28 ก.พ. เวลา 10:11 • หนังสือ

Hidden Potential: Failed Perfectionist

ผมได้อ่านหนังสือ Hidden Potential ของ Adam Grant แล้วคิดว่านี่เป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดของเขา ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเขาตกผลึกสิ่งที่เขาพบเจอด้วยตัวเอง และที่ได้รับรู้ตลอดมา และหนึ่งในเรื่องที่เขาพูดถึงคือเรื่องของคนที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบ
คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า คนที่แสวงหาความสมบูรณ์แบบน่าจะดี เก่ง และประสบความสำเร็จ แต่งานวิจัยหลายชิ้นกลับพบว่า perfectionist กลับไม่ได้ประสบความสำเร็จดีกว่าคนทั่วไปเลย กลับกันคนที่้เรียนไม่ได้ดีมาก ไม่ได้รางวัลมากมายสมัยเรียน กลับมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าเสียอีก
เขาเริ่มจากเล่าให้ฟังว่า เขาเคยคิดที่จะเป็นนักกีฬากระโดดน้ำ และต้องการที่จะกระโดดให้ได้ดี ให้ได้คะแนนมากๆ แต่ด้วยความที่มัวแต่จะคิดอย่างนั้นจึงเอาแต่พยายามกระโดดท่ายากๆ แต่พอกลัวว่าจะได้คะแนนไม่ดี ก็กังวลการจัดท่าของตัวเองจนไม่กระโดดเสียที
พอโค้ชของเขาบอกให้เปลี่ยนวิธีคิดว่าไม่ต้องรีบทำให้ดี ให้กระโดดๆ ไป และเขาจะคอยให้คะแนนไปเรื่อยๆ ถ้ากระโดดท่าง่ายๆ ก็ขอให้ได้สัก 6 ก็พอ
ถ้ากระโดดท่ายากมากๆ ขอให้ได้เกิน 0 ก็พอ พอเริ่มจากกล้าที่จะลอง โดยที่ไม่ต้องหวังให้สมบูรณ์แบบตั้งแต่แรก เพียงแค่ตั้งเป้าที่ “improvement” มากกว่า “perfection” กลับทำให้เขากล้าที่จะลองการกระโดดในรูปแบบต่างๆ และค้นพบจุดอ่อน และปัญหาของตัวเอง ค่อยพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
2
พอย้อนกลับมา มีหลายๆ เรื่องที่ทำให้เขาตกผลึกได้ว่า สาเหตุที่ perfectionist ไม่ค่อยประสบความสำเร็จมีหลายข้อด้วยกัน เช่น
1. โลกไม่ใช่การทำโจทย์ข้อสอบ ข้อสอบไม่ได้มีข้อสอบเดียว ไม่ได้มีเวลาไม่จำกัด โลกความจริงมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ ต้องจัดลำดับความสำคัญ ต้องใข้เวลาให้มีคุณค่ามากที่สุด คนที่มัวแต่ไปทำสิ่งหนึ่งให้สมบูรณ์แบบมักจะใช้เวลามากไปกับเรื่องๆ หนึ่ง แต่น้อยไปกับเรื่องอื่นที่ควรให้ความสำคัญ (ใครที่สนใจ ควรไปอ่านเรื่อง pareto principle เพิ่ม)
1
2. โลกอาจจะไม่ได้ให้ค่ากับสิ่งที่ perfectionist พยายามที่จะทำ เสียเวลาทำไป อาจจะไม่ได้ทำให้ขายของได้มากขึ้น หรือชนะคู่แข่ง ในทางกลับกันอาจจะเสียโอกาสเสียด้วยซ้ำ
2
3. Perfectionist มักจะไม่กล้าทำอะไรใหม่ๆ ท้าทาย เพราะกลัวที่จะผิด กลัวที่จะเสียชื่อเสียง หรือเสียภาพลักษณ์
ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากกับดักนี้ เราควรจะทดลองให้มาก ล้มเหลวให้มาก ไม่กลัวความล้มเหลว และมุ่งเน้นการพัฒนา ปรับปรุง มากกว่าการที่จะมุ่งเน้นความสมบูรณแบบ
อย่างในตัวอย่างของการเป็นนักกระโดดน้ำ มันคือการค่อยๆ ทำให้ได้คะแนนดีขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าที่จะไปทำให้ได้ 10 เต็ม ซึ่งแม้กระทั่ง 10 เต็ม ก็ไม่ได้แปลว่า สมบูรณ์แบบ ไม่มีจุดบกพร่อง มันเป็นเพียงคะแนนที่บอกว่าดีเลิศเท่านั้น
1
และท้ายที่สุด ในโลกจริง แทบจะไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบจริงๆ แล้วเราจะมัวแต่แสวงหาความสมบูรณ์แบบไปทำไม
ไว้ตอนหน้า เรามาดูกันว่ามีงานวิจัยอะไรบ้างที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กันครับ
โฆษณา