7 มี.ค. 2024 เวลา 09:37 • สุขภาพ

“ฮีทสโตรก - Heat Stroke(ลมแดด)”ภัยเงียบหน้าร้อน ทำคนเสียชีวิตได้จริงหรือ?

เมื่อไทยก้าวสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้วนะคะ อากาศร้อนจัด อาจเป็นเหตุให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกจนเกิดภาวะ “โรคลมแดด” หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัวเดิมอยู่แล้ว หรือกลุ่มคนที่มีภาวะสุขภาพเปราะบาง เช่น เด็กหรือผู้สูงอายุ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
พญ.อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า เล่าว่า ฮีทสโตรก หรือ ลมแดด เกิดจากร่างกายได้รับอุณภูมิความร้อนมากเกินไป ทำให้ผลส่งกระทบต่อสมองได้ เช่น มีภาวะชัก หมดสติได้ เมื่อเกิดการชักหมดสติแล้วหากไม่ได้ให้สารน้ำ หรือไม่ได้ทำอุณหภูมิร่างกายให้ลดลงหรือเย็นลงทันที ก็จะสามารถทำให้คนไข้เสียชีวิตได้
พญ.อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพระรามเก้า
กลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อภาวะฮีทสโตรก(Heat Stroke) หรือลมแดด ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มคนที่เป็นโรคหัวใจ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวหลายโรคที่ต้องรับประทานยาอยู่แล้วหลาย ๆ ตัว ถ้าไปอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนมาก ๆ เป็นเวลานาน ๆ จะมีความเสี่ยงในการเป็นฮีทสโตรกสูงขึ้น และมีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่านั่นเอง นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับกลุ่มคน ที่ทำงานกลางแจ้งที่สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ เกษตรกร ตำรวจ ทหาร
ตลอดจนนักกีฬา อาทิ การวิ่งมาราธอน ที่จะต้องสัมผัสอากาศที่ร้อนหรือความชื้นที่สูงทำให้ไม่สามารถขับเหงื่อได้ หรือ นักแข่งรถ อาจมีสาเหตุจากการใส่ชุดขับรถ ซึ่งเป็นผ้าแบบป้องกันไฟไหม้เพื่อรถระเบิด ซึ่งจะเป็นชุดที่ค่อนข้างเก็บอุณหภูมิมาก ทำให้ร้อนมากแล้วอยู่ในรถที่คับแคบ ก็จะทำให้เกิดภาวะที่จะเสี่ยงต่อภาวะฮีทสโตรกมากขึ้นกว่าบุคคลอื่น อย่างไรก็ตาม คนที่แข็งแรงดีก็สามารถเกิดฮีทสโตรกได้ ถ้าเรามีอุณหภูมิที่ร้อนมากๆ ในระยะเวลานานและไม่มีการถ่ายเทอากาศที่ดี”
คุณหมออัณณาช์ แนะนำว่า หากเจอผู้ป่วยที่มีอาการฮีทสโตรก ท่านสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้นได้โดย
  • 1.
    ​พาคนไข้ออกมาจากอุณหภูมินั้นก่อน เช่น พามาอยู่ในที่ร่ม พยายามเปิดเสื้อผ้าออกให้มากที่สุด เพื่อให้ระบายความร้อนออกจากเสื้อผ้า
  • 2.
    ​พยายามหาน้ำ ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็ง มาประคบตามร่างกาย
  • 3.
    ​หากคนไข้รู้สึกตัวให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ หรือว่าถ้ามีคนอยู่บริเวณนั้นที่ปฐมพยาบาลได้ เช่น มีรถพยาบาลก็ควรให้น้ำเกลือ เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลง เพราะอุณหภูมิร่างกายที่สูงมากเกินไป จะไปกระตุ้นทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะและทำให้เสียชีวิตได้ คนที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคหัวใจและมีภาวะฮีทสโตรกร่วมด้วยจึงเสี่ยงเสียชีวิตได้
อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีโรคประจำตัวและไม่มีโรคประจำตัว ควรหลีกเลี่ยงการไปอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนมากเป็นเวลานาน ๆ เป็นระยะเวลาที่นานเกิน 1 ชั่วโมงและหลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าหนาซึ่งทำให้การระบายอากาศไม่ดี เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงไม่ให้เกิดอาการดังกล่าว” คุณหมออัณณาช์ ทิ้งท้าย
เขียน/เรียบเรียง : S_aloha
ที่มา บทความสุขภาพ โรงพยาบาลพระรามเก้า https://www.praram9.com/articles/
เผยแพร่ : Apr. 2023
โฆษณา