6 มี.ค. 2024 เวลา 03:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
WealthMagik

มองหาผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝาก มาลองทำความรู้จักกับ “ตราสารหนี้”

ตราสารหนี้ คือ ตราสารชนิดหนึ่ง ที่ออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือในการระดมทุนจากนักลงทุน และชำระคืนเงินต้นเมื่อครบกำหนดอายุของตราสารนั้น โดยที่ผู้ซื้อจะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งมีทั้งหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน และพันธบัตรรัฐบาลที่ภาครัฐเป็นคนออก นักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” และผู้ที่ออกตราสารหนี้มีสถานะเป็น “ลูกหนี้”
  • ข้อดีของตราสารหนี้
1. ได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ
นักลงทุนที่ซื้อตราสารหนี้จะสามารถคาดการณ์รายรับล่วงหน้าได้จากอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว ซึ่งโดยปกติแล้วจะคงที่และจ่ายอย่าสม่ำเสมอทุก 3 เดือน 6 เดือน ทำให้นักลงทุนสามารถวางแผนการเงินในอนาคตได้
2. กระจายความเสี่ยงของพอร์ต
ตราสารหนี้เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงต่ำ และได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอ จึงเป็นสินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยงของพอร์ตลง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน หรือกระจายความเสี่ยง เนื่องจากราคาของตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้ามกับราคาหุ้น
3. รักษาเงินต้น
แน่นอนว่าสำหรับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง การรักษาเงินต้นไว้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ฝากธนาคารอย่างเดียวก็ได้ดอกเบี้ยน้อย ดังนั้น ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล อย่างพันธบัตร หรือตั๋วเงินคลัง ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำ อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าฝากธนาคารอีกด้วย
4. มีการจัดอันดับตามความเสี่ยง
ในกรณีที่ผู้ออกตราสารหนี้เป็นภาคเอกชน หรือที่เรียกว่าหุ้นกู้ จะมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ เนื่องจากแต่ละบริษัทมีผลการดำเนินงาน รวมไปถึงความสามารถในการชำระหนี้คืนต่างกัน ดังนั้น หุ้นกู้จึงจะมีหน่วยงานที่เข้ามาจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งสามารถจัดอันดับได้ทั้งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ รวมไปถึงตัวหุ้นกู้แต่ละรุ่นด้วย
  • หุ้นกู้มีความเสี่ยงแค่ไหน วัดจากอะไร?
ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้สะท้อนด้วย อันดับเครดิต (Credit Rating) หรืออันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งในประเทศไทยมีสถาบันการจัดอันดับ 2 แห่งด้วยกัน คือ TRIS และ FITCH (THAILAND) โดยมีสัญลักษณ์การจัดอันดับที่น่าเชื่อถือเริ่มตั้งแต่
AAA ที่หมายความว่า บริษัทอยู่ในระดับ investment grade มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ไปจนถึง D ที่หมายถึงว่าบริษัทนั้นอยู่ในระดับ non-investment grade มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้สูง อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยง ถึงแม้บางบริษัทจะมีอันดับเครดิตดีมาก อยู่ในระดับ investment grade ก็ตาม แต่ก็มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ ดังนั้น ก่อนลงทุนนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลบริษัทนั้นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน
โฆษณา