26 ก.พ. 2024 เวลา 02:30 • ธุรกิจ

Wright Company บริษัทเครื่องบิน ของพี่น้อง ตระกูลไรต์ ที่ล้มเหลวใน 7 ปี

“คนสำเร็จ ใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป” เป็นคำพูดที่ตรงกับเรื่องที่ลงทุนแมนจะเล่า ได้เป็นอย่างดี
1
เรารู้กันดีว่า สองพี่น้องตระกูลไรต์ เป็นคนประดิษฐ์เครื่องบินได้สำเร็จครั้งแรกของโลก แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า หลังจากนั้นทั้งคู่กลับล้มเหลวในทางธุรกิจ..
เพราะเมื่อก่อตั้งบริษัทเครื่องบินได้เพียง 7 ปี
ออร์วิล ไรต์ ได้ขายบริษัททิ้งจากมรสุมธุรกิจ เมื่อเข้ารับตำแหน่งประธาน หลังจากวิลเบอร์ ผู้เป็นพี่ชายเสียชีวิต
ซึ่งปัจจุบัน เจ้าของบริษัทนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
แต่คือ Lockheed Martin บริษัทขายอาวุธสงคราม
ที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้แทน
3
ทำไมทั้งคู่ถึงล้มเหลวกับธุรกิจเครื่องบิน
ทั้งที่สร้างเครื่องบินได้สำเร็จเป็นคนแรก ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
1
จุดเริ่มต้นของสองพี่น้อง ออร์วิลและวิลเบอร์ ไรต์
ที่มาสนใจเครื่องบิน คือ การซ่อมเฮลิคอปเตอร์ของเล่นที่พังในวัยเด็ก จนกลับมาเล่นได้อีกครั้ง
แต่เครื่องบินก็ไม่ได้เป็นธุรกิจแรกที่ทั้งสองคนทำ เพราะหลังจากนั้น ทั้งคู่เริ่มทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ ก่อนจะหันมาเปิดร้านซ่อมจักรยานเล็ก ๆ
ซึ่งวันหนึ่งในขณะที่ทั้งคู่เห็นข่าวความพยายาม ในการสร้างเครื่องบินครั้งแรก ทำให้ทั้งคู่อยากทำความฝันในวัยเด็กให้สำเร็จอีกครั้ง และลงมือทำมัน
แม้ในช่วงแรก การทดลองเครื่องบินนั้นจะมีความท้าทายเป็นอย่างมาก ทั้งอันตรายถึงชีวิต แถมยังต้องถูกเยาะเย้ยจากเพื่อนบ้าน เมื่อพยายามสร้างเครื่องบินซ้ำ ๆ แต่ไม่สำเร็จ
แต่ในที่สุด พี่น้องตระกูลไรต์ก็พัฒนาเครื่องบินได้สำเร็จ จนสามารถบินไปแสดงในสถานที่ต่าง ๆ และได้รับเงินรางวัลมากมาย
1
ทั้งคู่จึงไม่รอช้า ที่จะจดสิทธิบัตรเครื่องบินของตัวเอง และเปิดบริษัทผลิตเครื่องบินรายแรกของโลก ในปี 1909 ชื่อว่า Wright Company
1
และน่าสนใจตรงที่ทั้งคู่ขายสิทธิบัตรให้กับบริษัทตัวเอง ในราคา 3.6 ล้านบาท พร้อมเงื่อนไขต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ 10% ของเครื่องบินทุกลำที่ขายได้ ให้กับพวกเขา
3
แต่ก็ดูเหมือนว่า ทั้งคู่จะเป็นนักประดิษฐ์ ที่หวงแหนสิทธิบัตรของตัวเอง มากกว่าการเป็นนักธุรกิจ ที่มุ่งขายเครื่องบินของบริษัทตัวเองไปทั่วโลก
ซึ่งช่วงแรก ปัญหาธุรกิจก็เริ่มเกิดขึ้นจริง ๆ เมื่อบริษัทมีลูกค้าน้อยมาก จนต้องไปหาเงินจากการประกวดเครื่องบิน พร้อมกับเปิดธุรกิจโรงเรียนสอนการบินขึ้นมาอีกแห่ง
1
อย่างไรก็ตาม ต่อมาบริษัทได้สัญญาจากกองทัพสหรัฐฯ เพื่อผลิตเครื่องบินรบ ซึ่งถือเป็นคำสั่งซื้อที่เยอะครั้งแรก หลังก่อตั้งบริษัทมา 4 ปี จึงช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ
1
แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหาอีกจนได้ เมื่อเครื่องบินของบริษัทมีปัญหา จนนักบินของกองทัพสหรัฐฯ เสียชีวิต
1
ซึ่ง Wright Company ก็ไม่ยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของเครื่องบินจากบริษัท ซ้ำร้ายยังตอบโต้กลับไปว่า เป็นความผิดพลาดของนักบินเอง..
อีกทั้งพี่น้องตระกูลไรต์ ก็ไม่ได้สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นมากนัก เพราะไปสนใจกับคดีความที่ฟ้องร้องกับบริษัทอื่น
เพื่อปกป้องสิทธิบัตรของตัวเองมากกว่า
สุดท้ายแล้ว กองทัพสหรัฐฯ ก็ยกเลิกสัญญา และหันไปหาผู้ผลิตเครื่องบินรายอื่นแทน
1
บริษัทที่ว่านั้น คือ Boeing ซึ่งเพิ่งก่อตั้งได้ไม่นาน แต่สามารถผลิตเครื่องบินทะเล เพื่อป้อนให้กับกองทัพสหรัฐฯ ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้พอดี
1
ส่วน Wright Company ไม่ได้สูญเสียแค่คำสั่งซื้อมหาศาลเท่านั้น แต่วิลเบอร์ ไรต์ ประธานบริษัทก็ได้เสียชีวิตลงในช่วงเวลาเดียวกันอีก
ทำให้ออร์วิล ไรต์ ผู้เป็นน้องชาย ต้องขึ้นมาบริหารงานแทน
แต่ด้วยมรสุมธุรกิจที่รุมเร้า ทำให้น้องชาย ตัดสินใจขายบริษัทที่ก่อตั้งกับพี่ชายทิ้งแทน..
1
ซึ่งบริษัทที่มาซื้อกิจการของ Wright Company ต่อ
คือ Glenn L. Martin Company และต่อมาก็กลายเป็น Marietta Corporation บริษัทผลิตยานอวกาศ, จรวด และขีปนาวุธ
2
จนในที่สุด บริษัท Marietta ก็ควบรวมกับบริษัทเครื่องบิน Lockheed กลายมาเป็นบริษัท Lockheed Martin บริษัทขายอาวุธสงครามที่ใหญ่ที่สุดในโลก
1
อย่างไรก็ตาม Boeing ที่เข้ามาแย่งลูกค้าจาก Wright Company ยังได้รับสัญญาผลิตเครื่องบินและอาวุธให้กับกองทัพสหรัฐฯ มาโดยตลอด
1
จนกระทั่ง Boeing มีปัญหาเรื่องสัญญากับกองทัพ ทำให้ Lockheed Martin ได้สัญญาแทน แถมขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในการค้าอาวุธของสหรัฐฯ ไปในทันที
3
เรื่องนี้ดูเหมือนการฉายหนังซ้ำ เพราะ Boeing ที่แย่งลูกค้ามาจาก Wright Company สุดท้าย Boeing ก็เสียลูกค้าคนสำคัญ ให้กับบริษัทเจ้าของ Wright Company อีกที
1
และปัจจุบัน Lockheed Martin ก็ไม่ได้ขายให้กับกองทัพสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังขายเครื่องบินรบ พร้อมอาวุธสงครามไปทั่วโลก
1
หากไปดูรายได้และกำไร ในช่วงที่ผ่านมาของ Lockheed Martin จะพบว่า
ปี 2022
รายได้ 2,377,271 ล้านบาท
กำไร 206,512 ล้านบาท
ปี 2023
รายได้ 2,434,447 ล้านบาท
กำไร 249,313 ล้านบาท
1
จากตัวเลขผลประกอบการ บอกได้ว่า บริษัทยังทำเงินได้มหาศาล ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคสมัย เพราะสงคราม มักอยู่คู่กับความขัดแย้งของมนุษย์ ที่ไม่มีวันจบสิ้นเสียที แม้จะผ่านไปนานสักแค่ไหน..
ถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า ทำไมพี่น้องตระกูลไรต์ ที่เก่งจนถึงขั้นผลิตเครื่องบินออกมาได้ แต่กลับล้มเหลวในการต่อยอดธุรกิจ เพื่อขายเครื่องบินให้คนทั่วโลกได้ใช้
ก็น่าคิดต่อเหมือนกันว่า หากวันนั้น พี่น้องตระกูลไรต์ สามารถบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม และทุ่มเทใส่ใจกับธุรกิจของตัวเอง มากกว่าการปกป้องสิทธิบัตรเครื่องบินที่ตัวเองมีอยู่
1
วันนี้ เราคงอาจได้นั่งเครื่องบินของ Wright นอกเหนือจาก Boeing หรือ Airbus ที่ครองตลาดทั่วโลก จนแทบจะผูกขาด แบบตอนนี้..
2
โฆษณา