17 พ.ค. 2024 เวลา 23:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

Payoneer แพลตฟอร์มการชำระเงินและการค้าข้ามพรมแดน รองจาก PayPal

Payoneer เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดน โดยทำหน้าที่เป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศสำหรับธุรกิจและฟรีแลนซ์
ซึ่งมีความมแตกต่างจาก Visa หรือ Master card ที่เป็นเป็นระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิต และ Visa หรือ Master card จะสมัครผ่านธนาคารหากต้องการใช้งานซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากธนาคารและค่อนข้างยุ่งยาก
แต่ Payoneer จะสมัครทางออนไลน์ฟรีผ่านแพลตฟอร์มของ Payoneer และเริ่มใช้งานการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนเบื้องต้นได้เลย ทำให้มีความยืดหยุ่นแะเป็นมิตรกับธุรกิจขนาดเลล็กและขนาดกลางหรือฟรีแลนซ์ที่ต้องการค้าขายระหว่างประเทศ
Payoneer ก่อตั้งขึ้นในปี 2005 โดย Yuval Tal จากการที่เขาตระหนักได้ถึงโลกกำลังเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์และผู้บริโภคต้องการบริการทางการเงินที่ยืดหยุ่นและเข้าถึงได้มากขึ้น เนื่องด้วยการโอนเงินระหว่างประเทศนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน และยังมีค่าธรรมเนียมที่แพง
เขาก่อตั้งบริษัทด้วยเงินทุนเริ่มต้น 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเมืองนิวยอร์ก รัฐนิวยอร์ก ก่อนที่หลังจากนั้นบริษัทจะได้รับเงินทุนเพิ่มเติมจากนักลงทุนรายอื่น เช่น Carmel Ventures, Crossbar Capital, Ping An, Wellington Management, Susquehanna Growth Equity, Naftali Bennett เป็นต้น
ต่อมาในปี 2016 Payoneer ได้เข้าซื้อบริษัท Armor Payments ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการดูแลธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ระหว่าง 500 ถึง 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับตลาดธุรกรรมแบบ B2B
หลังจากนั้นในปี 2019 Payoneer ได้รับการอนุมัติให้เป็นสถาบันการเงินดิจิทัลจากธนาคารกลางแห่งไอร์แลนด์สำหรับลูกค้าใน EEU (อาร์เมเนีย, เบลารุส, คาซัคสถาน, คีร์กีซสถาน) ทำให้ Payoneer เข้าถึงตลาดที่มีประชากรมากกว่า 180 ล้านคน และหลังจากนั้นยังได้รับการอนุมัติในอีกหลายพื้นที่ทั่วโลก
ก่อนที่บริษัทจะประกาศว่าจะกลายเป็นบริษัทที่มีการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ผ่านการควบรวมกิจการกับ FTAC Olympus Acquisition Corp ซึ่งเป็นบริษัท Special Purpose Acquisition Company (SPAC) ของอดีต CEO จาก Bancorp ในปี 2021
หลังกจากนั้น Payoneer ได้เข้าซื้อกิจการอีกหลายครั้งรวมถึง Spott แพลตฟอร์มข้อมูล AI แบบเรียลไทม์ในอิสราเอล เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องไปกับกระแส AI ที่กำลังเติบโต
โดยปัจจุบัน Payoneer ให้บริการในกว่า 190 ประเทศ และได้ทำงานร่วมกับบริษัทชั้นนำมากมาย อย่างเช่น Shopify, Alibaba, Shoplazza, EC21, SEAGM, eBay, Coupang, Booking, Airbnb, Walmart, Google, Visa, Master card, Amazon และอีกมากมาย
รวมถึงผู้ให้บริการธนาคารและการขำระเงิน (PSP) กว่า 100 แห่ง ในตลาดสำคัญๆอย่างสหรัฐฯ ยุโรป ฮ่องกง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และอื่นๆ ครอบคลุมสกุลเงินกว่า 70 สกุลทั่วโลก
และในอุตสาหกรรมการชำระเงินดิจิทัล Payoneer เป็นรองเพียงแค่ Paypal เท่านั้น
  • ผลิตภัณฑ์และบริการของ Payoneer (จากรายงานประจำไตรมาสของบริษัท)
บัญชีสำหรับฟรีแลนซ์ (Freelance)
- รับเงินจากลูกค้าหรือแพลตฟอร์มค้าขายในตลาดรวมถึงการถอนเงิน
- ชำระเงินชัพพลายเออร์หรือธุรกิจอื่นๆ
- จัดหาเงินสำหรับธุรกิจผ่าน แพลตฟอร์ม
- ข้อเสนอสุดพิเศษจากพันธมิตรของ Payoneer
- บัตร Payoneer (ARPU)
บัญชีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMB)
- รับเงินจากลูกค้าหรือแพลตฟอร์มค้าขายในตลาดรวมถึงการถอนเงิน
- ชำระเงินชัพพลายเออร์หรือธุรกิจอื่นๆ
- ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
- จัดหาเงินทุนสำหรับธุรกิจผ่าน แพลตฟอร์ม
- ข้อเสนอสุดพิเศษจากพันธมิตรของ Payoneer
- บัตร Payoneer (ARPU)
ที่มา เว็บไซต์ Payoneer
ด้านล่างเป็นข้อมูลบัตร Payoneer (ARPU) ของแค่สามไตรมาสแรกในปี 2023
ที่มา รายงานประจำไตรมาสของบริษัท Payoneer
  • โครงสร้างรายได้ของ Payoneer (ข้อมูลจาก Simplywall.st และรายงานประจำไตรมาสของบริษัท)
Payoneer สร้างรายได้ผ่านค่าคอมมิชชั่นและค่าธรรมเนียมจากบริการบนแพลตฟอร์ม โดยมีรายได้หลักจากประเทศจีน รองลงมาเป็นสหภาพยุโรป และเอเซีย และประเทศอื่นๆตามลำดับ
และค่าใช้จ่ายของ Payoneer ถูกใช้ไปกับการขายและการตลาดมากที่สุด โดยมีรายละเอียดดังนี้
ที่มา Simplywall.st
Payoneer มีลูกค้าหลักที่มีธุรกรรมการเงินสม่ำเสมอ (Active ICPs) อยู่ประมาณ 530,000 ราย คิดเป็น 75% ของรายได้
แบ่งเป็นสามกลุ่ม
1. ผู้ใช้งานที่มีธุรกรรมมูลค่ามากกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน จำนวน 57,000 ราย หรือคิดเป็น 50% ของรายได้
2. ผู้ใช้งานที่มีธุรกรรมมูลค่าน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน จำนวน 473,000 ราย หรือคิดเป็น 25% ของรายได้
3. กลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ไม่ได้มีธุรกรรมการเงินสม่ำเสมอ (Non-Active ICPs) ประมาณ 1.4 ล้านราย หรือ คิดเป็น 10% ของรายได้
ที่มา รายงานประจำไตรมาสของบริษัท Payoneer
โดย Payoneer มีโครงสร้างจำนวนลูกค้าในแต่ละภูมิภาคดังนี้
ที่มา รายงานประจำไตรมาสของบริษัท Payoneer
  • สถานะทางการเงิน (ข้อมูลจาก Simplywall.st และ Seekingalpha)
ที่มา Simplywall.st
Payoneer มีสินทรัพย์ระยะสั้น (สินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในระยะเวลา 1 ปี) ครอบคลุมหนี้สินระยะสั้น (ข้อผูกมัดทางการเงินที่บริษัทต้องชำระในระยะเวลา 1 ปี) รวมถึงมีสินทรัพย์ระยะยาวที่มีสภาพคล่องครอบคลุมหนี้สินระยะยาวเช่นกัน
โดยสินทรัพย์และข้อผูกมัดทางการเงินระยะสั้นของ Payoneer ส่วนใหญ่จะเป็นเงินทุนของลูกค้าที่ใช้จ่ายและหมุนเวียนอยู่ในแพลตฟอร์มเอง ซึ่ง ณ สิ้นสุดปี 2023 Payoneer มีเงินของลูกค้าที่อยู่ภายใต้การดูแลจัดการเป็นจำนวน 6.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 9% จากปีก่อนหน้าที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์ร์สหรัฐ
อีกทั้งกว่า 74% ของเงินทุนของลูกค้าถืออยู่ในประเทศสหรัฐฯ และ 75% ของเงินทุนอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์ร์สหรัฐ
และอย่างที่กล่าวไว้ว่า ด้วยความที่เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางการชำระเงินที่คล้ายคลึงกับ Paypal, Visa และ Master card ซึ่งโดยทั่วไปจะมี สินทรัพย์ถาวร (Non-Current Assets) ต่ำ แต่ก็แลกมาด้วยข้อผูกมัดทางการเงินระยะสั้นที่สูง
ซึ่งทำให้สำหรับแพลตฟอร์มตัวกลางการชำระเงินแล้ว การมีสินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) ในระดับที่สูงกว่าข้อผูกมัดทางการเงินระยะสั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับ Payoneer พวกเขามีสินทรัพย์ระยะสั้นครอบคลุมอผูกมัดทางการเงินระยะสั้นแล้ว
และด้วยโมเดลธุรกิจของ Payoneer ที่เน้นการเก็บค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมการเงินเป็นหลัก ไม่ใช่โมเดลที่เน้นปล่อยกู้ยืมเงิน หมายความว่า Payoneer อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนหมุนเวียนจากการระดมทุนรูปแบบอื่น (ออกหุ้นกู้, กู้เงินธนาคาร) มากเท่าไหร่นัก หากพวกเขาสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้ดี
จากที่กล่าวมาจึงทำให้ Payoneer มีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) อยู่ที่ในระดับที่ต่ำ
ที่มา Simplywall.st
อีกทั้งค่าใช้จ่ายของธุรกิจหลักๆจะไปอยู่ที่ต้นทุนการขายและการตลาดซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้และไม่ใช่ภาระผูกพันทางการเงินระยะยาวของบริษัท ทำให้บริษัทแทบจะไม่มีหนี้สินในระยะยาวเลย
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่า Payoneer จะเป็นเพียงบริษัทขนาดเล็กที่มีมูลค่าตลาดราว 1 ถึง 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น เทียบกับเจ้าตลาดอย่าง Paypal ที่ 68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็เป็นบริษัทที่มีการเติบโตของรายได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจจะกำลังเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงก็ตาม
ปี 2018 มีรายได้ อยู่ที่ 260.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2019 มีรายได้ อยู่ที่ 317.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2020 มีรายได้ อยู่ที่ 345.59 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2021 มีรายได้ อยู่ที่ 473.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2022 มีรายได้ อยู่ที่ 627.62 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2023 มีรายได้สามไตรมาส อยู่ที่ 831.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
และแม้ตลอดช่วงหลายปี Payoneer จะไม่ได้มีกำไรสุทธิและกระแสเงินสดอิสระเป็นบวก แต่ในปี 2023 ทางบริษัทก็ได้เริ่มมีกำไรสุทธิและกระแสเงินสดอิสระเป็นบวกแล้ว
ที่มา Simplywall.st
และ Payoneer มีเงินสดในมือที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายปีที่ผ่านมา
ปี 2019 มีเงินสดในมือ 133.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2020 มีเงินสดในมือ 129.38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2021 มีเงินสดในมือ 468.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2022 มีเงินสดในมือ 546.18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2023 มีเงินสดในมือ 624.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากที่กล่าวมาทำให้ประเมินได้ว่าความเสี่ยงของ Payoneer หลักๆจะอยู่ที่การดูแลสภาพคล่องหรือเงินสดภายในบริษัท การรักษาฐานผู้ใช้งาน ปริมาณธุรกรรมทางการเงิน และต้นทุนต่อธุรกรรมของแพลตฟอร์ม
ซึ่งในระยะสั้น Payoneer ก็ยังมีสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ในระยะเวลา 1 ปี ครอบคลุมหนี้สินระยะสั้นที่เป็นข้อผูกมัดทางการเงินที่บริษัทต้องชำระในระยะเวลา 1 ปี และยังคงมีการเติบโตด้านจำนวนผู้ใช้งานที่ดีอยู่
สำหรับต้นทุนต่อรายได้เอง Payoneer ก็สามารถควมคุมได้ในเกณฑ์ที่ดีอยู่
ปี 2021 มีต้นทุนต่อรายได้ 22%
ปี 2022 มีต้นทุนต่อรายได้ 17.6%
ปี 2023 มีต้นทุนต่อรายได้ 14.7%
ในด้านการประเมินมูลค่า (Valuation) แม้ Payoneer จะมี PE Ratio อยู่ที่ 19 เท่า เมื่อเทียบกับผู้นำตลาดอย่าง Paypal ที่มี PE Ratio อยู่ที่ 15.4 เท่า และค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมนี้ที่ 13.8 เท่า
ทำให้ Payoneer ดูแพงเมื่อเทียบกับคู่แข่งหลักอย่าง Paypal แต่ด้วยการเติบโตของรายได้บวกกับขนาดบริษัทที่ยังถือว่าเล็ก ทำให้ Payoneer อาจดูน่าสนใจกว่าในด้านอัพไซต์ของการเติบโต
ในด้านสัดส่วนของผู้ถือหุ้น กว่า 88% ของหุ้น Payoneer ถูกถือครองโดยสถาบันและบริษัท PE/VC โดยมีรายละเอียดดังนี้
ที่มา Seekingalpha
  • โอกาสและความท้าทายในอนาคต
แม้ Payoneer เป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินเหมือนกับ VISA และ Master card แต่ลูกค้าหลักของ Payoneer เป็นกลุ่มธุรกิจและฟรีแลนซ์ขนาดเล็กและขนาดกลาง (B2B, SMB) ต่างจาก VISA และ Master card ที่ลูกค้าหลักเป็นเหล่าธนาคารหรือสถาบันการเงิน
ที่มา รายงานประจำไตรมาสของบริษัท Payoneer
ดังนั้นรายได้ของ Payoneer จะมีการแปรเปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจโลกมากกว่า ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณธุรกรรมและรายได้ของ Payoneer หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แล้วธุรกิจและฟรีแลนซ์เหล่านั้นค้าขายได้น้อยลง รายได้ของบริษัทก็มีแนวโน้มจะลดลงตาม
การกระจายฐานรายได้ไปยังฐานลูกค้าระดับองค์กร อาจเป็นโอกาสของ Payoneer
อย่างที่กล่าวไว้ว่า รูปแบบธุรกิจของ Payoneer ขึ้นอยู่กับการค้าข้ามพรมแดนเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงด้านกฎระเบียบนโยบาย การเมือง หรือเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศ อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ
อีกทั้งด้วยความที่เป็นธุรกิจตัวกลางการชำระเงินข้ามพรมแดน Payoneer จะได้รับผลกระทบจากปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโนบาย "โดยตรง" รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องความผันผวนของสกุลเงินที่ใช้ในแพลตฟอร์ม ซึ่ง Payoneer รองรับกว่า 70 สกุลเงิน และอาจส่งผลต่อผลดำเนินงานและสถานะทางการเงินได้เช่นกัน
นอกจากนี้ในระยะกลางและระยะยาว อาจมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสกุลดิจิทัลหรือ CBDC ที่อาจเข้ามามีบทบาทในด้านการชำระเงินข้ามพรมแดนมากขึ้น อย่างกรณีของ Paypal ก็ได้มีการสร้างสกุลเงินดิจิทัลของตนเองที่ชื่อว่า PayPal USD หรือ PYUSD แล้ว แต่ในส่วนของ Payoneer ยังไม่มีอะไรแบบนี้ออกมา
อย่างไรก็ดี Payoneer นั้นมีการการบูรณาการที่ค่อนข้างดี แพลตฟอร์มของ Payoneer เชื่อมต่อกับตลาด แพลตฟอร์ม และเครือข่ายมากกว่า 2,000 แห่ง ทั่วโลก เช่น Shopify, Wayfair, EC21, OnBuy, eBay, Coupang, Booking, Airbnb, Walmart, Google, Amazon, Adobe, Lazada, Shopee, Mercado libre และอีกมากมาย หากเครือข่ายเหล่านี้มีรายได้หรือธุรกรรมเพิ่มขึ้น Payoneer ก็จะมีแนวโน้มรายได้และปริมาณธุรกรรมบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
และด้วยการให้บริการในกว่า 190 ประเทศ และครอบคลุมสกุลเงินถึง 70 สกุลทั่วโลก ทำให้ Payoneer กลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ขายและธุรกิจออนไลน์ที่ต้องการขยายธุรกิจในระดับสากล และกระจายความเสี่ยงเรื่องช่องทางการชำระเงินกรณีที่ช่องทางชำระเงินหลักมีปัญหา
บทความนี้เป็นเพียงการวิเคราะห์ส่วนหนึ่งของบริษัทเท่านั้น นักลงทุนที่สนใจ สามารถศึกษาเพิ่มเติมโดยละเอียด และประเมินความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา