Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เหลาจนคม
•
ติดตาม
7 ก.พ. เวลา 18:57 • ประวัติศาสตร์
กวนอู นักรบสู่เทพเจ้า
กวนอู มีชื่อในภาษาจีนกลางว่า กวาน ยฺหวี่ (關羽) มีชื่อรองว่า หุนเตี๋ยง หรือในภาษาจีนกลางว่า ยฺหวินฉาง (雲長) เป็นขุนพลของขุนศึกเล่าปี่ในช่วงปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออกของจีน กวนอูมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้องกับเล่าปี่รวมถึงเตียวหุยและติดตามเล่าปี่ตลอดช่วงเริ่มตั้งตัว กวนอูมีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ที่นำไปสู่ยุคสิ้นราชวงศ์ฮั่นและการสถาปนารัฐจ๊กก๊กของเล่าปี่ในยุคสามก๊ก
กวนอูมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักจากการตอบแทนบุญคุณของโจโฉด้วยการสังหารงันเหลียง ขุนพลของอ้วนเสี้ยวข้าศึกของโจโฉในยุทธการที่แปะแบ๊โดยที่ตัวกวนอูยังคงภักดีต่อเล่าปี่ หลังจากเล่าปี่ยึดได้มณฑลเอ๊กจิ๋วในปี ค.ศ. 214 กวนอูยังคงอยู่ที่มณฑลเกงจิ๋วเพื่อปกครองและป้องพื้นพื้นที่เป็นเวลาประมาณเจ็ดปี
ในปี ค.ศ. 219 ระหว่างที่กวนอูนำทัพไปรบกับกองกำลังของโจโฉในยุทธการที่อ้วนเสีย ซุนกวนพันธมิตรของเล่าปี่ได้ทำลายความเป็นพันธมิตรซุน-เล่าแล้วส่งขุนพลลิบองเข้ายึดครองอาณาเขตของเล่าปี่ในมณฑลเกงจิ๋ว กว่าที่กวนอูซึ่งพ่ายแพ้ในการรบที่อ้วนเสียจะทราบข่าวการเสียมณฑลเกงจิ๋วก็สายเกินแก้ ภายหลังกวนอูถูกกองกำลังของซุนกวนซุ่มจับตัวได้และถูกประหารชีวิต
กวนอูได้รับการยกย่องเทิดทูนอย่างสูงจากชาวจีนในปัจจุบัน ในทางลัทธิเต๋าได้ยกย่องให้กวนอูเป็น "เซียน" แห่งความภักดี ความซื่อสัตย์ อีกทั้งยังถือว่าเป็น เทพแห่งโชคลาภเรียกกันว่า "อู่ไฉเสินเย่" หรือ "ไฉ่ซิงเอี๊ยบู๊" ในขณะที่ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานยกย่องให้กวนอูเป็นพระโพธิสัตว์ องค์หนึ่งเรียกกันว่า "พระสังฆรามโพธิสัตว์" หรือ "เจียหลานผูซ่า"
แต่เดิมจีนโบราณให้ความเคารพนับถืองักฮุยเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ สืบต่อกันมาเป็นเวลานานในฐานะเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อชาติ ด้วยคุณธรรมความดีของงักฮุยส่งผลให้ได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าแห่งความรักชาติและความจงรักภักดีเป็นที่กล่าวขานกันมาเป็นเวลานาน
คติการนับถือกวนอูเป็นเสมือนดั่งประหนึ่งเทพเจ้านั้นมีที่มาเริ่มต้นเมื่อ ค.ศ. 1102 ในสมัยราชวงศ์ซ่ง รัชสมัยซ่งฮุยจงฮ่องเต้ โดยได้พระราชทานอวยยศบรรดาศักดิ์ให้กวนอูเป็น "จงฮุ่ยกง" หมายถึง เทพผู้ภักดี นับตั้งแต่นั้นมา ในทุกราชวงศ์หลังจากนั้นคือ ราชวงศ์หยวน หมิง และ ซิง ก็ได้มีการถวายบรรดาศักดิ์ให้แก่กวนอู จนมีฐานะดั่งเทพเจ้าองค์หนึ่งของจีน ชาวบ้านทั่วไปจะเคารพเทิดทูนกวนอูเป็นอย่างสูง และมักเรียกท่านว่า "กวนเซิ่งตี้จวิน" , "กวนกง" , "กวนตี้" , "กวนเหล่าเย่" , "กวนเอ้อเย่" และ "กวนเอ้อเกอ" เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ในประเทศจีนมีศาลเจ้าของกวนอูเป็นจำนวนมาก และยังแพร่หลายในไต้หวัน ฮ่องกง รวมทั้งในประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชีย และยุโรป ที่มักจะมีศาลเจ้ากวนอูอยู่ตามแหล่งชุมชนชาวจีนทั่วทุกมุมโลก
สำหรับศาลเจ้ากวนอูในประเทศไทยนั้นมีหลายแห่ง มีที่หนึ่งเราอยากจะแนะนำ คือศาลเจ้ากวนอู คลองสาน ฝั่งธนบุรี
ศาลเจ้ากวนอู คลองสาน สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นในรัชกาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวงของกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2279) คาบเกี่ยวกับสมัยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิง
ศาลแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนมาเป็นเวลานาน ผู้มาสักการะเทพเจ้ากวนอู ส่วนใหญ่จะมาขอพรเกี่ยวกับการงาน การประกอบกิจการ ให้มีความก้าวหน้าเจริญรุ่งเรือง ศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จมาสักการะมาแล้ว โดยจะมาสักการะก่อนหรือหลังจากออกราชการสงคราม
ภายในศาลมีเทวรูปกวนอู แต่จะมีรูปสักการะที่สำคัญ 3 องค์ องค์เล็กสุดคือองค์ที่เก่าแก่ที่สุดทำจากไม้จันทร์หอม ชาวจีนฮกเกี้ยนได้อัญเชิญมาจากมณฑลฮกเกี้ยนโดยทางเรือมาประทับอยู่ในเก๋ง เดิมท่านอยู่ในเก๋งเล็กๆ ประทับนั่งอยู่ตรงกลางเป็นองค์เดียวกับที่สมเด็จพระเจ้าตากสินเคยมาสักการะอายุกว่า 285 ปี องค์กลางที่สร้างขึ้นในสมัยธนบุรีจะเป็นกวนอูในชุดนักรบแบบขอเฝ้าไม่ใช่ชุดออกรบ
องค์หลังสุดในสมัยรัตนโกสินทร์ มีความเชื่อว่า เทพกวนอูปัจจุบันได้รับการบูชาขึ้นเป็นเทวาธิราชเง็กเซียนฮ่องเต้ คือความเชื่อสายนี้เชื่อว่าตำแหน่งเง็กเซียนฮ่องเต้มีวาระสลับกัน เชื่อกันว่าองค์นี้ท่านจะอำนวยพรด้านคดีความ ช่วยอำนวยพรให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่สงบสุข ที่สำคัญอันเป็นเหตุที่มีสำเนาโฉนดที่ดินเสียบที่เข็มขัดเพราะมีคนชอบมาขอพรให้ขายที่ดินได้ หรือหากที่ดินมีปัญหาข้อขัดแย้ง มีปัญหาฟ้องร้องเกี่ยวกับคดีที่ดิน ท่านจะอำนวยพรให้อุปสรรคคลี่คลายลง
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B9
https://www.mahamongkol.com/m/content.php?id=13
https://www.mcot.net/view/sGDkYiPM
ประวัติศาสตร์
ความเชื่อ
ศาสนา
บันทึก
3
1
3
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย