11 มี.ค. เวลา 08:51 • ไลฟ์สไตล์

ความมั่นคงในชีวิตกับชีวิตที่ไม่มีความมั่นคง

🗓️ หลังจากเข้าสู่วัยเกษียณอายุ มาได้สองสามปี ผมเริ่มได้รับข่าวคราวเพื่อนที่เคยเรียนด้วยกันเสียชีวิตเป็นระยะ
และทันทีที่ทราบข่าว ก็มักจะตรึกตรองต่อชีวิตว่า...แท้จริงแล้ว ไม่มีความมั่นคง แน่นอนแต่อย่างใด
พร้อมตั้งคำถามในใจ...ทำไมเพื่อน ๆ ถึงจากกันไป เร็วจัง(วะ) ?
ยังไม่ทันได้นัดเจอหน้า คุยกันยาว ๆ เลย
ครั้นพอตั้งสติได้ ก็คิดขึ้นย้อนกลับมาถึงตัวเองเช่นกันว่า...วันหนึ่ง คงเวียนมาถึงคิวของเราบ้าง...😎
ฉะนั้น ชีวิตที่เหลืออยู่ จะทำอะไร หรือสิ่งใด ที่มีคุณค่าให้ตัวเอง และคนรอบข้าง หรือคืนให้สังคมอย่างไร ก็ให้รีบ ๆ ทำ อย่ารีรอ
ซึ่งเรื่องที่จะทำ คงจะคล้าย ๆ กับคนวัยเกษียณโดยทั่วไป ที่น่าจะหนีไม่พ้นไปจากการทำในเรื่องเหล่านี้ อาทิ
-: การทำตามความฝันที่เคยคิดเป็นภาพราง ๆ ไว้
-: การท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่าง ๆ เพื่อให้รางวัลตัวเองที่เหนื่อยจากการทำงานมา
นัดเที่ยวในหมู่เพื่อนเก่า
-: การนัดสังสรรค์กับเครือญาติ หรือหมู่เพื่อน เพื่อรื้อฟื้นความหลังและความสัมพันธ์
-: การออกกำลังกาย ให้มีสุขภาพแข็งแรง ปลอดจากโรคภัย ไข้เจ็บ เพื่อลดภาระผู้อื่นในการดูแล
ท่องเที่ยวพร้อมทำบุญให้เพื่อนผู้ล่วงลับ
-: การอบรมเสริมความรู้ต่าง ๆ และการฝึกวิชาชีพ
-: การทำงานอดิเรกอื่น ๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ และปลูกต้นไม้
-: การทำงานอาสาสมัครเพื่อสังคม และส่วนรวม
-: การทำบุญ ทำทาน ฝึกทำสมาธิ และเจริญสติให้รู้เท่าทันอารมณ์ หาความสงบให้กับจิตใจ
การออกกำลังกายเช้า เย็น
ทำบุญ ฟังเทศน์ ฝึกสมาธิ
โดยที่กิจกรรมข้างต้น อาจเหมาะสำหรับผู้เกษียณที่พอมีเวลา และพอจะพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องทำงานหารายได้แล้ว
ในขณะที่ผู้เกษียณบางส่วน ซึ่งยังต้องทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไป หรือยังสนุกกับการทำงาน หรือคอยช่วยลูกหลานประคับประคองกิจการให้มั่นคงอีกระยะหนึ่ง
ผู้เกษียณยังสนุกกับการค้าขาย
หรือเป็นผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่อง อาจจะเลือกทำได้บางกิจกรรมควบคู่ไปกับการทำงานและการรักษาตัว
ซึ่งชวนให้ผมนึกเทียบเคียงไปถึงบทสนทนาบทหนึ่ง ที่ผมได้รับฟังโดยบังเอิญ ระหว่างที่นั่งอยู่บนรถไฟฟ้าขบวนหนึ่ง
รถไฟฟ้า ช่วยเดินทางเข้ากรุงสะดวกขึ้น
ซึ่งกำลังวิ่งจากชานกรุง เข้าสู่กรุงเทพฯ ราว ๆ 11 โมงเช้า ของวันหยุดสุดสัปดาห์ ต้นเดือน พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
วันนั้นคนโดยสารไม่มากนัก ผู้โดยสารท่านหนึ่ง ซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกลจากผมมากนัก จึงเปิดเสียงจากโทรศัพท์มือถือ (speaker phone) คุยกับเพื่อนปลายสายอย่างสบายใจ 🤳
ช่วงเวลานั้น ผมเองกำลังตกอยู่ในอาการกระสับ กระส่าย ลุ้นดูนาฬิกาข้อมือตลอดเวลา ด้วยเกรงว่าจะไปไม่ทันนัดที่กลางกรุง ในเวลา 11.30 น. 🕦
จึงหันเหความสนใจจากดูนาฬิกา มาฟังบทสนทนาแทน
และพอจะจับใจความการสนทนา ระหว่างผู้โดยสารผู้หญิงบนรถไฟฟ้า กับผู้หญิงปลายสาย ได้เลา ๆ ว่า...
ญ.ต้นสาย บนขบวนรถไฟ(1) : เป็นไง มึง หายหน้า หายตาไปเลยนะ 🗣️👄
ญ.ปลายสาย (2) - กูก็ยุ่งนู่น นี่ นั่น ของกูไปเรื่อย
ญ.1 - อ้าว มึงเกษียณแล้ว ยังยุ่งอะไรอีกวะ
ญ.2 - กูเพิ่งเกษียณมาได้เดือนเดียว
ญ.1 - แล้วเงินมึงเหลือบ้างไหม
ญ.2 - เหลือบ้าอะไร เอาไปโปะเงินกู้แบงค์หมดเกลี้ยง เหลือติดมือไว้อีกนิดหน่อย
ญ.1 - อ้าว แล้วมึงพอใช้หรือ
ญ.2 - กูมีบำนาญด้วย
ญ.1 - ได้เยอะไหม
ญ.2 - กูเป็นลูกจ้างประจำ(ราชการ)ได้ไม่เยอะหรอก กำลังคิดจะไปขอนาย(เก่า) ทำงานพิเศษเพิ่ม แล้วมึงล่ะ
มีรายได้พอไหม ออกจากงานนานแล้วนี่
ญ.1 - กูก็ทำงานเป็นจ๊อบ ๆ ไป
ญ.2 - แล้วมึงได้สิทธิประกันสังคมด้วยไหม
ญ.1 - กูส่งประกันสังคมต่อตามมาตรา 39
ญ.2 - อ๋อ...ก็ยังดีนะ แล้ววันนี้มึงไป
ไหนมาเนี่ย...
ญ.1 - ไปเยี่ยมพี่สาวที่โรงพยาบาลมา...
แล้วมึงจะไปงานเลี้ยงศิษย์เก่าโรงเรียนไหม
ญ.2 - คงไม่ไป กูยังไม่ได้ดูเฟซ (Facebook) เลย แต่คงไม่สนุกเหมือนเลี้ยงกันในกลุ่มเล็ก ๆ ของพวกเรา
เออ...วันก่อน กูว่าจะไปงานสวดศพแม่ไอ้นั่น ที่กูเคยแนะนำให้มึงรู้จัก ดูสิ...ลืมชื่อซะแล้ว
ญ.1 - อะไรวะ เพิ่งเกษียณลืมง่ายจัง แต่ว่าไปอีกที กูก็เป็นเหมือนกัน นึกอยู่ตั้งนานกว่าจะนึกออก...
"เฮ้ย เฮ้ย...เท่านี้ก่อนนะ กูเตรียมจะลงสถานีหน้าแล้ว..." 👤🫦
พอได้ยินคำพูดท่อนนี้ ใจผมตอนนั้น
นึกเสียดายในบทสนทนาที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้าถึงความรู้สึกคนที่อยู่ในวัยเกษียณด้วยกัน ว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร
ถ้าผมไม่ติดนัด 11 โมงครึ่ง ที่กลางกรุง ผมคงเดินตามไปห่าง ๆ เพื่อฟังเธอคุยต่อ หรือหากห้ามมิให้รถไฟจอดป้ายนั้นได้ ผมคงทำไปแล้ว (ฮา)
แต่บทสนทนาเพียงแค่นี้ ก็เป็นเสมือนบทสะท้อน ที่เป็นตัวแทนบทสนทนาอีกไม่น้อยของคนวัยเกษียณที่ยังต้องดิ้นรนต่อสู้
ยังต้องถีบ และพาย
หาหลักประกันการรักษา หารายได้ และหาหลักประกันความมั่นคงในชีวิต แม้ชีวิตที่แท้จริงจะไม่มั่นคง
ควบคู่ไปกับการหาความสุข และการเยี่ยมเยียนไปมาหาสู่กันระหว่างญาติมิตร ซึ่งเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทย
หลังจากนั้น ผมนั่งรถไฟฟ้าต่อไปถึงจุดนัดหมาย ใจกลางกรุง เวลาประมาณ เที่ยงวัน เลยเวลาไปประมาณครึ่งชั่วโมง
เพื่อเจอเพื่อนที่นัดกินข้าวกลางวันกัน จำนวน 6-7 คน ซึ่งล้วนเกษียณกันหมดแล้ว
และแม้ว่าเพื่อนจะคุยล่วงหน้าไปบ้าง
แต่ผมยังพอคุยตามหลังได้ทัน ชวนคุยเรื่องนู้น เรื่องนี้ต่อ
อาหารถูกปาก ช่วยเพิ่มรสชาติพูดคุย
สาระการพูดคุยในร้าน ไม่ต่างไปจากบทสนทนาบนรถไฟฟ้าที่ผมได้ยินมาเมื่อช่วง 11 โมงเช้า
เพราะหนีไม่พ้นการถามสารทุกข์สุกดิบกันและกัน การทำงานที่ผ่านมา การวางแผนท่องเที่ยว การรักษาสุขภาพ
รวมไปถึง หลักประกันรายได้และความมั่นคงในชีวิต ซึ่งแต่ละคนมีแหล่งรายได้รองรับแตกต่างกัน
บางคนมีบำเหน็จติดตัวมาก้อนหนึ่ง
ในขณะที่บางคนรับเงินบำนาญรายเดือนจากการรับราชการครบระยะเวลาตามที่กำหนดไว้
และมีเพื่อนอีกคนที่เคยทำงานภาคเอกชนรับเงินบำนาญรายเดือนจากระบบประกันสังคม หลังส่งเงินสมทบครบตามหลักเกณฑ์ (180 เดือน)
รวมทั้ง มีอยู่บ้างที่ได้เงินเสริมจากลูก ๆ แบ่งเงินเดือนมาให้พ่อแม่ได้ใช้สอย
นอกจากนี้ ด้วยความเป็นพ่อ และแม่
ยังพูดคุยกันถึงเรื่องการสร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับลูก
ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อคิดที่ผมได้รับจากพี่ผู้เคยทำงานในหน่วยงานเดียวกัน
ที่วางแผนการใช้เงินอย่างระมัดระวังเพราะไม่มีเงินบำนาญรองรับ
ได้ให้ข้อคิดถึงการสร้างความมั่นคงในชีวิตของคนรุ่นลูก ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการรายได้ไว้ด้วยความห่วงใยว่า...
"รุ่นลูกเรา ถ้าตัวเองไม่ได้ทำงานที่มั่นคง
หากมีเงินเดือนสูง ต้องรู้จักเก็บออมไว้ ต้องมีวินัย จึงจะอยู่ได้สบายตอนแก่🏌️
พยายามบอกลูกให้เก็บเงินไว้เสมอ💰 เพราะไม่มีใครมาช่วยเราได้ ยามแก่
ชีวิตคนรุ่นใหม่ในยุคต่อไปจะเหนื่อยขึ้น"
นับว่าเป็นข้อคิดหนึ่งที่มีคุณค่า เตือนใจคนหนุ่มสาวได้อย่างดี แม้เหตุและปัจจัยในยุคสมัยของคนหนุ่ม และคนไม่หนุ่ม(แก่) จะต่างกันอยู่บ้าง
ว่าแต่ว่า คนหนุ่มจะเชื่อคนแก่ปลายยุคเบบี้บูมอย่างเรา หรือเปล่า น้า...
เพราะคนแก่อย่างเราที่เคยหนุ่มมาก่อน ก็เคยได้รับข้อห่วงใยแบบนี้มา และไม่ค่อยจะเชื่อคนรุ่นพ่อแม่เราเหมือนกัน
ทางออกจึงอยู่ที่ว่า ทั้งคนหนุ่มและคนแก่ควรหันมาคิดการณ์ไกลร่วมกัน🧑🧔
วางรากฐานไว้ให้คนทั้งระบบมีหลักประกันในชีวิตครบทุกด้าน เพื่อแปรเปลี่ยนชีวิตที่ไม่มีความมั่นคงให้มั่นคง
รองรับสังคมในอนาคตที่จะเปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงอายุที่เต็มไปด้วยพลเมืองอาวุโสที่มีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้
ไม่เป็นภาระต่อลูกหลานที่มีแนวโน้มจะเกิดน้อยลงทุกที
แล้วสังคมไทยจะก้าวขึ้นไปอีกระดับในไม่ช้า...ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยจำนวน
ไม่น้อยรอได้
ผู้เกษียณอุดหนุนพ่อค้าหนุ่ม และแม่ค้าเกษียณ
ในระหว่างที่รอ ผมขอเขียนหนังสือไปพลาง ๆ เพื่อทำงานตามฝันให้ตัวเองพอมีคุณค่า และสังคมรอบข้างได้ประโยชน์อยู่บ้าง ⏳
รวมทั้ง อย่างน้อยเพื่อให้ได้เริ่มทำตามข้อเตือนใจที่ว่า...
อย่ารีรอที่จะทำอะไรให้กับชีวิตที่เหลืออยู่...ก่อนจะไม่เหลือชีวิตนี้ ที่แท้จริงไม่มีความมั่นคง และแน่นอน แต่อย่างใด
🙏 ขอบคุณมากครับ
มุมชัย นัยสอิ้ง /11 มี.ค.68
โฆษณา