3 มี.ค. เวลา 06:31 • หนังสือ

ความเป็นมาของคำว่า “中国(國)”

หากใครที่เรียนภาษาจีนอยู่จะรู้ว่า คำว่าประเทศจีนในภาษาจีนเขียนว่า 中國 ซึ่งแปลตรงตัวก็คือ ประเทศที่ตั้งอยู่ตรงกลาง เราเคยสงสัยกันไหมว่าทำไมคนจีนถึงเรียกประเทศตัวเองว่า 中國 zhōngguó ในภาษาไทยเรามักเรียก中国ว่าเประเทศจีนหรือจีนเฉยๆ ซึ่งเป็นเสียงที่อาจจะเพี้ยนมาจากคำว่า 秦 qín ภาษาอังกฤษใช้คำว่า China ในการเรียกประเทศจีน ก็น่าจะมาจากคำว่า 秦人、秦国
เพราะฉะนั้นเราลองมาดูความหมายของตัวอักษร 中国 และการใช้ของคำนี้กัน
1.中國之“中”
ตัวอักษร 中 ปรากฏในอักษรกระดองเต่า หรืออักษรทองสัมฤทธิ์นั้นมีลักษณะคล้ายกับธง และได้วาดสัญลักษณ์กลมไว้ตรงส่วนกลางของก้านธง เพราะเหตุนี้คำว่า 中 จึงได้ถอดความหมายเป็น ใจกลาง ตรงกลาง หรือศูนย์กลาง
สิ่งที่น่าชวนคิดก็คือ หากเราพิจารณาจากทิศทั้งสี่ เช่น เหนือใต้ออกตก หรือ ซ้ายขวาบนล่าง คำว่าตรงกลาง เป็นสิ่งที่ดูเหมือนจะจับต้องยากมากที่สุด พอๆกับการคิดค้นเลขศูนย์ ในสมัยโบราณคนจีนเชื่อว่า ต่อให้ไม่มีคำว่า “กลาง ตรงกลาง” แต่ในชีวิตจริงของเรา หลักการของจุดศูนย์กลางได้แฝงอยู่ในทิศทั้งสี่อยู่แล้ว อาทิ เมื่อเรานำทิศทางมาจับคู่ ซ้าย-ขวา บน(หน้า)-ล่าง(หลัง) สิ่งที่แฝงไว้ระหว่างซ้ายขวา บนล่าง ก็คือ “กลาง” เพราะเหตุนี้ในบันทึกจีนจึงมีคำพูดที่ว่า 四海之内、四方之内 แปลเป็นภาษาไทยก็คือ จุดศูนย์กลางของทิศทั้งสี่
2.中國之“國”
ปัจจุบันอักษรจีนตัวเต็มที่ใช้กันในแทบไต้หวัน ฮ่องกง เมื่อเขียนถึงคำว่าประเทศจะใช้อักษร 國 มาบอกความหมาย ส่วนอักษรย่อใช้ 国
อักษรตัวเต็ม 國 แต่เดิมยังไม่ปรากฏบนอักษรกระดองเต่า จนกระทั่งมาถึงอักษรสัมฤทธิ์ในสมัยราชวงศ์โจว พบว่ามีอักษร 或 และ 国(ตัวย่อที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน) จากการบันทึกของสวี่เซิ้น (许慎 Xǔ Shèn) ผู้ที่รวบรวมอักษรจีนและเขียนพจนานุกรม 《說文解字》ให้คำอธิบายถึงตัว 国 ว่าหมายถึง เมือง บ้านเมือง เพราะฉะนั้น 國 แต่เดิมมีความหมายแค่เมือง หรือป้อมปราการที่ใช้ป้องกันบ้านเมือง ขอบเขตยังไม่ใหญ่เท่าประเทศ
คนจีนเริ่มใช้คำว่า 中 กับ 国 มาประสมกันก็คือในสมัยราชวงศ์โจวตอนต้น (1046 –771 ก่อน ค.ศ.) เห็นได้จากการแกะสลักตัวอักษรบนเครื่องทองสัมฤทธิ์ 《何尊銘文》ใจความมีอยู่ว่า “余其宅玆中國”ข้าพเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองใจกลาง中國 มีความหมายเพียงแค่ เมืองที่ตั้งอยู่ใจกลาง อาจารย์เหมาผู้ศึกษาตำราโบราณในสมัยราชวงศ์ฮั่นให้คำอธิบายว่า “中国 คือเมืองหลวง(เมืองที่รัชทายาทไว้พำนักของราชวงศ์โจว)”
จากข้างต้นจะเห็นได้ว่า ต่อให้นำตัวอักษรทั้งสองมาใช้คู่กัน แต่ขอบเขตของความหมายก็ยังไม่ได้ขยายไปถึงประเทศอยู่ดี ซึ่งหลังจากสมัยราชวงศ์โจว แต่ละราชวงศ์ก็มักจะใช้ชื่อราชวงศ์ของตนมาเรียกชื่อประเทศ เช่นราชวงศ์ฉิน 秦朝 qíncháo (หรือคนไทยรู้จักในนามจิ๋นซีฮ่องเต้) ราชวงศ์ถังเรียกประเทศตัวเองว่า ต้าถัง 大唐 dà táng ชาวญี่ปุ่นที่เข้ามาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและค้าขาย เรียกว่า 唐土 táng tǔ อาณาจักรถัง เป็นต้น
หากจะใช้คำว่า 中国 ก็มีความหมายเพียงแต่ "อาณาจักรที่ตั้งอยู่ศูนย์กลาง" ที่แต่ละราชวงศ์ใช้คำว่า 中国 มาเรียกอาณาจักรของตน เพียงเพราะต้องการยกระดับว่าเรานั้นเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล และเหมารวมประเทศหรือชาติพันธุ์ที่อยู่รอบข้างว่าเป็น 四夷 (คนเถื่อนทั้งสี่ทิศ)
ซึ่งความคิดนี้ก็ยังคงแทรกซึมไปสู่ผู้ปกครองในยุคหลัง เช่นสมัยราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1386) เริ่มใช้คำว่า 中國 เรียกชื่อประเทศแทน จากการบันทึกพงศาวดารราชวงศ์หยวน บทที่95 ระบุไว้ว่า ขณะที่กุบไลข่านได้ส่งคณะทูตไปยังประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มเรียกอาณาเขตประเทศของตนว่า 中國
ภายหลัง ราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1386-1644) ก็ได้สืบทอดวิธีการเรียกชื่อนี้ต่อ แต่ถึงยังไงก็ตาม นี้เป็นเพียงแค่การติดต่อทางการทูตกับต่างประเทศเท่านั้น จึงเป็นเพียงแค่การเรียกชื่อประเทศเพียง “ชั่วคราว” ซึ่งไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าให้ใช้ 中國 แทนชื่อประเทศแต่อย่างใด เช่น ให้เรียก 中国 แทน หยวน หมิง ไปเลย
ในช่วงศตวรรษที่ 17 ทางฝั่งตะวันตกเริ่มมีกระแสนิยมรัฐชาติเกิดขึ้น (nation-state 民族国家) สำนักชิงที่ใช้นโยบายปิดประเทศ และไม่ยอมติดต่อกับชาติต่างๆในตอนนั้น จำเป็นที่จะต้องคิดชื่อประเทศ และแน่นอน 中国 เป็นตัวเลือกแรกที่ทางสำนักชิงเลือกใช้อย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
จวบจนมาถึงรัชสมัยเต้ากวง (道光) ในวันที่ 29 สิงหาคม ปี1842 หลังจากได้ลงนามสนธิสัญญานานกิง (《南京條約》) เนื้อหาในสัญญาได้เริ่มใช้คำว่า 大清 dà qīng คู่กับ 大英 dà yīng และยังเริ่มมีการใช้คำว่า 中国(ประเทศจีน) คู่กับ 英国(ประเทศอังกฤษ) อีกทั้งยังมีการเริ่มใช้คำว่า 中国官方 ทางการจีนเป็นต้น หลังจากสนธิสัญญานานกิงเป็นต้นมา ทางรัฐบาลชิงเริ่มมีการใช้ 中国 เพื่อใช้เป็นชื่อประเทศอย่างเป็นทางการ
คำว่า 中国 ที่ทางสำนักชิงใช้ จะแตกต่างจากยุคสมัยก่อนโดยสิ้นเชิง เพราะในสมัยก่อนใช้คำว่า 中國 เพื่อยกระดับตนให้เป็นศูนย์กลางของโลก จะเป็นศัพท์ตรงข้ามกับคำว่า 外國、外夷 ซึ่งหมายถึงประเทศ หรือคนเถื่อนที่ไม่ได้อยู่ตรงกลาง จึงใช้คำว่า 外 wài มาแทน
ความคิดที่นำตนเองเป็นศูนย์จักรวาลของจีนเริ่มถูกทำลายไป จนทำให้คำว่า 中國 เป็นแค่ชื่อประเทศธรรมดา ที่สามารถเทียบเท่ากับชื่อประเทศอื่นๆ โดยปราศจากความหมายที่ว่า ยึดตนเป็นจุดศูนย์กลาง
โฆษณา