4 มี.ค. เวลา 13:00 • ข่าวรอบโลก

ปี 2024 พบคนอ้วนเกิน 1 พันล้านคนทั่วโลก แต่เคยสงสัยไหม ทำไมคนเหล่านั้นมักมาจากประเทศยากจน?

ข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ Lancet เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2024 เผยว่าพบคนที่มีภาวะโรคอ้วนรวมมากกว่า 1 พันล้านจากใน 190 ประเทศทั่วโลก สิ่งที่น่าตกใจ คือ สถิติคนเป็นโรคอ้วนในกลุ่มผู้ใหญ่วัยทำงานนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ส่วนในเด็ก/วัยรุ่นนั้นแย่กว่า คือเพิ่มขึ้น 4 เท่า จากสถิติเดิมเมื่อปี 1990
วิธีประเมินภาวะโรคอ้วนที่เขาใช้กันก็ตาม BMI (body-mass index) เลย ใช้ตัวเลขส่วนสูงกับน้ำหนัก ถ้าได้เลขเกิน 30 ตัดเกรดให้เป็นคนอ้วนหมด ซึ่งตรงนี้ผู้วิจัยเขาก็ระบุไว้เหมือนกันว่า BMI มันเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับประเทศที่มีประชากรกลุ่มนักกล้าม นักเล่นเวทที่มีน้ำหนักจากกล้ามเนื้อเยอะ จะทำให้คะแนนมันคลาดเคลื่อนในตัว BMI สถิติมันเลยอาจจะไม่ valid สักเท่าไร
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในงานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพสมัยใหม่ หลายๆชิ้นเขาก็ยังยึดเอา BMI เป็นตัวชี้วัดและประเมินความเสี่ยงด้านโรคเบาหวาน และมะเร็งอยู่ดี งานศึกษาบางชิ้นถึงกับเสนอว่าคนที่มีค่า BMI เกิน 30 มีความเสี่ยงโรคเบาหวานมากกว่าคนที่มีค่า BMI เพียง 23
สำหรับสถิติที่ Lancet เผยแพร่ไว้ในฐานข้อมูลนั้น พบว่ากลุ่มประชากรในประเทศมีรายได้ต่ำ และปานกลาง มีอัตราการเป็นโรคอ้วนมากกว่าประเทศรายได้สูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น โพลิเนเชีย และไมโครนีเชีย ที่ประชากรกว่า 60% นั้นมีภาวะเป็นโรคอ้วน
โดยประเทศที่มีสัดส่วนผู้หญิงอ้วนมากที่สุดในโลก คือ ตองก้า อยู่ที่ 81% ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่อเมริกาซามัวเป็นประเทศที่มีผู้ชายอ้วนมากที่สุดในโลก คิดเป็น 70% ส่วนใหญ่แล้วประเทศที่ติดอันดับประชากรมีภาวะอ้วนขึ้นช่วงนี้ มักเป็นกลุ่มตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่แต่เดิมเป็นกลุ่มประเทศแร้นแค้นไม่มีอาหารจะกิน แต่ปัจจุบันเริ่มมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวขึ้นมาบ้างแล้วหลายประเทศ
ส่วนในยุโรปเห็นจะเป็นตุรกีที่สถิติผู้หญิงอ้วนมีเยอะที่สุด คือ 43% และโรมาเนียมีสถิติผู้ชายอ้วนมากที่สุดในยุโรปในอัตรา 38% ส่วนประเทศที่ผู้ชาย/ผู้หญิงผอมหุ่นดีที่สุด (วัดจาก BMI) คือ ฝรั่งเศส ที่มีสถิติคนอ้วนแค่ 10% ของประชากรทั้งหมด ต่างจากสหรัฐอเมริกาถึง 4 เท่า เนื่องจากกว่า 40% ของประชากรชาย/หญิงในสหรัฐอเมริกานั้นปัจจุบันมีภาวะอ้วนกันหมดแล้ว
ตอนนี้ภาวะโรคอ้วนกำลังกลายเป็นปัญหาใหม่ในระดับโลกที่ค่อนข้างเป็นกังวลกันในหลายๆประเทศ เรียกได้ว่าสถานการณ์มันน่ากลัวกว่าสมัย 20 ปีที่แล้ว ที่เรามานั่งถกเถียงกันเรื่องเด็กแอฟริกาตัวผอมแห้งเนื้อติดกระดูกซะอีก เพราะตอนนี้จำนวนของเยาวชนที่มีภาวะอ้วนมีมากกว่าเยาวชนที่มีภาวะขาดแคลนอาหารถึง 2 ใน 3
1
ยิ่งในประเทศยากจนหลายๆประเทศที่เศรษฐกิจกำลังขยายตัว มีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น รายได้ขั้นต่ำสูงขึ้น เด็กมีอันจะกินเพิ่มมากขึ้นอย่างไร้การควบคุมที่เหมาะสม กลายเป็นปัญหาที่เรียกว่า Double epidemic เลย คือ ปัญหาขาดแคลนอาหารในกลุ่มคนยากจนก็ยังไม่ได้แก้ไข ปัญหาใหม่ที่คนชนชั้นกลางเริ่มมีตังค์มากขึ้น ก็เลี้ยงลูกจนอ้วนฉุก็กำลังก่อตัว
The Economist เขาสรุปว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนคนอ้วนขยายตัวมากขึ้นในยุคนี้เพราะอาหารไม่มีคุณภาพมักราคาถูก ฟาสต์ฟู้ดราคาหลักสิบ แต่สลัด และ Superfood ราคาจานละเป็น 100 ไหนจะ อาหารแปรรูปที่ถูกผลิตมาเพื่อคนรายได้น้อยอีก คนที่มีวิถีชีวิตนั่งพิมพ์งานอยู่กับที่ในห้องแอร์ก็ยิ่งมีโอกาสเป็นโรคอ้วนง่ายกว่าเดิม และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Source: The Economist และ Financial Times
เครดิตภาพจาก The Economist
โฆษณา