7 ก.พ. เวลา 12:45 • หนังสือ

"ก็องดิด": ปรัชญนิยายยอดเยี่ยมของวอลแตร์

อ่านหนังสือ "ก็องดิด": ปรัชญนิยายของวอลแตร์ แปลโดยวัลยา วิวัฒน์ศร 192 หน้า พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ.2563 ถือเป็นเรื่องแต่งร้อยแก้วชิ้นเอกของวอลแตร์  งานนิพนธ์เรื่องนี้ยืนยันความเป็นปราชญ์ของผู้เป็นสัญลักษณ์แห่งความคิดวิพากษ์วิจารณ์ในศตวรรษที่ 18 ได้เป็นอย่างดี
ตัวละครเอกของเรื่องคือ ก็องดิด (ภาษาฝรั่งเศส มีความหมายว่า เชื่อง่าย ซื่อ บริสุทธิ์ จริงใจ เปิดเผย อ่อนต่อโลก) ก็องดิดเป็นศิษย์ของปองโกลศ อาจารย์สอนวิชาอภิปรัชญา ซึ่งปลูกฝังให้เขาเชื่อทางศาสนาแบบสุทรรศนนิยมตามทฤษฎีของไลบ์นิชนักปราชญ์ชาวเยอรมันที่เชื่อว่า "สิ่งทั้งปวงในโลกที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมานี้เป็นไปด้วยดี"
ก็องดิดถูกขับออกจากปราสาทของท่านบารอน เพราะไปพลอดรักกับกุเนก็องด์ธิดาผู้เลอโฉมของบารอนขุนนางแห่งแคว้นเวสท์ฟาลี  เขาต้องเผชิญกับภัยพิบัติ ต่างๆนานา ตลอดการเดินทางจากแคว้นเวสท์ฟาลีในเยอรมันตะวันตกไปทางทิศตะวันตกสู่ทวีปอเมริกาใต้
การเดินทางจากเมืองหนึ่งสู่เมืองหนึ่งของเขา ผ่านชีวิตที่โชกโชน เลวร้าย อดอยาก เจอวาตภัย เรือล่ม แผ่นดินไหว โรคระบาด และที่สำคัญคือภัยจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ทั้งจากสงคราม การค้าทาส การหลอกลวง คดโกง
ก็องดิดถูกทรมาน ติดคุก ถูกเนรเทศ หลุดรอดจากความตายมาได้อย่างหวุดหวิดครั้งแล้วครั้งเล่า เห็นคนใกล้ชิด ถูกทำร้าย ถูกฆ่าอย่างทารุณต่อหน้าต่อตา  และผู้ที่กระทำทารุณกรรมกับมนุษย์ด้วยกันก็คือกลุ่มบุคคลที่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระผู้เป็นเจ้าที่คลั่งศาสนานั่นเอง
เขาเริ่มสงสัยในคำสอนของอาจารย์ปองโกลศที่ว่าสิ่งทั้งปวงเป็นไปด้วยดี
ครั้งหนึ่งเขาได้เจอเมืองในฝันคือเอลโดราโดหรือเมืองทอง  ที่คงไม่มีจริงๆในโลกนี้  เมืองนี้ไม่มีความเลวร้ายใดๆทั้งสิ้น ชาวเมืองทุกคนเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้ โดยไม่ต้องผ่านผู้แทนของพระผู้เป็นเจ้า  เมืองนี้มีความอุดมสมบูรณ์ ผู้คนมีเสรีภาพ มีน้ำใจที่ดีงาม จึงไม่มีศาล ไม่มีตำรวจ เพราะไม่มีขโมยผู้ร้าย
ก้อนกรวดก้อนหินตามทางก็คือทองคำและเพชรพลอย ซึ่งชาวเมืองไม่ใส่ใจ  จึงเป็นเมืองในฝัน ทั้งในด้านการเมือง ด้านวิถีชีวิตตามธรรมชาติ และด้านปรัชญา แต่
ก็องดิดก็อยู่เมืองนี้ได้ไม่นาน เพราะคิดถึงกุเนก็องด์คนรักที่พลัดพรากจากกัน
ก็องดิดเดินทางจากอเมริกาใต้ กลับไปยุโรป และ ไปยังเมืองคอนสแตนติโนเปิล ได้พบและแต่งงานกับ
กุเนก็องด์ที่ถูกทำร้ายจนกลายเป็นหญิงอัปลักษณ์ไปแล้ว
ตอนนี้เขาเลิกเชื่อถือคำสอนของอาจารย์ปองโกลศโดยสิ้นเชิง  หลังจากได้สนทนากับผู้มีประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาใกล้เคียงกันและนักปรัชญาคนอื่นๆ  จึงสรุปบทเรียนตรงกันว่า "มนุษย์เกิดมาเพื่ออยู่ในวังวนแห่งความทุกข์กังวล หรือในสภาวะเฉื่อยแห่งความเบื่อหน่าย" ทำให้ ก็องดิดเกิดความเหนื่อยหน่ายในการดำรงชีวิตอย่างไร้ค่า
ก็องดิดจึงปฏิเสธที่จะสนใจ ปัญหาด้านอภิปรัชญา ปฏิเสธที่จะสนใจปัญหาด้านการเมือง เขาตัดสินใจแล้วว่าจะปักหลักทำมาหากิน ทำงานในสวน ร่วมกับคนใกล้ชิด โดยไม่ต้องพูดหาเหตุ หาผล และให้ทุกคนร่วมกัน "ทำสวนของเรา"
เมื่อทุกคนร่วมมือกัน ตามความสามารถของแต่ละคน จึงสร้างสรรค์สังคมน้อยๆของตนให้มีความสุขได้
      -------------------
โฆษณา