18 ก.พ. 2024 เวลา 10:45 • ไลฟ์สไตล์

“วันมาฆบูชา” เช็กความต่างวันสำคัญทางพุทธศาสนา กิจกรรม-เหตุการณ์สำคัญ

เช็กความแตกต่างวัน “มาฆบูชา” กับวันสำคัญทางพุทธศาสนาอื่นๆ ส่องกิจกรรมและเหตุการณ์สำคัญอันน่าจดจำที่ไม่เหมือนกัน
วันสำคัญทางพุทธศาสนามีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา หรือ วันวิสาขบูชา ฯลฯ
แต่ 1 ปีเวียนมาบรรจบครบอีกครั้ง หลายคนอาจสับสนได้ว่าวันสำคัญทางพุทธศาสนาต่างๆ นั้น มีกิจกรรมหรือเหตุการณ์สำคัญที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง
วันนี้ทีมข่าวพีพีทีวี จึงได้รวบรวมข้อมูลมาคลายข้อสงสัยให้ทุกคนได้เห็นกันว่าแตกต่างกันอย่างไร
วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (หากตรงกับปีอธิกมาส จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4) ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567
ความแตกต่างวันสำคัญทางพุทธศาสนา
วันนี้ถือเป็น “วันแห่งพระธรรม” เพราะเป็นวันแรกที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง “โอวาทปฏิโมกข์” หลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา คือการทำความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ให้แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์
และเกิดเหตุการณ์สำคัญ 4 ประการที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” คือ
  • 1.
    ตรงกับวันเพ็ญ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
  • 2.
    พระสงฆ์จำนวน 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย
  • 3.
    พระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์
  • 4.
    พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า
เพื่อระลึกถึงพระธรรม อันเป็นสิ่งสำคัญของศาสนา ประชาชนส่วนใหญ่จึงนิยมออกมาทำบุญตักบาตร ถือศีล และทำพิธีเวียนเทียนกันในวันนี้
วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 (หากตรงกับปีอธิกมาส จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7) ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันพุธที่ 22 พฤษภาคม 2567
ถือเป็น “วันสำคัญสากลของโลก” ด้วยเป็นวันคล้ายวันประสูติ วันตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทำให้ศาสนาพุทธถือกำเนิดขึ้นมา
ชาวพุทธจึงนิยมทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ฟังเทศน์ และเวียนเทียน เพื่อแสดงความกตัญญูและระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567
วันนี้ถือเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาครั้งแรก ชื่อว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” กล่าวโดยย่อว่า การประกาศทางสายกลาง
และเกิดมีสาวกรูปแรกขึ้น คือพระอัญญาโกณฑัญญะ จึงเป็นวันแรกที่ศาสนาพุทธ มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย
ชาวพุทธจึงนิยมทำบุญตักบาตร รักษาศีล เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เพื่อระลึกถึงพระรัตนตรัย
วันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษาเป็นวันที่พระสงฆ์จะต้องเข้าจำพรรษาตลอด 3 เดือนในฤดูฝน โดยจะไปค้างแรมที่อยู่ไม่ได้ เพื่อป้องกันความเสียหายจากการเดินทางไปจาริกเผยแพร่ศาสนาของพระสงฆ์ต่อชาวบ้าน เนื่องจากในอดีตธัญพืชของชาวบ้านเคยถูกเหยียบย่ำจนได้รับความเสียหาย
โดยส่วนมากวันเข้าพรรษาจะเริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม – วันพฤหัสบดี 17 ตุลาคม 2567
ชาวพุทธจึงนิยมทำบุญตักบาตร ถวายเทียนเข้าพรรษา หลอดไฟ ผ้าอาบน้ำฝน รวมถึงการงดดื่มแอลกอฮอล์ตลอดระยะเวลา 3 เดือนด้วย เพราะแม้ว่าการเข้าพรรษาจะเป็นเรื่องของภิกษุ แต่ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ทำบุญ รักษาศีล และชำระจิตใจให้ผ่องใสด้วย
วันออกพรรษา
วันออกพรรษาเป็นวันสิ้นสุดของการจำพรรษาของพระสงฆ์ตลอด 3 เดือนในฤดูฝนจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันพฤหัสบดี 17 ตุลาคม 2567
ในวันนี้พระสงฆ์จะทำพิธีออกพรรษา ซึ่งเป็นสังฆกรรมอย่างหนึ่ง เรียกว่า “วันมหาปวารณา” โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปรารณา คือเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ วันนี้จึงเรียกอีกอย่างว่า “วันมหาปวารณา”
ชาวพุทธนิยมทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ และร่วมประเพณีหลังวันออกพรรษา 1 วันคือ “ตักบาตรเทโว” รวมถึงเริ่ม “ทอดกฐิน” หลังวันออกพรรษาต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะเวลา 1 เดือน
วันธัมมัสสวนะ
วันธัมมัสสวนะ หรือ วันพระ ใน 1 เดือนจะมี 4 วัน ตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ, แรม 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ (ถ้าเดือนขาดจะเป็นวันแรม 14 ค่ำ)
ในวันนี้คนส่วนมากมักเรียกว่า “วันพระเล็ก” เนื่องจากทุก 7-8 วันจะมีครั้ง ชาวพุทธนิยมใช้วันนี้ถือเป็นวันพิเศษในแต่ละรอบสัปดาห์ที่จะทำบุญตักบาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ และงดเว้นอบายมุขตามสมควร
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานพระพุทธศาสนา และ กรมการศาสนา
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา