27 ก.พ. 2024 เวลา 12:00 • การตลาด

วิเคราะห์เทรนด์ หม่าล่า ในมุม Data ด้วย Google Trends

Google Trends คือ เครื่องมือที่ใช้สำรวจความนิยมของคีย์เวิร์ดที่คนใช้ค้นหาบนเว็บไซต์ Google ในช่วงเวลาที่กำหนดได้
ที่น่าสนใจคือ “ใช้ฟรี” เพียงเซิร์ชว่า Google Trends ในเว็บไซต์ Google ก็ใช้งานได้เลย
1
ความสามารถเด่น ๆ ของ Google Trends ยกตัวอย่างเช่น
- ดูความนิยมของคำค้นหานั้น ๆ ในแต่ละช่วงเวลา โดยสามารถใช้ Google Trends เปรียบเทียบความนิยมแต่ละคีย์เวิร์ดได้สูงสุด 5 คีย์เวิร์ด
- ดูเทรนด์มาแรง (Trending Now) จะบอกคีย์เวิร์ดที่มีการค้นหามากที่สุด ทั้งแบบรายวันและแบบเรียลไทม์
- สามารถบอก “คำค้นหาที่เกี่ยวข้อง” ช่วยให้รู้ว่าลูกค้าสนใจอะไรอีกบ้าง ที่มีความเกี่ยวข้องกับคำค้นหาที่เราใส่ไป
- และ “หัวข้อที่เกี่ยวข้อง” ช่วยให้รู้ว่าลูกค้าใช้คีย์เวิร์ดอะไรในการค้นหาบ้าง โดยเราอาจจะเลือกคีย์เวิร์ดเหล่านี้ไปต่อยอดการทำคอนเทนต์ให้คนค้นหาเจอ หรือใช้ในเชิงการตลาดต่อได้
ทีนี้เรามาดูตัวอย่างการใช้งานจริง ๆ
โดยวันนี้ MarketThink จะเอาคีย์เวิร์ดคำว่า “หม่าล่า” มาวิเคราะห์ด้วย Google Trends ให้ดูเป็นข้อ ๆ
Trend #1 : ภาพรวมเทรนด์ หม่าล่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
ต้องอธิบายก่อนว่า กราฟที่เห็นนี้ ไม่ได้บอก จำนวนการค้นหา แต่บอกเป็น “ระดับความสนใจ” ภายในกรอบเวลาที่ตั้งค่าไว้
โดยความหมายของตัวเลขสเกล 0-100 ก็คือ
- 100 หมายถึง ณ เวลานั้นมีการค้นหาคีย์เวิร์ดสูงสุด ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้
- 50 หมายถึง ณ เวลานั้นมีการค้นหาเป็นครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับจุดสูงสุดของความสนใจ ในช่วงเวลาที่กำหนดไว้
- 0 หมายถึง ณ เวลานั้นไม่มีการค้นหาเลย หรือมีข้อมูลไม่เพียงพอ
จะเห็นว่าในกรอบเวลาช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ระดับความสนใจของคำว่า หม่าล่า บน Google เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลาย ๆ ปี 2022
โดยมีจุดสูงสุดของความสนใจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือช่วงต้น ๆ ถึงกลาง ๆ เดือนกรกฎาคม ปี 2023
1
ช่วงนั้นถ้ายังจำกันได้ สุกี้จินดา กำลังได้รับความนิยม เป็นอย่างมาก
ซึ่งหากเราลองนำคำว่า สุกี้จินดา ไปค้นหาใน Google Trends
จะพบว่า ความนิยมของ สุกี้จินดา บน Google เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้น ๆ ปี 2023 และอยู่ในจุดสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคม
หลังจากนั้น คำว่า สุกี้จินดา ก็เริ่มมีการค้นหาที่ลดลงเรื่อย ๆ
สวนทางกับคำว่า หม่าล่า ที่มีการค้นหาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ถ้าให้วิเคราะห์เหตุผลตรงนี้ อาจจะบอกได้ว่า พอเทรนด์หม่าล่าถึงจุดพีก ตอนนั้นมีหลากหลายแบรนด์ร้านหม่าล่าเข้ามาแข่งขันในตลาด
ผู้บริโภคอาจเริ่มมองหาแบรนด์ใหม่ ๆ ในตลาดหม่าล่า และไม่ได้ยึดติดอยู่กับแค่ สุกี้จินดา เพียงแบรนด์เดียว
และถ้าให้สรุปโดยอ้างอิงตามข้อมูลจาก Google Trends จนถึงตอนนี้
1
จะพูดได้ว่าตอนนี้เทรนด์หม่าล่าในไทย เลยจุดพีกไปแล้ว
แต่ความนิยมของคำว่า หม่าล่า ยังถือว่าสามารถทรงตัวอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
Trend #2 : คำค้นหา หม่าล่า VS หมาล่า
ที่น่าสนใจคือ คนไทยสะกดไม่เหมือนกัน โดยมีทั้ง “หม่าล่า” และ “หมาล่า”
เนื่องจากเป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาจีนคือ Málà ทำให้เมื่อมีการนำคำนี้มาสะกดเป็นภาษาไทย จึงมีการสะกดไม่เหมือนกัน จากการเพี้ยนของเสียง
โดยภาคที่นิยมสะกดคำว่า หม่าล่า มากกว่า คือ
ภาคเหนือ, ภาคอีสานตอนบน และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
1
ส่วนภาคที่นิยมสะกดคำว่า หมาล่า มากกว่า คือ
ภาคกลาง, ภาคใต้ และภาคอีสานตอนกลาง
ยกตัวอย่างเช่น
- คนกรุงเทพมหานคร นิยมใช้คำค้นหาว่า หม่าล่า (51%) มากกว่า หมาล่า (49%)
- คนบุรีรัมย์ นิยมใช้คำค้นหาว่า หมาล่า (61%) มากกว่า หม่าล่า (39%)
แล้วนักการตลาด หรือเจ้าของธุรกิจร้านหม่าล่า จะใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ได้อย่างไร ?
ต้องบอกว่าเรื่องนี้อาจเกี่ยวข้องกับ SEO
ตัวอย่างการใช้งานง่าย ๆ หากเราทำธุรกิจร้านหม่าล่าที่จังหวัดบุรีรัมย์ การทำโฆษณาบนโลกออนไลน์ก็ควรใช้คำว่า หมาล่า มากกว่า หม่าล่า นั่นเอง..
และปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจของประเด็นนี้
คือถ้าอ้างอิงความถูกต้อง ตามสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ระบุว่า คำทับศัพท์ของคำว่า Málà คือ “หมาล่า”..
แต่ในคอนเทนต์นี้ MarketThink ขอใช้คำว่า หม่าล่า เป็นคำหลักในการนำเสนอ ตามความนิยมของคนกรุงเทพมหานคร
1
Trend #3 : แบรนด์ ร้านหม่าล่า ยอดนิยม
ทีนี้แล้วตลอดช่วง 3 ปีมานี้ คนไทยพูดถึงหม่าล่าแบรนด์ไหนมากที่สุด ?
ถ้าอ้างอิงตาม Google Trends คำค้นหาที่เกี่ยวข้องกับคำว่า หม่าล่า และ หมาล่า 5 อันดับแรก
ปรากฏว่ามีชื่อ 2 แบรนด์ที่ติดอันดับคือ
- สุกี้จินดา
- อี้จาสุกี้หม่าล่า
2 แบรนด์นี้ ที่คนนึกถึงเวลาค้นหาคำว่า หม่าล่า หรือ หมาล่า มีความเหมือนกันคือ เป็นแบรนด์ที่ขายเป็นรูปแบบ “สายพาน”
แถมเป็นร้านที่เน้นขายสินค้าในราคาเริ่มต้นที่ถูก และสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ในระดับ Mass
เทียบกับร้านอาหารประเภทหม่าล่าระดับพรีเมียม ที่ไม่ติดอันดับแรก ๆ ของการค้นหา
Trend #4 : หม่าล่า ฮิตแค่ไหน ถ้าเทียบกับอาหารยอดนิยมอื่น ๆ ของคนไทย ?
ถ้าอ้างอิงข้อมูลคำค้นหาจาก Google Trends
จะเห็นว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าหม่าล่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นแบบก้าวกระโดด
แต่คะแนนความนิยมก็ยังคงสู้คำค้นหา อย่าง “ชาบู” “สุกี้” และ “หมูกระทะ” ไม่ได้อยู่ดี
ถ้าให้วิเคราะห์เหตุผล ก็อาจเพราะว่า กระแสความนิยมหม่าล่าช่วงที่ผ่านมา อาจยังกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม เช่น ในกรุงเทพมหานคร
1
ส่วน ชาบู สุกี้ และ หมูกระทะ ที่ได้คะแนนความนิยมของคำค้นหาสูงกว่า เมื่อเทียบกับคำว่าหม่าล่า เพราะน่าจะเป็นที่นิยมในระดับประเทศไปแล้ว..
ซึ่งหากให้เปรียบเป็นกลยุทธ์การตลาด ก็อาจเปรียบได้ว่า
ชาบู หมูกระทะ เป็น Mass Market
และ หม่าล่า ยังเป็น Niche Market นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ คือการวิเคราะห์เทรนด์ หม่าล่า ในมุม Data ด้วย Google Trends โดย MarketThink
ซึ่งต้องหมายเหตุชัด ๆ อีกทีว่า
ข้อมูลเทรนด์ความนิยมทั้งหมดนี้ เป็นแค่เพียงข้อมูลจาก “คำค้นหาใน Google”
หมายความว่า เทรนด์ที่เราวิเคราะห์กันนี้ อาจไม่สามารถสะท้อนความเป็นจริงได้แม่นยำ 100%
แต่อย่างน้อย ก็จะพอให้เราเห็นภาพรวมความนิยมของคำว่า หม่าล่า
ซึ่งก็น่าจะช่วยเป็นไอเดียให้เราไปต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเรื่องธุรกิจ หรือการตลาด..
โฆษณา