17 ก.พ. เวลา 00:00 • การเมือง

ลีกวนยู ตอน สิงคโปร์ไม่ได้รับเชิญ

เราดูคนที่ผลงาน เราดูความสำเร็จของประเทศที่รอยยิ้มของประชาชน รอยยิ้มนี้มาจากความรู้สึกพอใจในคุณภาพชีวิตของตน ความรู้สึกปลอดภัย หากเราวัดด้วยมาตรนี้ สิงคโปร์ก็เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จ
4
แต่หากเราใช้มาตรวัดอื่น เช่น ระบอบการปกครอง สิทธิมนุษยชน บทลงโทษ ฯลฯ บางทีประเทศที่ประชาชนมีรอยยิ้มเช่นสิงคโปร์อาจสอบตกตาม ‘มาตรฐานสากล’
4
ในเดือนมีนาคม 2023 ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ร่วมเป็นเจ้าภาพงานประชุม Summit for Democracy ครั้งที่สองกับรัฐบาลประเทศคอสตา ริคา เนเธอร์แลนด์ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐแซมเบีย
2
สิงคโปร์ไม่ได้รับเชิญ
2
อาจเพราะคำปราศรัยของ โจ ไบเดน พูดถึงความขัดแย้งระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ (autocracy) ของโลก หรือเพราะวงประชุมนี้ไม่คิดจะพูดถึงผลงาน
พูดง่ายๆ คือ ไม่พูดถึงระบอบเผด็จการที่ทำงานได้ผล
3
รัฐ ‘เผด็จการ’ สิงคโปร์ทำงานได้ผล เข้าตาหลายประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น เคนยา แอฟริกาใต้ เลบานอน ฯลฯ ล้วนแต่ต้องการใช้โมเดลแบบลีกวนยู ซึ่งในชั่วเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น เปลี่ยนเมืองหนองน้ำยุงเป็นเมืองทันสมัย ร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่นับจีนและเวียดนามที่ใช้โมเดลนี้ไปแล้ว
3
หลักฐานนั้นชัดเจนยิ่ง เมื่อดูตัวเลข gross domestic product per capita ตั้งแต่ปีแรกๆ ของการก่อตั้งสิงคโปร์คือ 1960
1
GDP สิงคโปร์ในปี 1960 คือ $428
ปีนี้ (2024) GDP สิงคโปร์ = $86,070
3
เทียบกับประเทศที่เริ่มต้นเท่ากัน เช่น จาไมกา GDP ในปี 1960 = $425
ปีนี้ (2024) GDP จาไมกา = $5,315
GDP ประเทศไทยในปี 1960 = $104
ปีนี้ (2024) GDP ไทย = $6,479
ในหนังสือ Lee Kuan Yew: The Man and His Ideas ลีกวนยูกล่าวว่า “ประชาชนมิได้กระหายประชาธิปไตย สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่สุด พวกเขาต้องการบ้าน ยารักษาโรค งาน โรงเรียน”
13
และ “ประชาธิปไตยไม่ได้นำพารัฐบาลที่ดีมาให้ประเทศที่กำลังพัฒนา”
10
ข้อมูลด้านเศรษฐศาสตร์ของโลกตะวันตกชี้ว่า ประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยมักจะมีเศรษฐกิจดีกว่าระบอบเผด็จการ แม้ว่ามีระบอบเผด็จการน้อยรายที่พัฒนาประเทศได้มากกว่าระบอบเผด็จการอื่นๆ หรือแม้กระทั่งดีกว่าระบอบประชาธิปไตย เช่น สิงคโปร์
3
รายงานปี 2011 ชื่อ Economically Benevolent Dictators: Lessons for Developing Democracies เขียนโดย Ronald Gilson แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และ Curtis Milhaupt แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แสดงตัวเลขว่า ประเทศชิลีใต้การปกครองของจอมเผด็จการ ออกุสโต ปิโนเชท์ (Augusto Pinochet) เกาหลีใต้ภายใต้การปกครองของปักจุงฮี (Park Chung-hee) จีนใต้การปกครองของเติ้งเสี่ยวผิง พัฒนาเศรษฐกิจสูงกว่าประเทศประชาธิปไตยจำนวนมากในโลก
2
ทำไมเป็นเช่นนั้น?
รายงานนี้วิเคราะห์เหตุผลว่า ระบอบเผด็จการทำงานและหรือวางนโยบายด้านเศรษฐกิจได้ง่ายกว่า ควบคุมได้ง่ายกว่า เสียงต่อต้านน้อยกว่า ทำให้ประเทศมีเสถียรภาพต่อนักลงทุน และตราบใดที่ผู้นำเผด็จการทำได้ตามสัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้จริง ก็ยังสามารถอยู่ในอำนาจต่อไปได้
3
ตรงกันข้าม ในประเทศประชาธิปไตย ผู้นำมักเสียเวลาไปกับการแก้ปัญหาความวุ่นวายของเกมการเมือง และการรักษาฐานเสียง จนมีเวลาน้อยลงหรือแทบไม่มีเวลาไปคิดเรื่องเศรษฐกิจ บ่อยครั้งมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี แต่อาจต้องออกจากตำแหน่งก่อน
8
ค่านิยมทางการเมืองทั่วโลกคือ รัฐบาลใหม่ที่เพิ่งขึ้นสู่อำนาจมักล้มโครงการเดิม ไม่ว่าดีแค่ไหน เพียงเพื่อไม่ให้เป็นเครดิตของรัฐบาลก่อน
9
ดังนั้นจึงเกิดปัญหาของการเลือกตั้งคือ นักการเมืองจะไม่มีวันสัญญานโยบายระยะยาว เพราะมันจับต้องไม่ได้ในระยะเวลาราวสี่ปีของระบบเลือกตั้ง นักเลือกตั้งส่วนใหญ่มักเสนอโครงการประชานิยม เพื่อให้ได้อยู่ในตำแหน่งและอำนาจ (นี่ก็คือ demagoguery ในมุมมองของโสเครติส)
6
นี่มิได้ชี้ว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ดี หรือไม่มีประสิทธิภาพ เพียงบอกว่าการเน้นที่เปลือกของระบอบประชาธิปไตยมากเกินไป อาจทำให้ติดขัดหลายจุด เพราะระบอบประชาธิปไตยมีขีดจำกัดของมัน เมื่อใดที่ข้ามขีดจำกัดหรือกรอบนี้ไป มันก็จะกลายเป็นระบอบเผด็จการไป ซึ่งเป็นคำต้องห้าม
5
มันกลายเป็น ‘เขา’ กับ ‘เรา’
จุดนี้ลีกวนยูมองนอกกรอบ เขาบอกว่า “เราเป็นพวกนักปฏิบัติ (pragmatist) เราไม่ยึดมั่นกับลัทธิความเชื่อใดๆ มันได้ผลไหม? ก็ต้องลองดู และถ้ามันได้ผล ก็ดี ทำต่อไป ถ้ามันไม่ได้ผล ก็ทิ้งมันไป แล้วลองอันใหม่ เราไม่ยึดติดกับความชอบลัทธิความเชื่อใดๆ”
1
การไม่ยึดมั่นถือมั่นกับยี่ห้อระบอบ ทำให้เป็นอิสระ หากเทียบกับนิยายกำลังภายใน ก็คือไร้กระบวนท่า อะไรๆ ก็สามารถใช้เป็นอาวุธได้
6
ถ้าเรื่องใดทำให้ประชาชนและประเทศดีขึ้น จะไปสนใจทำไมว่ามันเรียกว่าระบอบอะไร
13
ลีกวนยูเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ผมไม่ใช่คนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ (ideologue) ผมไม่เชื่อทฤษฎีต่างๆ ผมศึกษาทฤษฎี ผมสนใจมัน เมื่อเมื่อผมพบปัญหา ผมก็แก้ไขมัน ผมไม่สนใจว่าทฤษฎีอะไรแก้ปัญหานั้นๆ ผมปล่อยให้พวกนักศึกษาปริญญาเอกขบคิด”
3
ลีกวนยูกล่าวว่า “ผมเริ่มต้นโดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน ตอนนี้ผมรู้แล้วว่า นั่นเป็นสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ที่สุด เพราะวิวัฒนาการได้ผ่านหลายล้านปี มนุษย์กระจายไปทั่วทุกมุมโลก แยกออกจากกัน พัฒนาอย่างเป็นอิสระ มีการผสมกันของความแตกต่างระหว่างเผ่าพันธุ์ คน สภาพอากาศ ผืนดิน ผมไม่ได้เริ่มต้นด้วยความรู้นั้น แต่จากการสังเกต การอ่าน การเฝ้าดู การถกเถียง การตั้งคำถาม และอัดทุกคนที่ขวางทางเพื่อไต่ขึ้นไปสู่จุดสูงสุด นั่นก็คือบทสรุปที่ผมได้มา”
7
สำหรับการที่โลกตะวันตกมองสิงคโปร์เป็นเผด็จการนั้น ลีกวนยูก็มีมุมมองคล้ายจีน เขากล่าวว่า “เมืองจีนต้องการเป็นเมืองจีน และถูกยอมรับอย่างนั้น ไม่ได้ต้องการเป็นสมาชิกที่ทรงเกียรติของตะวันตก”
6
ท้ายที่สุด เขาเชื่อว่าคุณค่าของระบอบอะไรก็ตาม พิสูจน์ด้วยผลงานเท่านั้น
2
นั่นคือรอยยิ้มของประชาชน
ภาพที่ใครๆ เห็นนั้นชัดเจน โดยไม่ต้องอธิบาย ถนนหนทางในสิงคโปร์สะอาด ร่มรื่นด้วยต้นไม้ ไม่มีการทิ้งขยะ (ค่าปรับหนัก) อากาศสะอาด ไม่มีปืน (โทษของการพกปืนในสิงคโปร์คือการจำคุก บวกการเฆี่ยนไม่ต่ำกว่าหกที) ไม่มียาเสพติด (โทษประหารชีวิต)
ใครก็ตามที่เดินในประเทศนี้ จะเกิดความรู้สึกว่ากำลังอยู่ในโลกที่ปลอดภัยสูงอย่างยิ่ง
เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ จะพบว่าเป็นหนังคนละม้วน คนจรจัดทั่วเมือง รถไฟฟ้าใต้ดินสกปรก สนามบินเก่าคร่ำคร่า และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูง อาชญากรรมสูง การปล้น การฆ่าหมู่ตามศูนย์การค้าหรือโรงเรียน ฯลฯ
4
ลีกวนยูกล่าวว่า “วิธีของผมคือแก้ปัญหาแบบตรงไปตรงมา ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ถ้าคุณสามารถเลือกประชากร และพวกเขามีการศึกษา และได้รับการอบรมสั่งสอนมาดี คุณก็ไม่ต้องใช้ไม้เรียว เพราะพวกเขาได้รับการอบรมสั่งสอนมาดีแล้ว มันก็เหมือนการเลี้ยงสุนัข คุณฝึกมันถูกวิธีตั้งแต่ยังเล็ก มันจะรู้ว่าต้องออกไปข้างนอกเพื่อขับถ่าย แต่ไม่... เราไม่ใช่สังคมแบบนั้น เราต้องฝึกสุนัขผู้ใหญ่ที่เจตนาเยี่ยวในลิฟต์”
12
การปกครองแบบนี้ย่อมหนีไม่พ้นที่ขาข้างหนึ่งของรัฐบาลก็จำต้องเหยียบบนเงาของระบอบเผด็จการ
1
ลีกวนยูเดินหน้าสร้างประเทศเต็มตัว กล้าชนกับคนที่ขวางทาง เพราะถือว่าทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ประชาชนจะอยู่ข้างเขา และเมื่อเห็นผลงานปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจน เขาก็สามารถครองอำนาจต่อเนื่อง
1
William Safire คอลัมนิสต์ The Times เคยถามลีกวนยูว่า เขาเป็นเผด็จการหรือไม่
ลีกวนยูตอบว่า “ผมเป็นเผด็จการหรือเปล่า? ผมจำเป็นต้องเป็นเผด็จการหรือเมื่อผมสามารถเอาชนะ (การเลือกตั้ง)ได้อย่างขาดลอย”
ความหมายของเขาคือ ถ้าทำงานเข้าตาประชาชน มีผลงานเป็นรูปธรรมจับต้องได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเผด็จการ และต่อให้ติดป้ายเผด็จการบนหน้าผาก ประชาชนก็ยังคงเลือกเป็นผู้นำ
2
ในอีกมุมมองหนึ่ง หากเขาเป็นเผด็จการ ก็คงไม่ก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 1990 หลังจากปกครองมา 31 ปี ขณะที่กระแสนิยมตัวเขายังไม่เสื่อมคลาย
5
ปัญหาของระบอบ Benevolent dictatorship (ระบอบเผด็จการที่ทำให้สังคมรวมดีขึ้น) คือยากตอนเปลี่ยนรุ่นผู้นำ เพราะเมื่อเปลี่ยนรุ่น นโยบายก็อาจเปลี่ยนไป ผู้นำรุ่นใหม่อาจไม่มีวิสัยทัศน์เท่าคนเก่าที่ทำงานได้ผล หรือโลกเปลี่ยนไปจากบริบทเก่าๆ ของความสำเร็จเดิมๆ
4
นี่ก็อาจเป็นปัญหาของสิงคโปร์
หลังจากลีกวนยูจากไป ไม่มีใครรู้ว่าผู้นำรุ่นใหม่ทำได้อย่างที่ลีกวนยูทำหรือไม่
แต่นี่เป็นสัจธรรมของประวัติศาสตร์
ไมเคิล บารร์ (Michael Barr) ผู้เขียน Singapore: A Modern History แสดงความเห็นว่า ปัญหาของการหาผู้นำแบบสิงคโปร์ไม่ได้ทำได้ง่าย มิใช่เพราะไม่มีคนเก่ง แต่คนเก่งระดับนี้มักไม่เข้าสู่วงการเมือง และมักถูกมองเป็น ‘ภัย’ ต่อการครองอำนาจของนักการเมืองอื่นๆ
6
นี่ก็เป็นสัจธรรมของประวัติศาสตร์
โฆษณา