20 ก.พ. เวลา 05:30 • ธุรกิจ

ต้อนรับ 2024 ด้วย “ซองขาว” ฝันร้ายสาย Tech เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ ปลดรวด 30,000 คนภายในเดือนเดียว

ต้นปี 2024 คือช่วงเวลาของการตั้งเป้าหมาย การสร้างแรงผลักดันและความคาดหวัง ไฟของพนักงานเริ่มกลับมาลุกโชนหลังจากได้เห็นตัวเลขโบนัสในบัญชีธนาคารและตื่นเต้นกับการคิดหากลยุทธ์ร่วมกันพาองค์กรเดินไปถึงเป้าหมายของปีนี้ แต่แล้วความกระตือรือร้นทั้งหลายก็ต้องมาหยุดชะงักเมื่อ “Pink Slip” หรือที่เราเรียกกันว่า “ซองขาว” ปรากฏขึ้นบนโต๊ะทำงานแบบไม่ทันตั้งตัว
2
นั่นคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพนักงานสายอาชีพเทคโนโลยีในบริษัทยักษ์ใหญ่กว่า 32,000 ชีวิตทั่วโลก ภายในระยะเวลาเพียงเดือนกว่านับตั้งแต่เปิดปีใหม่มาถึงปัจจุบันเท่านั้น ดูเหมือนไม่ใช่ตัวเลขที่สูงนักหากเทียบกับจำนวนประชากรพนักงานสายเทคฯ ทั้งหมด แล้วทำไมกลุ่มอาชีพสายเทคโนโลยีถึงต้องร้อนรน?
2
คำตอบคือแม้ตัวเลขดังกล่าวจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีมาตั้งแต่ 2023 โดยข้อมูลจาก Layoff.fyi เผยว่าตลอดปีที่แล้วมีพนักงานสายเทคฯ กว่า 262,595 ชีวิตจาก 1,191 บริษัทที่เป็น “ผู้ถูกเลือกให้จากไป” แบบไม่คาดคิด หากนับรวมกับตัวเลขในปีปัจจุบันที่เป็นผลพวงมาตั้งแต่ปีก่อนจะกลายเป็นพนักงานกว่า 3 แสนชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแผนชีวิตกะทันหัน
องค์กรระดับโลกอย่าง Google ก็มีการประกาศปลดพนักงานถึง 2 รอบภายในเดือนมกราคม 2024 โดยรอบแรกมีผู้ถูกเลือกให้จากไปกว่า 1,000 คนในฝ่าย Pixel, Fitbit, Nest และ Google Assistant และรอบที่สองมุ่งเน้นไปที่ฝ่ายขายและโฆษณา นอกจากนี้ผู้บริหารยังเผยว่าภายในยังคงพูดคุยถึงการปลดพนักงานต่อไปในอนาคตอีกด้วย
Microsoft ก็ไม่น้อยหน้า หลังจากมีการหารือกันตั้งแต่ปี 2023 ก็มีการประกาศปลดพนักงานกว่า 1,900 คน หรือนับเป็นสัดส่วน 8% ของฝ่าย Microsoft Gaming ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ใกล้เคียงกับ E-bay แพลตฟอร์มค้าขายออนไลน์ที่ประกาศลดพนักงานกว่าพันชีวิตหรือ 9% ของพนักงานทั้งหมด
อีกหนึ่งตัวอย่างบริษัทยักษ์ที่มีการปลดพนักงานครั้งใหญ่คือตระกูล Amazon ที่ประกาศลดพนักงานในหลายฝ่ายเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ทางตลาด โดยพนักงานฝ่าย Audible บริการหนังสือเสียงและพอดแคสต์ถูกปลดไปกว่า 5% ด้าน Amazon Prime Video อีกกว่าหลายร้อยชีวิต และฝ่ายที่มีการปลดพนักงานมากที่สุดคือ Twitch แพลตฟอร์มสตรีมมิงที่ปลดไปกว่า 35% ของพนักงานในฝ่ายทั้งหมด
ความเคลื่อนไหวของผู้บริหารในบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้สร้างความกังวลให้กับกลุ่มคนทำงานสายเทคโนโลยีที่ได้รับการพูดถึงในฐานะ ‘สายอาชีพที่มั่นคงและรายได้ดี’ มาตลอด เมื่อทักษะที่ขัดเกลามาแสนนานอาจไม่เพียงพอในการเข้าถึงความมั่นคงได้และผลตอบแทนเท่าเดิมอีกต่อไป
1
สาเหตุเพราะ “เหตุผล” เบื้องหลังการปลดพนักงานครั้งใหญ่ตั้งแต่ 2023 เป็นต้นมา แม้บางบริษัทอย่าง TikTok หรือองค์กรอื่นๆ จะไม่เปิดเผยสาเหตุที่แน่ชัด แต่ส่วนมากของบริษัทอื่นๆ ก็มีเหตุผลวนเวียนอยู่ที่วิกฤตทางเศรษฐกิจที่ทำบริษัทต้องการสภาพการเงินที่คล่องตัวขึ้น หรือธุรกิจต้องปรับตัวหาตลาดใหม่ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงมีการ “จ้างงานมากเกินไป” หรือ “Overhiring” ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ “การเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์” หรือ ‘AI’ (Artificial Intelligence) ส่งผลให้บริษัทหันมาให้ความสนใจเครื่องมือที่แสนสะดวกสบายนี้ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ตัวอย่างเช่น Google Microsoft หรือ Meta เองก็กำลังทุ่มทุนกับการพัฒนาโมเดล AI เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการทำงานต่อไป
การเข้ามาของ AI ไม่ได้เข้ามา ‘แย่งงาน’ ของพนักงานสายเทคฯ เสียทีเดียว แต่เป็นการ ‘เปลี่ยนแปลงบทบาท’ ของวงการเทคฯ จากผู้สร้างไปเป็นผู้ควบคุมมากขึ้น สังเกตได้จากจำนวนการประกาศจ้างงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมและใช้งาน AI ที่เพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจาก CompTIA เปิดเผยตัวเลขโพสต์ประกาศหาพนักงานใหม่กว่า 33,727 โพสต์ในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียว โดยโพสต์ดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสายงานด้านการพัฒนา ควบคุมและกำกับการทำงานของ AI และยังมีแนวโน้มว่าบริษัทต่างๆ จะมองหาพนักงานที่เชี่ยวชาญสายงานเทคฯ ด้านนี้มากขึ้นเท่าตัวเดือนต่อเดือนตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่เพียงแต่กระทบกับแนวทางการพัฒนาทักษะในสายอาชีพเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังสร้างความกังวลถึงปัญหา “สมองไหล” ที่อาจเกิดขึ้นจากการปลดพนักงานจำนวนมากครั้งนี้
ตามที่กล่าวไปข้างต้น เหตุผลในการปลดพนักงานไม่ได้มีเพียงการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางธุรกิจเท่านั้น แต่เป็นการลดต้นทุนและเพิ่มเม็ดเงินไหลเวียนในบริษัท ดังนั้นหนึ่งในตำแหน่งที่ได้รับการเลือกเป็น “ผู้จากไป” ไม่ได้มีเพียงระดับเริ่มต้น แต่ยังรวมไปถึง “ผู้จัดการระดับกลาง” หรือ “Middle Manager” อีกด้วย
นั่นเป็นเพราะบริษัทจำนวนมากมองว่าระดับผู้จัดการนั้นมี ‘ต้นทุน’ ค่าตอบแทนการทำงานที่สูงกว่าระดับพนักงานทั่วไป หากลดตำแหน่งผู้จัดการระดับกลางไปแล้วคงเหลือเพียงหัวหน้าระดับสูงกับพนักงานทั่วไปก็จะสามารถจ้างพนักงานระดับทั่วไปในตำแหน่งเริ่มต้นได้มากขึ้น ซึ่งก็อาจจะตอบโจทย์กับความต้องการในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานมากกว่า
อีกหนึ่งเหตุผลที่ไม่ค่อยเป็นที่พูดถึงแต่ก็เป็นเหตุผลซ่อนเร้นที่แอบแฝงในการปลดผู้จัดการระดับกลางคือภาพลักษณ์ “ผู้ร้าย” ในองค์กรนั่นเอง เนื่องจากผู้จัดการระดับกลางจะต้องหาสมดุลระหว่างความต้องการของผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูงกับความต้องการของพนักงานทั่วไปอยู่เสมอ
ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอันเกิดจากความขัดแย้งของความต้องการของคนทำงานสองระดับทำให้ผู้จัดการระดับกลางกลายเป็นตำแหน่งที่ “ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของฝ่ายใดได้เลย” สุดท้ายผู้จัดการระดับกลางหลายคนจึงเผชิญหน้ากับปัญหา “ผลประกอบการทำงานไม่เป็นที่น่าพอใจ” นั่นเอง
แม้จะเป็นตำแหน่งที่มีค่าใช้จ่ายสูงและมีภาพลักษณ์ที่ดูไม่จำเป็นในองค์กร แต่ความจริงแล้ว “Middle Manager” เป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้า เนื่องจาก ‘ค่าประสบการณ์’ ที่สะสมมาเป็นมูลค่าสำคัญในการพัฒนาทีมให้เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันบทบาทคนกลางคอยหาสมดุลยังช่วยลดความไม่ลงรอยทางความคิดของฝ่ายบริหารกับฝ่ายปฏิบัติการอีกด้วย
การปลดผู้จัดการระดับกลางจึงอาจก่อให้เกิดภาวะ “สมองไหล” ออกจากองค์กร จนทำให้การพัฒนาในอนาคตอาจหยุดชะงัก จะต้องเสียต้นทุนมากขึ้นในการจ้างผู้จัดการระดับกลางคนใหม่ให้กลับมาดำรงในพื้นที่ว่างเดิม จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าบริษัทเหล่านี้จะมีความเคลื่อนไหวในอนาคตอย่างไร และสายงานเทคโนโลยีเองจะต้องฟันทิศทางการพัฒนาตนเองไปทางไหนนั่นเอง
ที่มา
- Mass layoffs often hit middle managers. The cuts are largely short-sighted: Emily McCrary-Ruiz-Esparaza, BBC Worklife - https://bbc.in/4bEzxkD
- Why middle managers are often cast as villains: Alex Christian, BBC Worklife - https://bbc.in/48qPubc
- Bad beginning of 2024? Tech jobs again under risk, big tech companies have already fired 1000s of employees: Divya Bhati, India Today - https://bit.ly/4bT9gzg
#trend
#worklife
#technology
#layoff
#AI
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา