23 ก.พ. เวลา 02:02 • สิ่งแวดล้อม

พลาสติก พลาสติกและพลาสติก

สังคมไทยถูกสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหามลพิษที่เกิดจากพลาสติกมานาน เราเคยถึงขั้นรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองจากผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการกระจายถุงพลาสติกด้วยดี
ตามมาด้วยคำเสียดสีว่าที่แท้แล้วนั่นคือการลดต้นทุนและผลักภาระให้ผู้บริโภคต่างหาก
ยังดีว่าเรามีวัฒนธรรมถุงกับข้าวที่ทำจากผ้ามาตั้งแต่ยุคก่อนที่คนรุ่นเบบี้บูมเมอร์จะเกิด ดังนั้นเราจึงรณรงค์รื้อฟื้นเรื่องนี้ได้ ซึ่งก็น่าจะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกลงไปได้โขอยู่
แต่ในรัฐนิวเจอร์ซี่เรื่องกลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น หลังจากมีกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (ซึ่งก็คือแบบเดียวที่เราใช้กัน) ประชาชนที่นั่นเลยหันมาใช้ถุงพลาสติกแบบที่นำกลับมาใช้ได้อีก ส่งผลให้มีปริมาณการใช้พลาสติกในรัฐนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า [1] วัตถุดิบที่ใช้ทำถุงชนิดนี้เป็นพลาสติกชนิดที่แทบไม่มีอะไรที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้เลย ส่งผลมีการนำกลับมาผ่านขบวนการรีไซเคิลในอัตราที่ไม่มากนักในสหรัฐฯ
การแก้ปัญหาจึงกลายเป็นก่อปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน
ในระยะหลังมานี่เมื่อห้างค้าปลีกเริ่มเสนอบริการขายถุงใส่ของให้ลูกค้า ผมก็พบว่าถุงที่เสนอขายนั้นเป็นถุงพลาสติกอย่างหนา แปลว่าเราอาจจะกำลังเดินไปในทิศทางเดียวกัน
อีกแหล่งหนึ่งที่ก่อปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงและมีการกระจายกว้างขวางไม่แพ้ถุงใส่ของคือ ฝายกระสอบ ที่เอากระสอบพลาสติกมาใส่ดินหรือดินผสมปูนมากั้นน้ำ ซึ่งเป็นที่นิยมเพราะสร้างง่าย ลงทุนน้อย ทำได้ด้วยการร่วมแรงกันในท้องถิ่นชนบท
ไม่ต้องรองบประมาณราชการที่มักจะมาไม่ตรงตามเวลาที่ต้องการ
วิธีนี้เหมือนจะดี แต่พอทำๆ ไปสักพักกลับพบว่ากระสอบพลาสติกเหล่านั้นไม่ทนรังสียูวี ไม่นานก็หมดสภาพแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย นอกจากจะทิ้งเศษพลาสติกกระจายไปทั่วลำน้ำแล้ว ยังมีไมโครพลาสติกปนเปื้อนไปในชีวมณฑลแถบนั้นด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมันอยู่ในห่วงโซ่อาหารแล้ว ในที่สุดก็อาจเข้าสู่ร่างกายเราได้
ผลของไมโครพลาสติกต่อสุขภาพคือ รบกวนระบบฮอร์โมนในร่างกาย เด็กมีพัฒนาการลดลง ขัดขวางการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือด อาจก่อให้เกิดมะเร็ง และตัวมันเองก็เป็นตัวกลางนำสารพิษอื่นๆ เข้าสู่ร่างกายเรา [2]
น่ากังวลว่าความตระหนักรู้เรื่องนี้ยังกระจายไม่ทั่วถึงเหมือนเรื่องการใช้ถุงพลาสติก ในแต่ละปีเราจึงเห็นฝายกั้นน้ำประเภทนี้เกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ
พลาสติกยังอาจไปอยู่ในที่ที่เราคาดไม่ถึงอย่างเช่นในหินประเภทที่เรียกว่าหินตะกอน
ใครที่เคยเรียนธรณีวิทยาน่าจะนึกภาพออกว่ากระบวนการกำเนิดหินตะกอนนั้นต้องอาศัยเวลาเนิ่นนาน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงชีวิตมนุษย์หนึ่งคนที่อยู่ได่ไม่กี่สิบปี ซึ่งเมื่อเทียบกับการผลิตพลาสติกขึ้นมาใช้งานที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้เองเมื่อเทียบกับธรณีกาลแล้ว ทำให้นึกภาพไม่ออกเลยว่าพลาสติกจะเข้าไปอยู่ในเนื้อหินได้อย่างไร
แต่เรื่องนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว รายงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการเมื่อหลายปีก่อน [3] ได้อธิบายถึงหินชนิดใหม่ที่ผู้วิจัยเรียกว่า plastiglomerate ที่พวกเขาพบแถวหาดคามิโลบนเกาะฮาวายว่า เกิดจากมีคนมือบอนโยนพลาสติกเข้ากองไฟระหว่างที่มีกิจกรรมแคมป์ไฟบนชายหาด พลาสติกที่หลอมละลายจับตัวกับตะกอนชายหาด เศษหินภูเขาไฟและขยะอินทรีย์กลายเป็นหินในเวลาสั้นๆ
หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันมีรายงานการพบหินผสมพลาสติกนี้แล้วใน 5 ทวีป รวม 11 ประเทศ [4] โดยการเผาพลาสติกระหว่างเล่นแคมป์ไฟบนชายหาดยังคงเป็นจำเลยหลักในการสร้างหินชนิดใหม่นี้
ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ว่า ตามชายหาดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของเราจะมีหิน plastiglomerate ถูกคลื่นพาลงทะเลอยู่บ้าง
ล่าสุดมีบทความในวารสาร National Geographic ที่ระบุว่ามีการพบไมโครพลาสติกใกล้ยอดเขาเอเวอร์เรสท์ [5] ซึ่งเรื่องนี้เล่นเอางงกันทั้งบาง เนื่องจากบนนั้นไม่มีการตั้งถิ่้นฐานของมนุษย์เพราะจุดที่พบนั้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกิน 8 กิโลเมตร
จำเลยในกรณีนี้คือนักปีนเขา นักวิจัยสันนิษฐานว่าไมโครพลาสติกเหล่านั้นมาจากเสื้อกันหนาวที่ถักทอขึ้นจากเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อใช้ไปนานๆ ผ้าใยสังเคราะห์ 1 กรัมจะปลดปล่อยไมโครพลาสติก 400 ชิ้นทุกๆ 20 นาที
โลกนี้ชักอยู่ยากขึ้นทุกขณะ
อ้างอิง
โฆษณา