Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
dandelion
•
ติดตาม
25 ก.พ. เวลา 06:14 • การเมือง
สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย)
นโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบแก้ได้จริงไหม? ชวนสำรวจนโยบายแก้หนี้นอกระบบจากรัฐบาลแต่ละชุดกัน
ผ่านมาราว 5 เดือนแล้วสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนรัฐบาลครั้งแรกตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด 19 และนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาอยู่
ถึงแม้ว่านโยบายนี้ไม่ได้เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่ขณะนี้มีการแก้ปัญหาเบื้องต้นผ่านโครงการลงทะเบียนหนี้นอกระบบ โดยเปิดให้ประชาชนที่ประสบปัญหาหนี้นอกระบบลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดยยอดของประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วประมาณ 140,000 ราย มูลหนี้รวม 9,800 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 21,000 ราย หรือคิดเป็น 57% ของจำนวนลูกหนี้ที่เข้าสู่ระบบ มูลหนี้ลดลง 670 ล้านบาท (ข้อมูลวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567)
แม้ว่ารัฐบาลชุดก่อนหน้ามีนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาหนี้นอกระบบยังคงเป็นปัญหาที่อยู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน บทความนี้จึงชวนให้มาสำรวจนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของแต่รัฐบาลแต่ละชุดกัน
เริ่มต้นด้วยนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลเศรษฐา ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ต้องแก้ไขผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดโควิด 19
นายกเศรษฐา ทวีสิน
รัฐบาลเศรษฐากำหนดการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ รวมไปถึงการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ผ่านธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยช่องทางการช่วยเหลือ มีดังนี้
●
การเปิดในลงทะเบียนหนี้นอกระบบจากกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 ระหว่างเวลา 06.00 – 23.00 น.
●
สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนความเดือดร้อนปัญหาหนี้นอกระบบได้
จากนั้นข้อมูลต่าง ๆ จะถูกดึงเข้าระบบ และส่วนกลางจะทำหน้าที่แยกประเภทการร้องเรียนอีกครั้ง ก่อนจะส่งให้เจ้าหน้าที่จัดการและดูแลทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ โดยวิธีการไกล่เกลี่ยจะมีดังนี้
●
การทำสัญญาประนีประนอมตามฟอร์มที่กระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมไว้ให้
●
การกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะเวลาและงวดผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสมกับศักยภาพของการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย
หากยังพบปัญหาที่ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ทำตามข้อตกลงด้านบนไม่ได้ จะมีการเชิญลูกหนี้และเจ้าหนี้มาแก้ไขข้อตกลงกันอีกครั้ง หรือหากพบการข่มขู่จากเจ้าหนี้เป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องเร่งรัดใช้กฎหมายต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลประยุทธ์เป็นการแก้ไขปัญหาเชิงบูรณาการ
อดีตนายก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
รัฐบาลประยุทธ์มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ โดยการมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนเป็นหน่วยงานหลัก ในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีแนวคิดให้ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ โดยมีการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนี้
●
การเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
●
การประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ ผ่าน “หน่วยแก้หนี้นอกระบบ” ของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
●
พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ
●
การปรับโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์เปลี่ยนจากหนี้นอกระบบให้เป็นหนี้ในระบบ และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดที่รัฐบาลเปิดให้เจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบดำเนินธุรกิจสินเชื่ออย่างถูกกฎหมายผ่านระบบพิโกไฟแนนซ์
●
การฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้นอกระบบ โดยการฟื้นฟูอาชีพ การปลูกฝังความรู้เรื่องวินัยการเงิน และการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
●
การสนับสนุนองค์กรการเงินของชุมชน โดยรัฐบาลจัดการพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินของชุมชนเพื่อทดแทนหนี้นอกระบบ และการจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบเพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนานโยบายหนี้นอกระบบต่อไป
จากผลการดำเนินงาน พบว่า สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับทรัพย์สินคืน 2.5 หมื่นคน สามารถจำกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ทวงหนี้โดยวิธีการที่ผิดกฎหมายประมาณ 6 พันคน และมียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมในระบบพิโกไฟแนนซ์ประมาณ 2.7 แสนบัญชี รวมเป็นจำนวนประมาณ 7 ล้านบาท
รัฐบาลอภิสิทธิ์และการแก้หนี้นอกระบบโดยตรงภายใต้นโยบาย “การลงทะเบียนหนี้นอกระบบ” โดยอาศัยความร่วมมือจากชุมชนเพิ่มมากขึ้นจากรัฐบาลชุดเก่า
อดีตนายก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
รัฐบาลอภิสิทธิ์มอบหมายให้กระทรวงการคลังประสานความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงยุติธรรม ภายใต้นโยบาย “การลงทะเบียนหนี้นอกระบบ” นอกจากนี้ นโยบายนี้อาศัยความร่วมมือของผู้คนในชุมชนมากขึ้น เช่น โครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน (โครงการหมอหนี้) เป็นโครงการฝึกอบรมอาสาสมัครซึ่งเป็นบุคคลที่เป็นที่ยอมรับในชุมชนให้มีความรู้พอที่จะไปให้คำแนะนำแก่ประชาชนในชุมชนในเรื่องการบริหารจัดการหนี้ครัวเรือน โดยนโยบายการลงทะเบียนหนี้นอกระบบมีการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา ดังนี้
1.
รับลงทะเบียนหนี้นอกระบบที่มียอดคงค้างไม่เกิน 2 แสนบาท ผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธกส.)
2.
ประมวลผล คัดกรอง จัดประเภทลูกหนี้ และสรุปยอดลูกหนี้นอกระบบ
3.
เจรจาและประนอมหนี้เพื่อนำลูกหนี้เข้าสู่ในระบบ โดยลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์จะได้สินเชื่อของธนาคารภายใต้นโยบายนี้
4.
กรณีลูกหนี้มีคุณสมบัติไม่ผ่านหลักเกณฑ์จะมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้อีกครั้ง หากยังไม่สำเร็จจะมีโครงการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพให้มีความเข้มแข็งและสามารถสร้างรายได้ที่มั่นคงต่อไป
ผลการดำเนินงาน สรุปได้ว่า มีผู้มาลงทะเบียน 1.2 ล้านคน รวมมูลค่าหนี้นอกระบบ 1.23 แสนล้านบาท เกิดการเจรจาประนอมหนี้สำเร็จ 6 แสนคน เจรจาไม่สำเร็จ 1.8 แสนคน และยุติเรื่องไป 3.4 แสนคน
1 ใน 3 นโยบายที่สำคัญของรัฐบาลทักษิณ คือ นโยบาย “การลงทะเบียนคนจน”
อดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร
แม้ว่าชื่อนโยบาย คือ การลงทะเบียน “คนจน” แต่เป้าหมายของนโยบาย คือ การลดจำนวนมูลหนี้ของลูกหนี้ทั้งในและนอกระบบเพื่อให้ประชาชนมีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น โดยนโยบายนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการการสร้างฐานข้อมูลผู้มีหนี้นอกระบบ ซึ่งเกือบร้อยละ 50 (2.65 ล้านคน) เป็นเกษตรกร โดยรัฐบาลชุดนี้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ผ่านการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ” (ศตจ.) โดยมีการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา 5 แนวทาง คือ
1.
การลงทะเบียนผู้ประสบปัญหา
2.
การเจรจายุติระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้
3.
การโอนหนี้นอกระบบเข้าสู่ในระบบ
4.
พัฒนาแหล่งทุนในพื้นที่ผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง
5.
พัฒนาอาชีพผ่านโครงการอื่น ๆ ของรัฐ โดยเฉพาะโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
จากผลการดำเนินงาน จึงสรุปได้ว่า รัฐบาลทักษิณขึ้นทะเบียนคนจน 5.3 ล้านคน รวมมูลค่าหนี้ 5.12 แสนล้านบาท และสามารถช่วยเหลือผู้ที่มีหนี้นอกระบบได้ 1.76 ล้านคน คิดเป็นมูลหนี้ 1.4 ล้านบาท และมีผู้เจรจาแก้ปัญหาไม่สำเร็จร้อยละ 0.3 ของจำนวนทั้งหมด
ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่รัฐบาลหลายชุดพยายามแก้ไขมาตลอดและจากงานวิจัยของดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล รายงานว่า
มีเพียงนโยบายของสมัยรัฐบาลทักษิณและรัฐบาลอภิสิทธิ์เท่านั้นมีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีความเป็นธรรมที่สุด เพราะหลังจาการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแนวทางการดำเนินงานไม่ต่างจากนโยบาลของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา
งานวิจัยของดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล
แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมองว่าปัญหาหนี้นอกระบบไม่ว่ามาจากนโยบายของรัฐบาลชุดไหนยังไม่สามารถแก้ไขต้นตอของปัญหาได้เลย เนื่องจากนโยบายที่ผ่านมามุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อาทิ การประนอมหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ การเพิ่มโทษให้เจ้าหนี้ที่มีการข่มขู่ทำร้ายลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้
ดังนั้น การเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำอาจส่งผลให้ลูกหนี้สามารถบริหารจัดงานเงินที่มีอยู่ได้ดีขึ้น ทำให้พวกเขามีสภาพคล่องการทางเงินมากขึ้น มีเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายง่ายขึ้น สุดท้ายจึงทำให้หนี้สินของพวกเขาลดน้อยลงได้
นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีแนวโน้มแก้ไขปัญหาได้จริง คือ การแยกแยะความแตกต่างของลูกหนี้ เพราะลูกหนี้เป็นหนี้หลากหลายทาง นโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจึงควรมีการแบ่งประเภทของลูกหนี้และให้ความช่วยเหลือเป็นกรณีอาจสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้
สุดท้ายแล้ว แม้ว่ากระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการปัญหาหนี้ในระบบและนอกระบบ แต่การจัดตั้งหน่วยงานแก้ปัญหาหนี้สินประชาชนขึ้นมาโดยเฉพาะหรือการกำหนดนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลบางชุดที่อาศัยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย ทำให้การแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชนยังขาดความต่อเนื่อง เพราะยังขาดหน่วยงานหลักในการแก้ไขปัญหา บางหน่วยงานจึงอาจจัดการปัญหาเฉพาะช่วงที่รัฐบาลชุดนั้น ๆ ดำรงตำแหน่ง แต่เมื่อเปลี่ยนสมัยรัฐบาล ปัญหาหนี้สินของประชาชนที่เคยจัดการกลับถูกเมินเฉยไป
การดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในหลายหน่วยงานทำเฉพาะช่วงเวลาที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายเท่านั้น และสุดท้ายภารกิจนั้นก็กลายเป็นเพียงงานฝากหรือยุติภารกิจเมื่อนโยบายผ่านไป
ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลเศรษฐาจึงน่าจับตามองเป็นอย่างมากว่าจะสามารถแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างมีประสิทธิผลและแก้ปัญหาระยะยาวได้หรือไม่
ข้อมูลอ้างอิง
★
www.bbc.com/thai
★
www.thaipbs.or.th
★
www.unsplash.com
★
งานวิจัย เรื่อง หนี้นอกระบบกับความเป็นธรรมทางสังคม โดยสุรางค์รัตน์ จำเนียรผล
★
งานวิจัย เรื่อง การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ช่วงเวลาปี พ.ศ.2557-2561 โดยนวลผจง ทรงรัตนพันธุ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.อนงทิพย์ เอกแสงศรี
บทความ จาก นักศึกษาฝึกงานไทยพีบีเอส
การเมือง
หนี้นอกระบบ
ข่าวรอบโลก
บันทึก
1
3
1
3
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย