21 ก.พ. เวลา 01:45 • ความคิดเห็น

ประเทศไทยกับ Soft Power

เมื่อ 22 ปีที่แล้ว นาย Douglas McGray ได้เขียนบทความชื่อ “Japan’s Gross National Cool” ในนิตยาสาร Foreign Policy บทความนี้ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในญี่ปุ่น และเป็นที่มาของนโยบาย Cool Japan Strategy ของรัฐบาลอาเบะในเวลาต่อมา
ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วเช่นกันที่ประเทศไทยจะสามารถพูดเรื่อง Thailand’s Gross National Cool ได้ ผมจึงเสนอสองประเด็นหลัก ๆ เพื่อชวนให้ผู้ออกนโยบายและสังคมไทยลองช่วยกันคิด
1. นิยามต้องชัด กรอบของคำว่า ‘Soft Power’ เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก และไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของภาครัฐไทย
1
ดร. โจเซฟ นาย (Joseph Nye) เป็นนักวิชาการคนแรกที่ได้นิยาม soft power ว่าเป็นการสร้างอิทธิพลและบรรลุเป้าหมายในนโยบายต่างประเทศด้วยการดึงดูดแทนการบีบบังคับด้วยกำลังทหาร มองในมุมหนึ่งก็ตรงกับหลักการของซุนวู สิ่งที่ดีที่สุดคือการเอาชนะได้โดยไม่ต้องรบ
แต่ตั้งแต่มีการบัญญัติคำว่า soft power ขึ้น ก็มีการถกเถียงเรื่อยมาว่า อิทธิพลทางวัฒนธรรมได้นำมาซึ่งอำนาจที่แท้จริงหรือไม่ แม้แต่ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามี soft power สูง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือสหราชอาณาจักร ก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่า พลังทางวัฒนธรรมสามารถโน้มน้าวประเทศอื่น ๆ ให้รับฟังความต้องการทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศเหล่านั้นมากขึ้น
ที่สำคัญกว่านั้น ในบริบทของประเทศไทย เมื่อกล่าวถึงการส่งเสริม soft power บ่อยครั้งที่รัฐบาลไทยเพียงหมายถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์​ (Creative economy) และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative industries)
ดังนั้น ไทยก็ควรวางยุทธศาสตร์ให้ชัด ตัดมโนทัศน์ที่ไม่จำเป็นออก และสื่ออย่างชัดเจนว่าไทยกำลังดำเนินนโยบายเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างงานและสร้างรายได้ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้รับรองการเติบโตในยุคหลังอุตสาหกรรม (post-industrial era)
2. การพัฒนาเศรษฐกิจกับการสร้างแบรนด์ประเทศที่น่าดึงดูดน่าจะต้องไปด้วยกัน
ผมขอตั้งคำถามให้ชวนคิดว่า มีประเทศไหนบ้างในโลกที่เป็นทั้ง 1) ประเทศกำลังพัฒนา และ 2) ประเทศที่มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลก ผมคิดว่ามีตัวอย่างที่น้อยมาก
ดังนั้น ผมจึงคิดว่า “Gross National Cool” กับ “GDP per capita” อาจจะเป็นสิ่งที่ไปด้วยกัน แบรนด์ของประเทศที่น่าดึงดูดต้องสร้างอยู่บนรากฐานของประเทศที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ประชาชนกินดีอยู่ดี มีความดึงดูด
ในปัจจุบัน แบรนด์ของประเทศไทยก็ขายได้ทั่วโลกแล้ว หนังหลายเรื่องได้รับความนิยมนอกประเทศ อาหารไทยโด่งดังไปทั่วโลก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็น “exception not the rule” เศรษฐกิจสร้างสรรค์จองไทยยังไปได้ไม่ไกลเท่าญี่ปุ่นและเกาหลี
แบรนด์ของไทยน่าจะไปได้ไกลกว่านี้มาก ถ้ามันมีความดึงดูดในความเป็นตัวอย่าง เป็น role model ที่ไม่ต้องอธิบาย
ในหลาย ๆ เรื่อง รัฐบาลไทยมาถูกทางแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนมากขึ้นในการสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ หากปรับยุทธศาสตร์เพื่อให้เป้าหมายชัดเจนมากขึ้น และเน้นการสร้างความแข็งแรงของแบรนด์ประเทศในภาพรวมด้วยการไม่ละเลยการพัฒนาเศรษฐกิจในมิติอื่น ๆ การสร้าง “Gross National Cool” ของประเทศไทยก็จะไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม
คัดย่อจากบทความฉบับภาษาอังกฤษ Growing Thailand's "Gross National Cool" https://www.thaienquirer.com/51759/growing-thailands-gross-national-cool/
โฆษณา