Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
FutureTales LAB by MQDC
•
ติดตาม
5 มี.ค. 2024 เวลา 11:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Futures of Living in Thailand 2030
[#Living] [#Thailand] ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ภายใต้บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชัน จํากัด (FutureTales Lab by MQDC) ร่วมกับสํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ต่อยอดโครงการวิจัยคาดการณ์อนาคตประเทศไทยปี พ.ศ.2573 (Futures and Beyond: Navigating Thailand toward 2030) ในมิติของการใช้ชีวิตในบริบทประเทศไทยปี พ.ศ.2573 (Futures of Living in Thailand 2030)
โดยการพัฒนาเนื้อหา ข้อมูลสถิติสําคัญ บทวิเคราะห์สถานการณ์ สัญญาณการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ ฉากทัศน์อนาคต รวมถึงข้อเสนอสู่การปฏิบัติ เพื่อให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์ให้กับประเทศไทย
Scenario 1 : ONLY FOR THE PRIVILEGED
โลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เกิดความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเป็นปัญหาสำคัญในสังคมทั้งในเชิงพื้นที่และเศรษฐกิจ เทคโนโลยีถูกพัฒนาเพื่อจุดประสงค์ทางการค้าและมีราคาสูงเกินกว่าประชาชนผู้มีรายได้น้อยจะสามารถเข้าถึงได้
อีกทั้งรัฐบาลไม่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้คนอย่างทั่วถึง ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางและชนบทย่ำแย่ อีกทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับที่อยู่อาศัยมีราคาสูงมาก ประชาชนส่วนใหญ่ขาดทางเลือกในชีวิต ต้องอาศัยในห้องเช่าขนาดเล็กและใช้พื้นที่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Society สังคม
กลุ่มผู้มีรายได้สูงในเมืองใหญ่เป็นกลุ่มเดียวที่ได้รับประโยชน์และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เมื่อวิถีชีวิตดิจิทัลและการออกแบบเมืองมีเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า กลุ่มชนชั้นกลางลงไปก็ต้องพึ่งพาตนเองและใช้ชีวิตอยู่บนความไม่แน่นอน สังคมไม่มีความหวังในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้ เกิดความเหลื่อมล้ำในการดูแลและการรับบริการสุขภาพสูง
Technology เทคโนโลยี
เทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลสามารถทำให้ชีวิตประจำวันสะดวกสบายขึ้นได้ แต่ขาดมาตรการควบคุมการใช้งาน เทคโนโลยีจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้เอารัดเอาเปรียบและคุกคามผู้คน เกิดการผูกขาดเทคโนโลยีและองค์ความรู้โดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่
Environment สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงระหว่างพื้นที่ของคนรวยกับคนจน คนในเมืองใหญ่กับคนเมืองรอง ประชาชนส่วนมากต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาวะจำยอมและสิ้นหวัง อาศัยในชุมชนแออัด แม้จะมีเทคโนโลยีทันสมัยเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แต่มีค่าใช้จ่ายมหาศาล มีเพียงกลุ่มชนชั้นนำในสังคมหรือผู้มีรายได้สูงเท่านั้นที่มีโอกาสได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
Economy เศรษฐกิจ
การกระจายรายได้ของภาครัฐล้มเหลว ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างจำกัด สังคมมีความเหลื่อมล้ำสูงในทุกๆมิติ ผู้คนต้องอยู่อาศัยในพื้นที่แออัด หรือไม่แม้แต่สามารถถือครองที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้เนื่องด้วยกำลังซื้อที่น้อยเกินไป สถานการณ์เศรษฐกิจที่เลวร้ายส่งผลให้การมีคุณภาพชีวิตที่ดีสำหรับคนชนชั้นกลางลงไปเป็นเรื่องเพ้อฝันที่ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงลิบ
Policy นโยบาย
ภาครัฐขาดการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน เพิกเฉยต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำ เอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนขนาดใหญ่และผู้มีรายได้สูง มุ่งเน้นสนับสนุนนายทุนเพื่อสร้างเทคโนโลยีขั้นสูง แต่ไม่มีมาตรการการควบคุมการใช้งานและราคาในตลาดให้มีประสิทธิภาพ
Values คุณค่า
ผู้คนส่วนมากเป็นคนทํางานรายวันที่เลี้ยงชีพแบบหาเช้ากินคํ่า คิดว่าการใช้ชีวิตที่ดีไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง กลุ่มคนมีรายได้สูงกลายเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม มีการแบ่งชนชั้น การเลือกปฏิบัติ และการตีมูลค่าของคนด้วยฐานะทางการเงิน คนเมืองรองมีค่านิยมในการย้ายเข้ามาอยู่เมืองใหญ่เพื่อมองหาโอกาสในชีวิต
Scenario 2 : INSECURE CYBERLIFE
เศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวมเติบโต เทคโนโลยีดิจิทัลที่ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างง่ายดาย แต่เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วเกินไปโดยปราศจากมาตรการควบคุมที่เท่าทันนำมาก็ซึ่งความสับสน อาชญากรรมทางไซเบอร์กลายเป็นภัยคุกคามร้ายแรงในสังคม ความรอบรู้และการระวังภัยในการใช้งานเทคโนโลยีกลายเป็นทักษะชีวิตที่จำเป็นของประชาชน
Society สังคม
เทคโนโลยีและการออกแบบที่อยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนให้มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม ผู้คนในสังคมต่างตกอยู่ในภาวะหวาดระแวงต่อผลกระทบจากการใช้งานเทคโนโลยี
Technology เทคโนโลยี
วิถีชีวิตดิจิทัลได้รับการพัฒนาถึงขีดสุด มีการลงทุนในการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้งานและพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างเสรี การดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ยังมีความไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่คุกคามและหาผลประโยชน์จากประชาชน
Environment สภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยเต็มไปด้วยเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นบ้านอัจฉริยะ เครื่องสวมใส่อัจฉริยะ ระบบธนาคารออนไลน์ครบวงจร แต่ในขณะเดียวกัน บ้านเมืองก็ยังเต็มไปด้วยอาชญากรไซเบอร์ที่แฝงตัวมากับเทคโนโลยีเหล่านั้นเช่นเดียวกัน
Economy เศรษฐกิจ
โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีและที่อยู่อาศัยถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เมื่อสังคมเต็มไปด้วยอาชญกรไซเบอร์ ขาดระบบรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือ ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่จำนวนมากต่างเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลบนพื้นฐานความเสี่ยงสูง
Policy นโยบาย
ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในทุกรูปแบบอย่างเสรี แต่ขาดมาตรการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและอาชญากรรมอันเป็นผลพวงจากการใช้เทคโนโลยีอย่างไร้ขอบเขต
Values คุณค่า
การใช้เทคโนโลยีของผู้คนในสังคมมาพร้อมกับความกังวล แม้ผู้คนจะให้ความเชื่อถือในประสิทธิภาพของเทคโนโลยีที่ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังต้องมีความรอบรู้ให้เท่ากันความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี การติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดเป็นเรื่องจำเป็น
Scenario 3 : UNDER GOVERNMENT PATRONAGE
ภาครัฐจําเป็นต้องลงทุนในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและสวัสดิการให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่มและทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยเฉพาะปัจจัย 4 ให้มีคุณภาพ สะดวกสบาย ทันสมัย เพื่อแก้ไขปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการและสาธารณูปโภคได้อย่างเท่าเทียมผ่านการบูรณาการระบบเครือข่ายดิจิทัล แต่การช่วยเหลือจะมาจากภาครัฐเป็นหลัก ทำให้ขาดมิติการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนจากทุกภาคส่วน
Society สังคม
การออกแบบที่อยู่อาศัยสามารถตอบโจทย์พื้นฐานความต้องการคนทุกกลุ่มได้ มีเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตพอสมควร ปัจจัยพื้นฐานมีราคาถูกและสามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ ประชาชนส่วนใหญ่มีสุขภาพดี แต่ผู้คนจำนวนมากต้องรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ สังคมทั้งเมืองใหญ่และเมืองรองอยู่ในสภาวะเฉื่อย ไม่มีการแข่งขันเนื่องจากผู้คนพอใจกับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่รัฐมอบให้
Technology เทคโนโลยี
เทคโนโลยีและอุปกรณ์อัจฉริยะไดรับการพัฒนาให้เหมาะสมกับคนทุกช่วงวัยและเหมาะสมกับการนำไปใช้งานในแต่ละพื้นที่ การพัฒนาเทคโนโลยีอยู่บนพื้นฐานของการกำกับดูแลและได้รับงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ คุณภาพของเทคโนโลยีอยู่ในระดับพอใช้ ไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงได้เนื่องจากมีทุนสนับสนุนที่จำกัด
Environment สภาพแวดล้อม
ประชาชนมีที่อยู่อาศัยโดยเท่าเทียม ทุกครัวเรือนมีปัจจัยพื้นฐานครบถ้วน แต่การใช้ชีวิตคงอยู่ในระดับพื้นฐาน สภาพความเป็นอยู่ในระดับปานกลาง สิ่งอำนวยความสะดวกมีราคาถูกเนื่องจากภาครัฐคอยสนับสนุนค่าส่วนต่าง ประชาชนส่วนมากพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ
Economy เศรษฐกิจ
ผู้คนสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัย ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และบริการขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่และเมืองรองแทบไม่มีความแตกต่าง ภาครัฐมีภาระค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนประชาชนสูงมาก เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไม่ดี เนื่องจากขาดการแข่งขันและการพัฒนาจากภาคเอกชนและประชาสังคม
Policy นโยบาย
ภาครัฐจัดหาบริการและสวัสดิการขั้นพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยในทุกพื้นที่มีคุณภาพชีวิตเป็นมาตรฐานเท่าเทียมกัน เน้นแก้ไขและพัฒนาปัญหาเชิงโครงสร้างตามบริบทของแต่ละพื้นที่ มีการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางเมืองใหญ่ไปสู่ระบบบริหารงานส่วนท้องถิ่น รัฐบาลแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน
Values คุณค่า
ผู้คนมีค่านิยมในการใช้ชีวิตแบบไม่ดิ้นรน พอใจกับคุณภาพชีวิตที่เป็นอยู่ ไม่ชอบการแข่งขัน พึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐ เน้นการใช้ชีวิตที่บ้านเกิดกับครอบครัว เนื่องจากคุณภาพชีวิตในเมืองใหญ่และเมืองรองไม่ต่างกัน
Scenario 4 : THIS IS COMFY!
การยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มีการผสมผสานการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน มีที่อยูอาศัยที่เรียกว่า “บ้าน”
ซึ่งมีทั้งความอบอุ่นให้ทุกคนในครอบครัว มีเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยให้ผู้คนทุกกลุ่มใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบาย เป็นเครื่องหมายช่วยเหลือด้านการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ และเชื่อมโยงผู้คนให้มีกิจกรรมร่วมกัน ผู้คนในสังคมต่างมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัย เทคโนโลยีอำนวยความสะดวก และอุปกรณ์อัจฉริยะได้ ภาครัฐจัดการและกระจายระบบบริการสาธารณูปโภคให้เหมาะสมตามบริบทแต่ละพื้นที่ คุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย และสะดวกสบาย จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
Society สังคม
ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่มีความเสี่ยงหรือความกังวลต่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ที่อยู่อาศัยถูกออกแบบให้สามารถผสมผสานเทคโนโลยีอัจฉริยะได้อย่างลงตัวและสมบูรณ์แบบ ช่วยให้คนทุกกลุ่มใช้ชีวิตอย่างความสะดวกสบายและมีสุขภาวะที่ดีในทุกมิติ
Technology เทคโนโลยี
มีเทคโนโลยีช่วยให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น การสื่อสารระหว่างบุคคลและอุปกรณ์อัจฉริยะราบรื่น ไร้รอยต่อ กิจกรรมในชีวิตประจำวันถูกปรับให้เข้ากับวิถีดิจิทัล
Environment สภาพแวดล้อม
ที่อยู่อาศัยเป็นพื้นที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ผู้คนต่างวัยในสังคมใช้ชีวิตร่วมได้อย่างกลมกลืน มีเทคโนโลยีทันสมัยคอยอำนวยความสะดวกอยู่ทุกที่ เสริมสร้างสุขภาวะอันดีให้แก่ผู้คน มีอุปกรณ์อัจฉริยะหลากหลายให้บริการทั้งในรูปแบบเช่าและซื้อในราคาที่สมเหตุสมผล
Economy เศรษฐกิจ
คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในชีวิตได้ดี ค่าใช้จ่ายสำหรับที่พักอาศัยสอดคล้องกับรายได้ การกระจายรายได้ทั่วถึง เศรษฐกิจดำเนินไปด้วยการขับเคลื่อนของวิถีดิจิทัล
Policy นโยบาย
ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมส่งเสริมความเสมอภาคในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยดำเนินการกำหนดนโยบายพัฒนาและสวัสดิการเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน มีงบสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี อีกทั้งมีมาตรการดูแลความเป็นอยู่ของคนทุกช่วงวัย
Values คุณค่า
ความเป็นอยู่และการให้คุณค่าแก่คนทุกกลุ่มถูกสะท้อนออกมาจากการออกแบบที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ผู้คนมีทักษะดิจิทัลเสมือนเป็นทักษะการดำรงชีวิต
GUIDE TO ACTION
ข้อเสนอสู่การปฏิบัติ
ภาครัฐ
1. มีการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบการศึกษา ระบบสาธารณสุข ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น เพื่อให้เกิดการเข้าถึงได้อย่างเสมอภาค รวมถึงมีการกำกับดูแลที่ดีด้านเทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัล
2. พัฒนาบริการรัฐโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen centric) และพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุม และทั่วถึง
3. ส่งเสริมการสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ภาครัฐมีบริการการจัดการข้อมูลดิจิทัลของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม
4. สร้างความเข้มแข็งและดำเนินงานเชิงรุกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
5. ปรับเปลี่ยนกฎหมายและนโยบายให้ทันสมัย ลดความซ้ำซ้อน และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงสิทธิเสรีภาพอย่างเท่าเทียม
ภาคเอกชน
1. เข้าใจรูปแบบการใช้ชีวิตและความคาดหวังของลูกค้าทุกกลุ่มทุกช่วงวัย คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลาย เพื่อนำมาปรับใช้และพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้เข้าไปช่วยเติมเต็มคุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
2. เปิดรับและเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เฝ้าติดตามความเสี่ยงและภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำมาปรับใช้และ
3. พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อสังคม
ผลักดันการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัล เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทย
4. มุ่งขับเคลื่อนธุรกิจที่ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
ชุมชน
1. ส่งเสริมการสร้างทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) ให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพื่อให้ชุมชนรู้เท่าทันเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม
2. ร่วมกันสร้างค่านิยมการอยู่ร่วมกันในชุมชนอย่างเกื้อกูลและการทำความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในระดับชุมชน
3. ยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และความปลอดภัยในชุมชน โดยอาศัยกลไกการทำงานร่วมกันผ่านชุมชน กลุ่มผู้นำชุมชน และอาสาสมัครในชุมชน
4. สร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับเยาวชนและกลุ่มเปราะบางในชุมชนผ่านกลไกการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน
5. ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้กับเยาวชนในชุมชม เพื่อยกระดับศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนชุมชน
ประชาชน
1. รู้เท่าทันและพร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล
2. เปิดรับและเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงรอบข้าง เพื่อนำไปสู่การปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม รวมไปถึงการฝึกความพร้อมรับมือความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาชีพและการเงินส่วนบุคคล
3. เรียนรู้การสร้างสมดุลการใช้ชีวิตและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ผสมผสานความสุขแบบดั้งเดิมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
4. เรียนรู้การเป็นพลเมืองตื่นรู้ (Active citizen) ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีบทบาทในชุมชน มีจิตอาสา จิตสาธารณะ และตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบของตนต่อสังคม
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก
www.futuretaleslab.com
และ
https://www.blockdit.com/futuretaleslab
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofLiving #FuturesandBeyond #WellBeing #MQDC
เทคโนโลยี
เทรนด์อนาคต
การใช้ชีวิต
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย