26 ก.พ. 2024 เวลา 11:00

สังเกต เรียนรู้ และปรับตัว เรียนรู้ทักษะการเป็นผู้นำที่ดีผ่านวิถีชีวิตของ “ยีราฟ”

การเป็นสมาชิกทีมหรือการอยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าทีมเป็นจุดเริ่มต้นเส้นทางการทำงานของคนส่วนใหญ่ ตลอดชีวิตของเรามักจะเจอกับหัวหน้าหลายรูปแบบมีทั้งหัวหน้าที่เราเคารพนับถือ อยากจะนำมาเป็นแบบอย่าง เรียกได้ว่าเป็นหัวหน้าในอุดมคติ ไปจนถึงหัวหน้าที่ “เป็นพิษ” อยากจะหนีห่างก่อนจะติดพิษจนทำลายทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
1
ทว่านั่นก็เป็นเพียงมุมมองสมัยที่ยังมีหน้าที่รับผิดชอบแค่ในส่วนของตนเองเท่านั้น เมื่อสะสมประสบการณ์จำนวนหนึ่งและเติบโตกลายเป็นรุ่นพี่ที่สามารถสอนงานรุ่นน้องได้ ไต่เต้าไปจนถึงระดับหัวหน้าที่ไม่ได้ดูแลแค่ตนเองหรือน้องคนสองคนอีกต่อไป หน้าที่รับผิดชอบที่เพิ่มมากขึ้นกลับลบภาพหัวหน้าในอุดมคติให้เลือนหาย สุดท้ายหลายๆ คนก็กลายเป็นหัวหน้าแบบที่ตนเองไม่ชอบแบบไม่รู้ตัว
เพราะการเป็นผู้นำที่ดีไม่ใช่แค่การประพฤติตามแพตเทิร์นหรือตามตำรา หลายหนมักจะเกิดเหตุการณ์ที่หัวหน้าเป็นที่รักของลูกทีม แต่กลับไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ หรือบางครั้งก็บรรลุเป้าหมายได้ แต่กลับกลายเป็นหัวหน้าที่ทุกคนเกลียด นั่นเพราะบริบทและสภาพแวดล้อมของแต่ละองค์กรแตกต่างกัน การทำตามสูตรสำเร็จไม่อาจตอบโจทย์ทุกสถานการณ์ที่หัวหน้าแต่ละคนต้องเจอ
5
เช่นนั้นแล้วจะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถขับเคลื่อนทีมไปสู่เป้าหมายได้โดยไม่กลายเป็นหัวหน้าเป็นพิษ? ต้องละทิ้งแนวทางปฏิบัติที่ส่งต่อกันมาอย่างนั้นหรือ? วันนี้ Mission To The Moon จะพาทุกคนไปเรียนรู้ทักษะการเป็นผู้นำที่ดีและมีแต่คนเคารพรักผ่านการสำรวจชีวิตของ “ยีราฟ” กัน
เรียนรู้บทบาทผู้นำกับศาสตราจารย์ยีราฟ
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องเป็นยีราฟ? เพราะเมื่อพูดถึงการเป็นผู้นำแล้วก็มักจะชวนคิดถึงสิงโตที่ถูกขนานนามว่าเป็นเจ้าป่าหรือเหยี่ยวที่ถูกขนานนามว่าเจ้าเวหา ซึ่งดูเหมาะสมกับการเป็นผู้ปกครองมากกว่า เมื่อเทียบกับยีราฟที่ดูเป็นสัตว์รักสงบไม่ค่อยสุงสิงกับใครแล้ว เราจะได้เรียนรู้อะไรจากสัตว์โลกชนิดนี้กัน?
1
1. จงมีมุมมองของผู้นำ โดยไม่ลืมมุมมองของคนทำงาน
ยีราฟเป็นสัตว์ที่สูงที่สุดในโลก ด้วยสรีระที่สูงได้ถึง 5.5 เมตรทำให้วิสัยทัศน์ของยีราฟกว้างกว่าสัตว์อื่น สายตาที่มองได้ไกลสุดขอบฟ้าสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนทีมไปถึงเป้าหมาย ประการแรกเป็นเพราะมองเห็นภาพรวมว่ามีอะไรบ้างในสภาพแวดล้อมรอบข้าง เมื่อสามารถมองเห็นได้มากกว่าก็มีโอกาสตั้งเป้าหมายได้ไกลกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า
1
ประการที่สองเป็นเพราะเส้นทางไปถึงเป้าหมายไม่ได้เป็นทุ่งหญ้าเรียบๆ เท่านั้น แต่มีนักล่าที่แฝงตัวอยู่มากมายคอยขัดขวางไม่ให้ทีมไปถึงเป้าหมายปลายทางสำเร็จ การมีมุมมองกว้างไกลจะช่วยระแวดระวังภัยไม่ให้เข้ามาสร้างผลกระทบเกินความสามารถในการรับมือ
1
ขณะเดียวกันยีราฟยังสามารถปรับมุมมองลงมาบนพื้นดินได้ เนื่องจากส่วนมากแหล่งน้ำมักจะอยู่ภาคพื้นดิน การปรับมุมมองลงมาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นอีกมุมหนึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญของการเป็นผู้นำ เพราะบางครั้งการมองแต่มุมมองภาพรวมของตนเองเพียงลำพังอาจจะทำให้ละเลยความลำบาก หรือความต้องการของภาคพื้นดินได้
2
ความสามารถในการปรับมุมมองสลับไปมาระหว่างมุมมองของผู้นำที่ต้องโฟกัสไปยังเป้าหมาย และมุมมองของคนทำงานที่ต้องเผชิญกับปัญหาโดยตรงก็เป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของผู้นำเช่นเดียวกัน
2. หมั่นสังเกต เรียนรู้ และปรับตัวอยู่เสมอ
งานศึกษาทางวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งเชื่อว่าเมื่อยุคดึกดำบรรพ์ดั้งเดิมแล้ว ยีราฟเป็นสัตว์ที่มีคอสั้นและขนาดเทียบเท่ากับสัตว์บกปกติ ทว่าเพราะต้นไม้อันเป็นแหล่งอาหารวิวัฒนาการสูงขึ้น เพิ่มหนามตามใบไม้เพื่อหนีการถูกล่า ยีราฟจึงวิวัฒนาการเพิ่มความยาวของขาและคอ ทั้งเพิ่มหนามตามลิ้นเพื่อลดการบาดเจ็บ
1
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในความเชื่อที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมของธรรมชาติ เป็นทักษะหนึ่งที่ผู้นำต้องมีเพื่อปรับตัวให้ทันตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทางไปถึงเป้าหมาย เนื่องจากหลายครั้งที่แผนที่วางมาอาจไม่เป็นไปตามนั้น การเรียนรู้และแก้ปัญหาได้รวดเร็วจึงเป็นทักษะสำคัญ
นอกจากนี้การก้มลงดื่มน้ำจากแหล่งน้ำบนพื้นดินของยีราฟนับเป็นการละทิ้งมุมมองเฝ้าระวังภัยทำให้เกราะป้องกันเปราะบางลง ความเสี่ยงที่จะถูกนักล่าจู่โจมช่วงนี้ก็มีมากขึ้น เพื่อกำจัดจุดอ่อนในช่วงเวลาอ่อนไหวอย่างค่ำหรือฟ้าสางที่มองทิวทัศน์ได้ไม่ชัดนัก ยีราฟจึงเรียนรู้ที่จะดื่มน้ำค้างที่ติดบนใบไม้ทดแทนการปล่อยให้การเฝ้าระวังภัยหละหลวม
1
เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญที่ช่วยให้ทีมสามารถสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ นั่นคือการสังเกต ทำความเข้าใจปัญหา เล็งเห็นช่องโหว่ของแผนการและพยายามคิดนอกกรอบ เพื่อเสริมเกราะปราการให้กับแผนดำเนินงานนั่นเอง
3. มีสติและความสงบภายใต้ความกดดัน
เคยเป็นไหมเมื่อลุกกะทันหันหลังจากการนั่งนานๆ แล้วเกิดอาการหน้ามืด? นั่นเป็นเพราะความดันของร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงกะทันหันจนเลือดหล่อเลี้ยงไม่ทัน แล้วเหตุใดยีราฟที่โน้มตัวลงไปจากความสูง 5 เมตรสู่ผืนน้ำบนดินถึงไม่หน้ามืดล้มตึงลงไป?
นั่นเป็นเพราะบริเวณคอของยีราฟมีอวัยวะที่คอยควบคุมการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง เรียกได้ว่ามีระบบควบคุมการไหลเวียนโลหิตที่ทำให้สามารถรับกับแรงดันที่เปลี่ยนแปลงได้ดี เป็นคุณสมบัติที่ดีของผู้นำในการมีระบบที่พร้อมรับกับความกดดันระหว่างการเดินทางสู่เป้าหมาย
แม้ว่ามนุษย์จะไม่มีอวัยวะดังกล่าว แต่เราก็สามารถสร้างทักษะทางความคิดเพื่อฝึกให้สามารถทำงานภายใต้แรงกดดันได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการคาดคะเนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหรือ ‘Risk Management’ การฝึกคิดแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด ทักษะเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นมาได้ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย
นอกจากแรงกดดันภายนอกที่อาจเกิดขึ้นแล้ว การบริหารแรงกดดันจากภายในทีมก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหมดไฟของลูกทีม หรือการกระตือรือร้นมากเกินไป การบริหารเวลา การตั้งเป้าหมายที่เกินเหตุ ทั้งหมดนี้อาจสร้างแรงกดดันภายในที่จัดการยากหากปล่อยไปถึงจุดหนึ่งก็อาจเกิดความเสียหาย ความยืดหยุ่นและการปรับตัวในสถานการณ์ไม่คาดคิดจึงเป็นจำเป็นสำหรับผู้นำมากๆ
4. ระแวดระวังและปกป้องส่วนรวม
หากเคยดูสารคดีทุ่งหญ้าเขตร้อน หลายคนมักจะคุ้นเคยกับภาพของยีราฟสองสามตัวท่ามกลางทุ่งหญ้าสีทองดูกลมกลืน เมื่อถอยออกมามองภาพกว้างขึ้นก็มักจะเห็นเหล่าม้าลายหลายสิบตัวรายล้อมยีราฟสองสามตัวนั้นเต็มไปหมด ม้าลายแต่ละตัวต่างง่วนอยู่กับธุระของตนเองกว่ายีราฟจะเงยหัวขึ้นและส่งสัญญานว่า “หนี”
เห็นได้ชัดว่าการมี “Psychological Safety” ในทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญ บทบาทของหัวหน้าหรือผู้นำไม่ต่างอะไรจากยีราฟในทุ่งม้าลาย การที่ม้าลายที่เปรียบเหมือนสมาชิกทีมสามารถทำงานของตนเองอย่างขะมักเขม้นได้นั้น จำเป็นจะต้องมีหัวหน้าหรือยีราฟที่คอยระแวดระวังภัยให้อยู่เสมอ
นอกจากนี้การประเมินว่าเมื่อไรจึงจะเป็นภัย เมื่อไรจึงควรจะรับมืออย่างไรก็เป็นทักษะสำคัญของการเป็นผู้นำ หัวหน้าที่ตื่นตูมเกินไปไม่สามารถสร้างความเชื่อใจและความปลอดภัยทางจิตวิทยาให้กับลูกน้องได้ ขณะที่หัวหน้าที่เมินเฉยต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้อื่นเพียงเพราะไม่กระทบกับตนเอง ก็ไม่อาจพาทีมไปถึงจุดหมายได้เช่นกัน เพราะนอกจากจะเสียลูกทีมให้กับภัยแล้ว ยังเสียความน่าเชื่อถือและน่าเคารพอีกด้วย
บริหารทีมด้วยการสื่อสารภาษายีราฟ
แม้หัวหน้าบางคนจะประกอบไปด้วยคุณสมบัติของผู้นำที่ดีทั้งมุมมองและการปฏิบัติ เรียกได้ว่าใครๆ ก็ยอมรับในความสามารถ แต่ถึงเวลาที่ต้องสื่อสารกับทีมกลับพบว่าไม่ค่อยมีลูกทีมคนไหนเต็มใจจะคุยด้วย หรือเมื่อคุยกับลูกทีมแล้วพบเส้นกั้นบางๆ ที่มาจากความกลัวหรือความลังเลใจบางอย่าง
หลายคนอาจจะคุ้นชินกับหัวหน้าที่ใช้คำพูดแห้งผากหรือเต็มไปด้วยคำพูดที่เรียกว่า “ตรงไปตรงมาเกินเหตุ” จนทำให้ลูกทีมกลัวที่จะสื่อสารรายงานการทำงานอย่างตรงไปตรงมา โดยเฉพาะเมื่อต้องรายงานถึงความผิดพลาด แม้ว่าจะเคารพในความสามารถของหัวหน้าคนนี้มากเท่าไรก็ไม่อาจรายงานออกไปตามตรงได้อยู่ดี
1
นั่นเป็นเพราะลูกทีมคนนั้นขี้กลัวไปเองหรือเปล่า? หรือว่านั่นเป็นสัญญานว่าทีมไม่มี “ความปลอดภัยทางจิตวิทยา” (Psychological Safety) มากพอที่จะพูดออกมา? ไม่ว่าจะเป็นคำตอบไหนก็ย่อมส่งผลเสียกับทีมเพราะนอกจากจะไม่รับรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอย่างเต็มที่แล้ว ยังพลาดโอกาสที่จะยกระดับทีมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยเช่นกัน สุดท้ายแล้วอาจจะได้เห็นภาพที่ไม่ตรงกับ ‘ความเป็นจริง’ ของสถานการณ์ภายในทีม พอรู้ตัวอีกทีปัญหาก็บานปลายยากเกินแก้ไข
ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ที่ยุ่งเหยิงเช่นนั้น การฝึกทักษะการ “สื่อสารภาษายีราฟ” จึงจำเป็น นอกจากจะฝึกให้ตนเองสามารถสื่อสารภาษายีราฟได้คล่องแคล่วแล้ว การสนับสนุนให้ทีมมีวัฒนธรรมการสื่อสารเช่นเดียวกันก็จะยิ่งส่งเสริมให้เกิด “ความปลอดภัยทางจิตวิทยา” ในทีมมากขึ้น ส่งผลให้คนกล้าคิด กล้าพูดความคิดเห็นอย่างเป็นมิตร ทำให้ทีมมีบรรยากาศช่วยเหลือกันและกันมากขึ้น
“การสื่อสารภาษายีราฟ” ดังกล่าวหมายถึง “Non-Violent Communication” (NVC) หรือการสื่อสารอย่างสันติ ซึ่งเป็นการสื่อสารที่เน้นพูดถึงความต้องการที่ตรงประเด็น ด้วยภาษาตรงไปตรงมาที่ไม่สร้างบาดแผลหรือความเจ็บปวดให้คนฟังโดยไม่ตั้งใจ มีขั้นตอนการสื่อสารเพียง 4 ขั้นตอนเท่านั้น
1. สื่อสารสถานการณ์จริงที่เห็นโดยไม่แต่งเติมมุมมองของตนเอง
เริ่มต้นด้วยการบอกสถานการณ์ออกไปตามความเป็นจริง ผ่านสิ่งที่เห็นไม่ใช่สิ่งที่คิด โดยอาจจะเริ่มจากประโยค “ฉันเห็นว่า..” เช่น นาย A ลางานบ่อยจนส่งผลกระทบกำหนดส่งงาน แทนที่จะตัดสินและตักเตือนอย่างด่วนสรุปไปว่า “ช่วงนี้ไม่มีความรับผิดชอบเลยนะ” ให้เริ่มต้นจากการสะท้อนสถานการณ์ที่เกิดขึ้นออกไปตามความจริงอย่าง “ช่วงนี้เห็นว่าส่งงานไม่ทันกำหนด” จะทำให้ผู้ฟังมองเห็นสถานการณ์เดียวกันได้ชัดเจนมากกว่า
2. บอกความรู้สึกของตนเองออกไปตามตรง
นอกจากการตระหนักเห็นสถานการณ์ภายนอกแล้ว การตระหนักถึงความรู้สึกและความคาดหวังของตนเองก็จำเป็น หลายครั้งที่ความหงุดหงิด โมโห ไม่สบอารมณ์ของเราเกิดจากความต้องการเบื้องลึกมากกว่านั้น เช่น กังวล เศร้า ผิดหวัง กลัว ดังนั้นก่อนที่จะปาอารมณ์ไม่ดีใส่ใครลองกลับมาคิดอีกครั้งว่าที่เรารู้สึกเช่นนั้นเป็นเพราะภายในใจเรารู้สึกอย่างไรจริงๆ กันแน่
3. บอกความต้องการเบื้องหลังความรู้สึกเหล่านั้น
เมื่อชี้แจงความรู้สึกออกไปแล้ว การบอกความต้องการเบื้องหลังก็จำเป็นในการทำให้ผู้ฟังเห็นภาพความคิดของคุณมากขึ้น เช่น แทนที่จะพูดว่า “คุณไม่รับผิดชอบงาน คุณทำให้ฉันผิดหวังเพราะคุณทำให้ทีมมีปัญหา” ลองเปลี่ยนเป็น “ฉันเห็นว่าคุณไม่สามารถส่งงานได้ตรงตามกำหนด ฉันรู้สึกกังวลเพราะกลัวว่าจะกระทบกับงานอื่นของทีม” เป็นต้น
4. บอกความต้องการและข้อเสนอแนะ
หลังจากที่เห็นภาพเดียวกันแล้วว่าการกระทำของเขาสร้างผลกระทบอย่างไรและสำคัญกับคุณอย่างไร ลำดับถัดมาคือการบอกว่าคุณอยากให้เขาทำอะไรเพื่อแก้ไข แทนที่จะบอกด้วยแนวทางกำกวม เช่น “อยากให้มีความรับผิดชอบกว่านี้” ลองบอกความต้องการที่ชัดเจนพร้อมข้อเสนอให้เขาลองทบทวนหาทางแก้ไขไปด้วยกัน เช่น “ฉันต้องการให้คุณพึ่งพาทีมมากขึ้น เช่น ขอให้ทีมช่วยงานตั้งแต่เนิ่นๆ” เป็นต้น
ทั้งมุมมองและการปฏิบัติ ไปจนถึงการสื่อสารภาษายีราฟไม่จำเป็นจะต้องถูกจำกัดเฉพาะบทบาทของหัวหน้าเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้วทุกคนสามารถเป็นผู้นำตนเองได้โดยไม่ต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำแต่อย่างใด คนที่เป็นผู้นำที่แท้จริงคือคนที่แสดงตนออกมายามสถานการณ์ต้องการนั่นเอง
ที่มา
- How to Lead Like a Giraffe: Jonathan Catherman, LeaderinMe - https://bit.ly/3UBd4yU
- Think Like A Giraffe: Roberson, Russell, ASQ - https://bit.ly/3SzFqa6
- GIRAFFES AROUND THE WORLD: The Center For Nonviolent Communication (CNVC) - https://bit.ly/3Szr5KD
1
#selfdevelopment
#leadership
#giraffelanguage
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา