9 ก.พ. เวลา 11:00 • ข่าวรอบโลก

‘มาเลเซีย’ กวักมือเรียกต่างชาติ ลงทุน ‘อุตสาหกรรมชิป’

มาเลเซียพยายามจะดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศมากขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป เพื่อยกระดับห่วงโซ่คุณค่าในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะชิปที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า
มาเลเซียมีสัดส่วนในตลาดโลกสำหรับการบรรจุ การประกอบ และบริการทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ ประมาณ 13% และเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก โดยอุตสาหกรรมดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 25% ของ GDP ของมาเลเซีย
แผนแม่บทด้านอุตสาหกรรมฉบับใหม่ (NIMP) ปี 2573 ของมาเลเซียได้เสนอแผนงานในการเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตโดยการขยายขอบเขตสินค้าส่งออก ซึ่งรัฐบาลหวังว่า NIMP ปี 2573 จะช่วยส่งเสริมกิจกรรมส่วนต้นอย่างการผลิตอุปกรณ์ชิป การสร้างแผงวงจรบนแผ่นเวเฟอร์ และการออกแบบชิปวงจรรวม ได้มากขึ้น
3 ความท้าทายของนักลงทุนต่างชาติ
-การขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ-
อุตสาหกรรมชิปของมาเลเซียกำลังขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ ประกอบกับอัตราการออกจากงานก็อยู่ในระดับสูง ซึ่งมาเลเซียต้องการวิศวกรอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้าที่ประมาณ 50,000 คนต่อปี โดยยังขาดแคลนแรงงานประมาณ 1.2 ล้านคน แบ่งเป็นภาคการผลิต 600,000 คน ภาคการก่อสร้าง 550,000 คน และภาคน้ำมันปาล์ม 120,000 คน อีกทั้งวิศวกรและช่างเทคนิคชาวมาเลเซียหลายคนต่างอยากไปทำงานในสิงคโปร์เนื่องจากได้ค่าแรงที่ดีกว่า
-มีการพึ่งพาบริษัทต่างชาติสูง-
อุตสาหกรรมชิปของมาเลเซียมีการพึ่งพาผู้เล่นต่างชาติในระดับสูงเพื่อรักษาความยั่งยืนในอุตสาหกรรม บริษัทต่างๆ เช่น Intel, Texas Instruments, Infineon ได้เข้ามาตั้งบริษัทในประเทศตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 ขณะที่บริษัทท้องถิ่นอย่าง Unisem, Carsem, Inari Amrtron กลับมีบทบาทในตลาดโลกเพียงเล็กน้อย นอกจากนี้ มาเลเซียยังไม่มีผู้ผลิตชิปหลักอย่าง Samsung หรือผู้พัฒนาชิปอย่าง Qualcomm อีกด้วย
-การแข่งขันในภูมิภาค-
อุตสาหกรรมชิปของมาเลเซียกำลังเผชิญการแข่งขันในระดับภูมิภาคทั้งจากไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม แต่จากความสามารถในการผลิต แรงงานที่มีทักษะ และนโยบายสนับสนุนของรัฐบาลในอาเซียนที่กำลังเพิ่มขึ้น จะสามารถเปลี่ยนแปลงภูมิภาคนี้ให้เป็นศูนย์กลางในการผลิตสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ได้ โดยการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของอาเซียนแตะระดับ 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐได้ในปี 2565 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปี 2560 ที่ 5.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
โอกาสของนักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายในอุตสาหกรรมชิปของมาเลเซีย มาเลเซียก็ยังคงถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในสามศูนย์กลางการผลิตชิปหลักในเอเชีย ควบคู่ไปกับเกาหลีใต้และไต้หวัน นอกจากนี้ มาเลเซียยังดึงดูดผู้ผลิตชิปจากต่างประเทศ ด้วยภูมิประเทศและโลจิสติกส์เชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงยังมีการสนับสนุนจากรัฐบาลอีกด้วย
ที่มา: Malaysia’s Semiconductor Sector Beckons Foreign Investors, Muhamad Aziz and Ayman Falak Medina, ASEAN Briefing
ผู้เรียบเรียง: ณภัสสร มีไผ่แก้ว
โฆษณา