20 ก.พ. เวลา 05:37 • ไลฟ์สไตล์

อานิสงส์ของการอนุโมทนาบุญ เรื่องเล่าสมัยพุทธกาล

เรื่อง อานิสงส์ของการอนุโมทนาบุญ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 26 ข้อ 44 ได้กล่าวถึงการอนุโมทนาบุญของเพื่อนนางวิสาขาไว้ว่า เมื่อครั้งที่พระอนุรุทธเถระจาริกไปในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ไปเห็นทิพยวิมานหลังใหญ่ล่องลองอยู่ในอากาศ แวดล้อมไปด้วยอุทยานและสระโบกขรณี เจ้าของวิมานนั้นเป็นเทพธิดาวรรณะงาม มีรัศมีสว่างไปทั่วทุกทิศ เมื่อยามเยื้องกรายหรือร่ายรำก็มีเสียงทิพย์อันไพเราะ น่าฟัง น่ารื่นรมย์ใจดังขึ้น พระอนุรุทธเถระจึงถามเทพธิดาเจ้าของวิมานนั้นว่า นางทำบุญด้วยอะไรมาทิพยสมบัตินี้จึงเกิดขึ้น
นางเทพธิดาตอบพระเถระว่า “ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ ดิฉันเป็นเพื่อนของนางวิสาขามหาอุบาสิกา เมื่อเพื่อนของดิฉันสละทรัพย์ถึง 27 โกฏิ เพื่อสร้างบุพพารามมหาวิหาร และได้ชวนดิฉันและสหายอีก 500 คน ไปเที่ยวชม เมื่อดิฉันเห็นมิคารมาตาปราสาทที่เธอสร้างถวายพระภิกษุสงฆ์ที่ดิฉันเคารพแล้ว ก็เกิดความเลื่อมใสในบุญของเธอ จึงอนุโมทนาบุญกับเธอออกไปว่า ‘สาธุ สาธุ’”
จะเห็นได้ว่าเพียงแค่เปล่งวาจาสาธุเท่านั้นก็มีอานิสงส์ผลบุญมาก ถึงขั้นทำให้คนเราไปเกิดในสวรรค์ได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม การอนุโมทนาสาธุ คือการร่วมยินดีในบุญของผู้อื่นนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นบุญที่ทำได้ง่าย ๆ อย่างตื้นเขิน หากแต่บุญจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความศรัทธาเลื่อมใสในบุญของผู้อื่นอย่างแท้จริงเท่านั้น เพราะการร่วมยินดีกับผู้อื่นอย่างแท้จริง ย่อมช่วยชำระความอิจฉาริษยาในใจของเราให้หมดสิ้นไป และยิ่งเรายินดีกับผู้อื่นได้มากเท่าไร ความอิจฉาริษยา อยากชิงดีชิงเด่นในใจก็จะจางหายไปมากเท่านั้น
กล่าวคือ เราต้องร่วมอนุโมทนาให้ได้ด้วยใจที่บริสุทธิ์เป็นกลาง ปราศจาความยึดมั่นถือมั่น และความทะยานอยากอย่างสิ้นเชิง และความยินดีนั้นต้องไม่ได้เจือปนด้วยความคิดเชิงเปรียบเทียบว่า เขาดีกว่า เสมอกัน หรือแย่ไปกว่าเราแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่นับว่าเป็นบุญนั้นก็คือจิตที่บริสุทธิ์ปราศจากกิเลสนั่นเอง ดังนั้น หากเรามีจิตที่แปดเปื้อนด้วยกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความคิดเชิงเปรียบเทียบ ค่อนแคะ หรือหมั่นไส้เกิดขึ้นแม้เพียงเล็กน้อย บุญข้อนี้ก็จะหมดลงในทันที
ด้วยเหตุนี้การจะชื่นชมยินดีผู้อื่นได้ อย่างเต็มใจจึงเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ก็ต่อเมื่อเราได้ฝึกจิตใจของตนเองให้มั่นคงและหนักแน่นเพียงพอแล้วเท่านั้น
นอกจากนั้น อานิสงส์อีกประการหนึ่งของการอนุโมทนาบุญก็คือ เมื่อเรายินดีในความดีของผู้อื่นบ่อยครั้งเข้า เราก็จะมีจิตฝักใฝ่ในการทำความดีด้วยตัวเองมากขึ้น บุญข้อนี้จึงเท่ากับเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการทำความดีของคนเรานั่นเอง
ที่มาจาก : หนังสืออมรินทร์ธรรมะ คู่มือทำบุญ
#ธรรมะ #อมตะธรรม #ธรรมะสอนใจ
โฆษณา