15 ก.พ. 2024 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

อาชีพเกิดใหม่ 'นายหน้าคาร์บอน'

[#FutureofSustainability] [#Carbontradingbroker] การเก็บข้อมูลการปล่อยมลพิษคาร์บอนกำลังกลายเป็นมาตรการใหม่ที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญ ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจึงกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้นในฐานะกลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาวิกฤติสภาพภูมิอากาศ อาชีพนายหน้าคาร์บอนจึงเกิดขึ้นและมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อตกลงปารีสผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมกันควบคุมควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อยับยั้งวิกฤติสภาพภูมิอากาศ เกิดการเรียกร้องให้ทุกประเทศรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกเดือดอย่างสม่ำเสมอ โดยใช้ค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) หรือการวัดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่าเป็นเกณฑ์
ส่งผลให้หลายประเทศกำหนดนโยบาย เช่น การตั้งเป้าหมายในการปล่อยมลพิษคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero carbon emission) เป็นต้น ปัจจุบัน สหภาพยุโรปตั้งเป้าจะลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนลง 55% ภายในปี ค.ศ. 2030 และเหลือเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2050 ในขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าไว้ที่ปี ค.ศ. 2065
เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงไปพร้อมกับการมองหาโอกาสทางธุรกิจ หลายองค์กรที่สามารถลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนของตนได้ดีกว่ามาตรฐานจึงคิดจะขายคาร์บอนเครดิต (Carbon credit) ให้กับองค์กรที่ยังปล่อยมลพิษคาร์บอนสูง เพื่อสร้างรายได้ให้กับองค์กรของตนเอง ความต้องการซื้อและขายดังกล่าวจึงนำไปสู่อาชีพ นายหน้าคาร์บอน (Carbon trading broker)
นายหน้าคาร์บอน (Carbon trading broker) เป็นองค์กรหรือสถาบันการเงินที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางติดต่อผู้ซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิต ให้คำปรึกษา ประเมินและให้การรับรองคาร์บอนเครดิตของผู้ต้องการขาย และอาจรวมไปถึงช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม เพื่อให้ผู้ขาย
เช่น ผู้ที่มีพื้นที่ป่าขนาดใหญ่ ทำเกษตรกรรมไม้ยืนต้น ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น สามารถขายคาร์บอนเครดิตของตนเองในช่วงระยะเวลาตามสัญญา แลกเปลี่ยนซื้อขายเงินหรือผลประโยชน์จากผู้ซื้อ ซึ่งอาจเป็นผู้ที่มีอัตราการปล่อยมลพิษคาร์บอนสูง
โดยนายหน้ามักเก็บค่าธรรมเนียมให้บริการ 5 - 20% จากยอดการซื้อขาย ในปี ค.ศ.2022 ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตมีมูลค่า 9.79 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่า 13.22 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ มีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตมีมูลค่า 2.68 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี ค.ศ. 2028 หรือ 19.57 พันล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ที่อัตราการเติบโตทบต้นต่อปี 6.78% ในระยะการคาดการณ์ปี ค.ศ. 2023 - 2028
โดยมีการคาดการณ์ว่าคาร์บอนเครดิตจะมีราคาถึง 12 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันภายในปี ค.ศ. 2030 และมีราคาสูงขึ้นเป็น 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันภายในปี ค.ศ. 2050 และภูมิภาคเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งฮ่องกงจะกลายเป็นตลาดขายคาร์บอนเครดิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยถึงแม้ว่าปัจจุบันการเก็บข้อมูลและซื้อจขายคาร์บอนเครดิตจะยังเป็นระบบสมัครใจ แต่ตลาดขนาดใหญ่อย่างสหภาพยุโรปมีแนวโน้มชัดเจนว่าจะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจกับองค์กรที่ลดการปล่อยมลพิษคาร์บอนเท่านั้น
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- นายหน้าคาร์บอนกำลังกลายเป็นแหล่งรายได้ใหม่ให้กับหลายองค์กร ทั้งหน่วยงานที่มีอยู่แต่เดิม เช่น หน่วยงานรัฐด้านสิ่งแวดล้อม องค์กรที่ปรึกษา หน่วยงานรับรองด้านมาตรฐาน เป็นต้น ไปจนถึงองค์กรเกิดขึ้นใหม่ โดยจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อมและโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเพื่อชดเชยการปล่อยมลพิษคาร์บอนผ่านกลไกทางเศรษกิจ และนำไปสู่ระบบการพึ่งพาอาศัยกันและการกดดันแต่ละองค์กรผ่านความซับซ้อนของระบบห่วงโซ่อุปทาน
- วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางถูกกดดันให้ลดการปล่อยมลพิษคาร์บอน ในขณะที่องค์กรขนาดใหญ่สามารถซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทิศทางธุรกิจ ส่งผลให้เกิดความเหลี่ยมล้ำมากขึ้น
- ภาคเอกชนมีการกำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลและการปล่อยมลพิษคาร์บอนภายในองค์กรที่เข้มงวด เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานรัฐ
- นายหน้าคาร์บอนเครดิตกลายเป็นบริการใหม่ที่สร้างโอกาสทางธุรกิจสูง หลายองค์กรด้านความสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนพยายามเรียนรู้และตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
อ่านเพิ่มเติม: THE WORLD IN 2035
Sources: UNDP, McKinsey
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ https://web.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofWork #WellBeing #MQDC
โฆษณา