12 ก.พ. เวลา 11:00

ทะเลาะกันทีไร แค่ ‘ขอโทษอย่างจริงใจ’ มันจะยากอะไรนักหนา?

เคยไหมกับการเป็นผู้ถูกกระทำแต่ไม่เคยได้รับคำขอโทษ? หรือบางทีก็อาจจะเป็นเราเสียเองที่เป็นผู้กระทำแต่ก็ยังยากจะยอมรับว่าตนผิด? เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์ทั้งสองกรณีมาแล้ว ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมอีกฝ่ายไม่ยอมขอโทษ และทำไมตนเองก็ไม่ยอมขอโทษเช่นเดียวกัน
ทั้งที่ ‘การขอโทษ’ เป็นมารยาทการเข้าสังคมขั้นพื้นฐานที่ครอบครัวและโรงเรียนพร่ำสอนตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อพบกับสถานการณ์ที่ต้องใช้คำเหล่านี้จริง หลายคนกับพบว่าเป็นคำไม่กี่พยางค์ที่เอ่ยปากยากเหลือเกิน ราวกับมีมวลก้อนปริศนาจุกอยู่ที่อกปิดกั้นไม่ให้เปล่งคำขอโทษออกมาง่ายๆ
แม้เราจะรู้ดีว่าการขอโทษจะช่วยสมานรอยร้าว ฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์ผ่านความเชื่อใจ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ตนเองได้ทบทวนคุณค่าที่ยึดถือและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนที่อยากเป็น แต่กว่าจะไปถึงขั้นตอนของการยอมรับความผิดตรงนั้นได้กลับพบอุปสรรคทางความคิดและอารมณ์มากมายมาคอยขวางทางไว้
ทำไมแค่ “การขอโทษ” ถึงยากเย็น?
ต้องกล่าวว่าการขอโทษไม่ได้หมายถึงแค่ ‘คำขอโทษ’ ที่เอ่ยออกมาเท่านั้น แต่รวมไปถึงการยอมรับความผิดที่เกิดขึ้นด้วย ลำพังแล้วแค่คำพูดเพียงอย่างเดียวอาจจะออกมาได้ง่ายกว่าคำพูดที่มาพร้อมความรู้สึกผิดเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันก็มีกรณีที่ไม่มีแม้แต่คำขอโทษเพราะไม่ยอมรับความรู้สึกผิดเช่นกัน
ปกติแล้วงานศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการขอโทษจำนวนมากมักให้ความสนใจไปที่ “ผู้ถูกละเมิดขอบเขต” หรือผู้ที่ถูกกระทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าผู้กระทำ ด้วยเหตุนั้นคนส่วนมากจึงจะเห็นบทบาทของการขอโทษในฐานะเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ถูกละเมิดได้รับการเยียวยาและสามารถให้อภัยคนอื่นได้มากกว่า
Karina Schumann นักจิตวิทยาและผู้ช่วยศาสดาจารย์จากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก (The University of Pittsburgh) ได้ทำการศึกษาอีกมิติหนึ่งของการขอโทษ โดยเจาะลึกถึงจิตวิทยาเบื้องหลังสาเหตุที่ทำให้การขอโทษหรือการยอมรับผิดไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบางคน
1. ไม่ต้องขอโทษเพราะการกระทำของฉัน ‘ชอบธรรม’
จากการศึกษาพบว่ามุมมองที่แตกต่างกันระหว่างผู้ละเมิดและผู้ถูกละเมิดกลายมาเป็น “เหตุผลเบื้องหลัง” ที่ผู้ละเมิดใช้ในการสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตนเอง แม้บางทีจะรู้ดีว่าการกระทำที่ทำลงไปนั้นก่อให้เกิดความเสียหายทางใดทางหนึ่งให้อีกฝ่าย ด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ผู้ละเมิดจะมองว่าเพราะมีสาเหตุของการกระทำเหล่านั้น จึงไม่นับเป็นความผิดที่ต้องยอมรับ
สมมติปีนี้เราลืมวันเกิดของคนรักจนทำให้เขารู้สึกถูกละเลย หลายคนมักจะหาเหตุผลมารองรับเพื่อสร้างความชอบธรรมว่ามันไม่ใช่ความผิดที่เขาต้องรับผิดชอบ เช่น มันเป็นความผิดพลาดที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ปีที่ผ่านๆ มาก็ไม่เคยลืมนี่นา เพราะงั้นมันเป็นแค่ ‘อุบัติเหตุ’ ที่ช่วยไม่ได้ เราจึงไม่ได้ผิดอะไรขนาดนั้น หรือ ก็ปีนี้งานมันยุ่งก็เลยลืม เพื่อบอกว่าความผิดพลาดของเรานั้น ‘เข้าใจได้’ เพราะเข้าใจได้จึงไม่ใช่ความผิดที่ต้องสำนึกผิด เป็นต้น
หลายครั้งที่การใช้มุมมองตนเองมาสร้างความชอบธรรมเช่นนี้นำไปสู่การ “ปั่นหัวเพื่อโยนความผิด” (Gaslight) ไปให้กับผู้ที่ถูกละเมิดขอบเขตด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เพราะเธอจับผิดเรามากเกินไปจนเรารู้สึกอึดอัดไม่เป็นอิสระ เราก็เลยต้องโกหกเธอบางอย่างเพื่อให้เธอสบายใจหรือให้อิสระเราในการใช้ชีวิตและตัดสินใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น เป็นต้น
ทัศนคตินี้ยังสร้างความชอบธรรมให้กับ ‘การแก้แค้น’ ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะเขามาทำเราก่อน เราจึงทำเขากลับ” เมื่อมีเหตุผลรองรับสร้างความถูกต้องให้การกระทำตนเองเช่นนี้แล้ว ผู้ละเมิดจึงไม่คิดว่าสิ่งที่ตนทำลงไปนั้นเป็นความผิดที่ต้องสำนึก
เพราะเหตุใดแนวคิดและมุมมองดังกล่าวนี้จึงไม่สมเหตุสมผล? นั่นเป็นเพราะว่า “ไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมในการทำร้ายผู้อื่น” แม้ว่าเหตุผลเบื้องหลังจะเป็นความจำเป็นหรือไม่เจตนา หรือเหตุผลอื่นๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสร้างความเสียหายไม่ทางใดก็ทางหนึ่งให้กับอีกฝ่ายอยู่ดีนั่นเอง
1
2. มันง่ายกว่าที่จะ “ไม่แคร์” ความรู้สึกของผู้อื่น
การเห็นอกเห็นใจหรือการเข้าใจมุมมองของผู้อื่นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มองเห็นความผิดพลาดของตนเอง ยกตัวอย่างเช่น หากเราส่งงานไม่ตรงเวลาก็จะทำให้ฝ่ายอื่นที่ต้องรับงานต่อจากเราล่าช้าและวุ่นวายกับการเร่งกระบวนการมากขึ้น เช่นนั้นเมื่อเราส่งงานช้าไม่ว่าด้วยเหตุจำเป็นแบบใดจึงรู้สึกผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายภายในทีม
หลายคนพบปัญหาการเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เนื่องจากไม่สามารถจินตนาการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกระทำหรือการตัดสินใจของตนเองได้ จึงไม่คิดว่าสิ่งที่ทำไปมันจะมีความผิด เช่น การทักคนอื่นว่าอ้วนขึ้นหรือเปล่า? หรือสิวขึ้นนะเนี่ย? สำหรับบางคนไม่อาจจะจินตนาการได้ว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไรจึงไม่เข้าใจว่ามันผิดตรงไหน เป็นต้น
ทว่าก็มีอีกกรณีที่ “ไม่ได้สนใจ” ว่าอีกฝ่ายจะเดือดร้อนอย่างไรจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ต่อให้สามารถรับหรือจินตนาการได้ว่ามันจะเสียหายแต่ก็ไม่ได้คิดว่าความเดือดร้อนของอีกฝ่ายมันเป็นสิ่งที่จะต้องแคร์หรือให้ความสำคัญ
กรณีที่สองนี้มักเกิดกับกลุ่มคนหลงตัวเองหรือ “Narcissists” ที่มักจะคิดว่าตนเองใหญ่กว่าและสำคัญกว่าคนอื่น รวมถึงมีมุมมองที่คิดว่าตนเอง ‘ไม่มีวันทำผิดพลาด’ นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นกับกลุ่มที่มีบุคลิกภาพต่อต้านสังคม (Socioapath) ที่มักจะขาดความเห็นอกเห็นใจต่อความเดือดร้อนของผู้อื่น
แน่นอนว่าก็มีการทับซ้อนของทั้งสองกรณี นั่นคือทั้งไม่สามารถจินตนาการความเจ็บปวดของผู้อื่นได้และไม่ได้สนใจที่จะทำเช่นนั้น สุดท้ายแล้วก็มักจะนำไปสู่การปฏิเสธความผิดของตนเองด้วยคำพูดทำนองว่า ‘มันขนาดนั้นเลยหรือ’ ‘ไม่ได้หมายถึงแบบนั้น’ ‘คิดมากไปเองหรือเปล่า’ ‘เซ็นซิทีฟเกินไปหรือเปล่า’ หรือ ‘เรื่องของเธอสิ’ เป็นต้น
3. เปล่านะ ฉันไม่ใช่คนแบบนั้น
สังเกตว่าเราจะได้ยินและคุ้นชินการขอโทษกับความผิดจำพวก การเดินชนคนอื่น การทำแก้วน้ำในร้านอาหารตก มากกว่าการขอโทษเมื่อเผลอลงไม้ลงมือกับคนรักยามทะเลาะกันเสียอีก เพราะเหตุใด? ทั้งที่หากเปรียบเทียบ ‘อุบัติเหตุ’ กับ ‘การทำร้ายร่างกาย’ แล้วความผิดมันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
นั่นเป็นเพราะว่าการขอโทษนั้นผูกติดอยู่กับการยอมรับว่าตนกระทำอะไรลงไป ซึ่งการยอมรับว่าเดินชนคนอื่นหรือเหยียบเท้าคนในรถไฟฟ้าที่อัดแน่นไม่ได้เปลี่ยนแปลง “ตัวตน” หรือ “คุณค่า” ที่ผู้กระทำคิดว่าเขามีให้หายไป แต่การ ‘ทำร้ายร่างกาย’ นั้นมันขัดกับ ‘คุณค่าความดี’ ที่ยึดถือ การยอมรับว่าตนทำสิ่งที่ขัดกับความดีสำหรับหลายคนจึงเป็นการบอกว่า “ตนเองเป็นคนเลว”
1
ไม่เพียงเท่านั้น หลายคนย่อมมีภาพคนเลวในจินตนาการ ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะผูกติดการทำร้ายร่างกายกับไว้ตัวร้ายในละครสักเรื่อง เมื่อต้องยอมรับว่าตนเองกำลังกระทำในสิ่งเดียวกันจึงเกิดการเปรียบเทียบเราเองกับตัวร้ายในละครตัวนั้น และเกิดการเชื่อมโยงว่าจะผิดก็ต่อเมื่อเป็นผู้ร้ายแบบนั้น ‘ทุกการกระทำและเจตนา’
ในท้ายที่สุดจึงได้ข้อสรุปว่า “ไม่ ฉันไม่ได้เป็นแบบนั้น” เพราะไม่ได้ทำเหมือนผู้ร้ายคนนั้น ‘ทุกประการ’ ดังนั้นเราจึงไม่ผิด คนที่ผิดคือคนที่ทำและคิดเหมือนตัวร้ายคนนั้นแต่เราแตกต่างออกไป การยอมรับว่าสิ่งที่ทำลงไปแม้จะไม่เหมือนกันทุกประการแต่ก็สร้างความเสียหายจึงกลายเป็นความคิดที่เชื่อลำบาก
ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งที่สังคมมักด้อยคุณค่าของสิ่งที่ตรงข้ามกับ ‘ความดี’ และผู้ร้ายในภาพจำนวนมากผูกติดกับการลงโทษทางสังคมคือ “การไม่เป็นที่ยอมรับ” และ “การไม่ถูกรัก” ผู้ละเมิดขอบเขตจำนวนมากจึงเกิดความไม่มั่นคงในใจว่าหากยอมรับไปแล้วจะเป็นที่รังเกียจและถูกกีดกันจากสังคม ทำให้บ่อยครั้งที่ผู้ละเมิดขอบเขตจะหาเหตุผลอื่นๆ มาสร้างความชอบธรรมให้การกระทำเพื่อบอกว่า “ได้โปรดอย่าเตะฉันออกจากสังคม” นั่นเอง
1
กรณีที่เชื่อว่าหลายคนต้องเคยเจอคือ เด็กที่กระทำผิดแล้วโกหกว่าไม่ได้ทำ ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น หรือโกหกแรงจูงใจ นั่นเป็นเพราะเด็กเหล่านั้นกลัวที่จะผิดพลาดและไม่ถูกรักอีกต่อไปจากความผิดพลาดนั้น แน่นอนว่านอกจากเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้ใหญ่เองก็เป็นได้เช่นกันเพราะการอยู่ร่วมกันในสังคมกดดันให้เราต้องเป็น ‘ที่ยอมรับ’ การยอมรับความผิดพลาดเลยกลายเป็นเรื่องยาก เพราะว่าว่าจะไม่มี ‘โอกาส’ ได้แก้ตัว
เชื่อว่าในช่วงชีวิตของคนเราไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ต้องเคยเจอสถานการณ์ “ยากจะขอโทษ” ที่กล่าวไปข้างต้นมาไม่ข้อใดก็ข้อหนึ่ง แต่การเคยเป็นเช่นนั้นไม่ได้หมายความว่าตนเองจะเป็นคนที่ใช้ไม่ได้หรือยอดแย่ เพราะความคิด ทัศนคติ มุมมองและนิสัยต่างเปลี่ยนกันได้ทั้งนั้น เมื่อเข้าใจว่าตนเองมีกำแพงใดกั้นอยู่ การทำลายกำแพงนั้นก็เป็นบันไดขั้นถัดไปที่จะพาเราไปยัง “คนในอุดมคติ” ที่อยากจะเป็น
“Sorry not sorry” ขอโทษอย่างไรไม่สร้างสรรค์?
ท่ามกลางความเดือดของการปะทะกันในความสัมพันธ์ หลายครั้งที่ผู้ละเมิดมักจะยอมเอ่ย “คำขอโทษ” เพื่อให้เรื่องราวจบลงโดยที่ไม่ได้ ‘ยอมรับผิด’ กับสิ่งที่เกิดขึ้น และจนแล้วจนรอดก็ยังไม่คิดว่ามันจะผิดอะไร หลายคนอาจจะคิดว่ามันเป็น “วุฒิภาวะ” ที่ยอมให้อีกคน ‘งอแง’ หรือมองว่าตนเองสูงส่งกว่าเพราะ ‘ยอมเพื่อรักษาความสัมพันธ์’
ทว่าการกระทำเช่นนั้นไม่ใช่ ‘การขอโทษ’ แต่เป็นการชักจูงควบคุมหรือที่เรียกว่า “Manipulation” อันหมายถึงการใช้กลหรือเล่ห์เหลี่ยมบางอย่างเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ ซึ่งเล่ห์เหลี่ยมนั้นอาจจะมาจากเจตนาดีหรือเจตนาไม่พึงประสงค์ก็ได้เช่นกัน
การชักจูงดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ให้มันดีขึ้น เชื่อใจและเข้าใจกันมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเอาเปรียบผู้อื่นและไม่เปิดโอกาสให้ตนเองได้สัมผัสถึงมุมมองที่หลากหลายเพื่อพัฒนาตนเองต่อไป โดยการขอโทษอันกลวงโบ๋นี้เกิดขึ้นจากความเจตนาตั้งใจหรือความไม่รู้ตัวประกอบกับทัศนคติบางอย่างของผู้กระทำ
แน่นอนว่าเราอาจจะเคยทำเช่นนั้นไปด้วยความไม่รู้ตัวก็เป็นได้ หากกำลังสงสัยว่าตนเองเคยทำเช่นนั้นหรือกำลังทำอยู่หรือเปล่า ลองมาตรวจสอบความคิดเบื้องหลังคำขอโทษที่ตนเองเคยใช้ไปพร้อมกัน
[ ] ขอโทษเพราะตนเองรู้สึกแย่ ไม่ใช่เพื่อให้เธอรู้สึกดีขึ้น
[ ] ขอโทษเพราะฉันมันคนเลว แต่ไม่ได้ตระหนักว่าการกระทำส่งผลอย่างไร
[ ] ขอโทษเพราะเหนื่อยจะเถียง จึงพูดสิ่งที่เธออยากฟัง
[ ] ขอโทษเพราะฉันผิด แต่เธอก็ผิดเพราะฉะนั้นก็ต้องขอโทษฉันด้วย
[ ] ขอโทษเพื่อรับรู้ว่าเธอจะให้อภัยหรือเปล่า ถ้าให้อภัยครั้งนี้แปลว่าครั้งหน้าก็จะให้อภัย
[ ] ขอโทษเพราะรู้ว่าถ้าขอโทษไปแล้วเธอจะใจอ่อน
[ ] ขอโทษเพราะไม่อยากให้เธอไป จะทำทุกทางเพื่อไม่เสียเธอ
วิธีการขอโทษที่กล่าวไปเป็นหนึ่งในรูปแบบของการชักจูงและควบคุมทางจิตวิทยาอย่างหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทั้งโดนคนที่ตั้งใจจะทำเช่นนั้นเพื่อควบคุมอีกฝ่าย และคนที่ไม่ตั้งใจเพราะเติบโตและเรียนรู้วิธีขอโทษมาเช่นนั้น หรือโดนอารมณ์อื่นๆ เช่น ความกลัว ครอบงำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเพราะเคยทำเช่นนั้นแล้วจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้
ขอโทษที่ดีต้องทำอย่างไร?
การขอโทษที่ดีคือการเอ่ยคำขอโทษด้วยความรู้สึกผิดอย่างจริงใจ แต่จะทำอย่างไรเมื่อในหัวมีแต่ความคิดที่วนเวียนเข้ามาปกป้องเราจากการยอมรับผิด? แม้ว่าการปกป้องตนเอง (Self-defense) จะเป็นเรื่องปกติแต่เราก็สามารถฝึกจัดการกับความคิดเหล่านั้นได้ด้วยวิธีเหล่านี้เลย
1. ยอมรับว่ากระทำอะไรไปโดยไม่มี “แต่”
การขอโทษที่ดีเริ่มจากการทบทวนก่อนว่า การกระทำใดที่เราทำลงไป โดยไม่ต้องนำเหตุผลหรือปัจจัยอื่นๆ มาสนับสนุนว่าการกระทำนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เพียงยอมรับว่าเราได้ทำให้มันเกิดขึ้นแล้วก็เพียงพอสำหรับการเริ่มต้น
2. ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับอีกฝ่าย
หลังจากทบทวนว่าเราทำอะไรลงไป ลำดับถัดมาคือการทำความเข้าใจว่าแล้วการกระทำนั้นมันก่อให้เกิดผลลัพธ์ใด ความเสียหายแบบใดบ้าง ขั้นตอนนี้สามารถเตือนตนเองไม่ให้กดคุณค่าตนเองเพื่อรู้สึกผิดด้วยการทำความเข้าใจว่าสิ่งที่ไม่ดีนั้นคือ “การกระทำ” ไม่ใช่ “ตัวตน”  และเราสามารถแก้ไขให้มันถูกต้องได้
3. พูดคำว่าขอโทษอย่างตรงไปตรงมา
เมื่อรับรู้แล้วเข้าใจผลของการกระทำตนเองแล้วนั้น สิ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นคือการขอโทษเขาอยากจริงใจและตรงไปตรงมา ไม่ต้องเป็นคำสวยหรูที่อ้อมวนอย่างการชวนมากินข้าวแต่ไม่พูดขอโทษ เพราะแค่คำขอโทษที่มาจากใจคำเดียวก็สามารถช่วยรักษาบาดแผลในใจอีกฝ่ายได้พอสมควรแล้ว
4. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา หรือแนวทางปรับปรุงตัว
แน่นอนว่าเพียงแค่รู้ว่าทำผิด แต่ไม่แก้ไขและปล่อยให้เกิดซ้ำก็ไม่ต่างอะไรจากการชักจูงทางจิตวิทยาที่กล่าวไปก่อนหน้า ดังนั้นการทบทวนหาทางแก้ไขเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายใดขึ้นจึงจำเป็นต่อการเดินหน้าต่อในความสัมพันธ์
แม้ว่าโลกใบนี้อาจไม่ได้สวยงามถึงขั้นที่ทุกคนจะสามารถขอโทษอย่างจริงใจและให้อภัยกันได้ทุกครั้ง แต่การเรียนรู้และคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอก็สามารถทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งและเป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้สังคมหน้าอยู่ขึ้นได้นั่นเอง
ที่มา
- Why Is It So Hard to Apologize?: Sharon Begly, Mindful - https://bit.ly/3Ug4BRs
- Why Is It Hard for Some People to Apologize?: Daniel S. Lobel Ph.D., Psychology Today - https://bit.ly/3SbRD4t
- An Apology Without Change Is Manipulation: Sara Makin, M.Ed, LPC, NCC, Makin Wellness - https://bit.ly/3vYN1qT
- Why It's Important to Apologize in Relationships: Elizabeth Scott Ph.D., VeryWell Mind - https://bit.ly/3ShrxNF
#selfdevelopment
#psychology
#howtoappologize
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา