29 ก.พ. เวลา 03:19 • ความคิดเห็น

ปลูกต้นไม้ในใจคน

ด้วยสายงานอาชีพที่เชิญคนมาพูด ได้สัมภาษณ์วิทยากรในการทำหลักสูตร ทำให้ผมได้มีโอกาสฟังผู้นำ เจ้าของกิจการและคนเก่งๆบรรยายมาน่าจะหลายร้อยคน ฟังทีไรก็ได้ความรู้ ได้เครื่องเตือนสติและได้แรงบันดาลใจเสมอ แต่มีน้อยครั้งมากๆที่ฟังแล้วรู้สึกขนลุกและกระทบใจจนอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไร ไม่อยากอยู่นิ่งเฉยอีกต่อไป การฟังบรรยายเรื่องน่านแซนด์บอกซ์ จากคุณบัณฑูร ล่ำซำเมื่อวานที่ HOW Club นั้นคือฟังการบรรยายที่เป็นระดับที่ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ…
1
ผมได้มีโอกาสฟังคุณบัณฑูร ล่ำซำ บรรยายเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นก็ได้แต่รู้จักคุณบัณฑูรอยู่ห่างๆในฐานะผู้ใหญ่ของบ้านเมืองและเป็นนายธนาคารที่เก่งฉกาจของไทย รวมถึงได้ยินเรื่องที่คุณบัณฑูรใช้ชีวิตและทำโครงการพัฒนาจังหวัดน่านอยู่เนืองๆ แต่ก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรนักจนมาฟังเรื่องราวของน่านในวันนี้
คุณบัณฑูรเล่าเรื่องจังหวัดน่านด้วยความเข้าใจทั้งความเป็นน่านและปัญหาอย่างลึกซึ้งมากๆ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ของน่าน จนถึงปัญหาเรื่องป่าไม้ที่เป็นทรัพย์แผ่นดินที่มีค่ามากๆของไทย ในวัยเจ็ดสิบกว่าปี คุณบัณฑูรใช้ชีวิตเดินทางไปทั้ง 99 ตำบลของน่านและไปเยี่ยม ไปดูโรงพยาบาล ศูนย์สาธารณสุขทุกแห่ง พูดคุยกับชาวบ้านเพื่อเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถึงราก แค่ฟังความทุ่มเทที่คุณบัณฑูรมีให้ต่อน่านก็ได้แต่นับถือในใจตั้งแต่ยังไม่ได้ฟังรายละเอียดแล้ว
คุณบัณฑูรเล่าถึงความกังวลต่อผืนป่าที่เป็นป่าต้นน้ำของประเทศที่เคยอุดมสมบูรณ์ น่านเคยมีผืนป่าในระดับป่าสงวนถึง 85% ถูกซ่อนตัวไว้ด้วยความยากในการเดินทางและไม่มีใครสนใจจังหวัดเล็กๆ นี้ก่อนที่จะถูกพลังของทุนนิยมพาไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มา
1
ทำให้ชาวบ้านที่ปากท้องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดค่อยๆบุกรุกป่าจนหายไปเกือบสองล้านกว่าไร่จากหกล้านกว่าไร่ ถ้าต้นน้ำพังพินาศข้างล่างก็จะไม่เหลือ ข้างล่างที่คุณบัณฑูรหมายถึงในที่นี้ก็คือคนภาคกลางและคนกรุงเทพอย่างเราๆที่อาจจะไม่ได้เข้าใจถึงหายนะที่กำลังจะมาเยือนถ้าปัญหาไม่ถูกแก้ในเร็ววัน
2
ปัญหาที่บานปลายไปเรื่อยๆก็เพราะทุนนิยมนำมาซึ่งความสะดวกสบาย นำมาซึ่งรายได้ ได้ส่งลูกเรียน ได้ซื้อของ ขนาดของปัญหาก็เลยใหญ่เกินกว่ารัฐจะไปแก้ไขด้วยกฏหมายเอาพื้นที่กลับมาได้เพราะกระทบคนเป็นหมื่นๆ
2
เพราะถ้าชาวบ้านเลิกทำไร่ข้าวโพดก็จะขาดรายได้ หมดหนทางทำมาหากิน คุณบัณฑูรเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง ก็เลยเล่าแนวคิดและกลยุทธ์ที่เฉียบคมและจริงใจที่เริ่มจากการเข้าใจทุนนิยมที่พาไร่ข้าวโพดมา โดยการแก้ไขก็ต้องใช้ความคิดแบบทุนนิยมเข้าแก้เช่นกัน
หลังจากที่คุณบัณฑูรใช้เวลาในการลงพื้นที่ มุ่งมั่นที่จะเข้าใจที่มาของปัญหาอย่างหนัก ด้วยประสบการณ์และความคิดของนักบริหาร คุณบัณฑูรตั้งหลักจากหลักคิดแบบคณิตศาสตร์หรือ mathematic framework ก่อน หาตัวชี้วัดที่ชัดเจน ตั้งแต่การพยายามจัดตั้ง น่าน sandbox โดยการใช้สรรพกำลังที่มีเชิญผู้นำประเทศไปที่น่าน เป็นนายกคนแรกที่เคยไปจังหวัดที่ไม่มีใครสนใจแบบนี้
1
คุณบัณฑูรกำหนดตัวเลขให้เข้าใจง่ายๆสำหรับผู้มีอำนาจและผู้เกี่ยวข้องทุกคนตั้งแต่การกำหนดเป้าหมาย 72-18-10 จากความเข้าใจปัญหาจริงๆ ว่า ขอให้รักษาป่าที่เหลืออีก 72% ไว้ และพยายามทำ 18% ที่ถูกบุกรุกให้เป็นพื้นที่ที่ต้องกลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่แต่อนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้ และส่วน 10% ก็ยังให้ปลูกได้เต็มที่แต่คงความเป็นป่าสงวนไว้ รวมถึงการกำหนดนิยามคำว่าการปลูกป่าต่อไร่ตามหลักวิชาการเพื่อให้วัดและตรวจสอบได้
1
คุณบัณฑูรใช้หลักการบริหารมาจับปัญหา อะไรที่วัดได้ก็จะตรวจสอบได้ ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ ใช้คำสวยๆ แต่วัดหรือตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย ในวงนี้คุณบัณฑูรต้องใช้พลังอย่างมากในการชักชวนผู้นำประเทศ นักการเมือง ข้าราชการให้เข้าใจ ยอมรับปัญหา เป้าหมายและแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม
1
พอทุกคนยอมรับเป้าหมายที่เข้าใจตรงกันแล้ว คุณบัณฑูรคิดต่อในมุมทุนนิยมว่า จะต้องหาทางที่จะสร้างรายได้จากการปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทนข้าวโพดให้ได้ ชาวบ้านจึงจะหยุดปลูกข้าวโพด และต้องหาพืชที่โตใต้ต้นไม้ใหญ่ให้ได้ด้วยเพื่อที่จะอยู่กับป่าได้ คุณบัณฑูรศึกษาจนได้ข้อสรุปว่า megatrend โลกตอนนี้มุ่งหน้าไปที่ plant based ingredients
2
ถ้าเราสามารถเกาะ megatrend ได้พืชก็จะมีราคา คุณบัณฑูรเลยพยายามผลักดันร่วมกับคณะเภสัชจา มหาวิทยาลัยต่างๆ ในการวิจัยและทำผลิตภัณฑ์จาก grass medicine หรือที่คุณบัณฑูรบัญญัติคำนี้ไว้ว่าหญ้ายาเพื่อเอามาทำยาที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงพอที่จะมีแบ่งปันให้ชาวบ้านอยู่ได้ ในวงนี้คุณบัณฑูรต้องชักชวนและพาวงการเภสัช แพทย์ และการตลาดมามีส่วนร่วมกันหลายมิติมาก เป็นความพยายามที่ไม่ง่ายเลยและยังอีกไกล
1
มาถึงจุดนี้ ผมตื่นตาตื่นใจกับแนวคิดที่คุณบัณฑูรเล่าเป็นอย่างมาก เพราะเหมือนกับได้เห็นแนวทางปฏิบัติจริงจากวิธีคิดแบบทุนนิยม แบบนักบริหารขั้นสุดยอดแต่เอามาใช้กับปัญหาที่สลับซับซ้อนกว่าธุรกิจอย่างการพยายามฟื้นฟูป่า เป็นบทเรียนเรื่อง sustainability แบบของจริงปฏิบัติจริงอย่างลึกซึ้ง
3
คุณบัณฑูรคิดตั้งแต่มุมหารายได้ทดแทน มุมผลิตภัณฑ์ มุมการตลาด การสร้างแบรนด์ มุมอุทกศาสตร์ มุมพันธุศาสตร์ farmtech มุมการขาย ฯลฯ รวมถึงความเข้าใจและการดึงการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆเท่าที่คุณบัณฑูรจะทำได้ ตั้งแต่นักการเมือง ข้าราชการ กรมป่าไม้ มหาวิทยาลัย หมอ พยายามทำทุกวิถีทางให้ได้ business model ที่จะทำให้รายได้ต่อไร่ต่อคนสูงพอที่ชาวบ้านไม่ต้องไปตัดไม้ทำลายป่าอีก
ที่ผมชอบที่สุดก็คือวิธีคิดที่จะได้ความร่วมมือและแรงสนับสนุนจากชาวบ้าน จากมวลชน คุณบัณฑูรใช้คำว่าต้อง “ปลูกไมตรี” ด้วยการตั้งมูลนิธิเพื่อทำงานด้านสาธารณสุข ยกระดับความเป็นอยู่ด้านสุขภาพ ศูนย์อนามัย รวมถึงสร้างโรงพยาบาลและตึกฉุกเฉินที่คุณบัณฑูรขอความสนับสนุนจากเครือข่ายต่างๆมาช่วยกัน คุณบัณฑูรใช้ความจริงใจและสร้างประโยชน์ผ่านการสาธารณสุขจริงๆจนเป็นที่รักและประทับใจของชาวน่าน ผมเขียนใน FB ก็มีคนน่านมาเล่าเพิ่มเติมให้ฟังด้วยความชื่นชม
ความคิดแบบครบวงจรและมองทะลุถึงปัญหาเรื่องสุดท้ายก็คือการปลูกปัญญา คุณบัณฑูรบอกว่าคนน่านเดิมคือผู้แพ้ในระบบทุนนิยมสมัยใหม่แบบศิโรราบ ไม่ได้มีสินค้าน่านชื่อดังใดๆออกมาจากจังหวัดเลย ทำของออกมาขายในโลกภายนอกไม่เป็น ใครจะซื้ออะไรจากน่านจะต้องไปน่านทั้งนั้น ไม่มีของขายใน shopee lazada ใดๆแม้แต่น้อย
2
คุณบัณฑูรเลยเริ่มโครงการ “บ่ม” ปัญญาด้วยการสร้างศูนย์การเรียนรู้ขึ้นมาซึ่งจะเสร็จปลายปีนี้เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ของน่านได้เรียนรู้ในเรื่องต่างๆเพื่อที่จะมีปัญญาต่อสู้ในโลกแห่งทุนนิยมได้โดยมีสี่ด้านสำคัญก็คือด้านภาษาที่ต้องรู้ภาษาหลักทั้งสามและภาษาล้านนา ด้านดนตรีที่เป็นหลักของอารยธรรม การทำมาหากินเพื่อตอบโจทย์ทุนนิยมและด้านอื่นๆที่จะทำให้สังคมเกิดสันติสุข
1
มีทั้ง digital lab และ wet lab คุณบัณฑูรคิดครบและเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งถึงขนาดที่คิดถึงเด็กชาวเขาว่าจะลงมาเรียนได้อย่างไร ต้องมีรถไปรับ มีหอพักให้ ไม่เช่นนั้นเด็กชาวเขาก็จะขาดโอกาสอีก
เอาป่าคืนมา คนอยู่ได้ อยู่อย่างฉลาดและมีความสุข … คุณบัณฑูรเปรยถึง mission ที่กำลังทำอยู่ด้วยความมุ่งมั่นไว้แบบนั้น
1
ผมนึกและจินตนาการไม่ออกเลยว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จและมีทุกอย่างอย่างคุณบัณฑูรในวัยเจ็ดสิบกว่าปีจะมาอุทิศตนทำเรื่องผืนป่าในท้องถิ่นที่ไม่ได้มีความสบาย ต้องเดินทางไกลไปถิ่นทุรกันดาร ต้องใช้พลังทุกอย่างประสานทุกฝ่ายที่มีทำงานที่ยากแสนเข็ญแบบนี้ แต่ก็อดภูมิใจและดีใจที่ประเทศไทยมีคนแบบคุณบัณฑูร และอดทึ่งในวิธีคิดที่คุณบัณฑูรเอาทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารธุรกิจมาใช้แก้ปัญหาป่าไม้ที่เป็นระบบ
1
แน่นอนว่ามีความสำเร็จเบื้องต้นให้เห็นพอชื่นใจแต่หนทางข้างหน้ายังอีกยาวไกลมากๆและไม่รู้ว่าความฝันที่จะเอาป่าคืนมา คนอยู่ได้อย่างฉลาดและมีความสุขจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่ แต่ที่คุณบัณฑูรปลูกสำเร็จแน่ๆในการบรรยายและเดินสายชักชวนผู้คนก็คือการปลูกฝังความคิดสาธารณะในใจผู้ฟังซึ่งส่วนใหญ่คงอยู่ในวังวนโซเชียลเสพดราม่าจนไม่ได้สนใจเรื่องใหญ่ที่ไกลตัว
ทำให้ผู้ฟังรู้สึกรักและหวงแหนผืนป่าจากที่ไม่เคยใส่ใจมาก่อน สร้างแรงบันดาลใจให้คนฟังที่มีทรัพยากร มีอำนาจหลายด้านหันมาสนใจปัญหาป่าไม้และกระตุ้นจิตสำนึกและกระทบใจให้กับผู้ที่ได้ฟัง รวมถึงผู้คนที่ได้ฟังบรรยายเมื่อวานพร้อมผมเมื่อวานที่ผ่านมา
1
เป็นการปลูกต้นไม้ในใจผู้คนที่งดงามและงอกเงยได้อย่างทรงพลังมากๆไม่แพ้การพยายามปลูกต้นไม้ฟื้นฟูผืนป่าเลยครับ..
1
โฆษณา