Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
•
ติดตาม
1 มี.ค. เวลา 08:27 • ประวัติศาสตร์
หม้อตาล คลองบ้านขมิ้น บางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
เครื่องปั้นดินเผาของใช้ประจำวัน หลักฐานความต่อเนื่องของการบริโภคน้ำตาลของสยามเทศะ
หม้อตาลเป็นภาชนะสำหรับใส่น้ำตาลโตนด ทำด้วยดินเผา มีปากกลม ก้นเป็นกระเปาะ เหมือนหมวกทหารเรือชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างเหมือนหม้อตาล ในสมัยโบราณใช้หม้อตาลใส่น้ำตาลที่ได้จากการเคี่ยวหวานของตาลโตนด เพื่อเก็บไว้กินในครอบครัวหรือขายแลกเปลี่ยนกับปัจจัยในการครองชีพอื่นๆ
หม้อตาลมีหลายขนาดแตกต่างกันไปตามความต้องการในการใช้สอย ปัจจุบันหม้อตาล ไม่นิยมใช้กันแล้ว เพราะมีภาชนะชนิดอื่นเข้ามาแทนที่
..หม้อตาลที่ได้มาจากการสำรวจและขุดค้นพบตามแหล่งโบราณคดีต่างๆ นั้นมีมากมาย ตามข้อมูลรายงานการขุดค้นจะพบภาชนะดินเผาทรงหม้อตาล จากการดำเนินงานทางโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร ทั้งจากโบราณวัตถุภาชนะดินเผาทรงหม้อตาลขนาดเล็ก พบจากแหล่งโบราณคดีคลองคูเมืองเดิม (คลองบ้านขมิ้น) เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และภาชนะดินเผาทรงหม้อตาล พบจากการดำเนินงานทางโบราณคดีบริเวณสนามด้านข้างพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
รายงานของกรมศิลปากรในการดำเนินงานทางโบราณคดีในกรุงเทพมหานคร ชี้ชัดว่า เศษภาชนะดินเผาประเภทหนึ่งที่พบทั่วไปในแหล่งคือ เศษภาชนะดินเผาก้นกลม ตัวภาชนะคอดสั้น ขอบปากตั้งตรง หรือที่เรียกว่า ภาชนะทรงหม้อตาล
‘…ภาชนะดินเผาประเภทนี้ สันนิษฐานว่าใช้เป็นภาชนะบรรจุน้ำตาลเพื่อใช้ในครัวเรือน ซึ่งนับแต่สมัยอยุธยา – รัตนโกสินทร์ น้ำตาลเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่พ่อค้าชาวต่างประเทศนิยมชื้อจากไทย เนื่องจากคุณภาพดี ราคาถูก
โดยในสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ ๒๔ – ๒๕) น้ำตาลนับเป็นสินค้าสำคัญที่ชาวต่างประเทศให้ความสนใจ นอกเหนือจากข้าว เครื่องเทศ พริกไทยดำ รง ฝาง ฯลฯ บรรดาพืชผลเหล่านี้ส่งมาจากพื้นที่ตอนในของไทยมารวมอยู่ที่เมืองบางกอก แล้วจึงนำลงเรือสินค้าส่งต่อไปยังสิงคโปร์ บอมเบย์(ปัจจุบัน คือ มุมไบ ประเทศอินเดีย) และประเทศอังกฤษ เพื่อขายให้กับดินแดนต่างๆในยุโรป
หนังสือวชิรญาณวิเศษ ร.ศ.๑๐๙ – ๑๑๐(พ.ศ.๒๔๓๓ – ๒๔๓๔) กล่าวถึง ผลผลิตน้ำตาลของไทยว่า “...สรรพน้ำตาลต่างๆ ที่ทำอยู่หรือมีอยู่ในประเทศเรานี้ มีอยู่ ๖ อย่าง คือ น้ำตาลทราย ๑ น้ำอ้อย ๑ น้ำตาลโตนด ๑ น้ำตาลมะพร้าว ๑ น้ำตาลจาก ๑ แต่น้ำตาลทรายนี้ต้องทำด้วยน้ำอ้อย น้ำตาลโตนดทำด้วยทะลายตาลหรืองวงตาลที่แรกออก น้ำตาลกรวดทำด้วยน้ำตาลทราย น้ำตาลมะพร้าวทำด้วยจั่นมะพร้าว น้ำตาลจากทำด้วยงวงจาก...”
น้ำตาลที่มีการผลิตและใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทหม้อดินเผานั้นมีเฉพาะน้ำตาลโตนด ซึ่งราคาการจำหน่ายโดยทั่วไป ๑๔ หม้อเป็นเงิน ๑ บาท หากเป็นช่วงน้ำตาลโตนดขาดแคลน อาจจำหน่ายในราคา ๘ หม้อ ๑ บาท
ภาชนะดินเผาทรงหม้อตาลที่พบส่วนใหญ่มีขนาดสูง ๗ – ๘ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนปาก ๑๘ – ๒๓ เซนติเมตร อย่างไรก็ตาม ภาชนะดินเผารูปทรงนี้ยังพบในแหล่งโบราณคดีบริเวณศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรงพยาบาลศิริราช แหล่งโบราณคดีคลองคูเมือง(คลองบ้านขมิ้น) เช่นกัน โดยพบว่า ภาชนะดินเผาแบบนี้ หากมีขนาดเล็ก(ขนาดสูง ๓ – ๔ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางส่วนปาก ๑๒.๖ – ๑๕ เซนติเมตร) มักพบมีปูนสีขาวบรรจุอยู่ภายในภาชนะดินเผานั้น… ’
...ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ได้ให้รายละเอียดถึงข้อมูลของหม้อตาลในพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา ศมส. ว่า หม้อตาล เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวบ้านประดิษฐ์คิดค้นขึ้นเพื่อใส่น้ำตาลโตนด และยังเป็นที่มาของทรงหมวกประเภทหนึ่ง คือ หมวกหม้อตาล
หม้อตาลที่จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผาที่ทำในประเทศไทยใบนี้ พบจากบริเวณหน้าวัดกษัตราธิราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๓ หม้อตาลใบนี้มีความสูง ๘ เซนติเมตร หนา ๐.๕ เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๔.๕ เซนติเมตร
ลักษณะภาชนะดินเผาที่นักโบราณคดีมักเรียกว่า ภาชนะดินเผาทรงหม้อตาลนี้ มีลักษณะร่วมกันโดยทั่วไปคือ เป็นภาชนะดินเผาที่มีส่วนก้นกลม ขอบปากตั้งตรง ส่วนก้นและปากภาชนะผายเท่ากัน ตัวภาชนะคอดสั้นและมีคอหยักหรือเว้าเข้าเพื่อให้จับถนัดมือ และมีการทำเป็นลวดลาย เช่น ลายเชือกทาบหรือขูดขีด เพื่อให้ช่วยให้เกิดแรงเสียดทานเพิ่มขึ้นขณะจับหรือแขวน
..หม้อตาลสำริด รูปแบบศิลปะอยุธยา สันนิษฐานอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๑ - ๒๓ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร โดยให้ข้อมูลว่า
‘ ...ภาชนะทรงหม้อตาล เศษภาชนะเคลือบ มีทั้งที่เป็นเครื่องเคลือบจีนในสมัยราชวงศ์ถังถึงสมัยราชวงศ์หยวน เครื่องเคลือบจากเตาในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ เครื่องเคลือบเปอร์เซีย เครื่องใช้อื่นๆ ก็มีพบ เช่น กุณฑีดินเผา กาดินเผา ตะคันดินเผา กระสุนดินเผา ที่ประทับตราดินเผา ตุ๊กตาดินเผา ฯลฯ
นอกจากเครื่องปั้นดินเผาแล้ว ยังพบเครื่องใช้สำริด ทั้งเป็นเครื่องใช้ทั่วไปกับที่เป็นของของสูง หรือของที่ใช้ในพีธีกรรม เช่นคันฉ่อง เครื่องประกอบราชยานคานหาม และเครื่องใช้ทำจากเหล็ก นอกจากเครื่องใช้แล้วยังพบเครื่องประดับทำจากหิน แก้ว ดินเผา สำริด ทองคำ ได้แก่ ลูกปัด แหวนตุ้มหู กำไล ฯลฯ...’
..บทความ ‘หม้อตาล....มรดกทางภูมิปัญญาเมืองเพชรบุรี’ ของสาขาวิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ข้อมูลถึงหม้อตาลว่า
‘ …การผลิตหม้อตาลมีการเริ่มผลิตอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน แต่กลับปรากฏหลักฐานการมีอยู่ของหม้อตาลจำนวนมาก บนเรือสำเภาสินค้าสมัยอยุธยาซึ่งจมอยู่แถวเกาะกระดาดบริเวณอ่าวไทยฟากตะวันออก ปะปนอยู่กับเครื่องถ้วยอื่นๆ
หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีการค้าขายน้ำตาลจากเมืองเพชรบุรีไปยังเมืองอื่นๆ สอดคล้องกับเส้นทางการค้าน้ำตาลโบราณของชาวเพชรบุรี โดยใช้แม่น้ำเพชรบุรีที่ไหลออกทะเลทางปากอ่าวบางตะปูน เป็นเส้นทางสัญจรเข้ากรุงเทพฯ และแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเลียบชายฝั่งแม่กลอง เลาะเข้าคลองด่านภาษีเจริญ เข้าแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา ฯลฯ
ร่องรอยการค้าน้ำตาลและหม้อตาลที่จมอยู่กับเรือสำเภาสมัยอยุธยา จึงเป็นการยืนยันถึงความสำคัญของน้ำตาลเมืองเพชรบุรีที่มีต่อเมืองในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าหม้อตาลเมืองเพชรบุรีมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาด้วยเช่นกัน
ลักษณะของหม้อตาลในอดีตนั้นน่าจะมีการสร้างมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อย่างเช่น หม้อลักษณะก้นโค้งเว้าสูงขึ้นมา คล้ายคลึงกับกะลามะพร้าว พบในแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี ต่อมาจึงมีการพัฒนารูปลักษณ์ของหม้อให้สามารถหยิบจับได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
หม้อตาลเมืองเพชรบุรีในช่วงระยะต้นจึงมีลักษณะปากกว้างแต่บริเวณคอหม้อจะคอด นอกจากการสะดวกสบายในการจับแล้วนั้น ยังเป็นการเร่งให้น้ำตาลข้นที่หยอดลงไปแห้งเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการช่วยให้วางซ้อนกันสะดวกและมั่นคง ตลอดจนเป็นการปิดไม่ให้อากาศเข้ามาทำปฏิกิริยาต่อน้ำตาล แล้วส่งผลต่อน้ำตาลเช่นกัน
ในอดีตหม้อตาลมีขนาดใหญ่เพื่อบรรจุน้ำตาลไว้ใช้ในครัวเรือนของตนเอง แต่เมื่อมีการค้าขายน้ำตาลขึ้นหม้อตาลจึงมีขนาดเล็กลงและสามารถบรรจุได้ใบละประมาณ 1 ลิตร ปรากฏหลักฐานหม้อตาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ อายุประมาณ ๑๒๐ - ๑๓๐ ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นหม้อตาลที่บรรพบุรุษของคุณป้าสิน นิลประดับ ชาวบ้านแถววัดเกาะ จังหวัดเพชรบุรี เก็บรักษาเอาไว้
หม้อตาลของคุณป้าสิน เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของหม้อตาลเมืองเพชรบุรีที่มีการปรับเปลี่ยนขนาดและรูปทรงไปตามกาลเวลา ซึ่งในอดีตมีขนาดที่ใหญ่ก่อนพัฒนาเป็นขนาดเล็กพอเหมาะอย่างที่ปรากฏให้เห็นเป็นที่นิยมในช่วงระยะเวลาหลังพ.ศ.๒๔๓๕ เป็นต้นมา และกลายเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของหม้อตาลเมืองเพชรบุรีสืบมาจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันยังเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าหม้อตาลเป็นภาชนะที่มีการผลิตและถูกใช้งานในจังหวัดเพชรบุรีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังคงใช้สืบเนื่องมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ด้วยเช่นกัน… ’
พรเทพ เฮง: เรียบเรียง
...
#สยามเทศะโดยมูลนิธิเล็กประไพวิริยะพันธุ์
...
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
Official Web :
https://siamdesa.org
https://www.facebook.com/สยามเทศะ-โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ-วิริยะพันธุ์-323215901674254
https://www.youtube.com/user/lekprapai/featured
https://www.instagram.com/siamdesa_lekprapai/?hl=th
https://lekprapai.wixsite.com/lekprapai
https://www.blockdit.com/pages/60934dc31b39400c4b221773
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย