4 มี.ค. เวลา 10:34 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ

สถานีหนองปลาดุก สถานีแรกบนเส้นทางรถไฟสายมรณะ

เนื่องจากหนังสือที่เกี่ยวข้องกับทางรถไฟสายมรณะของไทยจะเขียนชื่อบางสถานีเลียนตามเสียงของเอกสารหรือหนังสือของฝั่งตะวันตก ทำให้คนไทยอ่านไม่รู้ว่าสถานที่ที่พูดถึงคือที่ใด บทความชุดนี้จะพยายามรวบรวมชื่อทั้งภาษาไทย/ภาษาถิ่นที่ชื่อสถานีตั้งตาม หรือแม้กระทั่งที่มาของชื่อ ตลอดจนชื่อภาษาญี่ปุ่นหรืออังกฤษที่เชลยศึกเรียกสถานที่ดังกล่าวด้วย
สถานีหนองปลาดุกหรือชุมทางหนองปลาดุกจุดเริ่มต้นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของเส้นทางรถไฟสายไทยพม่าหรือเส้นทางรถไฟสายมรณะในฝั่งไทย
คนไทยเรียกหนองปลาดุกตั้งชื่อตามชื่อหมู่บ้านหนองปลาดุกในเขตอำเภอบ้านโป่ง
ทหารญี่ปุ่นเรียก ノンプラドック (Nonpuradokku)
เชลยศึกตะวันตกเรียก Nonpladuc, Nongpladuk
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองกองทัพญี่ปุ่นได้สำรวจหาเส้นทางขนส่งทางรางที่จะเชื่อมต่อระบบรางรถไฟเดิมที่มีอยู่แล้วของไทยเข้ากับระบบรางรถไฟที่มีอยู่แล้วของพม่า
ผลสรุปสุดท้ายคือกองทัพญี่ปุ่นเลือกที่จะก่อสร้างทางรถไฟจากสถานีหนองปลาดุกถึงตันบูซายัต
ป้ายมีข้อความว่า ノンプラドック駅 Nong Pla Duk Junction ชุมทางหนองปลาดุก 泰緬線乘換 Thailand-Burma Line transfer. (แปลโดยคุณ Sebastian Phua.)
สถานีหนองปลาดุกเดิมเป็นหนึ่งในสถานีรถไฟสายใต้ของไทย
โดยสถานีหนองปลาดุกนั้นอยู่จุดสุดท้ายก่อนที่ทางรถไฟจะโค้งลงไปที่สถานีบ้านโป่ง
จุดนี้จึงมีการขยายสถานีกลายเป็นชุมทางและมีรางแยกจากสถานีนี้ออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือตามแนวแม่น้ำแม่กลองไปยังจังหวัดกาญจนบุรี
การทดสอบการเดินรถไฟครั้งแรกบนเส้นทางรถไฟสายมรณะที่สถานีหนองปลาดุก โดยรางที่รถไฟกำลังวิ่งอยู่เป็นรางประธานของเส้นทางรถไฟสายมรณะ ฝั่งขวาคือรางหลีก ส่วนฝั่งซ้ายเป็นเส้นทางรถไฟสายใต้ของไทย ส่วนรางซ้ายสุดของภาพเป็นรางหลีก
โดยสถานีหนองปลาดุกที่ญี่ปุ่นสร้างขึ้นก็อยู่ติดกันกับสถานีหนองปลาดุกเดิมของไทย
ในวันที่ 5 กรกฏาคม 1942 ทหารญี่ปุ่นได้ตอกหลักกิโลเมตรที่ 0 ในบริเวณสถานี ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางระยะทาง 415 กิโลเมตรของเส้นทางรถไฟสายมรณะ
ทางเหนือของสถานีหนองปลาดุกมีค่ายเชลยศึกขนาดใหญ่ 2 ค่าย ปัจจุบันเป็นไร่อ้อยและหมู่บ้านไปแล้ว
ภาพแผนผังของสถานีหนองปลาดุกจะเห็นได้ว่ามีรางหลีก รางแยกมากมาย แต่รางแยกที่สำคัญมีสองเส้นทางลงไปทางใต้ ซึ่งรางหนึ่งจะไปยังโรงซ่อมหัวรถจักร  ซึ่งปัจจุบันอยู่ทางตะวันตกของวัดหนองปลาดุก (วัดหนองปลาดุกสร้างหลังสงคราม) ส่วนอีกทางหนึ่งจะเป็นทางรถไฟที่วิ่งยาวลงไปถึงค่ายหนองอ้อ ซึ่งเป็นตลังอาวุธของกองทัพญี่ปุ่น
ในช่วงสงครามโลกที่ทหารญี่ปุ่นเลือกตั้งค่ายเชลยศึกใกล้ชุมทางหนองปลาดุก นักวิชาการหรือเชลยศึกต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า เพื่อเป็นการกดดันฝ่ายสัมพันธมิตรในการทิ้งระเบิด
เนื่องจากชุมทางหนองปลาดุกอยู่ติดกับค่ายเชลยศึก หากนักบินและพลทิ้งระเบิดเกิดทิ้งไม่ดี อาจจะทำให้เชลยศึกได้รับผลกระทบ ทำให้การทิ้งระเบิดทำได้ยากขึ้นสำหรับฝ่ายสัมพันธมิตร
ซึ่งเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นจริง ฝ่ายสัมพันธมิตรเคยทิ้งระเบิดพลาดตกเข้าไปในค่ายเชลยศึก ทำให้เชลยศึกเสียชีวิตจำนวนมาก
ศพเชลยศึกที่เสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดก็ถูกนำไปฝังไว้ที่สุสานวัดโคกหม้อ จากการสอบถามคนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่ได้รับข้อมูลว่าสุสานวัดโคกหม้อ หรือปัจจุบันกลายเป็นโรงเรียนวัดโค้กหม้อ
การทิ้งระเบิดสถานีหนองปลาดุกของฝ่ายสัมพันธมิตร มีระเบิดบางลูกพลาดตกเข้าไปในค่ายเชลยศึก
สถานีหนองปลาดุกยังคงถูกใช้งานมาจนถึงปัจจุบันครับ
โฆษณา