4 มี.ค. เวลา 02:47 • การตลาด

รู้จัก ‘Solo Economy’ ตลาดของคนหล่อสวยรวยเปย์ กับพฤติกรรมปลีกวิเวกแม้ในเดือนแห่งความรัก

ที่โสดก็ใช่ว่าไม่อยากมีใคร แต่ถ้าเข้ามาในใจแล้วทำให้เราเหนื่อยเพิ่มก็พอเถอะ ! เศรษฐกิจแบบนี้แค่เรื่องงาน เรื่องกิน เรื่องใช้ชีวิตก็เหนื่อยมากแล้ว จะเอาเวลาที่ไหนไปหาคู่ให้ใจฟู ขอดูแลและรักตัวเองให้เต็มที่ดีกว่า !
‘Solo Economy’ เป็นตลาดที่ใหญ่มากขึ้นทุกปีและถูกหยิบมาใช้ในการทำแคมเปญการตลาดมากขึ้นในช่วงปีหลัง ๆ (มีสถิติจาก Euromonitor บอกว่าไทยเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายเพื่อการอยู่อาศัยคนเดียวสูงที่สุดในเอเชียแปซิฟิกเลยครับ เหงาเกิ๊น !)
แม้แต่ในเดือนแห่งความรักที่ผ่านมาเอง ก็มีหลายแบรนด์ที่ฉีกไปเล่นโปรฯ สำหรับคนโสดแทนโปรฯ สำหรับคู่รัก เนื่องจากเทรนด์ Anti-Valentine Day ของกลุ่มคนโสดที่มีจำนวนมากขึ้น
มาดูกันว่า Solo Economy คืออะไร แล้วลูกค้ากลุ่มนี้เป็นใคร มีพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยคร้าบ ~
Solo Economy คืออะไร เศรษฐกิจรูปแบบใหม่โดยเหล่าคนโสด
Solo Economy คือ เศรษฐกิจรูปแบบใหม่สำหรับประชากรที่อาศัยอยู่คนเดียว ซึ่งประชากรกลุ่มนี้มีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความพร้อมด้านเศรษฐกิจที่คนรุ่นใหม่คิดว่าถ้ามีครอบครัวก็อาจมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ยาก จึงตั้งใจทำงานหนักเพื่อยกระดับชีวิตตัวเอง ซึ่งเหตุผลนี้ก็ยิ่งลดโอกาสสานสัมพันธ์รักเข้าไปอีก
นักวิจัยตลาดระดับโลก Euromonitor คาดการณ์ว่าสังคมผู้อยู่อาศัยคนเดียวทั่วโลกจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น 128% ในช่วงปี 2020 ถึง 2030 ซึ่งในไทยเองสำนักงานสถิติแห่งชาติก็ออกมาบอกว่าจำนวนซื้อบ้านสำหรับอยู่คนเดียวในไทยเพิ่มขึ้นจาก 6.4% (ปี 2555) เป็น 26.1% (ปี 2565) ด้วย
สวนทางกับการเติบโตของ Solo Economy สภาพแวดล้อมและธุรกิจต่าง ๆ ในไทยยังไม่ค่อยรองรับการบริโภคแบบ Solo Ecomony มากนัก มีเพียงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมร้านอาหารที่พร้อมบริการลูกค้าคนเดียวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Single Consumer กลุ่มลูกค้าหลักของ Solo Economy
กลุ่มลูกค้าในตลาด Solo Economy เป็นกลุ่ม Single Consumer ที่เป็นโสดอาศัยอยู่คนเดียว ไม่ได้อยู่กับครอบครัว หรือบางคนอาจมีสัตว์เลี้ยงไว้อยู่เป็นเพื่อนแทนการอยู่กับคู่รัก
3 Segment ที่เป็นลักษณะหลักของลูกค้ากลุ่มนี้คือ
1. หล่อสวย รวยเปย์ มีรายได้สูง
ลูกค้ากลุ่มนี้มีวิถีการใช้ชีวิตประจำวันเป็นของตัวเอง รักตัวเอง อยากทำอะไรก็ทำเพราะมีโอกาสด้านเงินทุนและเวลาเยอะกว่าคนอื่น มีพฤติกรรมการซื้อสินค้าเพื่อเพิ่มสะดวกให้กับการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น หุ่นยนต์ทำความสะอาด, เก้าอี้นวด, Home Gadget ฯลฯ
2. พนักงานดีเด่น รักไม่ยุ่งมุ่งแต่งาน
ลูกค้ากลุ่มนี้มีกิจวัตรประจำวันส่วนใหญ่เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ไม่ค่อยมีเวลาได้สานสัมพันธ์ใหม่ ๆ กับคนอื่นนอกสังคมงานและเพื่อนกลุ่มเดิม ๆ จึงทุ่มเทความรักด้วยการเปย์เงินดูแลตัวเองซะมากกว่า เช่น กินวิตามินบำรุง, เข้าฟิตเนส, เก้าอี้ Ergonomic ฯลฯ
3. ตัวแทนหมู่บ้าน ย้ายมาทำงานหาเงินส่งบ้านเกิด
เนื่องจากย้ายมาอยู่ในพื้นที่ใหม่ ๆ ไม่มีสังคมเดิมของตัวเอง จึงอาศัยอยู่แบบเอกเทศ ใช้เวลาไปกับการกิน นอน ทำงาน บางคนอาจจะเลือกใช้บริการหรือซื้อสินค้าที่เพิ่มความสะดวกให้กับตัวเอง เช่น บริการซักรีด 24 ชั่วโมง, บริการเดลิเวอรี่, โน้ตบุ๊กพกพา ฯลฯ
Single Consumer ทั้ง 3 กลุ่มนี้ ถ้าไม่นับความเหงาที่อาจเกิดขึ้น ก็มีความสุขกับการใช้ชีวิตอิสระและรักตัวเอง ซึ่งมีสถิติพบว่าอัตราการใช้จ่ายของ Single Consumer สูงกว่าการใช้ชีวิตแบบครอบครัว โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและความบันเทิงอื่น ๆ
เดือนแห่งความรักที่ผ่านมา เพื่อน ๆ Single Consumer มอบความรักให้ตัวเองกันยังไงบ้างครับ มาแชร์กัน !
เนื่องจากเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากกิจกรรมการท่องเที่ยวแล้ว ไลฟ์สไตล์การอยู่คนเดียวก็มีส่วนทำให้ธุรกิจอื่น ๆ เติบโตขึ้นด้วย เช่น การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การปลูกต้นไม้ การตกแต่งบ้าน อุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ฯลฯ
อย่าลืมว่านอกจากวัยหนุ่มสาวแล้ว Single Consumer ใน Solo Economy ยังรวมไปถึงผู้ใหญ่วัยเกษียณบางคนที่อาศัยอยู่คนเดียวด้วย ยิ่งไทยเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตลาดนี้ก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่น่าสนใจครับ
โฆษณา