21 ก.พ. เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เกิดอะไรขึ้นกับ 4Q23 GDP?

เราเห็นสภาพัฒน์เปิดเผยตัวเลข GDP ไตรมาส 4 ปีที่แล้วออกมาโต 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และ -0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสสาม (เมื่อหักปัจจัยเรื่องฤดูกาลออกแล้ว) จนหลายคนตระหนกว่าเกิดอะไรขึ้น? ทำไมเศรษฐกิจไทยโตช้าจัง?
และที่สำคัญคือเราเห็น GDP หดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 จนคนตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น? เราจะเข้าสู่ Technical recession หรือเปล่า? และเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป?
เราไปดูกันดีกว่ามีอะไรน่าสนใจกันบ้าง 4 ประเด็น...
ประเด็นแรก การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้าจริงๆ ถ้าเราดูระดับของ real GDP ของไทย ผ่านมา 4 ปีแล้วตั้งแต่เกิดวิกฤต Covid-19 แต่ตอนนี้ยังไม่กลับไประดับเดิมเลย ทั้งในระดับไตรมาสและระดับปี (ยังต่ำกว่าอยู่ประมาณ 0.4%)
สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจลึกและนานจริงๆ สิ่งที่เราคาดกันว่าปีที่แล้วจะเป็นปีที่เราจะฟื้นตัวเต็มที่ก็ยังไม่เกิดขึ้น
ประเด็นที่สอง สาเหตุที่ GDP ของไทยติดลบในไตรมาสที่ผ่านมา ถ้าไปไล่ดูตัวเลขจะพบว่า ตัวเลขไส้ในแต่ละตัวไม่ได้แย่มาก แต่ที่ตัวรวมออกมาแย่ เกิดจาก 2 สาเหตุสำคัญ คือ…
1) การเบิกจากงบลงทุนภาครัฐที่หายไปเพราะปัญหาเรื่อง พ.ร.บ. งบประมาณล่าช้า
2) ปัญหาในภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของไทย
การเบิกจ่ายงบประมาณ
อย่างที่ทราบกันว่าปกติปฏิทินงบประมาณของไทยควรจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่ถึงตอนนี้ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2024 ยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเลย และคาดว่าจะไม่ออกมาจนกระทั่งเดือนเมษายน
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่งบประมาณล่าช้าแบบนี้กฎหมายอนุญาตให้รัฐบาลใช้งบประมาณของปีก่อนหน้าไปพลางก่อน ก็แปลว่ารายจ่ายอะไรที่ได้รับการอนุมัติมาก่อนหน้าแล้ว ก็เบิกจ่ายได้ปกติ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงบประจำอย่างงบบุคคลากรหรือค่าน้ำค่าไฟ
รวมไปถึงงบลงทุนที่ผูกพันงบไว้แล้ว แต่งบประมาณใหม่ที่ควรจะเริ่มในปีนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบลงทุนของโครงการใหม่จะยังไม่ได้รับการอนุมัติและยังเบิกจ่ายไม่ได้
ถ้าดูการเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงที่ผ่านมา พบว่าการเบิกจ่ายหายไปถึง 40-45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถ้าดูในตาราง GDP จะเห็นว่าการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 4 หายไปถึง 20% in real terms เมื่อเทียบกับปีก่อน (คิดเป็น contribution ถึง 1.2% ของ YoY GDP growth) และหดตัว 12.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสสาม (คิดเป็น contribution ถึง 0.7% ของ QoQ growth)
แปลว่าถ้างบลงทุนไม่หายไป GDP อาจจะไม่ติดลบก็ได้ และมองไปข้างหน้าปัญหานี้ยังไม่จบ เพราะ พ.ร.บ. งบประมาณ จะได้รับการอนุมัติช่วงเดือนเมษายนแปลว่าเศรษฐกิจจะยังคงโดนฉุดรั้งแบบนี้ไปอีกสักพัก แต่น่าจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากนั้น…
การผลิตภาคอุตสาหกรรม
อีกปัญหาใหญ่ของ GDP ในไตรมาสนี้ คือการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการหดตัวเทียบกับปีก่อนติดกันมาแล้ว 5 ไตรมาส! จริงๆก็เริ่มหดตัวน้อยลงนิดนึงแล้วนะครับ ซึ่งผมคิดว่ามี 2 ปัญหาใหญ่ๆ
อันแรก วงจรปกติของภาคการผลิตและสินค้าคงคลัง ถ้าเราดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก จะคล้ายๆกัน คือ เมื่อเจอปัญหาโควิด โลกปิด แต่การผลิตสินค้าเร่งตัวขึ้น เพราะคนซื้อหาสินค้ามาไว้ที่บ้าน ทั้ง work from home ทั้งหา Hobby ใหม่ ทั้งกางเต็นท์ ชงกาแฟ อบขนมปัง (ใครตามหา surf skate ในเวลานั้นบ้างครับ) พอเมืองเริ่มกลับมาเปิดจริงๆ คนออกไปท่องเที่ยว ไปกินข้าวนอกบ้าน ความต้องการสินค้าก็ลดลง
ในขณะที่ความต้องการบริการมีมากขึ้น เราเห็นการส่งออกสินค้าของเราปรับลดลง พร้อมๆ กับการค้าโลก เมื่อยอดขายหายไป สินค้าคงคลังมีมากขึ้น (Surf skate ที่ผลิตไว้ตั้งเยอะ พอขายอีกหลายปี) การผลิตก็หดตัว ก็กระทบต่อ GDP แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจเริ่มปรับตัว สินค้าคงคลังเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ การผลิตก็น่าจะเริ่มกลับมาบ้าง
แต่ช้าก่อนครับ ปัญหาของไทยเรื่องที่สอง คือ อาจจะมีเรื่องปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาระยะยาว ที่การหดตัวของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลายอย่างอาจจะไม่กลับมาเลยก็ได้ อย่างที่ผมเคยเขียนถึงเรื่อง Kodak Moment การผลิตที่หดตัวเร็วที่สุดของไทยในปีก่อนคือการผลิต Hard Disk Drive ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆของไทย
[อ่านเพิ่มเติม: https://kkpsecurities.co/KodakMoments]
เราเห็นการผลิตเหล็ก การผลิตรถยนต์ ก็หดตัว เมื่อเจอกับการแข่งขันอย่างรุนแรงจากสินค้านำเข้า (จากจีน)ตรงนี้จะเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทย ที่เราต้องหาทางแก้ไขกันจริงๆจัง เพราะมันอาจจะไม่กลับมาเลยก็ได้
ประเด็นที่สาม เรายังเห็นความแตกต่างของตัวเลข GDP ในฝั่งค่าใช้จ่าย (C+I+G+X-M) กับ GDP ในฝั่งการผลิต แม้ว่าส่วนต่างทางสถิติปรับลดลงมาเยอะมาแล้ว
ถ้าเราดูฝั่งค่าใช้จ่ายจะพบว่า demand ดูเหมือนยังดีอยู่ ถ้าไม่นับส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง ค่าใช้จ่าย C+I+G+X-M เพิ่มขึ้นถึง 4.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และถ้ารวมส่วนเปลี่ยนแปลงสินค้าคงคลัง ค่าใช้จ่ายยังเพิ่มขึ้น 3.5% ดูเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนโตเกิน 7% อีกครับ (ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคภาคบริการเช่นโรงแรมร้านอาหาร แต่ก็มีแนวโน้มเริ่มชะลอลง)
แต่อย่างที่ทราบครับ เพราะ GDP เป็น Production Concept ถ้านับมูลค่าฝั่งการผลิต GDP โตแค่ 1.7% ส่วนที่เป็น residual ยังเยอะ เลยอาจจะทำให้การแปลความสภาพเศรษฐกิจยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ประเด็นสุดท้าย คือเราจะเข้าสู่ Technical Recession ไหม ผมคิดว่าไม่น่าครับ… เพราะตัวที่ฉุดทำให้ GDP เราหดตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือการปรับลดลงของงบลงทุนภาครัฐ แม้ไตรมาสนี้ก็ไม่น่าเบิกจ่ายได้เพิ่ม แต่ไม่น่าจะฉุดทำให้มันแย่ไปได้แย่กว่านี้แล้ว และหวังว่าการส่งออก และการท่องเที่ยวจะค่อยๆ ฉุดเศรษฐกิจไทยให้เป็นบวกได้นะครับ
วันนี้ตัวที่ต้องระวัง คือ การใช้จ่ายในประเทศที่ได้แรงส่งจากภาคบริการกำลังจะเริ่มชะลอตัวลง การท่องเที่ยวจะเริ่มมีแรงส่งที่น้อยลง ในขณะที่ยอดขายและการบริโภคจะเริ่มชะลอลงจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น รายได้ที่ฟื้นตัวช้า สินเชื่อภาคธนาคารที่โตช้าลง และปัญหาหนี้ครัวเรือน มีความจำเป็นต้องหามาตรการมาช่วยหนุน ในวันที่นโยบายการคลังโดนผูกมือไว้ นโยบายการเงินอาจจะต้องประสานงานและมีบทบาทมากขึ้น
และรัฐบาลต้องเตรียมเบิกจ่ายงบประมาณอย่างจริงๆจังๆ เมื่อ พ.ร.บ. งบประมาณ มีผลบังคับใช้ และจำเป็นต้องหามาตรการปฏิรูปเพื่อจัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง
เพราะถ้าเรากระตุ้นระยะสั้นอย่างเดียว แต่ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง อีกสักพักเราก็ต้องมาถามกันอีกว่า ทำไมเศรษฐกิจกำลังวิกฤตหรือเปล่า? ทำไมโตช้าจัง?
โฆษณา