Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Art of
•
ติดตาม
17 ก.พ. 2024 เวลา 08:01 • บันเทิง
พาดูคอสตูม ความหลากหลายของอาภรณ์บนแผ่นดินไทย ผ่านซีรีส์ฝีมือคนไทยเรื่องใหม่ 'แม่หยัว'
เป็นที่พูดถึงกันอย่างมากกับซีรีส์ ‘แม่หยัว - The Empress of Ayodhaya’ พร้อมเปิดเผยนักแสดงนำ ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ ในบทแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และงานอาร์ตเวิร์คแบบจัดเต็ม เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผ่านการตีความประวัติศาสตร์อยุธยาในมุมมองใหม่ นำเสนอความรัก และการสงครามจากทั้งภายในและนอก
แน่นอนว่าเรื่องราวของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เคยถูกนำเสนอผ่านสื่อไทยหลายครั้ง เช่น ภาพยนตร์สุริโยทัย (พ.ศ. 2544) รับบทโดยใหม่ เจริญปุระ ภาพยนตร์กบฏท้าวศรีสุดาจัน (พ.ศ. 2548) รับบทโดย โย ยศวดี หัสดีวิจิตร เป็นต้น
1
ใหม่ เจริญปุระ รับบท แม่หยัวศรีสุดาจันทร์ ในภาพยนตร์สุริโยทัย
‘แม่หยัว’ จะเล่าเรื่องราวของกษัตรีผู้ขึ้นมามีอำนาจในราชสำนักอยุธยาตอนต้น ในซีรีส์นี้มีการตีความใหม่ โดยฝีมือของ ‘ครูไก่’ ดร.สุรัตน์ จงดา อาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เป็นผู้ออกแบบคอสตูมย้อนยุคที่เต็มไปด้วยรายละเอียด โดยเวอร์ชั่นให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของสนมเอก 4 ตำแหน่งในกฎหมายอยุธยา ได้แก่
👑ท้าวอินทรสุเรนทร์ จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ
👑ท้าวอินทรเทวี จากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช
👑ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จากราชวงศ์พระร่วง
👑ท้าวศรีสุดาจันทร์ จากราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์เก่าแก่จากเมืองละโว้ (เมืองลพบุรี) ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ตัวเอกของเรื่องนี้
สิ่งที่น่าจับตาคือการออกแบบเครื่องแต่งกายในซีรีส์ ซึ่งตีความเกมอำนาจสื่อความหมายผ่านดีไซน์ของเสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจน ต่างจากเรื่องก่อน ๆ ที่เคยทำไว้
โดยโพสต์นี้จะพาไปเจาะลึกคอสตูมของเหล่าตัวละครที่เคยมีชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ บอกก่อนว่าตั้งใจศึกษามา ไม่ได้มามั่ว ๆ นะ
👑ท้าวศรีสุดาจันทร์
เริ่มจากท้าวศรีสุดาจันทร์จากราชวงศ์อู่ทอง ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งโดดเด่นด้วยศิราภรณ์แบบเขมรโบราณ ลักษณะเป็นกระบังหน้า มียอดแหลม 3 ยอด และประดับด้วยระย้าดอกไม้ แบบเดียวกับศิราภรณ์ของนางอัปสราในศิลปะเขมรที่ประดับตามปราสาทหินต่าง ๆ
โดยทางทีมสร้างต้องขึ้นแบบด้วยกระดาษ และสลักดุนด้วยมือทั้งหมด ประกอบกับสังวาลไขว้ และเครื่องทองครบเซต ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโบราณวัตถุหลายชิ้น อย่างเครื่องทองที่พบที่ปราสาทบ้านถนนหัก นครราชสีมา จึงสามารถแสดงลักษณะของเครื่องแต่งกายสตรีเขมรโบราณที่ถูกต้องชัดเจน
นางอัปสรที่ประดับในปราสาทหิน
นอกจากนี้ อีกอย่างที่โดดเด่นคือ ผ้านุ่ง ซึ่งนอกจากการจีบผ้าที่ซับซ้อน ยังมีสีสันที่แปลกตาคือ สีน้ำเงิน ซึ่งทีมสร้างตั้งใจใช้สีนี้เพื่อสร้างความแตกต่างจากภาพก่อน ๆ ที่เคยทำมา ซึ่งนิยมใช้สีโทนร้อน อย่างสีแดง สีน้ำตาล หรือสีเหลือง ประกอบกับรัดเอวที่มีอุบะเล็ก ๆ ห้อยอยู่รอบ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องแต่งกายราชสำนักเขมรเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ช่วยเสริมองค์ประกอบเครื่องแต่งกายให้ครบถ้วนงดงามสมเป็นกษัตรีแห่งราชวงศ์อู่ทอง
เครื่องทอง พบที่ปราสาทบ้านถนนหัก นครราชสีมา และ รัดเอวประดับด้วยอุบะรอบ ปรากฎในประติมากรรมศิลปะเขมร
แม้ในตัวอย่างซีรีส์จะปรากฎให้เห็นเครื่องแต่งกายของสนมเพียงแค่ครู่เดียวเท่านั้น แต่ด้วยการออกแบบที่ชัดเจน ทำให้สามารถทราบได้ทันทีว่าสนมทั้ง 4 คือตำแหน่งใด และสืบสายจากราชวงศ์ใด
👑ท้าวอินทรสุเรนทร์
จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ สวมกระบังหน้า และห่มสไบคลุมแบบอยุธยาตอนต้น
ภาพอ้างอิง จากเรื่องปืนใหญ่จอมสลัด
👑ท้าวอินทรเทวี
จากราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช ราชวงศ์จากทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยเกล้ามวยผมต่ำ และมีปิ่นปักผม
คล้ายกับเครื่องแต่งกายของสตรีมลายู ดังที่เคยเห็นในภาพยนตร์เรื่องปืนใหญ่จอมสลัด (พ.ศ. 2551) ซึ่งมีเรื่องราวพื้นหลังเกี่ยวกับราชวงศ์ของรัฐปัตตานี
👑สำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
จากราชวงศ์พระร่วง มีศูนย์กลางอยู่แถบสุโขทัย โดดเด่นด้วยการเกล้ามวยสูง หรือผมทรงโซงขโดง
ลักษณะเดียวผมกับมวยผมของเทวรูปศิลปะสุโขทัย ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
👑พระไชยราชา
สำหรับตัวละครฝ่ายชาย ได้แก่ พระไชยราชา กษัตริย์ลำดับที่ 13 แห่งกรุงศรีอยุธยา จากราชวงศ์สุพรรณภูมิ นำเสนอในรูปแบบของกษัตริย์นักรบ โดยสวมเกราะแบบจีนในสมัยราชวงศ์หมิง
เนื่องจากอยุธยาในช่วงเวลานั้นทำการค้าขายกับจีนอย่างเฟื่องฟู ซึ่งรูปแบบเกราะนี้จะแตกต่างจากงานสร้างในเรื่องก่อน ๆ อย่าง สุริโยทัย (พ.ศ. 2544) และตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2550) ซึ่งนำเสนอเกราะแบบฝรั่ง
ภาพเกราะแบบฝรั่ง จากเรื่อง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ในขณะที่ทีมออกแบบใช้รูปแบบเกราะที่มีลายเกราะเพชร หรือ ซานเหวินเจี่ย (山文甲) ลายประเภทนี้ปรากฎในภาพทวารบาล หรือนักรบ ตามประตูพระราชวัง หรือศาสนสถาน โดนเกราะที่เห็นทำด้วยการตอกสานลายด้วยมือทั้งหมดเช่นกัน
🗡ขุนวรวงศา
มาในชุดของพราหมณ์ โดยนุ่งห่มขาว มีผ้าคลุมขลิบทอง และสายยัชโญปวีต ซึ่งเป็นเครื่องแสดงฐานะของพราหมณ์
จากการตีความประวัติศาสตร์ ทีมสร้างให้ตัวละครนี้เป็นพราหมณ์จากไวษณพนิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่นับถือพระวิษณุ (พระนารายณ์) เป็นเทพหลัก สอดคล้องกับที่มาของขุนวรวงศา ที่มีเชื้อสายอู่ทองจากเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองพระราม อวตารของพระนารายณ์นั่นเอง
สังเกตได้จากสัญลักษณ์ อูรธวะปุณฑระ ลักษณะเป็นรูปตัวยู (U) และตัววี (V) กลางหน้าผาก ถ้าใครจำได้เราจะเห็นสัญลักษณ์นี้บนหน้าผากของพี่หมื่นในเรื่องบุพเพสันนิวาส (พ.ศ. 2561) ด้วย
พี่หมื่นในชุดพราหมณ์ ภาพจากเรื่องบุพเพสันนิวาส
‘แม่หยัว - The Empress of Ayodhaya’
นำแสดงโดย ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ ในบทแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์, ฟิล์ม ธนภัทร กาวิละ ในบทขุนวรวงศาธิราช,
และตุ้ย ธีรภัทร์ สัจจกุล
ต้องคอยติดตามชม ว่าจะกำหนดออนแอร์เมื่อไหร่
บทความโดย: Pradhom
#Artof #แม่หยัว #EmpressofAyodhaya #ArtofFilm #Artofth ใหม่ ดาวิก้า โฮร์เน่ วันบันเทิง oneD
―
เติมความคิดสร้างสรรค์แบบย่อยง่ายจาก Art of ได้ที่
- Twitter:
https://twitter.com/artofth
- TikTok:
https://tiktok.com/@artofth
- Youtube:
http://youtube.com/@artofth
ซีรีส์
ละครไทย
one31
1 บันทึก
1
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย