8 มี.ค. เวลา 06:15 • หนังสือ

ความฝันสามารถพยากรณ์อนาคต

ตอนนั้นผู้เขียนอยู่ประถมสอง แม่ซึ่งทำงานอยู่ในอำเภอเมืองจะต้องขับรถไกลมากกว่าจะมาถึงบริเวณรอยต่อระหว่างสุดขอบเมืองชลบุรีกับพัทยา คือต้องขับรถผ่านถึงสามอำเภอด้วยกัน กว่าจะมาถึงโรงเรียนของผู้เขียน กว่าแม่จะมาถึงโรงเรียน เด็กๆทุกคนก็จะกลับบ้านกันไปหมดแล้ว เหลือผู้เขียนกับน้องเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังตกค้างในโรงเรียน
และยังมีเพื่อนคนหนึ่ง ที่อยู่ชั้นประถมสองเช่นเดียวกับผู้เขียน และน้องของเขา เราสี่คนจะมารวมตัวกันและเดินเล่นไปถามท่อระบายน้ำ ที่รอบรอบริมสนามฟุตบอลขนาดใหญ่กว้างเกือบเท่าสนามมาตรฐานโอลิมปิก เมื่อเดินจนครบรอบ แม่ก็มักจะมาถึงพอดี
ในช่วงเวลาที่โรงเรียนย่างเข้าหกโมง ฟ้าจะสลัว บรรยากาศขมุกขมัว เงียบสงัด และเหมือนกลายเป็นแดนสนทยา ผู้เขียน เพื่อน และน้องสองคนจะเดินเรียงตามกันไปบนรางระบายน้ำเป็นแถวตรง และพูดคุยกัน เนื้อเรื่องเป็นเรื่องประสาเด็ก การ์ตูน วันหยุด ทีวี ซึ่งไม่มีอะไรที่ต้องจดจำ แต่ว่า…มีเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่ฝังแน่นจนถึงทุกวันนี้
เพื่อนเล่าถึงความฝันให้ฟัง บอกว่า อากงที่ตายไปแล้วมาเยี่ยม เพื่อนและน้องดีใจมากวิ่งเข้าไปกอดอากงพร้อมกัน อากงบอกว่าวันนี้จะพาไปเที่ยวแดนสุขาวดี ระหว่างที่เพื่อนเล่าน้ำตาของเขาไหลออกมา
ตอนนั้นผู้เขียนยังเด็ก แม้จะมีความรู้สึกสะเทือนใจไปพร้อมๆกับเพื่อน แต่เบือนหน้าหนีแล้วเดินนำหน้าต่อ และเพื่อนที่เดินตามหลัง เล่าต่อว่า ระหว่างทางไปสุขาวดี อากงต้องพาพวกเขาเดินผ่านน้ำไป ยังไม่ทันเล่าถึงว่าดินแดนสุขาวดีนั้นเป็นอย่างไร แม่ก็มาถึงโรงเรียนและบีบแตรเรียกให้ผู้เขียนกับน้องไปขึ้นรถ ผู้เขียนจึงบ๊ายบายเพื่อนและจากไป
วันนั้นเป็นวันสุดท้ายของการเรียนประถมสองพอดี วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันปิดเทอม เราจะไม่ได้เจอกันอีกสองเดือน ผู้เขียนตั้งใจว่า… จะมาถามถึงเรื่องดินแดนสุขาวดีต่อ ในวันเปิดเทอม
แต่เมื่อวันเปิดเทอมมาถึง คุณครูก็แจ้งว่าเพื่อนคนนั้นได้เสียชีวิตไปแล้วร่วมกับน้องของเขา สาเหตุการเสียชีวิตคือจมน้ำตาย ผู้เขียนนั่งตัวแข็งเป็นหิน และไม่เคยเล่าเรื่องความฝันที่เพื่อนเล่าก่อนตายให้ใครฟังเลย ไม่ว่าจะเป็นครูหรือเพื่อนคนใด เป็นเพราะเกิดความรู้สึกหวาดกลัวอย่างรุนแรงแบบไม่เคยเป็นมาก่อน ไม่ทราบว่าเป็นเพราะหวาดกลัวต่อความตาย การสูญเสีย หรือเพราะเพิ่งตระหนักว่า มีโลกที่เรามองไม่เห็น และไม่มีผู้ใหญ่คนใดสามารถให้คำตอบได้อยู่
พอโตขึ้นความหวาดกลัวนั้นก็ค่อยๆคลี่คลายลง พร้อมกับการทวีขึ้นของความเชื่อเรื่องศาสนา เพราะศาสนาเป็นสถาบันเดียว ที่สามารถอธิบายเรื่องปรากฎการณ์ที่ไม่อาจประจักษ์โดยสายตาได้อย่างเป็นระบบระเบียบ เรื่องของวิญญาณ โลกหลังความตาย และสถานที่ๆเราต้องไปต่อ เมื่อจบชีวิตลง
พอโตขึ้นมาอยู่ในระดับวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ความรู้ทางจิตวิทยาแบบผิวเผินก็มาหักล้างเรื่องนี้ให้เป็นเหตุแห่งความบังเอิญไป พร้อมกับหักล้างความศรัทธาในศาสนาใดๆของผู้เขียน
ผู้เขียนกลายเป็นคนไม่มีศาสนาอยู่พักหนึ่ง และไม่เชื่ออะไรเลยที่มองไม่เห็นหรือวัดไม่ได้ กระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนกลางจนถึงวัยกลางคน วิกฤติการณ์ต่างๆทางสภาวะจิตทำให้หวนกลับมาหาเรื่องจิตวิญญาณและศาสนาใหม่
ผู้เขียนเคยคุยกับจิตแพทย์ ท่านบอกว่า…ผู้คนที่ไม่มีศาสนานั้น พอถึงจุดหนึ่งมักเกิดปัญหาด้านสภาวะจิตไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง มนุษย์ดูราวกับว่าจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้หากขาดที่พึ่งด้านจิตวิญญาณ ไม่ว่าสิ่งที่เราเชื่อนั้นจะผิดหรือถูกก็ตาม แต่หากไม่มีอะไรที่เรายึดถือไว้เลย เราจะเหมือนต้นไม้ที่ถูดตัดออกจากราก ยังดำรงอยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่จะอ่อนแอและค่อยๆเหี่ยวเฉาไป
โลกใบที่เราอยู่จะลดความสำคัญลง หากเราตระหนักได้ว่า มีโลกอื่นอีก ที่เราไม่รู้จัก ที่เรายังต้องไป เดินทาง และต้องค้นหาต่อ ปลายทางของเราจึงไม่ใช่เพียงความตายของโลกใบนี้ แต่ยังมีอีกทางรออยู่เบื้องหน้า
ชีวิตที่เราดำรงอยู่นี้ อาจเป็นแค่น้ำในขวดที่เราตักขึ้นมาจากทะเลสาปเพื่อดื่มกิน พอหมดขวดแล้ว เราก็ต้องกระโจนลงสู่ทะเลสาป ซึ่งจะเชื่อมต่อไปอีกถึงมหาสมุทรที่ยิ่งใหญ่ การว่ายข้ามผ่านจักรวาลของเราจะไม่มีที่สิ้นสุดลงง่ายๆ
และความฝันเป็นเพียงสิ่งเดียวหรือแวบเดียวที่จะทำให้เราเข้าถึงรอยต่อของโลกนั้น ซึ่งความฝันที่สามารถโยงใยเราเข้ากับรอยต่อนั่นจะยิ่งเบาบางลงเมื่อเราโตขึ้น ความฝันของผู้ใหญ่มักจะเกี่ยวพันกับโลกความจริง และถูกลดค่าเป็นแค่การระบายของเสียทางจิตในยามหลับ
ในปัจจุบันมีกลุ่มนักวิจัยที่กำลังศึกษา และค้นพบว่า สภาวะ transcendence ในมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่ง ที่จะสามารถเชื่อมโยงเราเข้ากับรอยต่อนั่นได้อีกครั้ง ผู้เขียนจึงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง
ถึงแม้จะมีแนวคิดเชิง paradox มากมายเกี่ยวกับทฤษฏีนี้ เพราะตัวศาสตร์ยังอยู่แค่จุดเริ่มต้นของการศึกษาและยังไม่มีเครื่องมือที่มีศักยภาพพอจะวัดได้ แต่เชื่อว่าในอีกร้อยถึงสองร้อยปีข้างหน้า เราจะค้นพบคำตอบได้มากขึ้น เช่นเดียวกับที่เมื่อสองร้อยปึก่อน ผู้คนยังมองเรื่องจิตวิเคราะห์เป็นเพียงความฝันเฟื่องของคนหมกมุ่นเรื่องเพศ (นักวิชาการสมัยนั้นหาว่าฟรอยด์เป็นคนบ้าเซ็กส์และแต่งนิยายแทนที่จะเขียนงานวิชาการ)
ถ้าเราอยู่ในยุคที่เอไอสามารถทำทุกอย่างแทนเราได้หมดแล้ว การเอาพื้นที่สมองไปทุ่มเทให้กับเรื่องจิตวิญญาณ อาจเป็นวิถีทางใหม่ของมวลมนุษย์ชาติก็เป็นได้ ใครจะรู้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา