Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
MarketThink
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
3 มี.ค. เวลา 03:00 • การตลาด
อธิบายคำว่า ROAS ตัวเลขที่วัดได้ว่า แคมเปญโฆษณา จะได้ไปต่อ หรือพอแค่นี้
การโฆษณาเป็นการทำการตลาดรูปแบบหนึ่ง ที่ธุรกิจพยายามสื่อสารข้อความบางอย่างไปถึงลูกค้า
โดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันไป เช่น สร้างการรับรู้ สร้างความสนใจ หรือเพื่อปิดการขาย
อย่างไรก็ตาม การโฆษณาแต่ละครั้ง มักจะมีค่าใช้จ่ายตามมาทุกครั้ง ไม่มากก็น้อย
แล้วธุรกิจจะรู้ได้อย่างไร ว่าแคมเปญที่ทำไปนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ ? มากน้อยแค่ไหน
ในทางการตลาดมีตัวชี้วัดหลายตัว ที่นำมาใช้วัดผลและประเมินประสิทธิภาพการทำการตลาด
ซึ่งตัวชี้วัดอย่างหนึ่งที่นำมาใช้วัดประสิทธิภาพของโฆษณา ก็คือ ROAS
แล้ว ROAS คืออะไร ?
ROAS ย่อมาจาก Return on Ad Spend
แปลแบบตรงตัว ก็คือ ผลตอบแทนจากการโฆษณา
ซึ่งเป็นตัวชี้วัดผลลัพธ์ทางการตลาดอย่างหนึ่งว่า การลงทุนในโฆษณานั้นคุ้มค่ามากแค่ไหน
โดยสูตรคำนวณหาค่า ROAS คือ (รายรับที่ได้จากการโฆษณา / ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปในการโฆษณา) x 100
ผลลัพธ์ที่ออกมาจะแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ ก็คือ
1. Positive ROAS (ตัวเลขผลลัพธ์จะมีค่ามากกว่า 100%)
หมายความว่า ธุรกิจสร้างรายได้จากการโฆษณาได้ มากกว่า ค่าใช้จ่ายที่เสียไป
2. Negative ROAS (ตัวเลขผลลัพธ์จะมีค่าน้อยกว่า 100%)
หมายความว่า ธุรกิจสร้างรายได้จากการโฆษณาได้ น้อยกว่า ค่าใช้จ่ายที่เสียไป
แล้ว ROAS มีวิธีการคำนวณอย่างไร ? เราลองมาดูตัวอย่างกัน
สมมติว่าธุรกิจลงทุนไปกับค่าโฆษณาของแคมเปญหนึ่งบน Facebook จำนวนเงิน 5,000 บาท
แล้วผลจากการโฆษณาสร้างรายได้กลับมา เป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท
ROAS ของแคมเปญนี้จะเท่ากับ (30,000 / 5,000) x 100 = 600% หรือเท่ากับ 6 เท่า
อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ทุก ๆ เม็ดเงินที่ลงทุนกับโฆษณาไป 100 บาท จะสร้างรายได้กลับมาให้ธุรกิจ 600 บาท
โดยถ้าตัวเลขเปอร์เซ็นต์ยิ่งมาก ยิ่งแสดงว่าโฆษณานั้นได้ผลตอบแทนกลับมาสูง
ในทางตรงกันข้าม ถ้าตัวเลขเปอร์เซ็นต์ต่ำ แสดงว่าโฆษณานั้นสร้างผลตอบแทนกลับมาต่ำ
ส่วนตัวเลข 600% นั้น อาจบอกไม่ได้ตรง ๆ ว่ามากหรือน้อย
แต่จะบอกได้เมื่อมีการเอาไปเปรียบเทียบกับแคมเปญอื่น ๆ ที่เราเคยทำมา หรือแคมเปญใกล้เคียงกัน
แล้ว ROAS มีความสำคัญอย่างไร ?
ความสำคัญของ ROAS ก็คือ เป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพและความสามารถ
ในการทำรายได้ของแคมเปญโฆษณาที่ดีตัวหนึ่ง
อีกทั้งยังช่วยให้นักการตลาดรู้ว่าแคมเปญไหนประสบความสำเร็จ แคมเปญไหนไม่ประสบความสำเร็จ
ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจ ว่าจะลงทุนกับแคมเปญนั้นต่อไปหรือไม่ด้วยเช่นกัน
ถ้าให้สรุปข้อดีของการใช้ ROAS หลัก ๆ จะมี 4 ข้อ ได้แก่
1. ทำความเข้าใจได้ง่าย
ROAS ใช้ข้อมูลเพียง 2 อย่าง คือ รายได้และค่าใช้จ่ายจากการโฆษณามาพิจารณา
ทำให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจภาพรวมประสิทธิภาพแคมเปญการตลาด
2. ใช้วิเคราะห์ช่องทางการโฆษณา
บ่อยครั้งที่ธุรกิจทำแคมเปญการตลาดหลายช่องทาง เช่น
โทรทัศน์ อีเมล สื่อโฆษณานอกบ้าน รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย
ซึ่ง ROAS สามารถช่วยวิเคราะห์ความคุ้มค่าของงบประมาณที่ใช้ไปในแต่ละแพลตฟอร์มได้
โดยแพลตฟอร์มไหนที่สร้างรายได้กลับมาได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
หรือเทียบกันแล้วช่องทางไหนให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
นักการตลาดก็สามารถนำงบประมาณไปทุ่มกับช่องทางอื่น ที่สามารถสร้างรายได้กลับมาได้มากกว่า
3. ใช้วิเคราะห์ประสิทธิภาพของโฆษณา
ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ก็อาจมีโฆษณาหลายชิ้น
โดยธุรกิจสามารถใช้ ROAS มาพิจารณาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของโฆษณาแต่ละชิ้นได้ว่า
โฆษณาชิ้นไหนสร้างรายได้กลับมาได้มากกว่ากัน
ซึ่งโฆษณาที่สร้างรายได้ได้มาก ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าอีกด้วย
เช่น ความชอบ และรสนิยมของลูกค้า
4. ใช้กำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดในอนาคต
ข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการวิเคราะห์รูปแบบโฆษณาที่ลูกค้าชื่นชอบ
สามารถนำไปใช้วางแผนกลยุทธ์การทำโฆษณาในอนาคตได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ROAS ก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เพราะ ROAS ให้มุมมองทางด้านเดียว คือ
เป็นตัวชี้วัดว่าแคมเปญโฆษณาให้ผลตอบรับดีหรือไม่ดี ผ่านการดูรายได้ที่เกิดขึ้น
การวิเคราะห์แคมเปญโฆษณา จึงจำเป็นต้องใช้ตัวชี้วัดอย่างอื่นประกอบด้วย
เพื่อให้ธุรกิจเห็นภาพรวมทั้งหมดอย่างรอบด้าน
ตัวอย่างตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่ควรใช้ประกอบ ROAS เช่น
- ROI (Return On Investment) หรืออัตราส่วนผลตอบแทนของการลงทุน
- CAC (Customer Acquisition Cost) หรือต้นทุนในการได้ลูกค้ามา 1 คน
- CTR (Click-Through Rate) หรืออัตราการคลิกโฆษณาต่อจำนวนคนที่มองเห็นโฆษณา
อ่านมาถึงตรงนี้ หลาย ๆ คนน่าจะเข้าใจถึงความสำคัญของ ROAS กันแล้วไม่มากก็น้อย
ซึ่ง ROAS คือ มาตรวัดสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ช่วยให้ธุรกิจมองเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการโฆษณาได้
และทำให้ธุรกิจสามารถวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง..
1.
https://www.appsflyer.com/glossary/roas/
2.
https://www.adaymarketing.com/roi
โฆษณา
10 บันทึก
20
14
10
20
14
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย