13 ก.พ. เวลา 15:01 • ประวัติศาสตร์

ตำนานรักวัดพนัญเชิง

วัดพนัญเชิง เป็นวัดเก่าแก่และสำคัญวัดหนึ่งของอยุธยา มีชื่อเสียงระบือไปทั่วประเทศโดยเฉพาะหลวงพ่อโตหรือเจ้าพ่อซำปอกงที่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวจีนต่างให้ความเคารพนับถือมาช้านาน เมื่อมายังวัดแห่งนี้จะไม่แปลกที่จะต้องพบเจอผู้คนจำนวนมากที่ไหลเวียนมานมัสการหลวงพ่อโตกันอย่างเนืองแน่น
วัดพนัญเชิงเป็นวัดที่มีประวัติอันยาวนาน ก่อสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาและไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง ตามหนังสือพงศาวดารเหนือกล่าวว่าพระเจ้าสายน้ำผึ้งเป็นผู้สร้าง และพระราชทานนามว่า วัดเจ้าพระนางเชิงและในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐกล่าวไว้ว่า ได้มีการสถาปนาพระพุทธรูปพุทธชื่อ”พระเจ้าพแนงเชิง” เมื่อปี พ.ศ. 1867 ซึ่งก่อนพระเจ้าอู่ทองจะสถาปนากรุงศรีอยุธยาถึง 26 ปี และบางตำนานมีความเชื่อมโยงถึง เจิ้งเหอ ขัณฑีจีนที่ล่องเรือเข้ามาสำรวจในกรุงศรีอยุธยา
นอกจากหลวงพ่อโต (เจ้าพ่อซำปอกง) แล้ว ยังมี "ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก" อนุสรณ์แห่งโศกนาฏกรรมรักระหว่างกษัตริย์กรุงอโยธยากับเจ้าหญิงผู้ทรงศักดิ์จากเมืองจีน ซึ่งเป็นปฐมเหตุของการสร้างวัดพนัญเชิง
ตามตำนานพระราชพงศาวดารเหนือ กล่าวถึงพระนางสร้อยดอกหมากไว้ว่า พระเจ้ากรุงจีนทรงมีบุตรบุญธรรมจากจั่นหมากชื่อว่า สร้อยดอกหมาก ครั้นนางจำเริญวัยเป็นสาวแรกรุ่นที่มาพร้อมรูปลักษณ์อันงดงาม โหรหลวงได้ทำนายว่าจะได้กษัตริย์กรุงอโยธยาเป็นพระสวามี พระเจ้ากรุงจีนจึงทรงมีพระราชสาสน์มาถวายพระเจ้าสายน้ำผึ้ง พระเจ้าสายน้ำผึ้งหลังจากรับราชสาสน์จึงเสด็จไปกรุงจีนด้วยเรือพระที่นั่งเอกชัย
ด้วยพระบารมีพระราชกุศลที่สั่งสมมาแต่ปางหลังนำพาให้พระองค์ฝ่าภยันตรายไปถึงกรุงจีนด้วยความปลอดภัย พระเจ้ากรุงจีนทรงโสมนัสเป็นยิ่งนัก จึงมีรับสั่งให้จัดกระบวนแห่ออกไปรับพระเจ้าสายน้ำผึ้งเข้ามาภายในพระราชวัง พร้อมทั้งให้ราชาภิเษกพระนางสร้อยดอกหมากขึ้นเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง
เวลากาลผ่านไป พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงกราบถวายบังคมลาพระเจ้ากรุงจีนกลับพระนคร พระเจ้ากรุงจีนจึงพระราชทานเรือสำเภา 5 ลำ กับชาวจีนที่มีฝีมือในการช่างสาขาต่างๆ จำนวน 500 คน ให้เดินทางกลับสู่กรุงอโยธยาด้วย
เมื่อเดินทางถึงปากน้ำแม่เบี้ย ใกล้แหลมบางกะจะ (บริเวณหน้าวัดพนัญเชิงในปัจจุบัน) พระเจ้าสายน้ำผึ้งเสด็จเข้าพระนครก่อน เพื่อจัดเตรียมตำหนักซ้ายขวามาต้อนรับพระนางสร้อยดอกหมาก ครั้นรุ่งเช้าก็จัดขบวนต้อนรับโดยให้เสนาอำมาตย์ชั้นผู้ใหญ่มาอัญเชิญพระนางสร้อยดอกหมากเข้าเมือง โดยพระองค์ไม่ได้เสด็จไปด้วย
พระนางสร้อยดอกหมากไม่เห็นพระเจ้าสายน้ำผึ้งมารับก็เกิดความน้อยพระทัย จึงไม่ยอมเสด็จขึ้นจากเรือ พร้อมกล่าวว่า “มาด้วยพระองค์โดยยาก เมื่อมาถึงพระราชวังแล้วเป็นไฉนพระองค์จึงไม่มารับ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมารับ ก็จะไม่ไป”
เสนาบดีนำความขึ้นกราบทูล พระเจ้าสายน้ำผึ้งคิดว่านางหยอกเล่น จึงกล่าวสัพยอกว่า “เมื่อมาถึงแล้ว จะอยู่ที่นั่นก็ตามใจเถิด” ครั้นรุ่งขึ้น พระเจ้าสายน้ำผึ้งก็เสด็จมารับด้วยพระองค์เอง เมื่อเสด็จขึ้นไปบนเรือสำเภา พระนางสร้อยดอกหมากจึงตัดพ้อต่อว่ามากมาย พระเจ้าสายน้ำผึ้งจึงทรงสัพยอกอีกว่า “เมื่อไม่อยากขึ้นก็จงอยู่ที่นี่เถิด”
ฝ่ายพระนางสร้อยดอกหมากได้ฟังดังนั้น เข้าพระทัยผิดคิดว่าตรัสเช่นนั้นจริงๆ ก็เสียพระทัยยิ่งนัก จึงกลั้นพระหฤทัยจนถึงแก่ทิวงคต ณ บนสำเภาเรือพระที่นั่ง ที่ท่าปากน้ำแม่เบี้ยนั่นเอง ยังความโศกสลดพระทัยแก่พระเจ้าสายน้ำผึ้งยิ่งนัก จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพมาพระราชทานเพลิงที่แหลมบางกะจะ และสถาปนาบริเวณนั้นเป็นพระอารามนามว่า “วัดพระเจ้าพระนางเชิง” หรือ “พแนงเชิง” ซึ่งแปลว่า “พระนางผู้มีแง่งอน”
พร้อมทั้งสร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักนั่นก็คือ ศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมากนั่นเอง และศาลแห่งนี้ยังถือเป็นเครื่องยืนยันความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างไทย-จีนมาช้านานตั้งแต่สมัยก่อนอยุธยา จนปัจจุบัน ยังมีการจัดงานสืบสานประเพณีจีน เช่น งานเทกระจาด งานล้างป่าช้าจีน เป็นต้น
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
โฆษณา