอบ” มีถึง 8 รสชาติ ติดตลาดทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ ปรับราคาขึ้นหลายครั้งในปัจจุบันขนาดบรรจุ 45 กรัมจำหน่ายถุงละ 69 บาท ยังผลิตกันแทบไม่ทัน
อ.สายฝน บอกความสำเร็จครั้งนี้คือ การนำผู้มีรายได้น้อยเข้าทำงานใน 2 ห่วงโซ่อุปทานได้แก่ "ผู้ผลิตก้อนเห็ดและผู้เปิดดอก" ปัจจัยความสำเร็จคือ มีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ช่วยเหลือกัน ลดต้นทุนผลิตก้อนเห็ดจาก 10 บาทเหลือ 5 บาท หรือลดลงไป 50% นี่คือรูปธรรมธุรกิจชุมชนช่วยชุมชน
โมเดลนี้พัฒนามาจากแนวคิด Pro-poor Value Chain คือการนำผู้มีรายได้น้อยเข้าทำงานในระบบผลิตให้มีรายได้เพิ่ม โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศธุรกิจเห็ดให้เกื้อกูลคนฐานราก ดำเนินงานภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับแพลตฟอร์มขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดสกลนคร สนับสนุนการวิจัยโดยหน่วย บพท.
การเพิ่มทักษะแปรรูปครั้งนี้เป็นทางเลือกรับโอกาส ทราบกันดีว่าความท้าทายอยู่ที่มาตรฐานโรงงานผลิต แต่ถ้าส่งดอกเห็ดสดแปรรูปต้องมีส่วนต่างราคาเกิดขึ้นอย่างน้อย 10 บาท มูลค่ารายได้จากยอดขายเองในชุมชนลดลงถึง 15 - 20% เนื่องจากพันธมิตรแปรรูปอยู่ในอำเภอเมืองหรือต่างจังหวัด ถ้าเจรจาเกิดขึ้นคงไม่ใช่ 20% และปัจจุบันตลาดภายในชุมชนยังไม่ล้น จึงยากที่ชาวบ้านจะยอมรับเงื่อนไขนี้ อ.สายฝน กล่าวถึงโอกาสและย้ำชัดช่องว่างในปัจจุบัน
ดูสินค้าแปรรูป "เห็ดสวรรค์" ที่ปรุงเสร็จแล้ว เป็นความจริงที่เจ็บปวด ไม่ใช่ทำแล้วจะไปขายที่ไหน แต่ทำแล้วขายเหลือสตางค์เข้ากระเป๋าเท่าไหร่คือทางเลือก บอกได้เลยว่าชุมชนมีศักยภาพมาก เพียงแต่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนตั้งกิจการ มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยนี้และอีก 20 จังหวัดในแพลตฟอร์มขจัดความยากจน โดยหน่วย บพท. น่าจะนำประเด็นเหล่านี้พูดคุยให้ถึงรัฐบาลได้ยิน เข้ามาช่วยปิดช่องว่างนี้
ถ้าใน 1 อำเภอมี 1 กิจการSE จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่และสนองนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Soft Power ของรัฐบาลอีกด้วย เป็นก้าวสำคัญเพื่อบรรเทาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา