26 ก.พ. เวลา 13:04 • หนังสือ

ไม่สำคัญว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา

หนังสือไม่สำคัญว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา
เขียนโดย Low Profile
สำนักพิมพ์ DOT
ผู้เขียนเดียวกันกับหนังสือ ทดเวลาฝันเจ็บ Seize the Day เป็นนักเขียนและบรรณาธิการผู้อยู่เบื้องหลังหนังสือ Bestseller ที่มียอดขายกว่า 1 ล้านเล่ม
เนื้อหาในเล่มได้รวบรวม 30 วิธีคิด เพื่อการมีชีวิตที่ราบรื่น และดีขึ้นกว่าเดิม
ผู้เขียนเขาได้นึกถึงคำกล่าวของเดนนิส พี. คิมโบร นักเขียนและนักพูดชาวอเมริกันว่า "ชีวิตคือสิ่งที่เกิดขึ้น 10% ส่วนอีก 90% เป็นวิธีที่เราตอบสนองมัน"
เขาพบว่าการเลือกตอบสนองต่อสิ่งต่างๆให้เป็น จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นมาก รู้สึกว่าพลังในการแก้ปัญหาและจัดการชีวิตอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่คนอื่นหรือโลกภายนอก
เราสามารถออกแบบและสร้างชีวิตให้เป็นอย่างที่ต้องการ โดยเฉพาะหนุ่มสาวอายุ 20 - 30 ปี ที่ค่อนข้างอ่อนไหว และไขว้เขวง่าย
PART 1 มีเหตุผลบางอย่างที่เราเป็นเราอยู่ในขณะนี้
• ไม่ต้องกังวลว่าคนอื่นจะคิดกับเรายังไง นึกถึงกฎ 18/40/60 ทฤษฎีของดร.แดเนียล อาเมน จิตแพทย์ชาวอเมริกัน กฎนี้บอกว่า
ช่วงอายุ 18 เป็นวัยที่เรากังวล สนใจ และแคร์สายตาคนอื่นมากที่สุด จึงไม่มั่นใจในตัวเอง ไม่เป็นตัวเอง ไม่กล้าทำอะไรที่แตกต่าง
ช่วงอายุ 40 วัยนี้เริ่มไม่กังวลและสนใจสายตาคนอื่นแล้ว ได้สติว่าถึงเวลาทำตามใจตัวเอง ให้ความสนใจกับสายตาตัวเองมากกว่า ทำให้ทำตามเป้าหมาย และสิ่งที่ต้องการได้ง่ายกว่าช่วงวัย 20-30
ช่วงอายุ 60 เป็นช่วงที่เราเลิกสนใจสายตาคนอื่นอย่างแท้จริง และเลิกสนใจสายตาของตัวเองด้วย "ค้นพบความจริงของชีวิตว่าไม่มีใครมาสนใจอะไรเรามากมาย เพราะทุกคนต่างวุ่นวายกับชีวิตตัวเอง และใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการกังวลว่าคนอื่นจะคิดยังไงกับเขาเหมือนกัน"
เมื่อต้องการทำสิ่งใหม่ ทำอะไรดีๆ หรือออกไปพูดต่อหน้าคนเยอะๆ นึกถึงกฎนี้
• การเป็นคน Proactive เริ่มต้นทำอะไรก่อน ไม่ต้องรอเดดไลน์
2
พฤติกรรม Reactive นั้น คือพฤติกรรมที่เรารอตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆที่เข้ามา ขณะที่แนวคิด Proactive คือ "การเป็นฝ่ายเริ่มต้นทำก่อน" จะไม่ใช้ชีวิตด้วยการถูกกระทำ และรอตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่เราจะอยู่ในฝ่ายผู้กระทำ เลือกที่จะทำ หรือไม่ทำสิ่งต่างๆได้ด้วยตัวเอง
คน Proactive เชื่อว่าตัวเองเป็นคนกำหนดชีวิตของตนเอง มีการวางแผน กำหนดเป้าหมายและสิ่งที่จะทำเพื่อตอบสนอง Passion และความต้องการของตนเองก่อน ทำบ่อยๆก็จะเชี่ยวชาญขึ้น
• เมื่อรักใครเราต้องปรับจูนเข้าหากัน แต่"คงความเป็นตัวของตัวเองไว้ให้มากที่สุด"
ตกหลุมรักตัวเองให้เป็นก่อนแล้วคนอื่นจะมาตกหลุมรัก รักตัวเอง ไม่ใช่การตามใจตัวเอง แต่หมายถึงการทำชีวิตให้มีคุณค่า มีวินัยและความรับผิดชอบสูง หักห้ามใจตัวเองได้ รักษาสุขภาพ ดูแลตัวเองให้ดี รู้จักเก็บเงินเพื่อออมและลงทุน เป็นต้น
เมื่อเรารักและเห็นคุณค่าในตัวเอง คนอื่นก็จะมารักและเห็นคุณค่าเราเช่นกัน
• คน Extrovert เป็นคนชอบแสดงออก พูดเก่ง ส่วนคน Introvert ชอบเก็บตัวอยู่คนเดียว จะว่าไปก็ถูกประมาณหนึ่ง แต่สิ่งที่จะบอกว่าเราเป็นคนประเภทไหน อยู่ที่การได้รับพลังงาน
คน Extrovert จะได้รับพลังงานจากภายนอก ทำกิจกรรม พูดคุย แสดงออก รู้สึกถึงการดำรงอยู่
คน Introvert รู้สึกว่าโลกภายนอกแย่งพลังงานไปจากเขา จะได้รับพลังงานจากภายใน การอยู่คนเดียวทำให้ได้รับพลังงาน ชอบกิจกรรมที่ทำตามลำพัง เช่นอ่านหนังสือ ฟังเพลง เขียนหนังสือ วาดรูป และทำงานอดิเรกที่ชอบ แต่ถ้าเจอคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน ก็พูดคุยกันได้ 2-3 ชั่วโมงเหมือนกัน
คน Extrovert ก็มีความ Introvert ในตัว คน Introvert ก็มีความ Extrovert ในตัว เรามี 2 โหมดสลับกัน อยู่ที่ใครใช้โหมดไหนมากกว่ากัน
การรู้จักตัวเองสำคัญ เพราะหากเรารู้ว่าตัวเองเป็นคนประเภทไหน จะได้ฝึกฝนศักยภาพของตัวเองให้เต็มที่ และเรียนรู้ที่จะเคารพคนที่ต่างจากตัวเอง มองเห็นความแตกต่าง นำข้อดีนี้มาประสานความร่วมมือกันทำงานต่างๆ ให้สำเร็จ การร่วมมือของคนนิสัยต่างกันมักสร้างทีมที่ดีที่สุด
• ทำยังไงเมื่อหมดไฟ
ในทฤษฎีกำหนดตัวเอง บอกว่าความต้องการแท้จริงของมนุษย์นั้นมี 3 อย่าง
หนึ่ง บรรลุศักยภาพของตัวเอง คือต้องการเป็นคนที่มีทักษะ และสิ่งที่เราอยากจะเป็น
สอง ความอิสระ คืออิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเอง กำหนดเส้นทางชีวิตของตัวเอง
สาม การเป็นส่วนหนึ่ง คือมีส่วนร่วม และเชื่อมโยงกับผู้อื่น ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ถ้าเราไม่รู้สึกว่า งานที่ทำอยู่เชื่อมโยงกับคนอื่น เราจะกลายเป็นคนไม่มีความสุข หมดไฟในการทำงาน
เราต้องรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีคุณค่าต่อคนอื่น จึงจะรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ซึ่งนั่นจะทำให้ไฟในการทำงานกลับมา
• คนเราเกิดมาแตกต่างในแบบฉบับของตัวเอง ยอมรับความเป็นตัวของตัวเอง ไม่เปรียบเทียบกับใคร "มีเหตุผลบางอย่างที่เราเป็นเราอยู่ในขณะนี้ ยอมรับ ตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง ค้นหาภารกิจแห่งชีวิต อะไรสำคัญต่อชีวิต เริ่มทำตามความปรารถนาเพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย โดยเลิกเดินตามความฝันของคนอื่น
• คนเราจดจำเรื่องแย่ๆได้มากกว่าเรื่องดีๆ
เจอเรื่องไม่ดี 1 ครั้ง ต้องเจอเรื่องดี 7 ครั้ง ถึงจะกลบเรื่องแย่ได้ สมองเราจำเรื่องไม่ดีเก่ง เพราะเป็นกลไกในการเอาชีวิตรอด แต่ต้องรู้ทันมันด้วยว่าสมองชอบมองข้ามเรื่องดีๆ หรือสิ่งที่เรามีอยู่ไป
ลองหาเวลาทบทวนตัวเอง ขอบคุณ ชื่นชม และเห็นค่าในสิ่งที่ตัวเองมี โดยไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น
PART 2 เรามีเวลาแค่ 100 ปีที่จะมีชีวิต
• สตีเฟน อาร์ โควีย์ บอกว่า "การดำเนินชีวิตเรามักตัดสินสิ่งต่างๆก่อนเสมอ จากมุมมอง ค่านิยม และประสบการณ์ในอดีตของเรา"
เมื่อเราตัดสินเร็วไปก่อนที่จะรู้ความจริง ก็อาจพลาดอะไรบางอย่างไป สิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป
เรื่องที่เราคิดว่าใช่ ดี ถูกใจ จริงๆอาจไม่ดีก็ได้
เรื่องที่เราคิดว่าไม่ดี แย่ อาจมีสิ่งดีๆซ่อนอยู่
ใช้เวลาศึกษา ทำความเข้าใจ หรือดูท่าทีก่อน
• เคล็ดลับการทำสิ่งต่างๆให้ลุล่วง ไม่ใช่ความเก่ง ขยัน หรือพยายาม แต่อยู่ที่การเริ่มได้หรือไม่ เพราะ"เมื่อเริ่มไปแล้ว เราจะอยากทำมันต่อไปอีก"
• Safe Zone (พื้นที่ปลอดภัย) จริงๆก็มีประโยชน์มาก เพราะเป็นที่ที่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและควบคุมมันได้ หากมีเรื่องไม่คาดคิดก็รู้ว่าจะจบยังไง ทำให้ไม่เหนื่อยและใช้พลังงานเยอะเหมือนโลกภายนอก แต่การติดอยู่แต่ใน Safe Zone สมองและร่างกายจะไม่หลั่งสารความตื่นเต้นอย่างอะดรีนาลินออกมา เราจะเคยชิน เบื่อ ไม่เติบโต และอาจทำให้หมดไฟได้
นอก Safe Zone เรียกว่า Growth Zone เป็นที่ที่เราเติบโตและพัฒนาได้อย่างแท้จริง คิดว่าคนเรามี Safe Zone อยู่สองเรื่องใหญ่
หนึ่ง คือเรื่องส่วนตัว (งาน เงิน สุขภาพ จิตใจ ที่อยู่ เป้าหมายชีวิต) ประมาณ 50%
สอง คือเรื่องคนอื่น (เพื่อน ครอบครัว คนรัก เพื่อนร่วมงาน) อีก 50%
ถ้าสองเรื่องนี้เป็น Safe Zone ทั้งหมดเราอาจจะเบื่อ
บางทีไม่ต้องออกจาก Safe Zone ทั้งหมดก็ได้ เก็บ Safe Zone ไว้ครึ่งหนึ่ง เปลี่ยนอีกครึ่งหนึ่ง หากส่วนที่เราเปลี่ยนพัง ที่เหลือจะประคองไว้ แต่ถ้าดีเราจะเติบโตก้าวหน้า "ชีวิตถ้าไม่กล้าเสี่ยง ก็จะไม่ได้รับกลับมา"
• เรามีเวลาแค่ 100 ปีที่จะมีชีวิต บางคนอีก 10 ปี 20 ปีหรือพรุ่งนี้ก็ไม่อยู่แล้ว ฉะนั้นเรามีอะไรอยากทำก็ทำเลย ถ้าเป็นการไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่น ทำให้เต็มที่ เพราะอีกไม่นานเราจะหมดโอกาสทำแล้ว และแม้เราจะไม่อยู่แล้ว แต่เรื่องราวที่เราทุ่มเทเพื่ออะไรบางอย่างอาจถูกจดจำไปตลอดกาล
• สิ่งที่เราเจอหรือทำในชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อสมองเราโดยตรง คลื่นสมองเรามี 4 ประเภท
หนึ่ง คลื่นเบต้า ความถี่ 13 - 30 Hz เกิดขึ้นช่วงที่เราใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป สมองมีสภาวะตื่นและรู้ตัว ควบคุมจิตใต้สำนึกได้ เมื่อเราไม่มีความสุข โกรธ วิตกกังวล คลื่นเบต้าจะสูงขึ้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนความเครียด เสี่ยงเป็นโรคร้ายต่างๆ "เราควรมีสติตามความคิดให้ทัน พาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่ทำให้เราเครียดเร็วที่สุด"
สอง คลื่นอัลฟ่า ความถี่ 8 - 12 Hz คลื่นนี้จะเกิดในเด็กที่มีความสุข หรือเกิดเวลาที่เรารู้สึกผ่อนคลายสบายๆ ได้ทำสิ่งที่ชอบ เพลินๆจนลืมเวลา เป็นตอนเวลาเรานั่งสมาธิก่อนจะหลับ หรือมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นงานอดิเรกที่ชอบ "เราจะคิดช้าลง มีการทบทวนตัวเอง คิดสิ่งต่างๆด้วยความรอบคอบมากขึ้น ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ คิดเรื่องใหม่ได้"
สาม คลื่นเธต้า ความถี่ 4 - 8 Hz จะเกิดตอนหลับสนิท
สี่ คลื่นเดลต้า ความถี่ 0.5 - 4 Hz จะเกิดขึ้นตอนหลับลึก หรือสมาธิระดับฌานในพระเซนของญี่ปุ่น
หลังเลิกงานหรือวันหยุด "เราควรพาตัวเองเข้าสู่กิจกรรมที่ทำให้เกิดความสุข (คลื่นอัลฟ่า) มากที่สุด"
• ตอนเด็กเราอยากเรียนรู้และทดลองไปทุกอย่างโดยไม่กลัวอะไร ขณะที่พ่อแม่มักจะห้ามปรามเพราะความเป็นห่วง แม้จะเป็นความปรารถนาดี แต่ทุกครั้งคือการห้ามปรามบอกว่าเราทำไม่ได้ อีกทั้งไม่นับคำขู่ที่ไม่เป็นจริงอีกมาก ทำให้ถูกตั้งโปรแกรมด้วยความเชื่อเหล่านี้ เมื่อโตขึ้นเราจึงเชื่อว่าเราทำไม่ได้ ไม่คู่ควร และไม่เหมาะกับเรา ถ้าอยากหลุดพ้นกับดักนี้ เราต้องกลับมาทบทวนว่าเคยถูกตั้งโปรแกรมอะไรไว้ แล้วเราต้อง Uninstall มันออกไปจากชีวิต "ขจัดความเชื่อที่ว่า คุณทำไม่ได้ ให้หมดไป"
• ถามว่าทำงานยังไงให้มีความสุข สาเหตุที่คนทำงานไม่มีความสุข ส่วนหนึ่งมาจากการทำงานไม่ถนัดและไม่ชอบ เรามีความสามารถแบบหนึ่ง แต่บริษัทให้ทำงานอีกแบบหนึ่ง เหมารวมว่าทุกคนเหมือนกัน ซึ่งไม่ตรงกับความจริง เพราะทุกคนมีความแตกต่าง มีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกัน เราต้องหางานที่เข้ากับสไตล์เรา ก่อนอื่นเราต้องรู้จักตัวเองก่อน จึงจะหางานที่ตรงกับตัวเองได้ เล่มนี้พูดถึง "ทฤษฎี Birkman" ไว้
ลองหางานที่เหมาะกับตัวตนของเรา ใช้จุดแข็งให้เกิดประโยชน์ เราจะทำงานสนุก และมีความสุขมากขึ้น
PART 3 ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว
• อาคารทุกหลังที่สถาปนิกออกแบบ ที่นอกจากต้องมีช่องเปิดรับลมแล้ว ทิศตรงข้ามต้องมีช่องให้ลมพัดออกด้วย ลมถึงจะยอมพัดเข้ามา ดูเหมือนหลายสิ่งในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง สิ่งของ ความสุข กำลังใจ คำชม ความเคารพ และอื่นๆ มักจะทำตัวไม่ต่างจาก กระแสลม คือ"ไม่ว่าเราจะร้องขอ หรืออ้อนวอนมากแค่ไหนมันจะไม่เข้ามาในชีวิตเลย ถ้าเราไม่ให้ออกไปบ้าง"
• ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างผู้หญิงคนหนึ่งมีปมในอดีต ทำให้กลัวและคิดไปเองจนนำไปสู่การตัดสินว่าผู้ชายทุกคนเจ้าชู้ ทำให้ดีดผู้ชายดีๆออกไป เธอก่อกำแพงสูงชัน ผู้ชาย 2 คนที่มาจีบเธอปีนฝ่าขึ้นมาไม่ได้ ก่อนไปแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่น และพบว่าพวกเขาทั้งคู่เป็นผู้ชายที่ซื่อสัตย์กับภรรยา
การแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดคือยอมรับว่า เราคือส่วนหนึ่งของปัญหา ทำให้เรามีอำนาจในการแก้ปัญหานั้น
เพิ่งรู้ว่าความกลัวทำให้เธอโสดมาจนถึงทุกวันนี้ เธอขจัดความกลัว ตอนนี้เธอไม่กลัวแล้ว เธอมองเห็นตัวเองในอดีต และหวังว่าเธอจะมีความรักที่ดีในอนาคต
• ชีวิตไม่ได้มีด้านเดียว ผู้เขียนเล่มนี้ ยกตัวอย่างแนวคิดของ อาลแบร์ กามูว์, อับราฮัม มาสโลว์, เดวิด เจ ชวอร์ต และดีพัค โชปรา ในการมาปรับใช้ในการใช้ชีวิต
แนวคิดของอาลแบร์ กามูว์ บอกว่าความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ประกอบด้วย 4 อย่าง คือ อยู่ในที่อากาศปลอดโปร่ง พ้นจากความทะยานอยาก ทำงานสร้างสรรค์ และรักใครสักคน
มาสโลว์ บอกว่าความต้องการของมนุษย์มี 5 ขั้น นับจากฐานพีระมิดขึ้นไป คือ ความต้องการพื้นฐานทางร่างกายหรือปัจจัยสี่ ความต้องการปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความต้องการเป็นเจ้าของความรัก ได้รับความรักและรักผู้อื่น ความต้องการได้รับการยกย่องจากตนเองและผู้อื่น (มีอำนาจ ชื่อเสียง) และท้ายสุดคือ ความต้องการเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองใฝ่ฝัน
เดวิด เจ ชวอร์ต บอกว่าเป้าหมายชีวิตคนเราควรมีสามด้าน เป็นรูปสามเหลี่ยม คือ
เป้าหมายด้านการงาน : คือการเลือกสายอาชีพ ระดับความรับผิดชอบในงานที่ต้องการ
เป้าหมายด้านครอบครัว : คือมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ต้องการ กิจกรรมพักผ่อนในวันหยุด แบ่งเวลาให้คนรักอย่างเหมาะสม
เป้าหมายด้านสังคม : คือการใช้ชีวิตกับเพื่อน ประเภทสังคมที่อยากเข้าร่วมและมีบทบาท ไปจนถึงการนำความรู้ในวิชาชีพหรือหยาดเหงื่อแรงกายมารับใช้สังคม
ดีพัค โชปรา บอกว่าชีวิตคือการตอบคำถามสองข้อ
ข้อแรก "เราเกิดมาเพื่อจะเป็นอะไรได้ดีที่สุด ชนิดที่มีแต่เราเท่านั้นทำได้ดีที่สุด"
ข้อสอง "เราจะนำความสามารถเฉพาะตัวของเราไปรับใช้ผู้คนและโลกอย่างไร"
สำหรับผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เอง มองชีวิตเหมือนลูกเต๋า ที่ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ
ด้านการงาน : ควรได้ทำงานที่รักและชอบ เพื่อใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่
ด้านร่างกาย : ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
ด้านจิตใจ : ทบทวนตัวเองอยู่เสมอ รักษาอารมณ์ให้คงที่ ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่โกรธ ไม่เกลียด
ด้านครอบครัวและความสัมพันธ์ : มีเวลาให้กับคนรัก เพื่อน ครอบครัว พอๆกัน ไม่หนักไปทางเพื่อนมากกว่าครอบครัว
ด้านการเงิน : ว่าด้วยการออมและลงทุน อย่างน้อยถ้าตกงานก็มีชีวิตอยู่ได้ด้วยรอยยิ้ม
ด้านจิตวิญญาณและความฝัน : เป็นเรื่องความเชื่อและความศรัทธาส่วนบุคคล อาจเป็นสิ่งที่อยากทำมากที่สุดในชีวิต
ใช้ชีวิตทั้ง 6 ด้านให้เท่าเทียมกัน เหมือนด้านของลูกเต๋า ที่ไม่ว่าหมุนกลิ้งไปทางไหนก็ตั้งอยู่ได้ และชีวิตมนุษย์คนหนึ่งจะสมบูรณ์
เราอาจไม่เก่งทุกด้าน จึงต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ เกิดมาทั้งทีต้องรู้จักและใช้ชีวิตให้เป็น
• ในโลกที่ "สิ่งที่ต้องทำ"มักสวนทางกับ"สิ่งที่อยากทำเสมอ" ทำยังไงให้มีไฟ หรือมีแรงจูงใจในการทำงาน
นั่นก็คือ ต้องใช้แรงจูงใจระยะยาว ที่เกิดจากความต้องการของคนๆนั้นเอง เวลาทำตามคนอื่นจึงทำได้ไม่นาน หมดไฟเร็ว ต่างจากสิ่งที่อยากทำ จะทำได้นานกว่า (ทำตามความต้องการของตัวเอง ทำได้ตลอดชีวิต)
• ผู้เขียนเล่มนี้ แต่ก่อนตอนอายุ 20 ไม่ชอบอ่านหนังสือฮาวทูเลย แต่พอเป็นผู้ใหญ่อายุ 28 หนังสือฮาวทูช่วยให้เอาตัวรอดในโลกของผู้ใหญ่ง่ายขึ้น เขาจึงอ่านควบคู่ไปกับหนังสือแนวเดิมที่ชอบ จากประสบการณ์พบว่าสิ่งที่เราไม่ชอบอาจเป็นครูสอนบทเรียนที่ดีให้เรา ไม่แพ้สิ่งที่เราชอบมากก็ได้ เขาบอกว่าเขาน่าจะอ่านฮาวทูตั้งแต่อายุ 15 ด้วยซ้ำ
• วิชารับมือกับความผิดพลาด คือการคิดว่าความผิดพลาดหรือการไม่ได้สิ่งที่หวังในตอนแรกมีโอกาสนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้
• ช่วงวัย 22 - 29 ปี เป็นช่วงที่ไม่มีภาระ เราสามารถที่จะลองงานต่างๆ สนุกกับการเปลี่ยนงานได้เต็มที่ บริษัทไม่ได้เป็นคนเลือกเรา เราต่างหากเป็นคนเลือกบริษัท ถ้าที่ไหนไม่เลือกเราให้คิดว่ายังมีที่ที่เหมาะกับเรามากกว่ารออยู่
คนทำหลายอย่างจะรู้กว้าง แต่อาจไม่เด่นสักอย่าง ขณะที่คนทำอย่างเดียวจะรู้ลึก และเป็นที่ต้องการของตลาดนั้นๆ สำหรับยุคนี้จะให้ดีควรรู้แบบตัว T คือรู้กว้างแบบด้านบนของรูปตัว T และรู้ลึกแบบแนวตั้งของรูปตัว T จะทำให้เรามีความเชี่ยวชาญด้านลึก และนำไปปรับประยุกต์ใช้กับคนอื่นได้
PART 4 สิ่งที่ให้ความสำคัญจะเติบโต สิ่งที่ไม่ให้ความสำคัญจะหายไป
• คนไทยแสดงความรู้สึกไม่เก่ง ไม่ค่อยแสดงออก (ถ้าแสดงออกจะเป็นเชิง negative) ทำให้ไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไงกับเรา จึงได้แต่คิดมโนไปเองคนเดียว
ยุคนี้มีเน็ตไอดอลและยูทูบเบอร์มากมาย หลายคนโพสต์อะไรบางอย่าง หรือลงคลิปกินข้าวก็มีคนแชร์เป็นหมื่น หลายคนคงอดเปรียบเทียบไม่ได้ว่าตอนเราโพสต์มีเพื่อนกดไลก์ไม่กี่คน "อย่าตัดสินคุณค่าของตัวเองเร็วไป เพราะบางทีเราอาจเป็นแรงบันดาลใจของใครบางคนอยู่ แค่เขาไม่ได้เดินมาบอกเท่านั้นเอง"
• บ้านเราให้ความสนใจเรื่องดวงเอามากๆ เมื่อศึกษาดูพบว่าพระพุทธเจ้าไม่ให้ความสำคัญกับวิชาโหราศาสตร์เลย ท่านบอกว่า "ทุกครั้งที่ตั้งใจทำสิ่งดี นั่นคือฤกษ์ดี ไม่มีเวลาไหนดีที่สุด นอกจากตอนนี้ หรือปัจจุบัน"
การเชื่อเรื่องดวงหรือโชคชะตา กับการเชื่อว่าเราคือผู้สร้างโชคชะตา ย่อมส่งผลต่อชีวิตเราคนละแบบ
เชื่ออย่างแรกง่าย เพราะโทษดวงหรือโชคชะตาได้
เชื่ออย่างหลังยาก เพราะต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเอง
แต่ถ้ามีใครมาถามผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ว่าเชื่อเรื่องดวงหรือโชคชะตาไหม เขาจะตอบว่า ไม่รู้จัก เพราะไม่รู้จัก มันย่อมไม่มีอิทธิพลและส่งผลต่อชีวิตเรา
• มีคำถามที่ว่า "คิดยังไงกับเรื่องที่ว่าคนจะไม่อ่านหนังสือแล้ว แต่จะไปอ่านออนไลน์แทน" ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีคนถามว่าคนจะเลิกอ่านหนังสือไหม มันมีมานานแล้ว แต่สุดท้ายหนังสือ Pocketbook ก็ก้าวข้ามผ่านความเปลี่ยนแปลงมาทุกยุคสมัย
การอ่านและสะสมหนังสือ เป็นวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งมาช้านาน ในขณะที่คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งก็อยากจะลิ้มลอง ฉะนั้น "ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีคนอ่าน ให้กลัวอย่างเดียวว่าจะไม่มีคนเขียนหนังสือดีๆ ออกมา"
• หากลากเส้นตรงเส้นหนึ่งขึ้นมา แล้วถามว่า เราจะทำให้เส้นนี้สั้นลงได้ยังไงโดยไม่ลบมัน คำตอบคือ ลากเส้นใหม่ขึ้นมาข้างๆเส้นเดิมให้มันยาวกว่าเส้นเดิม
เรื่องนี้สอนว่าเราไม่จำเป็นต้องแข่งขันกับคนอื่นๆ โดยเสียเวลาไปลบเส้นของพวกเขา "ความจริงเราสร้างชีวิตตัวเอง การสนใจสิ่งที่เราทำอยู่ต่างหากสำคัญ เอาเวลามาขีดเส้นของตัวเอง เลือกเดินให้ไกลที่สุดเท่าที่เราจะขีดได้เลย"
• พูดถึงแนวคิด Productive เห็นด้วยว่าการทำงานและใช้ชีวิตให้เต็มประสิทธิภาพเป็นเรื่องดีมาก แต่ก็ไม่ได้เชื่อหรือหยิบมาใช้ในชีวิตประจำวัน 100% เพราะเชื่อว่าแต่ละคนมีจังหวะชีวิตของตนเอง มันยากที่เราจะ Productive ได้เท่ากัน เพราะทุกคนมีต้นทุนชีวิตและข้อจำกัดไม่เหมือนกัน จึงเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ คนเรามีจังหวะชีวิตที่แตกต่างกัน เราจึงควรใช้ชีวิตในจังหวะของตัวเอง
• พูดถึงการลาออกครั้งแรก ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้บอกว่าเขาเคยเปลี่ยนงาน 3 - 4 ครั้ง เมื่อมองย้อนกลับไป ดีใจที่เปลี่ยนงานทุกๆครั้ง เพราะทำให้เติบโตขึ้น ความเปลี่ยนแปลงอาจน่ากลัว แต่ทำให้เราเติบใหญ่ การเปลี่ยนงานทำให้เราเจอคนใหม่ โอกาสใหม่ อยากไปก็จงไป
การทนอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบนานๆ จะทำให้ทุกข์เปล่าๆไม่ใช่การหนีปัญหา ถ้าเราทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว พยายามเปลี่ยนตัวเองแล้ว ถ้าไม่สำเร็จก็ไปเลย
วัยหนุ่มสาวเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ทดลอง ลงมือทำ มีโลกกว้างอีกมากให้เราได้ผจญภัย
ถ้าตอนนี้เราทำทุกอย่างเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เราจะทำมันเต็มที่เหมือนเดิม
• พูดถึงกฎแรงดึงดูด หรือ The Secret ก็มีทั้งคนเชื่อและคนไม่เชื่อ
คำว่า "กฎ" ใช้สำหรับสิ่งที่ค้นพบแล้วพิสูจน์ได้จริง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต่างจากเรื่องที่เป็นแนวคิด พิสูจน์ไม่ได้จะเรียก"ทฤษฎี" ดังนั้น ควรใช้คำว่า "ทฤษฎีแรงดึงดูด" มากกว่า
ทฤษฎีเบื้องต้นใน The Secret บอกว่า ถ้าเราต้องการสิ่งไหนมากพอมันจะปรากฎในชีวิต ให้คิดถึงมันซ้ำๆผ่านการ "ขอ เชื่อ รับ" โดยบอกว่ากฎแรงดึงดูดจะดึงทั้งสิ่งที่เราอยากได้และไม่อยากได้ให้เกิดขึ้น การที่ใครไม่อยากได้อะไร แต่เกิดขึ้น เพราะเราให้ความสนใจมันนั่นเอง ถ้าอยากได้อะไรในชีวิตก็ให้ระวังสิ่งที่ไม่อยากได้ไว้ด้วย เพราะถ้ามีกำลังมาก อาจตรงสำนวนที่ว่า เกลียดอะไรได้อย่างนั้น
ทฤษฎีนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ยังไม่มีใครยืนยันทางวิทยาศาสตร์ได้ จึงเป็นเพียงทฤษฎี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้สงสัยและมองว่า กฎแรงดึงดูดอาจเป็นการให้ความสนใจ (Focus) หรืออิทธิบาท 4 ในพุทธศาสนา คือ
ฉันทะ : ความพอใจ ความรักในสิ่งนั้น
วิริยะ : ความเพียรลงมือทำ
จิตตะ : ความจดจ่อมุ่งมั่น
วิมังสา : นึกไตร่ตรอง
ถ้าเราสนใจอะไรมากๆ ก็จะเติบโตขึ้นในชีวิตเอง
"สิ่งที่เราให้ความรักความสำคัญ จะเติบโตในชีวิต ส่วนสิ่งที่ไม่ให้ความสำคัญจะหายไป"
• เราเชื่อมาตลอดว่าการได้รับหรือครอบครองสิ่งต่างๆมากๆ จะทำให้มีความสุข แต่วิถีชีวิตยุคใหม่ที่ครอบครองสิ่งต่างๆ มากไป จะนำมาซึ่งความทุกข์ใจ ทั้งความทุกข์ที่ต้องหาเงินซื้อ คอยเฝ้าระวัง หาเงินมาบำรุงรักษา หรือกลัวว่าวันหนึ่งมันจะหายไป
ฉะนั้นไม่ใช่การมี ได้รับ หรือครอบครองเท่านั้นที่ทำให้เรามีความสุข อีกวิธีที่ทำให้มีความสุขไม่แพ้กัน คือการทิ้ง ทิ้งสิ่งของ ความสัมพันธ์ และความรู้สึกไม่ดีต่างๆ ทิ้งไป ความสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ด้วยการปล่อยนั่นเอง
สุดท้าย
ไม่สำคัญว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา สำคัญว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไร
ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ค่ะ
สนใจหนังสือคลิกลิงก์ 👇
โฆษณา