19 ก.พ. 2024 เวลา 09:27 • นิยาย เรื่องสั้น
บ้านมะขามป้อม

ไขข้อข้องใจ ภพภูมิของพญานาค พญานาคนั้นสรุปเป็นสัตว์ดุร้ายหรือเทพยดาผู้สูงส่ง?

ตามปกรณัมของฝั่งพุทธเถรวาทเรานั้นจะอธิบายเรื่องภพภูมิของพญานาคเอาไว้อย่างเรียบง่ายว่าพญานาคอยู่ในบาดาล ซึ่งเป็นดินแดนที่อยู่ใต้พื้นพิภพ มีความละม้ายคล้ายสรวงสวรรค์ที่แวววาววิบวับไปด้วยมณีนพรัตน์อันดารดาษ และมีการเรียงชั้นลึกไล่ไปจนถึง๑๖ชั้น กินอาณาเขตตั้งแต่ใต้ชมพูทวีป เหนือชมพูทวีป ไล่ยาวไปจนถึงเทือกเขาหิมพานต์และสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งชั้นที่อยู่ใกล้พื้นพิภพชมพูทวีปของเรามากที่สุดจะเป็นถิ่นที่อยู่ของพญานาคชั้นสูง ส่วนชั้นที่อยู่ลึกกว่านั้นจะเป็นที่อยู่ของนาคานาคีชั้นรองๆลงมา
แม้ในศาสนาพุทธจะไม่มีการกล่าวถึงภพภูมิของนาคทั้ง๑๖ชั้นว่าแต่ละชั้นเรียกว่าอะไรและมีความแตกต่างกันอย่างไร แต่แน่นอนว่าเราสามารถจินตนาการได้ง่ายๆจากเรื่องราวที่พระเกจิหรือผู้มีอภิญญาได้บันทึกถ่ายทอดไว้เป็นมุขปาฐะได้ชัดพอสมควรเลยว่าภพภูมิของนาคานาคีที่เรียกว่านาคพิภพนั้นมีทั้งแบบชั้นสูงและชั้นกลางไปจนถึงชั้นต่ำ โดยพญานาคชั้นสูงส่วนใหญ่จะเป็นนาคในกลุ่มที่มีเรียกกันในภาษามคธว่าภุชะคะ(แปลว่าเทพเจ้าแห่งงู)
ส่วนพญานาคชั้นกลางจะเป็นนาคในกลุ่มที่เรียกกันในภาษามคธว่าอสิรวิสะ(แปลว่าสัตว์เลื้อยคลานใหญ่ที่มีพิษที่หัว) และพญานาคชั้นต่ำจะมีชื่อเรียกเป็นภาษามคธว่าอุรคะหรือมโหรคะ(สัตว์เลื้อยคลานใหญ่ผู้เคลื่อนที่ไปด้วยกายส่วนอก)
คำว่าพญานาคนั้นส่วนใหญ่จะหมายถึงนาคชั้นสูง ถ้านาคชั้นกลางหรือนาคชั้นต่ำอาจเรียกรวมๆไปเลยว่านาคก็ย่อมได้ ส่วนใหญ่นาคชั้นสูงและนาคชั้นกลางจะมีทั้งประเภทที่เป็นนาคดี(สัมมาทิฏฐินาคะ)และประเภทที่เป็นนาคชั่ว(มิจฉาทิฏฐินาคะ ซึ่งนาคชั้นต่ำจะอยู่ในกลุ่มมิจฉาทิฏฐินาคะทั้งหมด) ซึ่งนาคที่เป็นสัมมาทิฏฐิจะมีทั้งจำพวกที่เสพกาม(กามะรูปีนาคะ)และพวกที่ไม่เสพกาม(อกามะรูปีนาคะ ซึ่งทั้งนาคชั้นกลางและนาคชั้นต่ำจะอยู่ในกลุ่มนาคที่เสพกามทั้งหมด)
ต่อไปนี้ผู้เขียนจะขอเรียกนาคชั้นสูงและนาคชั้นกลางที่เป็นสัมมาทิฏฐิด้วยคำว่าสัมมานาคา และนาคทุกชั้นจำพวกที่เป็นมิจฉาทิฏฐิว่ามิจฉานาคาเพื่อความเข้าใจอันง่าย
ในพระพุทธศาสนาไม่ได้มีการเอ่ยอ้างถึงชื่อสถานที่ของนาคพิภพทั้ง๑๖ชั้น หากแต่จากการที่ทั้ง๑๖ชั้นประกอบไปด้วยดินแดนแห่งนาคชั้นสูง,กลางและต่ำแล้วนั้น เราสามารถเอา๑๖หารด้วย๓เพื่อจำแนกอาณาเขตแห่งนาคทั้งสามจำพวกได้อย่างง่ายๆ เป็นดินแดนของนาคชั้นสูง๕ชั้น ดินแดนของนาคชั้นกลางอีก๕ชั้น และดินแดนของนาคชั้นต่ำอีก๖ชั้นซึ่งอยู่ลึกที่สุดนั่นเอง นี่ว่ากันอย่างเรียบง่ายตามสไตล์พระพุทธศาสนา แต่ในศาสนาฮินดูเขาจะแบ่งชัดเจนว่านาคชั้นสูงจะอยู่ในมิติภูมิที่เรียกว่าปตาละหรือบาดาล ส่วนนาคชั้นรองและชั้นต่ำจะอยู่ในมหาตละ
หรือมหาดาล เป็นข้อแตกต่างระหว่างพุทธและฮินดูในเรื่องของถิ่นพญานาค ในฮินดูยังเล่าต่อไปอีกว่าบาดาลจะมีพญานาคราชราชาแห่งพิภพอันมีพระนามว่าวาสุกินาคราชปกครองอยู่ ซึ่งวาสุกิตนนี้ก็คือน้องชายของพญาอนันตนาคราชนั่นเอง แต่ในศาสนาพุทธไม่มีกล่าวถึงพญานาคสองตนนี้ แถมบาดาลในศาสนาพุทธก็ยังเป็นชื่อเรียกถิ่นที่อยู่ของนาคทุกชนิดทุกประเภท เพียงแต่บาดาลในศาสนาพุทธมี๑๖ชั้น แต่ละชั้นแต่ละที่ก็จะมีเมืองของนาคานาคีอันมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป ที่โด่งดังเลยก็จะมีเมืองโภควดี
เมืองทัททระนาคภพ อันเป็นชื่อเมืองของนาคที่ปรากฏในนิทานชาดกต่างๆนั่นเอง แม้แต่ในไทยเราก็มีเมืองพญานาคที่เล่าขานกันตามท้องถิ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองมรกต เมืองลั่นทม เมืองทับทิม เมืองพรหมประกายโลก เมืองหนองแส เมืองหนองหาร เป็นต้น(หาฟังได้จากช่องยูทูบแชนแนลประวัติเกจิอาจารย์หรือประสบการณ์พบเจอพญานาค)
ศาสนาพุทธมองว่าพญานาคเป็นสัตว์เดรัจฉานที่มีฤทธิ์ ซึ่งล้วนต่ำสูงแตกต่างกันไปตามบุญญาธิการที่ติดตัวมาแต่หนหลังเมื่อครั้งเคยเกิดเป็นมนุษย์แล้วกระทำการสั่งสมไว้ ฤทธิ์ยิ่งมากก็ยิ่งใกล้เคียงเทพเทวดามากขึ้น ฤทธิ์ยิ่งน้อยเท่าไรก็ยิ่งเข้าใกล้ความเป็นงูมากเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นนาคที่มีฤทธิ์มากหรือฤทธิ์น้อยก็ล้วนแล้วแต่อยู่ในหมวดหมู่ของสัตว์เดรัจฉานอยู่ดี แต่ในศาสตร์ฮินดูจะถือกันอย่างเป็นจริงเป็นจังว่านาคล้วนเป็นเทพหรือเทวดาจำพวกหนึ่งที่มีรูปร่างเป็นงูใหญ่จำพวกงูเห่ายักษ์
(ไม่มีหงอน แต่อาจตัวใหญ่โตเท่าภูเขาหรืออาจมีการแผลงเศียรได้หลายเศียร บางตำราเขียนไว้อย่างพิสดารเกินจริงเป็นพันเศียร) โดยให้สีสันตามแบบงูเห่าจริงๆคือสีน้ำเงินดำ สีเทาเข้ม สีเทาอ่อนหรือสีดำ
ในทางพุทธเราจะจำแนกประเภทของนาคออกไปวิจิตรพิสดารและละเอียดกว่าของทางฮินดูมาก เพราะถูกกระทำผ่านทัศนาของอภิญญาญาณวิเคราะห์สอดส่องโดยพระพุทธองค์และอัครสาวกมาอย่างถี่ถ้วน ได้ให้สิทธิการิยะจารึกไว้ถึงพญานาคทั้งหมดสี่ตระกูล ณ ที่นี้เห็นทีจะหมายถึงพวกนาคชั้นสูงและชั้นกลาง อันมีสี่ตระกูลแยกด้วยลักษณะเด่นคือสี
หลักๆจะมีสี่สีได้แก่สีทอง สีเขียว สีรุ้งและสีดำ นอกจากนี้ในแต่ละสีก็จะมีรูปแบบการเกิดเฉพาะสีนั้นๆ เช่นสีทอง เกิดแบบผุดเกิดขึ้นเองเท่านั้น สีเขียวอาจเกิดได้ทั้งแบบผุดเกิดขึ้นเอง เกิดจากไข่และเกิดจากการตั้งครรภ์ก็ได้ สีรุ้งเกิดจากไข่และการตั้งครรภ์เท่านั้น ส่วนสีดำเกิดจากสิ่งคราบไคลปฏิกูลหมักหมม เกิดจากไข่หรือเกิดจากการตั้งครรภ์ก็ได้(สีดำจะพบมากในนาคชั้นกลางถึงต่ำ)
จากการจำแนกอันพิสดารข้างต้นก็ยังไม่หมด ยังมีการจำแนกด้วยประเภทของพิษอีกถึง๖๔ชนิด แต่หลักๆแล้วก็จะมีการใช้พิษจากเขี้ยวแก้วขบกัดหรือพ่นใส่ศัตรู(นาคทุกชั้นทำได้) การใช้พิษพ่นออกมาจากดวงตา(นาคชั้นสูง) การใช้พิษด้วยการพ่นลมหายใจอันเต็มไปด้วยพิษ(นาคชั้นสูงและนาคชั้นกลาง) และการใช้พิษจากไรเกล็ดแผ่ซ่านออกมาเหมือนรมแก๊สพิษอันตราย(นาคชั้นสูงและนาคชั้นกลางบางตระกูล)
ซึ่งผลลัพธ์อันร้ายกาจของพิษก็จะแตกต่างหลากหลายกันไปขึ้นอยู่กับเชื้อสายบรรพบุรุษของนาคตนนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นพิษที่ทำให้เนื้อเน่าสลายทั้งร่างจนตายคาที่ พิษที่ทำให้ร่างทั้งร่างแข็งเป็นหินก่อนจะแตกร้าวกระจัดกระจาย(เหมือนพวกพญานาคร้ายของฝั่งยุโรป ที่ถ้าเราไปมองตามันเมื่อไรเป็นอันม่องเท่ง) พิษที่ทำให้ร่างทั้งร่างพุผองปริแตกแบบแผลไฟไหม้ดำเป็นตอตะโก
และสุดท้ายก็คือพิษที่รุนแรงที่สุดเหมือนระเบิดขีปณาวุธ โดนเข้าไปร่างกระจุย บ้างก็ว่าเหมือนถูกสายฟ้าฟาดตายคาที่(ส่วนใหญ่จะมีในนาคชั้นสูง) หนำซ้ำลักษณะการแผ่พิษยังมีให้เลือกถ้าอยากลอง หนึ่งคือแผ่พิษช้าและไม่รุนแรง(ไม่ตาย เช่นพวกนาคชั้นต่ำและงูทั่วๆไป) สองคือแผ่พิษเร็วแต่ไม่รุนแรง(ไม่ตาย เช่นพวกนาคชั้นต่ำและงูทั่วๆไป) สามคือแผ่พิษช้าแต่รุนแรงมาก(ตาย เช่นพวกนาคชั้นต่ำ งูทั่วๆไป นาคชั้นกลางและนาคชั้นสูง) และสี่คือแผ่พิษเร็วและรุนแรงมาก (ตายไว เช่นพวกนาคชั้นต่ำ งูทั่วๆไป นาคชั้นกลางและนาคชั้นสูง)
นั่นเอง
คนไทยเราจะคุ้นเคยแค่เฉพาะประเภทพญานาคจากสีของพญานาคที่มีสี่สี ทอง เขียว รุ้งและดำ แต่อันที่จริงถ้ารวมพญานาคทุกประเภทไล่ตั้งแต่ชั้นสูงไปยันชั้นต่ำ นาคล้วนแล้วแต่มีทุกสี แต่ถ้าเป็นพวกนาคชั้นต่ำก็อาจมีลวดลายประดับร่างกายได้ด้วย(งูทุกชนิดก็ถูกจัดเข้ามาอยู่ในหมวดหมู่ของนาคด้วยนะ แต่เป็นนาคชั้นต่ำ) และที่สำคัญคนไทยเราจะมีทัศนคติที่ดีต่อพญานาคมากๆเพราะเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในพุทธตำนานคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล
และยังให้คุณซะเป็นส่วนมาก หาได้น้อยมากจริงๆที่จะให้โทษ เพราะส่วนมากแล้วนาคที่มีถิ่นอาศัยอยู่ใกล้ภพภูมิของมนุษย์ก็เป็นนาคชั้นสูงเสียส่วนมาก เนื่องจากนาคเหล่านี้ต้องการมาอนุโมทนาบุญกับนักปฏิบัติหรือพระผู้มีอภิญญาหรืออริยบุคคลต่างๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งอานิสงส์ผลบุญ
บางครั้งเราก็อาจจะได้ยินได้ฟังถึงเรื่องเล่าพญานาคจำแลงกายมาเป็นชีปะขาวบ้าง เป็นเจ้าชาย เป็นมานพหนุ่ม เป็นอุบาสิกามาฟังธรรมหรือแม้กระทั่งมาใส่บาตรให้กับพระสมณะผู้มีวัตรปฏิบัติงดงามตามสถานที่สัปปายะที่พวกท่านจาริกธุดงค์ไปถึง
ถามว่าพญานาคมีพฤติการณ์ต่างๆดั่งกษัตริย์ราชินีและเจ้าหญิงเจ้าชายจักรๆวงศ์ๆเช่นในละครไทยพื้นบ้านตำนานสยามอันมากมายนานาหรือไม่ มีพระราชวังโอ่อ่าและเมืองทิพย์อันดาดดื่นไปด้วยทรัพยศฤงคารบานตะไท มีนาคจำแลงเป็นคนเดินไปเดินมาเหมือนคนเราจริงๆดังเช่นในละครเรื่องมณีนาคาหรือพนมนาคาใช่ไหม เห็นทีคงต้องบอกว่าเป็นไปได้ยาก เพราะพญานาคจะจำแลงกายเป็นมนุษย์เพื่ออะไรไปไม่ได้เลยนอกจากติดต่อสื่อสารกับพวกมนุษย์เท่านั้น
ในเวลานั้นพวกนาคที่มีฤทธิ์มากก็จะจำแลงกายเป็นไปได้ทุกรูปแบบตามที่นาคตนนั้นต้องการ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหญิง เจ้าชาย กษัตริย์หรือนักรบเกราะทองเป็นต้น(เพื่อวัตถุประสงค์ในการสื่อสารกับมนุษย์หรือสมณสงฆ์) แม้เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์แต่ก็ยังถือว่าเป็นเดรัจฉานอยู่ การแปลงร่างก็มีข้อจำกัดตามบุญญาบารมีที่ติดตัว เช่นถ้ามีฤทธิ์น้อยก็อาจจะแปลงได้ในเวลาสั้นๆ หรือไม่ก็แปลงได้แค่ในขอบเขตอาณาบริเวณของพวกตน ถ้ามีฤทธิ์มากก็อาจแปลงได้นานเป็นเดือนเป็นปี
(บางตำนานพญานาคแปลงกายเป็นคนอยู่กินกับสามีหรือภรรยาที่เป็นมนุษย์เป็นปีๆ มาความแตกก็ตอนที่สลบไสลไม่ได้สติเลยคืนร่างเดิมเป็นพญานาคอันน่าสะพรึงกลัว ที่พิสดารไปกว่านั้นคือพญานาคชั้นสูง(เท่านั้น)ยังสามารถปฏิสนธิมีลูกมีหลานกับมนุษย์ได้อีกต่างหาก!) แถมยังมีข้อจำกัดในการแปลงร่างยิ่งกว่านั้นอีก กล่าวคือ ถ้าเป็นนาคที่เกิดใต้น้ำก็จะต้องลงน้ำไปก่อนเพื่อแปลงกาย ถ้าเป็นนาคที่เกิดบนบกก็จะต้องเลื้อยขึ้นไปบนบกก่อนเพื่อแปลงร่าง นี่แหละคือความยุ่งยากในอัตภาพของการเกิดเป็นนาคหรือพญานาคนั่นแล
แต่ข้อสงสัยที่ว่านาคหรือพญานาคนั้นเป็นเพียงสัตว์ดุร้ายหรือเทพเจ้าผู้สูงส่งนั้น อันนี้บอกเลยว่าพญานาคเป็นสัตว์นะครับ แต่ไม่ใช่สัตว์ดุร้าย ส่วนใหญ่ใจดีและกินมังสวิรัติด้วยซ้ำ พญานาคที่เป็นชั้นสูงจะมีบุญญาบารมีมีฤทธิ์มากช่วยป้องกันพญานาคชั้นต่ำหรือชั้นกลางที่ดุร้ายหรือแม้แต่พญานาคชั้นสูงที่หลงผิดเพื่อไม่ให้ขึ้นมาทำร้ายมนุษย์บนโลกมนุษย์เราได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นมนุษย์บางคนที่ได้สดับรู้ถึงอิทธิฤทธิ์ของพญานาคาเหล่านั้นจึงยกให้พญานาคเป็นเทพอยู่ดี แต่ถ้าในมุมของพุทธสาวก พุทธมามกะและ
เทพเทวดา ก็คงต้องบอกว่านาคเป็นสัตว์เดรัจฉาน(ที่มีความรู้สึกนึกคิดและมีฤทธิ์ตั้งแต่น้อยนิดไปจนเทียบเท่าเทวดา)นั่นเอง จะดุร้ายไหมก็ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยอุปนิสัยของนาคตนนั้นๆเลย ถามว่านาคชั้นต่ำนิสัยดีมีไหม ก็ให้เปรียบเทียบกับชนชั้นล่างที่เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นโจร อัตคัดขัดสน บางกรณีอาจเติบโตมาเป็นคนดีได้ถ้าเจอคนดีมาคอยชี้แนะช่วยเหลือ นาคชั้นต่ำก็เข้าทำนองแบบเดียวกัน อุปมาก็คล้ายวัยรุ่นทรงเอหรือชนชั้นตลาดล่างนั่นเอง ยกเว้นพวกงูเงี้ยวเขี้ยวขอที่ไม่มีสติไม่มีปัญญานึกรู้ มีเพียงแค่สัญชาตญาณ
เท่านั้นที่นำพาให้มันใช้ชีวิตของมันไปวันๆตามอัตภาพ
สรุปคือ พญานาคมีทั้งที่จิตใจดีงามและโหดร้าย เหมือนปุถุชนคนเรา พญานาคที่ดีก็มีเยอะแยะเลย เช่นพญามุจลินทนาคราช(นาคปรกพระพุทธประจำวันเสาร์) พญาสาครและพญาวรุณ(นาคราชทะเลผู้มาบรรเลงเพลงบาดาลต้อนรับพระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์) พญากาละนาคราช(พญานาคขี้เซาตัวมหึมาแต่จิตใจดี) พญานันโทปะนันทะ(กลับใจเป็นนาคฝ่ายธรรมะแล้วนะ) พญามณิกัณฐะ(เป็นนาคราชLGBTที่น่ารักตนหนึ่ง)
ถ้าเรานับถือบูชาในหัวใจของพวกท่านที่ตั้งมั่นเป็นพุทธมามกะคอยอุปถัมป์ค้ำชูพระพุทธศาสนา จะบูชาพวกท่านอย่างเทพเจ้าก็ไม่ผิดอะไร แต่จะเลือกไม่บูชา บูชาเพียงพระไตรรัตน์ก็ย่อมได้ เพราะตอบโจทย์และเพียงพอครบถ้วนหมดแล้วล้วนคือพระรัตนตรัย แต่คงไม่มีใครอุตริไปบูชานาคชั่วร้ายกันหรอกนะ ถูกไหม?
(Cr.by แอดเตมียนาคราช แอดมินเพจธรรมะแฟนตาซี/บทความนี้มีลิขสิทธิ์ หากนำไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย)
โฆษณา