22 ก.พ. เวลา 04:26 • บันเทิง
บ้านมะขามป้อม

สีสันของพญานาคเชื่อมโยงกับฐานันดรหรือไม่?

ตามที่ผมได้เคยอธิบายไปว่าพญานาคเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีตัวตนจริงจากญาณทัศนะของพระอริยบุคคล(ตามอ่านได้จากบทความก่อนหน้า) วันนี้จึงจะขอมาอธิบายถึงพญานาคสี่สีสี่ตระกูลตามที่มีพรรณนาไว้ในบทพระคาถาขันธปริตรเพื่อเป็นวิทยาทาน
ในที่นี้ผู้เขียนจะขอพูดถึงนาคในจำพวกพญานาค(นาคชั้นสูง)เท่านั้น อาจรวมนาคชั้นกลางมาบ้างบางช่วงตอน ไม่มีการอ้างถึงนาคชั้นต่ำในสมการนี้ครับ โดยพญานาคในศาสนาพุทธเรานั้นถูกจำแนกด้วยสีทั้งหมดสี่สีแม่ ได้แก่ สีทอง สีเขียว สีรุ้งและสีดำดังที่เคยได้เล่าไว้ในบทความที่แล้วนั่นเอง
พญานาคในฝั่งพระพุทธศาสนาจะแยกออกเป็นสองสาย ได้แก่สายมุจลินท์(ต้นตระกูลสีทองและเขียว) และจัมเปยยะ(ต้นตระกูลสีรุ้งและสีดำ แม้กาละนาคราชก็เป็นพญานาคราชสีดำตัวแรกในพุทธศาสนาแต่เพราะไม่มีทายาทสืบสกุลจึงไม่นับรวม) แรกเริ่มเดิมทีพญานาคก็ไม่ได้มีสีสันเป็นอันมากเท่าในปัจจุบันกาล พญามุจลินท์เองว่ากันว่ามีเกล็ดกายสีเขียวอมทอง(สีผ้าถุง เหมือนพญาภูริทัตและพี่น้อง) ในขณะที่พญาจัมเปยยะมีสีขาวมะลิทั้งกายตัดกับสีดวงตาและยอดหงอนแดงกัมพล และพญาจัมเปยยะก็เป็นอดีตชาติหนึ่งของพระพุทธองค์นั่นเอง
ทายาทจากพญามุจลินท์แตกแขนงออกไปมากมาย เมื่อเหล่านางนาคมานวิกาผู้เป็นภรรยาให้กำเนิดเกิดไข่จนฟักออกมาหลายร้อยหลายพันตน จึงก่อเกิดเป็นสีทองแท้และเขียวมรกตแท้ ตามด้วยสีที่แปรผันไปตามบุญบารมีขึ้นหลายเฉดทั้งเขียวปีกแมลงทับ เขียวตองอ่อน เขียวอมฟ้า ทอง ทองแดง ทองวิไล ทองปลั่ง เงินยวง เป็นต้น
แรกเริ่มเดิมทีเหล่านาคทุกเฉดสีผู้เป็นลูกหลานของพญามุจลินท์ก็อาศัยอยู่ร่วมกันในบาดาลพิภพแลป่าหิมพานต์ มีบ้างขึ้นมาพำนักอยู่บนแผ่นดินมนุษยโลกในสมัยบุพกาล ต่อมาพวกนาคสีแร่(ทอง เงิน ทองแดง)ก็รวมตัวกันไปอาศัยที่บริเวณสระอโนดาตและเชิงเขาไกรลาส โดยขออนุญาตท้าวอินทกะที่ชื่อท้าววิรูปักข์ในการเข้าไปพำนักอาศัย
ท้าววิรูปักข์เป็นหัวหน้าเทวดาประจำทิศตะวันตก(ทรงเป็นหนึ่งในสี่เทพเจ้าจตุโลกบาล) ในเวลานั้นเมื่อได้ทำการอุปถัมป์พญานาคเหล่าสีทอง ก็ทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ปกครองเหล่านาคสีทองไปเสีย โดยหัวหน้าเหล่านาคนั้นขอนามตระกูลว่าวิรูปักข์ตามชื่อของหัวหน้าเทพประจำทิศตะวันตกนี้
ต่อมาเหล่านาคสีโทนเขียวก็อยู่กันอย่างอิสระในบาดาลและเริ่มออกท่องเที่ยวไปจนพบรักกับเวไนยสัตว์ต่างๆนานา แต่การท่องเที่ยวไปไม่พ้นสายตาของพวกครุฑจิตใจชั่วที่จ้องโฉบกินมันเหลวจากท้อง ร้อนถึงพญาสิรินาโคผู้ปกครองเมืองบาดาลในตอนนั้นต้องไปอัญเชิญท้าววิรูปักข์มาช่วยกำราบครุฑและปกป้องปวงนาคราชเขียว ในที่สุดท้าววิรูปักข์ก็ได้ชื่อว่าเป็นเทพพระเจ้าผู้ปกครองนาคทุกตนในสังสารวัฏภูมิ
1
ลูกหลานของพวกนาคสีโทนเขียวจึงมีมากในมิติซ้อนทับของอุทยานโลกมนุษย์และดินแดนแห่งบาดาลโลก เรียกขานพวกตนว่าตระกูลเอราปถะ ส่วนลูกหลานทายาทของพวกนาคสีโทนทองจึงมีมากในภูเขาหิมพานต์และสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เรียกขานพวกตนว่าตระกูลวิรูปักข์
กาลต่อมาในมิติซ้อนทับฟากชมพูทวีป ลูกหลานเหลนลื่อของจัมเปยยะนาคราชมีนับหมื่นตน แต่ละตนล้วนเป็นสีขาวเลื่อมรุ้งหรือไม่ก็เทาและดำเลื่อมรุ้งอย่างงูแสงอาทิตย์ขนาดมโหฬาร พวกลูกหลานเหลนลื่อของจัมเปยยะล้วนแล้วมีกายอันใหญ่มหึม์ เศียรโตเท่าคันไถ ดวงตาแดงก่ำเท่าไข่ห่าน มีหงอนตั้งสีแดงและล้อมกรอบไปด้วยระบายคล้ายผ้าแดงกัมพลของทหาร
ลูกหลานเหลนลื่อของจัมเปยยะนาคราชก็แตกแขนงออกไปตบแต่งได้เสียกับเหล่ามนุษย์แลนาคชั้นสูงกับนาคชั้นกลางคละเคล้ากันไปตามแต่เหตุปัจจัยแห่งบุญกรรม ในที่สุดก็ก่อเกิดเป็นกลุ่มชนนาคานาคีหลากสีสัน แม้นบางตนก็มีเป็นสิบสีในตนเดียว บางตนก็มีสีล้วนโดยเฉพาะสีดำ นาคสีนี้เป็นนาคอันใหญ่มหึมา โดดเด่น ว่ากันว่าอาจสืบทอดมาจากบรรพบุรุษเดียวกันกับบรรพบุรุษของพญานาคกาละ
นาคสีดำนี้แลมีอุปนิสัยขรึมขลัง มักอยู่สันโดษเงียบวิเวกา ชอบนอนสงบเงียบใต้ลำน้ำลึกสงบนิ่ง หากใครรบกวนจักยังไม่ทำร้ายเอาง่ายๆจนกว่าจะตบะแตกทนไม่ไหว แล้วจึงฆ่าเอาล้างเอาผลาญด้วยเปลวไฟที่พ่นออกมาจากปาก เป็นนาคราชจำพวกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่นาคทั้งมวล และเป็นที่มาของตำนานมังกรร้ายในโลกตะวันตก
ทวดของนางสนธิภาวินีนาคเทวีผู้เป็นยายแท้ๆของพญาดำคำแสนสิริจันทรานาคราชก็เป็นนาคราชในตระกูลสีดำนี้ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่าตระกูลกัณหาโคตมะ และได้รับการอุปถัมป์โดยท้าววิรูปักข์ผู้เป็นเทพเจ้าประจำทิศตะวันตกของสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาเช่นกัน นาคสีดำมักมีกำเนิดแบบเป็นไข่ เป็นตัวและเติบโตขึ้นจากกองธาตุปฏิกูล
หากถามถึงสีสันว่ามีผลต่อฐานันดรของนาคราชหรือไม่นั้น ตอบเลยว่าไม่มี ถึงมีก็น้อยมาก เพราะในภพภูมิของชาวจาตุมหาราชิกาที่กินอาณาเขตตั้งแต่บาดาลโลก โลกลับแล โลกมนุษย์ ไปจนถึงยอดเขาไกรลาสใจกลางสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา เขาวัดฐานันดรกันด้วยระบอบบุญญาธิปไตย ใครบำเพ็ญเพียรมาดีจนได้ตบะแก่กล้าหรือได้บารมีเพิ่มเติมแม้เป็นนาคในลักษณะการเกิดแบบใดหรือสีไหนก็ตาม สุดท้ายก็จะได้รับการยกย่องในหมู่นาคด้วยกันว่าเป็นผู้น่าเลื่อมใส อาทิเช่นพญาศรีสุทโธและศรีสัตตะ เกิดแบบฟองไข่ทั้งคู่ แต่บำเพ็ญเพียรบารมี
ถืออุโบสถศีลทุกๆ๑๕ค่ำ จนกระทั่งมีบุญบารมีสูง สุดท้ายก็ได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์ผู้ครองเมืองบาดาลในฝั่งไทยและฝั่งลาวตามลำดับ
(บทความนี้เขียนโดยแอดมินเพจธรรมะแฟนตาซี นาโครัตนะ โปรดขออนุญาตและให้เครดิตทุกครั้งหากนำไปเผยแพร่ มิฉะนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย)
โฆษณา