22 ก.พ. เวลา 03:29 • ปรัชญา

วันมาฆบูชา วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567

ตรงกับ วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน สาม(๓) ปีเถาะ
จันทร์เพ็ญ (ปูรณมี) เวลา 19:30 น.
มาฆบูชา หรือ มาฆปูรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันพระจันทร์เต็มดวงกลางเดือนมาฆะ
ในวันเพ็ญที่พระจันทร์เสวย “มาฆะฤกษ์” (ฤกษ์ที่ ๑๐ เป็นบูรณฤกษ์ หมวดทลิทโท) ใน “ราศีสิงห์” ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติจะเป็น “วันมาฆบูชา" หากปีใดเป็นปีอธิกมาส (มีเดือน ๘ สองหน) วันมาฆะบูชาจะตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔
ในปีนี้จันทร์เพ็ญ (ปูรณมี) ณ เวลาที่ ดวงจันทร์สถิต “ราศีสิงห์” 11 องศา 11 ลิปดา ทำมุม 180 องศากับดวงอาทิตย์ใน “ราศีกุมภ์” 11 องศา 11 ลิปดา ตรงกับ คืนวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19:30 น.*
ในด้านพุทธศาสนา.
วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ และเป็นวันหยุดราชการของประเทศไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาสี่ประการ
๑. เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” เป็นครั้งแรก
๒. พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดนั้นเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” พระพุทธเจ้าทรงบรรพชาอุปสมบทให้โดยพระองค์เอง
๔. เป็นวันเพ็ญซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์
โดยในประเทศไทย “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน ๓ ในสมัยพุทธกาล ควรประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใสศรัทธา จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัดพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น โดยมีพระราชพิธีเช่นเดียวกับพระราชพิธีในวันวิสาขบูชา
ในภายหลังพิธีมาฆบูชาจึงแพร่หลายออกไปยังประชาชนทั่วราชอาณาจักร เป็นวันสำคัญของศาสนาพุทธในประเทศไทยจวบจนทุกวันนี้
ในด้านประเพณีวัฒนธรรม กิจกรรมในวันมาฆบูชา ได้แก่การ ทำบุญ ตักบาตร ทำสังฆทาน ไหว้พระ สวดมนต์ และ มีการเวียนเทียนในตอนค่ำของวันมาฆบูชา
ในด้านโหราศาสตร์..
อาณาเขตมณฑลท้องฟ้าในโหราศาสตร์ทั้ง ๓๖๐ องศา ประกอบด้วยกลุ่มดาวนักษัตรฤกษ์ ๒๗ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีอาณาเขตมณฑลท้องฟ้า ๑๓ องศา ๒๐ ลิปดา เมื่อดวงจันทร์โคจรอยู่ในบริเวณอาณาเขตมณฑลท้องฟ้านักษัตรฤกษ์ใด จะถือว่าพระจันทร์เสวยฤกษ์นั้น
ทลิทโทฤกษ์ คือ ฤกษ์ที่ ๑ (อัศวินี) , ๑๐ (มาฆะ) , ๑๙ (มูละ) มีพระอาทิตย์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้งสี่อยู่ในราศีเดียวกันเรียกว่าบูรณฤกษ์ เป็นฤกษ์ของ “ผู้มักน้อย” ผู้ขอ ผู้มีสเน่ห์ เหมาะกับการ ”ขอให้ได้สิ่งที่ต้องการนั้น ได้มาโดยง่าย” เช่น ขอความช่วยเหลือ ขอความร่วมมือ ขอความเมตตา ขอความเป็นธรรม ขอกู้หนี้ ทวงหนี้ และ ริเริ่มสิ่งใหม่ เปิดกิจการทั่วไปที่ไม่ใหญ่โต**
ในด้านดาราศาสตร์…
วันมาฆบูชา โดยปกติเมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เต็มดวง มีตำแหน่งบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กับดาวหัวใจสิงห์ (Regulus) ในกลุ่มดาวสิงโต (Leo) ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับ กับดวงอาทิตย์ ที่มีตำแหน่งบนท้องฟ้าอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (Aquarius)
กลุ่มดาวมาฆะมีชื่อไทยว่า ดาววานร หรือ ดาวงูตัวผู้ มีดาวหัวใจสิงห์ (Regulus) เป็นดาวประธานของกลุ่มดาวมาฆะ ซึ่งเป็นกลุ่มดาวย่อยในกลุ่มดาวสิงโต (Leo)
กลุ่มดาวสิงโต (Leo) อยู่ในอาณาเขตหนึ่งในสิบสองอาณาเขตมณฑลท้องฟ้ามีระยะ 30 องศา (จักรราศี 12 ราศี รวม 360 องศา) ที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่าจากโลกของเรา ในทางโหราศาสตร์เรียกอาณาเขตมณฑลท้องฟ้าบริเวณกลุ่มดาวสิงโตนี้ว่า “ราศีสิงห์”
สรุป…. สิ่งที่เกี่ยวข้องกันระหว่าง "มาฆะฤกษ์" และ "วันมาฆบูชา" คือการกำหนดว่าวันใดคือวันมาฆบูชานั้น ในปกติจะต้องเป็นวันพระจันทร์เต็มดวงใกล้กับบริเวณกลุ่มดาวมาฆะในราศีสิงห์ ซึ่งในทางโหราศาสตร์เรียกว่า “พระจันทร์เสวยมาฆะนักษัตรฤกษ์” หรือ “มาฆะฤกษ์” ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติ หากเป็นปีอธิกมาส จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔ นั่นเอง
*ผลการคำนวณอาจแตกต่างกันในแต่ละสถานที่ ละติจูด ลองติจูด ที่สังเกต แต่ละวิธีการอาจมีผลการคำนวณคลาดเคลื่อนได้ โปรดใช้วิจารณญาณ
**การหาฤกษ์ยามที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์โหราศาสตร์ "มีหลักกฎเกณฑ์มากมาย" ผู้ที่สนใจควรปรึกษานักโหราศาสตร์ ในการคำนวนหาฤกษ์ยามที่เหมาะสมกับกิจการงานของท่าน
***ขอขอบพระคุณ คุณพระศรีรัตนตรัย คุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน และ ขอบคุณท่านผู้อ่านที่อ่านบทความจนถึงตัวอักษรนี้
โฆษณา