7 ก.พ. เวลา 06:42 • ประวัติศาสตร์

• รู้ไหมออสเตรเลียเคยประสบปัญหากระต่ายล้นประเทศเป็นหมื่นล้านตัว

จากกระต่ายที่เริ่มต้นแค่สิบกว่าตัวเท่านั้น
ย้อนกลับไปในปี 1859 โธมัส ออสติน (Thomas Austin) มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ผู้เป็นเจ้าของที่ดินกว่า 29,000 เอเคอร์ (หรือราว 73,000 ไร่) ในพื้นที่รัฐวิคตอเรีย ทางตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ได้นำเข้ากระต่ายจำนวน 13 ตัว (บางแหล่งบอก 24 ตัว) เพื่อใช้ฝึกล่าสัตว์ รวมถึงทำให้ดินแดนที่เขาอยู่ มีความคล้ายกับอังกฤษมากยิ่งขึ้น
2
ออสตินปล่อยให้กระต่ายหลายสิบตัวนี้อาศัยอยู่ตามธรรมชาติในที่ดินของเขา แต่ออสตินไม่รู้เลยว่า เพียงแค่ไม่กี่ทศวรรษจากนั้น กระต่ายจำนวนมหาศาลจะเข้ายึดครองเกือบทั้งออสเตรเลีย
3
เพราะเพียงไม่กี่ปีหลังจากออสตินนำกระต่ายเข้ามา ในปี 1861 เขาเคยเขียนจดหมายในเชิงอวดว่า ตอนนี้เขามีกระต่ายจากอังกฤษนับพันตัวแล้ว
1
แต่นี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในช่วงปี 1870 มีรายงานว่า มีกระต่ายถูกล่าในรัฐวิคตอเรียมากกว่าสองล้านตัว ก่อนที่ในระหว่างปี 1880-1900 กระต่ายจากที่เคยอยู่แค่ในพื้นที่รัฐวิคตอเรีย ตอนนี้มันก็ขยายเผ่าพันธุ์จนครอบครองพื้นที่เกือบทุกรัฐในออสเตรเลียไปแล้ว
1
และพอถึงทศวรรษ 1920 ที่ถือเป็นจุดพีคที่สุดของการแพร่ระบาดของกระต่าย ประมาณการว่า มีกระต่ายอยู่ในออสเตรเลียมากถึงหลักหมื่นล้านตัว หรือทุก ๆ พื้นที่หนึ่งตารางกิโลเมตร จะมีกระต่ายอย่างน้อย 7,500 ตัว
1
การขยายพันธุ์ที่รวดเร็วและไร้การควบคุมของกระต่าย จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจากกระต่ายเพียงไม่กี่สิบตัวจะขยายเผ่าพันธุ์ได้มากมายขนาดนี้ ที่สำคัญกระต่ายยังเป็นนักกินตัวยง ผลกระทบจากพวกมันทำให้พืชท้องถิ่นหลายสปีชีส์ต้องสูญพันธุ์ และส่งผลต่อห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
3
แน่นอนว่าทางการออสเตรเลียไม่ยอมปล่อยให้เป็นแบบนี้พวกเขาจึงออกหลายมาตรการเพื่อใช้กำราบกระต่าย ไม่ว่าจะเป็นรณรงค์ให้คนออกไปล่ากระต่าย วางกับดัก วางยาเบื่อ เผาหรือรมควันโพรงของกระต่าย แต่วิธีการเหล่านี้ก็ไม่เคยได้ผล โดยเฉพาะการสร้างรั้วกัน ที่สุดท้ายกระต่ายก็สามารถขุดดินหรือปีนข้ามรั้วมาได้
2
เมื่อวิธีการเดิม ๆ ไม่ได้ผล ทำให้ทศวรรษ 1950 ทางการออสเตรเลียจึงหันไปใช้วิธีการชีวภาพ โดยการปล่อยไวรัสชื่อไมโซมา (myxoma) ที่ก่อให้เกิดโรคไมโซมาโทซิส (myxomatosis) ในกระต่าย ผลคือมีกระต่ายจำนวนมากที่ตายแต่ในระยะยาวกลับไม่ได้ผล เพราะกระต่ายได้สร้างภูมิต้านทานจนเอาชนะโรคนี้ได้
3
จนกระทั่งทศวรรษ 1990 ทางการออสเตรเลียได้วิจัยไวรัสที่ชื่อ Rabbit Hemorrhagic Disease Virus (RHDV) ที่ก่อให้เกิดโรคเลือดออกในกระต่าย บนเกาะแห่งหนึ่งทางชายฝั่งทิศใต้ของออสเตรเลีย โดนไวรัสนี้มีความรุนแรงมาก และสามารถฆ่ากระต่ายได้ภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากติดเชื้อ
แต่ปรากฏว่าในปี 1995 เชื้อไวรัสดันหลุดลอดไปยังแผ่นดินใหญ่โดยไม่ได้ตั้งใจ (เชื่อว่าแมลงวันเป็นพาหะที่นำเชื้อไวรัสไป) แต่ดูเหมือนว่ามันจะได้ผล เพราะแค่หนึ่งปีหลังจากปล่อยให้ไวรัสระบาด (โดยไม่ตั้งใจ) กระต่ายกว่า 90% ในพื้นที่แห้งแล้งตายในทันที
2
ปัจจุบันออสเตรเลียยังคงมีกระต่ายอย่างน้อย 200 ล้านตัว (ซึ่งก็มากอยู่ดี) ส่วนนักวิทยาศาสตร์ในออสเตรเลียก็หวังว่า เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคกับกระต่ายนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นด้วย ๆ
อ้างอิง
• ทอม ฟิลลิปส์. (2022) ฉิบหาย ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ฉบับวินาศสันตะโร. สำนักพิมพ์ Bookscape
#HistofunDeluxe
โฆษณา