7 ก.พ. เวลา 13:30 • กีฬา

ตามเทคโนโลยีไม่ทัน : เจาะปัญหาเวียดนามมีอัตราการแพ้ถึง 85% เมื่อต้องเล่นในเกมที่มี VAR | Main Stand

หากถามว่าชาติไหนจากภูมิภาคอาเซียนที่โชว์ผลงานได้สวนทางกับความคาดหวังของแฟนบอลมากที่สุดในการแข่งขันฟุตบอลรายการเอเชี่ยน คัพ ปี 2023 ณ ประเทศกาตาร์ คำตอบคงหนีไม่พ้น ทีมชาติเวียดนามที่เสียไปถึง 8 ประตูในรอบแบ่งกลุ่ม พร้อมบินกลับประเทศแบบไร้แต้ม
แต่สิ่งที่คอบอลหลายคนตั้งข้อสังเกตคือตั้งแต่ปี 2019 ที่ Video assistant referee (VAR) เข้ามามีส่วนร่วมกับทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการของทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก ในรายการเอเชี่ยน คัพ 2019 จนถึง เอเชี่ยน คัพ 2023 ครั้งปัจจุบัน ทีมชาติเวียดนามลงแข่งขันเกมที่ใช้ VAR ไปแล้ว 14 นัด ปรากฏว่า แพ้ไปถึง 12 นัด หรือคิดเป็น 85.7%
Main Stand ขอพาคอบอลเอเชียร่วมวิเคราะห์ไปพร้อมกันว่าเหตุใดอดีตเจ้าแห่งอาเซียน ถึงเป็นชาติที่มีสถิติสุดย่ำแย่เมื่อต้องเล่นในเกมที่ใช้ VAR เข้ามาช่วยตัดสิน จนทำให้ “ดาวทอง” หลุดท็อป 100 ของโลกตามการจัดอันดับของฟีฟ่า
นักเตะเวียดนามไม่คุ้นชินกับ VAR
โลกฟุตบอลรู้จักกับเทคโนโลยีภาพวิดีโอประกอบการตัดสิน หรือ Video assistant referee (VAR) ในฟุตบอลโลกปี 2018 จากนั้นถูกนำมาใช้ในทวีปเอเชียครั้งแรกในปี 2019 กระทั่ง.นฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด ณ ประเทศกาตาร์ ได้นำเทคโนลียีจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติซึ่งเป็นการนำ AI มาประมวลผลก่อนจะแสดงค่าออกมาเป็นกราฟิกโมเดลรูปแบบ 3 มิติ หรือ SAOT (Semi-automated offside technology) ซึ่งบูรณาการใช้ร่วมกับ VAR เช่นเดียวกันกับรายการ AFC Asian Cup 2023 ที่กำลังทำการแข่งขันอยู่ ณ เวลานี้
หลังจากการเข้ามาของเทคโนโลยี VAR ทีมชาติเวียดนามคือหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยรายการ AFC Asian Cup 2023 รอบแบ่งกลุ่ม ยิ่งตอกย้ำถึงปัญหาของทีมชาติเวียดนาม กับ VAR ที่ “ทัพดาวทอง” ต้องตกรอบแบบแพ้ทุกนัดจาก 3 แมตซ์แรก รวมถึงเสียใบแดง 2 ใบ และ เสียจุดโทษมากถึง 4 ครั้ง
จากการทำฟาล์วของ บุย ฮอง เวียตอันห์, เหงียน ตันห์ บิน, เควียต วาน ควง, เล ฝั่ม ธานห์ ลอง, และ โว มินห์ ตรอง นอกจากนี้ในเกมการแข่งขันที่มี VAR ทีมชาติเวียดนาม สามารถชนะได้เพียงแมตซ์เดียวเท่านั้น จากการแข่งขันทั้งหมด 14 แมตซ์ โดยแพ้ไปถึง 12 นัด เสียจุดโทษมากถึง 7 ครั้งโดยมี 6 คร้ัง เป็นลูกโทษที่ตัดสินชี้ขาดผลแพ้ชนะ รวมถึงเสียใบแดงอีก 3 ใบ
นี่แสดงให้เห็นว่า นักเตะทีมชาติเวียดนาม ไม่คุ้นชินกับ VAR เนื่องด้วยเวียดนามลีก (V-League) เพิ่งจะมีการนำเทคโนโลยี VAR มาใช้ในปี 2023 ที่ผ่านมานี่เอง โดยมีการใช้ VAR นัดแรกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ปี 2023 ในเกมระหว่างทีมเวียตเทล พบกับ ทีมฮาตินห์
หรือ นับเป็นระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี เลยด้วยซ้ำ ซึ่งประเทศเวียดนามถือว่าเป็นชาติที่ 4 ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเทคโนโลยี VAR รองจาก ไทย มาเลเซีย และ สิงคโปร์ อีกทั้งสมาคมฟุตบอลเวียดนามไม่ได้มีการใช้ VAR ในทุกนัดโดยมีแค่บางแมตซ์เท่านั้นที่นำ VAR มาใช้ประกอบการตัดสิน
อีกหนึ่งแง่มุมที่น่าเป็นห่วงคือ นักเตะ“ทุกคน” ในทีมชาติเวียดนามชุดลุย เอเชี่ยน คัพ 2023 เล่นอยู่ในลีกประเทศตัวเอง (V-League) เท่านั้น นั่นหมายความว่า ไม่มีนักเตะคนไหนเลยที่เล่นอยู่ลีกนอกประเทศจึงทำให้ไม่มีนักเตะที่คุ้นชินเมื่อต้องเล่นในเกมที่มี VAR และ ขาดประสบการณ์เมื่อต้องเล่นในต่างแดน
1
“VAR จะนำความยุติธรรมมาสู่การแข่งขัน แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกสถานการณ์ที่ VAR จะเข้ามาแทรกแซงคำตัดสิน ยกเว้นในกรณีที่สงสัยว่าได้จุดโทษหรือไม่ เป็นใบแดงหรือไม่ เช่นเดียวกันกับกรณีการคว้าเสื้อของผู้เล่นทีมชาติเวียดนามในเอเชี่ยน คัพ 2023 ซึ่งมันฟาวล์อย่างแน่นอน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นฟาวล์เกินกว่าเหตุหรือรุนแรงมากก็ตาม” ฝ่าม ชู เทียน ประธานคณะผู้ตัดสินสมาคมฟุตบอลเวียดนามกล่าวถึงความสำคัญของ VAR หลังทีมชาติเวียดนามตกรอบเอเชี่ยน คัพ 2023
ฝ่าม ชู เทียน ยังได้กล่าวเสริมอีกว่าผู้เล่นทีมชาติเวียดนามควรลดการเล่นลูกตุกติก และลดความดุเดือดเลือดพล่านให้น้อยลงกว่านี้อีกหน่อย “ผมรู้ว่ายังมีผู้เล่นที่ประสบการณ์สูงหลายคนยังคงเล่นลูกตุกติกตบตากรรมการอยู่ แม้บางครั้งผู้ตัดสินไม่สามารถสังเกตได้ แต่กับ VAR นั่นคงเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างจะถูกบันทึกไว้
อีกทั้งผู้เล่นเวียดนามที่เล่นในทัวร์นาเมนต์สำคัญมักจะถูกใบเหลืองคาดโทษจากปฏิกิริยาที่มีต่อผู้ตัดสิน ผู้เล่นของเราต้องเรียนรู้ที่จะตอบโต้อย่างพอประมาณ เพราะเมื่อตอบโต้อย่างรุนแรงและมีการตรวจสอบ VAR จากทีมผู้ตัดสิน ทีมชาติเวียดนามเองจะเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์”
ดังนั้นอนุมานได้ว่าสาเหตุหลักที่นักเตะเวียดนามเข้าบอลโฉ่งฉ่าง เสียถึง 2 ใบแดง กับอีก 4 จุดโทษ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากที่นักเตะติดนิสัยการเล่นแบบไม่มี VAR มาจากในลีก และ คงเป็นเหตุผลเดียวกันที่ทีมชาติเวียดนามสามารถโชว์ฟอร์มเก่งบนเวทีอาเซียนได้อย่างในรายการชิงแชมป์อาเซียน หรือ AFF Championship เพราะ รายการในระดับอาเซียนยังไม่เคยนำ VAR มาใช้
แต่ในขณะเดียวกันเมื่อทีมชาติเวียดนามต้องเล่นบนทัวร์นาเมนต์ที่ใหญ่ขึ้นในระดับทวีปพวกเขากลับไม่สามารถระเบิดฟอร์มได้เลย หากจะบอกว่าเหตุผลที่ทีมชาติเวียดนามตกรอบเอเชี่ยน คัพ 2023 ส่วนหนึ่งมีผลมาจาก VAR นั้นคงไม่เกินจริง
ซึ่งอีกหนึ่งเหตุผลที่ชาติจากอาเซียนไม่อาจทำผลงานได้ดีเหมือนกับรายการฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน หรือ AFF Championship เพราะในรายการระดับทวีปนั้นไม่สามารถถ่วงเวลาได้ เนื่องด้วยการทดเวลาในรายการนี้ใช้กติกาเดียวกับการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2024 ที่จะนำทุกวินาทีมาทดเวลาแบบเก็บทุกเม็ดทุกหน่วยเมื่อมีการหยุดเกม อีกทั้ง โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละเกมมีการทดเวลานานถึง 10 นาทีเป็นอย่างน้อย นั่นทำให้วิธีการเล่นแบบ “นำก่อน นอนยาว” ใช้ไม่ได้ผลในรายการเอเชี่ยน คัพ 2023
1
อดีตเบอร์ 1 อาเซียน แต่ในศึก เอเชี่ยน คัพ 2023 ผลงานกลับตาลปัตร
“การผงาดขึ้นมาของเวียดนามในวงการฟุตบอล เห็นได้จากความสำเร็จของทีมชาติในรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก และผลงานที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องของทีมเยาวชน เป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ” ฟิลลิป ทรุส์ซิเยร์ เฮดโค้ชทีมชาติเวียดนามให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วม เอเชี่ยน คัพ ปี 2023
“ความคุ้นเคยและความสามัคคีกำลังพัฒนาขึ้นในช่วงเวลานี้ และนักเตะชุดเยาวชนก็สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีศักยภาพพอสำหรับความสำเร็จของทีมชาติในการแข่งขันระดับนานาชาติ อย่างเช่น รายการเอเชี่ยนคัพ” ฟิลลิป ทรุส์ซิเยร์กล่าวเสริม
ก่อนการแข่งขันเอเชี่ยน คัพ 2023 จะเริ่มขึ้น ทีมชาติเวียดนามรั้ง FIFA RANKING อยู่ที่อันดับ 94 ของโลก พร้อมกับการเป็นอันดับหนึ่งจากภูมิภาคอาเซียน ทว่าหลังจบรอบแบ่งกลุ่ม “ทัพดาวทอง” หล่นจากเบอร์หนึ่งของอาเซียนและทีมชาติไทยแซงขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 แทน โดยคะแนนอย่างไม่เป็นทางการทีมชาติเวียดนามหล่นไปไกลถึงอันดับที่ 106 ของโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2024) ลดไปถึง 41.01 คะแนน นั่นทำให้ทีมชาติเวียดนามคือทีมที่เสียคะแนนจาก FIFA มากที่สุดในรายการนี้อีกด้วย
นอกจากนั้นหากนำผลงานจาก 4 ชาติในอาเซียน ที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันรายการนี้รอบสุดท้าย ณ ประเทศกาตาร์ มาเปรียบเทียบ ยังพบว่า ทีมชาติเวียดนาม คือ ทีมที่มีผลงานย่ำแย่ที่สุด จากการลงแข่งไป 3 นัด เสียไป 8 ประตู มี 0 แต้ม โดยแมตซ์แรกแพ้ให้กับทีมชาติญี่ปุ่นไปด้วยสกอร์ 4-2 ถัดมาแมตซ์ที่สองแพ้ให้กับชาติร่วมอาเซียนอย่างอินโดนีเซียไป 1-0 และแมตซ์สุดท้ายแพ้ทีมชาติอิรัก ไปด้วยสกอร์ 3-2 รวมถึงเป็นทีมเดียวจากโซนตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่สามารถเก็บได้แม้แต่แต้มเดียว
1
โดยหลังจากที่ทีมชาติเวียดนามตกรอบแบ่งกลุ่มในศึก เอเชี่ยน คัพ ปี 2023 ฟิลลิป ทรุส์ซิเยร์ ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมอ่านความคิดเห็นมากมายจากแหล่งข่าวต่างประเทศ หลายคนเห็นว่าเราทำได้ดี ยกเว้นสื่อของเวียดนาม อย่างไรก็ตามผมจะเรียนรู้จากประสบการณ์ครั้งนี้”
เปรียบเทียบลีกอื่น ๆ ที่มี VAR หลังเวียดนาม
แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่ V-League ของเวียดนามเท่านั้นที่เพิ่งนำเทคโนโลยี VAR มาใช้ ซึ่งนอกจาก V-League แล้ว ก็ยังมี Liga 1 ลีกสูงสุดของประเทศอินโดนีเซียเพิ่งจะนำเทคโนโลยี VAR มาใช้ใน เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024
1
กล่าวคือ ลีกสูงสุดของอินโดนีเซีย มี VAR ใช้หลังจากประเทศเวียดนามด้วยซ้ำ เช่นเดียวกับ Lebanese Premier League ของประเทศเลบานอน ที่มีการใช้ VAR หลังจากเวียดนามลีก
แต่จุดที่ทำให้ทีมชาติอินโดนีเซียมีฟอร์มการเล่นที่ดีกว่าทีมชาติเวียดนามนั่นก็เพราะนักเตะทีมชาติอินโดนีเซียหลายคนเล่นอยู่ลีกนอกประเทศของตนเอง อีกทั้งมีนักเตะถึง 7 คนที่เล่นอยู่ในยุโรป นั่นคือ
จัสติน ฮูบเนอร์ จากพรีเมียร์ลีกอังกฤษ , เอลคาน แบ็กก็อตต์ จากแชมเปี้ยนชิพอังกฤษ , เชน แพตตินามา จาก เอลีเตอเซเรียนนอร์เวย์ , อิวาร์ เยนเนอร์ จากเอเรดิวิซีลีกเนเธอร์แลนด์ , แซนดี วอลช์ จากเบลเยี่ยมโปรลีก , มาร์เซลิโน เฟอร์ดินาน จากชาลเลนเจอร์โปรลีกเบลเยี่ยม , ราฟาเอล สตรูอิค จาก เอร์สเตอดีวีซีลีกเนเธอร์แลนด์ และ ทีมชาติเลบานอน ก็มีการส่งออกนักเตะไปเล่นยังลีกนอกประเทศ เช่นเดียวกัน
ในทางกลับกันเหมือนที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น นั่นคือ ไม่มีนักเตะทีมชาติเวียดนามคนไหนเลย ที่เล่นอยู่ลีกนอกประเทศจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากนักเตะทีมชาติเวียดนามจะไม่คุ้นชินเมื่อต้องเล่นในเกมที่มี VAR ซึ่งนี่คือข้อแตกต่างระหว่างทีมชาติเวียดนามและทีมชาติอื่น ๆ มีการใช้ VAR หลังเวียดนาม เพราะถึงแม้ลีกภายในประเทศเพิ่งจะมี VAR แต่ก็มีนักเตะส่วนหนึ่งภายในทีมชาติ เล่นอยู่ลีกนอกประเทศ รวมถึงได้ชิมลางเกมฟุตบอลภายใต้ VAR มาไม่มากก็น้อย
นอกจากนี้ มาโน่ โพลกิ้ง อดีตเฮดโค้ชทีมชาติไทยผู้ซึ่งเคยทำงานในวีลีกประเทศเวียดนาม ได้ออกมากล่าวถึงคุณภาพของเวียดนามลีกว่ายังต้องพัฒนาอีกมากหากเทียบกับลีกอื่นในอาเซียน
“ผมเคยทำงานทั้งในไทยลีกและวีลีก และพบกับความยากลำบากในการสร้างทีม ผมจะไม่เปรียบเทียบมาก วีลีกมีทีมที่แข็งแกร่ง แต่ถ้าคุณเปรียบเทียบคุณภาพของแต่ละลีก ผมคิดว่าเวียดนามยังต้องการการพัฒนา”
มาโน่ โพลกิ้ง กล่าวเสริมอีกว่า “ถ้านักเตะอาเซียนมีโอกาสไปเล่นในลีกต่างประเทศก็ควรคว้ามันดีกว่ารอให้ลีกของตัวเองพัฒนา ส่วนทางสโมสรและลีกจำเป็นต้องรับทราบถึงบทบาทของพวกเขาในการพัฒนานักเตะที่มีพรสวรรค์ ซึ่งนักเตะเหล่านี้จะมีส่วนร่วมกับการเล่นทีมชาติในขณะเดียวกันทีมชาติก็ต้องรับทราบถึงหน้าที่ของสโมสรในการพัฒนานักเตะด้วยเช่นกัน”
สหพันธ์ฟุตบอลเวียดนาม (VFF) กับความพยามปรับตัวเข้าหา VAR
อย่างไรก็ตามทางสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวนี้เช่นกัน จึงมีความพยายามเพื่อให้ลีกสูงสุดของประเทศ มีการนำ VAR มาใช้ และ ความพยายามครั้งนี้ก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทาง FIFA
ซึ่งทางสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามร่วมมือกับ บริษัท ร่วมทุนฟุตบอลอาชีพเวียดนาม หรือ Vietnam Professional Football Joint Stock Company (VPF) และ ได้เริ่มต้นก้าวเข้าสู่เส้นทางการดําเนินงานเพื่อให้ฟุตบอลเวียดนามคุ้นเคยกับ VAR ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ปี 2023
สหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามอุทิศเวลาหลายเดือนในการฝึกอบรมผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสินรวมแล้วกว่า 18 ชีวิติ เพื่อการใช้เทคโนโลยี VAR โดยเฉพาะ ซึ่งระหว่างการฝึกอบรมที่เข้มข้นนี้ ทีมงานผู้ตัดสินที่เข้าร่วมอบรมจะได้รับการแนะนําให้รู้จักกับเทคโนโลยี VAR ผ่านระบบจําลอง
1
พร้อมกับอุปกรณ์สำหรับการวิเคราะห์วิดีโอ หลักสูตรนี้ครอบคลุมสถานการณ์ที่หลากหลาย โดยมีชุดสถานการณ์ 75 สถานการณ์สําหรับการฝึกซ้อม ภายใต้คําแนะนําของ ฮาคาน อานัซ วิทยากรจากทาง FIFA อดีตผู้ตัดสินในศึกฟุตบอลโลกปี 2014 ที่บราซิล ซึ่งรวมถึงหลักสูตรอบรม 14 วัน
นอกจากนี้ ตราน ค็อก ตวน (Tran Quoc Tuan) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลแห่งประเทศเวียดนาม (President of VFF) ได้ออกมาเน้นย้ำและเผยถึงความสำคัญของ VAR ว่า “อันดับแรกผมต้องการยืนยันถึงความสำคัญของ VAR เมื่อนำระบบ VAR มาใช้ในการแข่งขัน มันจะทำให้เกมการแข่งขันมีความยุติธรรมมากขึ้น และคุณภาพของทัวร์นาเมนต์ก็จะดีขึ้นด้วย เพราะ VAR คือความก้าวหน้าของโลกฟุตบอล”
ตราน ค็อก ตวน (Tran Quoc Tuan) ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนาม กล่าวเสริมอีกว่า“ก่อนหน้านี้มีตัวแทนของสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (AFF) ได้พูดคุยหารือ โดยมี จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่าเข้าร่วมด้วย ปรากฏว่ามีความคิดของนักฟุตบอลหลาย ๆ คน เห็นด้วยกับระบบ VAR
ซึ่งจะช่วยลดข้อผิดพลาดของผู้ตัดสินให้เหลือน้อยที่สุด การตัดสินเป็นสิ่งที่ท้าทายและมีปัญหามากมาย อีกทั้งความเข้มข้นของทัวร์นาเมนต์ (AFF Championship) ยังสร้างแรงกดดันอย่างมากต่องานของผู้ตัดสิน ดังนั้น VAR จึงมีบทบาทสำคัญมากในฐานะเครื่องมือสำหรับคณะผู้ตัดสิน เพื่อการตัดสินที่แม่นยำยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การจะมี VAR ได้นั้น ต้องใช้ปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัจจัยด้านการเงินและความพร้อมของอุปกรณ์ รวมไปถึงการฝึกอบรมผู้ตัดสินให้ปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีได้นั้นก็มีบทบาทสำคัญ”
2
ทั้งนี้ในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 26 มกราคม ปี 2023 ดวง เหงียบ คอย (Duong Nghiep Khoi) เลขาธิการของสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามได้ฝากไปถึงทีมงานคณะผู้ตัดสินในเวียดนามลีกเพื่อให้นักเตะทีมชาติเวียดนามได้ตระหนักถึงวิธีการเล่นภายใต้ VAR ว่า
“ผมประสานงานกับทรุสซิเยร์ (เฮดโค้ช) เขาบอกกับผมว่า เราจะมุ่งมั่นและโฟกัสไปที่รายการฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ปี 2026 เพื่อให้ผลการแข่งขันออกมาดีที่สุดในเกมระหว่างทีมชาติเวียดนามกับอินโดนีเซียและอิรัก และมันจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต่อเมื่อ ทรุสซิเยร์ ได้รับการสนับสนุนจากทีมงานผู้ติดสินในลีก
เพราะ ขณะนี้ผู้เล่นของเรายังไม่เข้าใจว่าควรประพฤติตนอย่างไรกับ VAR ในการแข่งขัน ผู้เล่นจำเป็นต้องรู้วิธีประพฤติตัวให้ดีในสนามเพื่อหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาด อย่างเช่นกรณีล่าสุดที่ทำให้เราได้รับใบแดงอันโชคร้าย (2 ใบแดงจากรายการ เอเชี่ยน คัพ 2023)”
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความพยายามในการผลักดันเพื่อให้ฟุตบอลเวียดนามคุ้นชินกับ VAR จากทางสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามจะประสบผลสำเร็จ เพราะอย่างน้อยก็จะเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการพัฒนาฟุตบอลในภูมิภาคอาเซียนให้ทัดเทียมกับมาตรฐานฟุตบอลระดับนานาชาติ และยกระดับความเป็นมืออาชีพในการแข่งขันรายการฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน (AFF Mitsubishi Electric Cup)
บทความโดย : มูซอลลีน มะลิวัลย์
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา