6 มี.ค. เวลา 01:44 • ประวัติศาสตร์
เส้นทางรถไฟสายมรณะ

วิกฤตการณ์ครั้งร้ายแรงเมื่อทหารญี่ปุ่นเล็งปืนใหญ่หวังที่จะยิงพระปฐมเจดีย์ 16 ตุลาคม 1945

เรื่องราวนี้ถูกบันทึกไว้โดยคุณ Takashi Nagase ทาเคชิ นากาเซะ อดีตล่ามสารวัตรทหารญี่ปุ่นในไทย (นากาเซะ คือตัวละครที่เอาไปสร้างในหนังเรื่อง The Railway man.) คุณ นากาเซะ ได้เขียนเรื่องราวนี้ลงในหนังสือ Crosses and Tigers
Takashi Nagase ผู้บันทึกเรื่องราวนี้
มีตอนหนึ่งที่เขาระบุว่า ช่วงวันท้ายๆของสงคราม เขาทำหน้าที่เป็นล่ามให้กับสารวัตรทหารญี่ปุ่นที่ราชบุรี ภารกิจคือการหาข่าวการแทรกซึมของทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งกระโดดร่มลงในพื้นที่ป่าในเขตราชบุรี และฝึกกองกำลังกะเหรี่ยงเพื่อเตรียมสู้กับกองทัพญี่ปุ่น
1
ในวันที่ 15 สิงหาคม 1945 ในขณะที่ นากาเซะ อยู่ที่ราชบุรี ได้พบกับชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่กำลังเดินทางจากกรุงเทพ มุ่งหน้าสิงคโปร์
ชายคนดังกล่าวได้บอกกับนากาเซะว่า กองทัพญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนแล้ว ตัวนากาเซะตกใจอย่างมาก จึงรีบเดินทางกลับไปยังบ้านโป่ง
เมื่อเขาลงจากรถไฟที่บ้านโป่ง เขาได้เห็นควันไฟลอยขึ้นจากค่ายทหารญี่ปุ่นหลายค่าย เพราะในขณะนั้นพวกทหารญี่ปุ่นในค่ายต่างๆได้รับคำสั่งให้เผาเอกสารทางทหารทั้งหมด (ซึ่งตรงกับเอกสารและคำบอกเล่าของคนไทยผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ช่วงสงครามก็พูดว่ามีการเผาทำลายเอกสารและอาวุธของทหารญี่ปุ่นในแถบบ้านโป่ง)
1
วันที่ 16 ตุลาคม 1945 (หลังจากที่มีประกาศยอมจำนน1วัน) สารวัตรทหารและตัวนากาเซะ เองได้รับมอบหมายให้เดินทางไปยังค่ายเชลยศึกที่นครปฐม เพื่อไปดูแลความสงบเรียบร้อย หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นประกาศยอมจำนน
ค่ายเชลยศึกนครปฐม เป็นค่ายพยาบาลสำหรับเชลยศึก แต่ในช่วงท้ายสงคราม ส่วนหนึ่งกลายเป็นโรงพยาบาลของทหารญี่ปุ่นที่บาดเจ็บจากการรบที่พม่า ถูกส่งมารักษาตัว จะเห็นได้ว่าพระปฐมเจดีย์อยู่ไม่ห่างมากนัก
เมื่อนากาเซะ และสารวัตรทหารญี่ปุ่นนั่งรถไฟถึงสถานีนครปฐม (สถานีนี้อยู่ทางทิศเหนือของพระปฐมเจดีย์) ได้พบว่าทหารญี่ปุ่นกำลังมีปัญหากับตำรวจไทย ซึ่งปัญหานี้เกิดมาจากทหารญี่ปุ่นได้กระทำการลักของเล็กๆน้อยๆ แต่เรื่องเริ่มลุกลามใหญ่โต
ทหารญี่ปุ่นที่พ่ายศึกและถอนกำลังจากพม่า(ก่อนจะรู้ว่ามีการยอมแพ้สงคราม) ทหารเหล่านี้มาพร้อมกับอาวุธหนัก ก็ไม่ได้สนใจใส่ใจความรู้สึกของคนไทยมากนัก ประกอบกับความผิดหวังกับการพ่ายแพ้ในสงคราม
1
ความตึงเครียดถึงจุดสูงสุด ทหารญี่ปุ่นที่มีอาวุธครบมือประจันหน้ากับตำรวจไทยที่มีอาวุธเช่นกัน ทันใดนั้นนายทหารญี่ปุ่นได้สั่งให้เอาปืนใหญ่สนามออกมาตั้งแล้วหันปากกระบอกปืนไปยังพระปฐมเจดีย์
ระยะทางจากจุดที่ตั้งปืนใหญ่(สถานีรถไฟนครปฐม) ไปยังองค์พระปฐมเจดีย์นั้นไม่เกิน 300 เมตร ซึ่งหากทหารญี่ปุ่นยิงปืนใหญ่ใส่พระปฐมเจดีย์จริง ไม่มีทางพลาดแน่นอน
ทหารญี่ปุ่นที่พ่ายแพ้ศึกในสมรภูมิพม่า
ทันใดนั้นจ่าสารวัตรทหารญี่ปุ่นคนหนึ่ง ได้วิ่งไปตำแหน่งปากกระบอกปืนใหญ่ และพูดคุยกับนายทหารญี่ปุ่นคนที่สั่งการ เขาพยามพูดให้นายทหารญี่ปุ่นที่กำลังบ้าคลั่งใจเย็นลง เหตุการณ์นี้ก็ค่อยๆสงบและจบด้วยดี ไม่มีการยิงปืนใหญ่ใส่พระปฐมเจดีย์
พระปฐมเจดีย์ในปัจจุบัน
นากาเซะ ยังกล่าวในหนังสือของเขาว่า
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติไทย เชื่อกันว่านครปฐมเป็นจุดกำเนิดแรกของศาสนาพุทธในดินแดนแถบนี้ พระปฐมเจดีย์จึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์
หากสารวัตรทหารญี่ปุ่นคนนั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้จบลงได้ด้วยดี
ทหารญี่ปุ่นจำนวน 120,000 คน อาจจะไม่ได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย และความสัมพันธ์ของไทยและญี่ปุ่นหลังสงครามคงไม่เหลือชิ้นดี
ทาเคชิ นากาเซะ
จากคำกล่าวของ นากาเซะ ก็พอที่จะมองภาพออกว่า หากทหารญี่ปุ่นยิงปืนใหญ่ใส่พระปฐมเจดีย์จริง ๆ สิ่งที่ตามมาคือหายนะของทหารญี่ปุ่นที่กำลังถอนกำลังจากพม่า มาที่ไทย รวมถึงทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทยด้วย
เพราะคนไทยเองคงจะต้องสู้ฆ่าฟันกับทหารญี่ปุ่นอย่างแน่นอน ความหายนะจะบังเกิดแก่ทั้งทหารและพลเรือนชาวไทย รวมถึงทหารญี่ปุ่นด้วย คงเกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ และทหารญี่ปุ่นจำนวนมากคงไม่ได้กลับบ้านเป็นแน่แท้
ผมเชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นวิกฤตการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง หากไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ เพราะพระปฐมเจดีย์เป็นจุดศูนย์รวมความศรัทธาของชาวไทยมาแต่ครั้งโบราณกาล กษัตริย์ พระเถระ ตลอดจนประชาชนต่างเคารพบูชาพระปฐมเจดีย์ หากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นจริงคงเป็นเรื่องที่ยากที่คนไทยจะรับได้
แผนที่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบุสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้
โฆษณา