3 มี.ค. เวลา 10:20 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

เทคโนโลยีที่มาพร้อมความเสี่ยง นักวิจัยเผยจุดอ่อนของระบบขับรถยนต์อัตโนมัติที่ใช้ LiDAR

ปัจจุบันรถยนต์ใหม่ ๆ เริ่มมีระบบช่วยขับมาให้ใช้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ บางรุ่นบางยี่ห้อไปถึงขั้น Full Auto Pilot รถแท็กซี่ไร้คนขับก็เริ่มมีให้บริการกันแล้วในเมืองใหญ่ของบางประเทศ
ซึ่งระบบควบคุมยานพาหนะไปยังจุดหมายที่ต้องการโดยไม่ต้องใช้คนขับนั้นต้องอาศัยเทคโนโลยีในการตรวจจับรับรู้สภาพแวดล้อมรอบตัวรถ เหมือนกับคนขับรถที่ต้องตาดู หูฟัง เพื่อจะได้รู้ว่าต้องควบคุมรถไปทางไหนอย่างไร
1
ROBO Taxi ของ Waymo หนึ่งในผู้ให้บริการแท็กซี่ไร้คนขับที่วิ่งให้บริการอยู่ในอเมริกา
หนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานในระบบควบคุมรถยนต์อัตโนมัติสำหรับการตรวจจับสภาพแวดล้อมรอบตัวรถก็คือ LiDAR ซึ่งปัจจุบันเกือบทุกเจ้ายกเว้น Tesla ใช้ LiDAR (Teala เมื่อก่อนก็เคยใช้ LiDAR แต่ก็เปลี่ยนมาเป็น full time camera แทน)
ซึ่งประเด็นเรื่องความปลอดภัยและน่าเชื่อถือของระบบควบคุมรถยนต์อัตโนมัติก็ยังเป็นที่กังขาของผู้คนในสังคมกับการเอามาลงถนนใช้งานจริง ๆ โดยล่าสุดผู้ให้บริการ Robo Taxi ทั้ง Cruise และ Waymo ต่างก็ประสบปัญหาต้องหยุดการให้บริการอยู่เนือง ๆ จากข้อร้องเรียนและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
เจอกรวยแปะหน้ารถเข้าไปก็บ้อท่า ในช่วงของการประท้วง ROBO Taxi เมื่อกลางปีที่แล้ว
และล่าสุดในงานสัมมนา Network and Distributed System Security Symposium ที่ซานดิเอโก ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย UCI (California, Irvine) ร่วมกับทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไคโอจากญี่ปุ่นได้นำเสนอรายงานที่บ่งชี้ถึงจุดอ่อนของระบบควบคุมรถยนต์อัตโนมัติที่ใช้ LiDAR
โดยทีมนักวิจัยเผยว่าพวกเขาสามารถหลอกให้ระบบเห็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงรวมถึงสามารถลบสิ่งที่ระบบควรจะมองเห็นออกไปได้ ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการทำงานผิดพลาดอย่างรุนแรงได้
LiDAR เป็นระบบตรวจจับวัตถุที่สามารถทราบระยะห่างและขนาด หลักการทำงานเช่นเดียวกับเรดาห์เพียงแต่ยิงแสงออกไปแทน
วิธีการแฮกระบบ LiDAR ที่ทีมวิจัยใช้นั้นอาศัยชุดเครื่องกำเนิดแสงเลเซอร์ พร้อมระบบตรวจจับแสงที่ยิงออกมาจาก LiDAR เพื่อสั่งการยิงชุดแสงเลเซอร์กลับไปยังตัว LiDAR ในการสร้างข้อมูลลวงให้กับระบบ
1
ชุดอุปกรณ์แฮก LiDAR ที่ทีมวิจัยใช้ในการทดลอง
สำหรับการแฮกก็จะมี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกคือสร้าง "ผี" หรือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเข้าไปในระบบตรวจจับโดยการยิงแสงเลเซอร์ในรูปแบบเดียวกับที่เวลา LiDAR ยิงเจอวัตถุต่าง ๆ เช่น รถยนต์ คน หรือทางม้าลาย
การแฮกรูปแบบแรกที่เรียกว่า Synchronized Spoofing
การแฮกรูปแบบนี้จะทำให้ระบบควบคุมรถยนต์อัตโนมัติเมื่อได้ข้อมูลจาก LiDAR ก็จะคิดว่ามีวัตถุอยู่ใกล้รถ ถ้าเอาวัตถุเสมือนที่แฮกเกอร์หลอกมาใส่ระบบก็จะสั่งการให้เบรคกระทันหันได้แม้ว่าข้างหน้ารถจะไม่มีอะไรเลยก็ตาม
ถนนโล่ง ๆ แต่LiDAR กลับเห็นว่ามีรถอยู่ข้างหน้า
ซึ่งยังพอมีข่าวดีนั่นคือการแฮกรูปแบบนี้ใช้ไม่ได้ผลกับระบบ LiDAR รุ่นใหม่ ๆ เพราะระบบมีการสุ่มความถี่ในการยิงแสงตรวจจับ ดังนั้นแสงรบกวนที่มีความถี่ไม่สอดคล้องกับแสงที่ยิงตรวจจับระบบ LiDAR จะไม่เอามาคิดประมวลผล ทำให้มองไม่เห็นผีที่แฮกเกอร์พยายามใส่เข้าไป
2
แต่ข่าวร้ายก็คือการแฮกอีกรูปแบบที่เป็นการ "ลบ" วัตถุที่มีอยู่ออกจากการตรวจจับด้วย LiDAR หรือก็คือทำให้รถที่ควรจะเห็นอยู่กลายเป็นรถล่องหน คนที่ควรจะเห็นก็ไม่เห็น ซึ่งการแฮกแบบนี้ยังไมมี LiDAR ตัวไหนในท้องตลาดสามารถรับมือได้
การแฮกแบบ Asynchronized Spoofing เป็นการลบวัตถุเป้าหมายออกจากการมองเห็นของ LiDAR
และการแฮกแบบนี้อันตรายมาก ๆ เพราะเมื่อ LiDAR มองไม่เห็น ระบบควบคุมรถยนต์อัตโนมัติก็จะไม่สั่งเบรค ชนหมดไม่สนว่ารถหรือคน ถ้าวิ่งมาเร็ว ๆ มีเสียหายหนักอาจถึงมีผู้เสียชีวิตกันได้เลย
รถ 5 คันจอดอยู่หน้า LiDAR แต่กลับมองไม่เห็นซักคัน
ซึ่งการแฮกแบบนี้จะซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการตรวจจับคลื่นแสงที่ยิงจากตัว LiDAR ก่อนที่จะยิงเลเซอร์ด้วยความเข้มและความที่เท่ากันแต่เฟสตรงข้ามกับแสงที่ยิงออกมาเพื่อให้เกิดการหักล้างกันของคลื่นแสงขบวนที่สะท้อนวัตถุและคลื่นแสงรบกวนจากแฮกเกอร์ ทำให้ LiDAR มองไม่เห็นวัตถุที่ควรจะเห็น
ชุดอุปกรณ์สำหรับการแฮกแบบลบวัตถุนี้จะต้องมีเลนส์ปรับลำแสงเลเซอร์เพื่อสร้างแสงที่มีความเข้มใกล้เคียงกันกับแสงสะท้อนเพื่อให้การลบมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยชุดแฮก LiDAR รูปแบบการลบนี้ค่อนข้างซับซ้อนและต้องอาศัยชุดอุปกรณ์และระบบควบคุมที่ยุ่งยาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าระบบ LiDAR นี้สามารถถูกแฮกได้จากการรบกวนภายนอกโดยอาศัยชุดยิงแสงเลเซอร์
จำไว้นะครับอย่าไว้ใจเทคโนโลยีมากเกินไป แม้จะมีระบบควบคุมรถยนต์อัตโนมัติที่ผ่านการทดสอบความปลอดภัยมาอย่างดีแต่พวกมันก็อาจจะถูกแฮกได้ เพราะฉะนั้นหากจะใช้ก็มือจับพวงมาลัยตาดูถนนอยู่ตลอดจะดีกว่า ไม่ใช่นั่งเล่นโทรศัพท์หรือหลับเลยเพราะอาจจะได้หลับยาวไปเลยก็ได้
โฆษณา